หัวข้อ: "รุกขเทวดา" | เทวดาไม่ได้อยู่ในสวรรค์ เสมอไป เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 30, 2021, 09:04:30 am (http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2021/12/2021-12-26_044309.jpg) "รุกขเทวดา" | เทวดาไม่ได้อยู่ในสวรรค์ เสมอไป รุกขเทวดา อ่านว่า รุก-ขะ-เท-วะ-ดา ประกอบด้วยคำว่า รุกข + เทวดา (๑) “รุกข” บาลีเป็น “รุกฺข” (รุก-ขะ มีจุดใต้ กฺ) รากศัพท์มาจาก (1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + อ (อะ) ปัจจัย : รุกฺข + อ = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้) (2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ข ปัจจัย, แปลง ห เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ) : รุหฺ + ข = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน” “รุกฺข” สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ” ในภาษาไทยใช้คงรูปบาลีว่า “รุกข-” ก็มี ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ” ก็มี @@@@@@@ (๒) “เทวดา” บาลีเป็น “เทวตา” (เท-วะ-ตา) รากศัพท์มาจาก เทว + ตา ปัจจัย (ก) “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว) : ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ – (1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ) (2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ) (3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) (ข) เทว + ตา ปัจจัย : เทว + ตา = เทวตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นเทวดา” (condition or state of a deva) หมายถึง เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า, นางฟ้า (divinity; divine being, deity, fairy) “เทวตา” ก็คือที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “เทวดา” นั่นเอง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “เทวดา : (คำนาม) ชาวสวรรค์มีกายทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์ เป็นโอปปาติกะ. (ป., ส. เทวตา).” @@@@@@@ ประสมคำ รุกฺข + เทวตา = รุกฺขเทวตา (รุก-ขะ-เท-วะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “เทวดาผู้สถิตอยู่ที่ต้น” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รุกฺขเทวตา” ว่า a tree spirit, dryad, a yakkha inhabiting a tree (เทพยดาประจำต้นไม้, รุกขเทวดา, ยักษ์ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้) “รุกฺขเทวตา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “รุกขเทวดา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “รุกขเทวดา : (คำนาม) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้.” @@@@@@@ ขยายความ คัมภีร์จักกวาฬทีปนีอ้างอรรถกถาจิตตสังยุต ขยายความคำว่า “รุกฺขเทวตา” มีความตอนหนึ่งว่า “เทวดาซึ่งสิงอยู่ที่ต้นไม้นั้นๆ อย่างเช่น พระตาลมรรคราช (สิงต้นตาล) พระอัสกัณ (สิงต้นหูกวาง) พระธวะ (สิงต้นตะแบก) ชื่อว่า รุขเทวดา” ความที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงไว้ในคัมภีร์ ผู้ที่สนใจเรื่อง “รุกขเทวดา” สมควรตรวจสอบหารายละเอียดเพิ่มเติมอีก เรียนบาลีมีงานทำเยอะ-ถ้ามีใจรักที่จะทำ แต่ถ้าใจไม่รักหรือไม่เข้าใจ ก็จะคิดว่าเรียนบาลีไม่เห็นมีอะไรทำ แค่งานตรวจสอบว่า รุกขเทวดาตามที่คัมภีร์จักกวาฬทีปนีนำมาอ้างไว้นั้นมีจริงหรือเปล่า-เท่านี้ ก็ทำได้ไม่รู้จบแล้ว ดูก่อนภราดา.! อยากรู้ว่ารุกขเทวดามีจริงหรือไม่ รักต้นไม้ให้มากๆ ขอขอบคุณ :- web : dhamma.serichon.us/2021/12/26/รุกขเทวดา-เทวดาไม่ได้อย/ (http://dhamma.serichon.us/2021/12/26/รุกขเทวดา-เทวดาไม่ได้อย/) posted date : 26 ธันวาคม 2021. By admin. ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย |