หัวข้อ: "อจินไตย" คำนี้ ต้องรู้ ต้องเข้าใจ เป็นอย่างยิ่ง เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 15, 2011, 07:46:21 pm ปัญหาของอจินไตย ๔ ข้อ ถาม ๑. สิ่งที่เป็นอจินไตย นี่เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ได้ ไม่ใช่วิสัยของปุถุชนคนธรรมดาหรือพระอรหันต์ธรรมดาจะรู้ได้ใช่ไหม ตอบ สิ่งที่เป็นอจินไตยนั้นมี ๔ อย่าง คือ ๑. พุทธวิสัย วิสัยของพระพุทธเจ้า ๒. ฌานวิสัย วิสัยของผู้ได้ฌาน ๓. กัมมวิบาก ผลจากกรรม ๔. โลกจินดา ความคิดเรื่องโลก ทั้ง ๔ อย่างนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าไม่ควรคิดผู้ที่คิดจะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากโดยเปล่าประโยชน์ (http://larnbuddhism.com/godgram/godgram/buddha.gif) ในอจินไตย ๔ อย่างนี้ อย่างแรก คือ พุทธวิสัย คือวิสัยของพระพุทธเจ้านั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าคิดอย่างไร ก็เข้าไปไม่ถึงวิสัยของพระพุทธเจ้า มีอานุภาพของพระพุทธคุณและพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้น อย่างที่ ๒ ฌานวิสัย วิสัยของผู้ที่ได้ฌานอภิญญา ผู้ที่ไม่ได้ฌานคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกว่า ทำไมผู้ที่ได้ฌานอภิญญาจึงสามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ มีเหาะได้ หายตัวได้ ดำดินได้ เป็นต้น ผู้ที่ได้อภิญญาประเภทนั้นๆ เท่านั้นจึงจะรู้ได้ อย่างที่ ๓ กัมมวิบาก ผลของกรรม คือคนธรรมดาๆ ย่อมไม่อาจรู้ว่า ผลของกรรมที่ตนได้รับอยู่ในปัจจุบันนี้มาจากกรรมอะไร ทำไว้แต่เมื่อใด คิดไปเท่าไรก็คิดไม่ออก คิดมากไปจะเป็นบ้าไปเสียเปล่าๆ ผู้ที่รู้ผลของกรรมได้อย่างถ่องแท้ต้องเป็นผู้ที่ระลึกชาติก่อนๆ นับย้อนหลังไปได้โดยไม่จำกัดอย่างพระพุทธเจ้า จึงสามารถจะทราบได้ถูกต้องแท้จริงไม่ผิดพลาด ท่านที่ระลึกชาติได้จำกัด เช่นระลึกได้ ๕๐๐ ชาติ แต่กรรมที่ทำไว้ ทำไว้เมื่อชาติที่ ๕๕๐ ผู้ที่ระลึกชาติได้ ๕๐๐ ชาติก็ไม่สามารถระลึกได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถจะรู้กรรมและผลของกรรมได้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะพระองค์ทรงมีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่ระลึกชาติย้อนหลังได้โดยไม่จำกัด มีถากัมมูปคญาณ ญาณที่เข้าถึงกรรมของสัตว์ตามความเป็นจริง พระพระสัพพัญญุตญาณ ญาณที่ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนอื่นไม่มี ทั้งยังมีพระอนาวรณญาณ ญาณที่ไม่มีอะไรมาปิดกั้น ที่คนอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไม่มี เพราะฉะนั้น ป่วยการคิดเรื่องผลของกรรมว่ามาจากกรรมไหน เมื่อใด เป็นต้น คิดมากไป อาจเป็นบ้าได้ อย่างที่ ๔ โลกจินดา ความคิดเกี่ยวกับเรื่องโลก เช่นคิดว่าใครสร้างพระจันทร์-พระอาทิตย์ ใครสร้างภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น คิดมากไปไร้ประโยชน์เพราะไม่อาจจะรู้ได้ (http://larnbuddhism.com/photo/216-4.gif) ด้วยเหตุนี้ อจินไตยทั้ง ๔ อย่างนี้ บางท่านอาจจะคิดว่าตนเองคิดแล้วรู้ได้ ซึ่งก็รู้ได้เพียงวิสัยของตนเท่านั้น พระอรหันต์ก็รู้เท่าวิสัยของพระอรหันต์ จะรู้เท่าความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเตือนว่า สิ่งทั้ง ๔ นี้ไม่ควรคิด คิดไปอาจเป็นบ้า ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้เพราะท่านเหล่านั้นไม่ได้สั่งสมสติปัญญาบารมีความรู้มาเสมอด้วยพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งต้องอบรมมาอย่างน้อยถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ทีเดียว ถาม ๒. ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ารู้ในสิ่งที่เรียกว่า “อจินไตย” หรือเปล่า ตอบ ขอเรียนว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าก็รู้ในสิ่งที่เรียกว่าอจินไตย ตามวิสัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่อาจรู้ไปถึงวิสัยของพระพุทธเจ้าได้ เพราะท่านมิได้ญาณ โดยเฉพาะพระสัพพัญญุตญานอย่างพระพุทธเจ้านั่นเอง ถาม ๓. ถามว่า พรหมชั้นสุทธาวาสอายุนานกว่าพรหมชั้นอื่น มีโอกาสที่จะค้นคว้าศึกษาในเรื่องที่เป็นอจินไตยจนรู้ได้หรือเปล่า ตอบ ปัญหานี้ขอเรียนว่า ผู้ที่จะเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้นั้น จะต้องเป็นพระอนาคามีได้ปัญจมฌาน เมื่อตายลงจึงเกิดเป็นพรหมอนาคามีในชั้นสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่งใน ๕ ชั้นได้ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสนั้นเอง ไม่กลับไปเกิดในภพภูมิใดๆ ที่ต่ำกว่าอีกเลย เพราะฉะนั้น พรหมชั้นนี้จึงเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งแน่นอน ความรู้ของสาวกย่อมไม่อาจเทียบกับความรู้ของพระพุทธเจ้าแน่ ถ้าท่านจะรู้เรื่องราวของอจินไตย ท่านก็รู้ได้ตามวิสัยของท่านเท่านั้น ไม่เกินวิสัยของท่านไปได้ ถาม ๔. ถามว่า ความรู้ ของพรหมชั้นสุทธาวาสจะมากกว่าพระอรหันต์หรือไม่ เพราะอายุยืนมากจริงๆ พบพระพุทธเจ้ามาหลายองค์ เวลาผมทำบุญให้แม่ผม ผมอธิษฐานให้แม่ผมไปปฏิสนธิในพรหมชั้นสุทธาวาส เพราะผมไม่รู้ว่าแม่ผมยังมีเรื่องค้างใจที่ยังไม่ได้ทำค้างไว้หรือไม่ พรหมชั้นนี้อายุยืนมีเวลาทำอะไรๆ ได้อีกมาก ตอบ ในเรื่องนี้ขอเรียนว่า ความต้องการของคุณเป็นโมฆะ เพราะถ้าแม่ของคุณมิได้เป็นพระอนาคามีผู้ได้ปัญจมฌานในชาตินี้แล้ว ย่อมไม่มีโอกาสเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาสได้เลย อีกประการหนึ่ง การบังเกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ ของบุคคลใดๆ ย่อมเป็นด้วยกรรมของบุคคลนั้นๆ หาได้บังเกิดขึ้นเพราะการอธิษฐานของใครๆ คนใดคนหนึ่งไม่ เพราะฉะนั้นความต้องการของคุณจึงเป็นโมฆะ คือไม่มีทางเป็นไปได้เลย (http://larnbuddhism.com/photo/1147082_reply.gif) ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :- พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อจินติตสูตร http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=21&A=2166&Z=2173 (http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=21&A=2166&Z=2173) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬกัมมวิภังคสูตร http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=14&A=7623&Z=7798 (http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=14&A=7623&Z=7798) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) คำว่า ทศพลญาณ http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text= (http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=)ทศพลญาณ คำว่า อนาคามี 5 http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text= (http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=)อนาคามี_5 คำว่า ภูมิ 31 http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text= (http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=)ภูมิ_31 http://www.84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=25 (http://www.84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=25) posted on 25 Jan 2008 22:44 by kohsija |