สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 04, 2022, 10:34:54 am



หัวข้อ: ข้อปฏิบัติ ๑๒ ประการ เพื่อบรรลุอรหัตตผล | หลักปฏิบัติของ "สาวกผู้มีศรัทธา"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 04, 2022, 10:34:54 am
(http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2022/02/2022-02-02_225042.jpg)


ข้อปฏิบัติ ๑๒ ประการ เพื่อบรรลุอรหัตตผล | หลักปฏิบัติของ "สาวกผู้มีศรัทธา"

[๑๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการบรรลุอรหัตตผลด้วยขั้นเดียวเท่านั้น
         แต่การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ
         ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ
         ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ

การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ เป็นอย่างไร.?

    คือ กุลบุตรในศาสนานี้
    เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปหา เมื่อเข้าไปหาย่อมนั่งใกล้
    เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ เงี่ยโสตลงสดับแล้วย่อมฟังธรรม
    ครั้นฟังธรรมแล้วย่อมทรงจำไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว
    เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรเพ่งพินิจ
    เมื่อมีการเพ่งพินิจธรรมอยู่ ฉันทะย่อมเกิด
    กุลบุตรนั้นเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ
    ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง
    ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมอุทิศกายและใจ
    เมื่ออุทิศกายและใจแล้ว ย่อมทำให้แจ้งสัจจะอันยอดเยี่ยมด้วยนามกาย และเห็นแจ่มแจ้งสัจจะอันยอดเยี่ยมนั้นด้วยปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าศรัทธาไม่มี การเข้าไปหา การนั่งใกล้ การเงี่ยโสตลงสดับ การฟังธรรม การทรงจำธรรม การพิจารณาเนื้อความ ความเพ่งพินิจธรรม ฉันทะ อุตสาหะ การไตร่ตรอง และการอุทิศกายและใจก็ไม่มี เธอทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติพลาด เป็นผู้ปฏิบัติผิด โมฆบุรุษเหล่านี้ได้ก้าวออกไปจากธรรมวินัยนี้ไกลเท่าไร

@@@@@@@

[๑๘๔] ภิกษุทั้งหลาย คำอธิบายสัจจะ ๔ ประการมีอยู่ เมื่อยกคำอธิบายดังกล่าวขึ้นมาแสดง วิญญูชนพึงเข้าใจเนื้อความได้ด้วยปัญญาในไม่ช้า เราจักแสดงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักเข้าใจถึงเนื้อความได้”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นคนเช่นไร และผู้เข้าใจถึงธรรมได้ เป็นคนเช่นไร”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
   “ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาใดเป็นผู้หนักในอามิส รับแต่อามิสอยู่ ข้องอยู่ด้วยอามิส แม้ศาสดานั้นก็ยังไม่ต่อรองเลยว่า ‘เมื่อสิ่งเช่นนี้พึงมีแก่เรา เราพึงทำสิ่งนั้น เมื่อสิ่งเช่นนี้ไม่พึงมีแก่เรา เราก็ไม่พึงทำสิ่งนั้น’ ตถาคตไม่ข้องอยู่ด้วยอามิสโดยประการทั้งปวง จะสมควรกับการต่อรองหรือ.?
    สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา ย่อมมีหลักปฏิบัติว่า
    ‘พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาเราเป็นสาวก พระผู้มีพระภาคทรงรู้ เราไม่รู้’ คำสอนของศาสดาย่อมงอกงามมีโอชาแก่สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา
    สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา ย่อมมีหลักปฏิบัติว่า
    ‘หนัง เอ็น และกระดูกจงเหือดแห้งไปเถิด เนื้อและเลือดในสรีระของเรา จงเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อเรายังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรนั้น’

ภิกษุทั้งหลาย สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา จะพึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ
    (๑) อรหัตตผลในปัจจุบัน
    (๒) เมื่อมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จะเป็นอนาคามี”

________________________________________
ข้อความบางตอนใน กีฏาคิริสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓
http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=20 (http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=20)

@@@@@@@

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความเพียรมีองค์ ๔ ด้วยบทนี้ว่า กามํ ตโจ จ
จริงอยู่ ในบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า บุคคลตั้งความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ คือ
    หนังเป็นองค์ ๑
    เอ็นเป็นองค์ ๑
    กระดูกเป็นองค์ ๑
    เนื้อและเลือดเป็นองค์ ๑
แล้วปฏิบัติอย่างนี้ว่า เราไม่บรรลุพระอรหัตแล้วจักไม่ลุกขึ้นดังนี้.

____________________________
ข้อความบางตอนใน อรรถกถากีฏาคิริสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=222 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=222)

@@@@@@@

หมายเหตุ :-

เนื้อหาโดยย่อของพระสูตรนี้คือ ทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติ ๑๒ ประการ เพื่อบรรลุอรหัตตผล คือ
    (๑) ศรัทธา
    (๒) การเข้าไปหา
    (๓) การนั่งใกล้
    (๔) การเงี่ยโสตลงสดับ
    (๕) การฟังธรรม
    (๖) การทรงจำธรรม
    (๗) การพิจารณาเนื้อความ
    (๘) ความเพ่งพินิจธรรม
    (๙) ฉันทะ
   (๑๐) อุตสาหะ
   (๑๑) การไตร่ตรอง
   (๑๒) การอุทิศกายและใจ

นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสสอนให้ภิกษุยึดหลักศรัทธาว่า พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา ตนเป็นสาวก ควรปฏิบัติตามคำสั่งสอนด้วยความเพียรอย่างสูงสุด คือ ตั้งใจว่า
   “แม้หนัง เอ็น กระดูก เนื้อและเลือด จะเหือดแห้งไป ถ้ายังไม่บรรลุ อรหัตตผลก็จักไม่ลุกขึ้น”

ทรงสรุปว่า สาวกผู้มีศรัทธาเมื่อปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำจะได้รับผล ๒ อย่าง คือ อรหัตตผล หรืออนาคามิผล




ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2022/02/20/หลักปฏิบัติของสาวกผู้ม/ (http://dhamma.serichon.us/2022/02/20/หลักปฏิบัติของสาวกผู้ม/)
posted date : 20 กุมภาพันธ์ 2022 , By admin.