สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2011, 12:42:30 pm



หัวข้อ: ชอบเจ้าอาวาสแบบไหน มีให้เลือกครับ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2011, 12:42:30 pm
อาวาสิกธรรม ๕

(http://watnawamin.net/images/Promvajirayan.jpg)
เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร watnawamin.net

ธรรมของภิกษุผู้อยู่ประจำวัด, แปลถือความมาใช้ให้เหมาะกับปัจจุบันว่า คุณสมบัติของเจ้าอาวาส
มีอยู่ ๑๐ ประเภทคือ

๑.   ควรยกย่อง
๒.   เป็นที่รักที่เคารพของ-สพรหมจารี(เพื่อนภิกษุสามเณรผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน)
๓.   ทำวัดให้งาม
๔.   มีอุปการะมากแก่วัด
๕.   อนุเคราะห์คฤหัสถ์
๖.   มีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์
๗.   มีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ หมวดที่ ๗.๑
๘.   มีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ หมวดที่ ๗.๒
๙.   มีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ หมวดที่ ๗.๓
๑๐.   มีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ (ผู้ไม่มีมัจฉริยะ) หมวดที่ ๗.๔

หมวดที่ ๑ ประเภทที่ควรยกย่อง

๑. อากัปปวัตตสัมปันนะ (ถึงพร้อมด้วยมารยาทและวัตร)
๒. พหุสสุตะ (เป็นพหูสูต ทรงความรู้)
๓. ปฏิสัลเลขิตา (เป็นผู้ประพฤติขัดเกลา ชอบความสงบ ยินดีในกัลยาณธรรม)
๔. กัลยาณวาจา (มีวาจางาม รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี)
๕. ปัญญวา (มีปัญญา เฉลียวฉลาด)

หมวดที่ ๒  ประเภทเป็นที่รักที่เคารพของ สพหรมจารี คือ เพื่อนภิกษุสามเณรผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน
๑. สีลวา (มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย)
๒. พหุสสุตะ (เป็นพหูสูต ทรงความรู้)
๓. กัลยาณวาจา (มีวาจางาม รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี)
๔. ฌานลาภี (ได้แคล่วคล่องในฌาน ๔ สำหรับอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)
๕. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ (บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ สิ้นอาสวะแล้ว )

หมวดที่ ๓ ประเภทอาวาสโสภณ คือทำวัดให้งาม
๑. สีลวา (มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย)
๒. พหุสสุตะ (เป็นพหูสูต ทรงความรู้)
๓. กัลยาณวาจา (มีวาจางาม รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี)
๔. ธัมมิกถาย สันทัสสนา (สามารกล่าวธรรมีกถาให้ผู้มาหาเห็นแจ่มชัด ยอมรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้แกล้วกล้า และเบิกบานใจ)
๕. ฌานลาภี (ได้แคล่วคล่องในฌาน ๔ ที่เป็นเครื่องอยู่สุขสบายในปัจจุบัน)

หมวดที่ ๔ ประเภท มีอุปการะมากแก่วัด
๑. สีลวา (มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย)
๒. พหุสสุตะ (เป็นพหูสูต ทรงความรู้)
๓. ขัณฑผุลลปฏิสังขรกะ (รู้จักปฏิสังขรณ์เสนาสนะสิ่งของที่ชำรุดหักพัง)
๔. ปุญญกรณายาโรจกะ (เมื่อมีสงฆ์หมู่ใหญ่มาจากต่างถิ่นต่างแคว้น ขวนขวายบอกชาวบ้านผู้ปวารณาไว้ให้มาทำบุญ)
๕. ฌานลาภี (ได้แคล่วคล่องในฌาน ๔ ที่เป็นเครื่องอยู่สุขสบายในปัจจุบัน)

(http://lengnoeiyi.com/watlengnoeiyi/father.jpg)

หมวดที่ ๕ ประเภทอนุเคราะห์คฤหัสถ์
๑. อธิสีเล สมาทปกะ (ชักนำคฤหัสถ์ให้ถือปฏบัติในอธิศีล ) อธิศีลในที่นี้ ท่านอธิบายว่า ได้แก่เบญจศีลที่เป็นไปเพื่อคุณเบื้องสูง
๒. ธัมมทัสสเน นิเวสกะ (ยังคฤหัสถ์ให้ตั้งอยู่ในธรรมทัศนะ คือรู้เห็นเข้าใจธรรม)
๓. คิลานสตุปปาทกะ (เมื่อคฤหัสถ์เจ็บไข้ ไปเยี่ยมให้สติ)
๔. ปุญญกรณายาโรจกะ (เมื่อมีสงฆ์หมู่ใหญ่มาจากต่างแคว้น ขวนขวายบอกชาวบ้านผู้ปวารณาไว้ให้มาทำบุญ)
๕. สัทธาเทยยาวินิปาตกะ (เขาถวายโภชนะใดๆ จะเลวหรือดี ก็ฉันด้วยตนเอง ไม่ยังศรัทธาไทยให้ตกไป)

หมวดที่ ๖ ประเภทมีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์
๑. พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงกล่าวตำหนิติเตียนบุคคลที่ควรตำหนิติเตียน
๒. พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงกล่าวยกย่องสรรเสริญบุคคลที่ควรยกย่องสรรเสริญ
๓. พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงแสดงความไม่เลื่อมใส ในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส
๔. พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงแสดงความเลื่อมใส ในฐานะอันควรเลื่อมใส
เจ้าอาวาสที่ประพฤติตรงข้ามจากนี้ ย่อมเสื่อมดุจถูกจับไปขังในนรก.

หมวดที่ ๗ ประเภทมีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ อีกหมวดหนึ่ง
๑. อนุวิจจาวัณณภาสกะ (พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงกล่าวตำหนิติเตียนบุคคลที่ควรตำหนิติเตียน)
๒. อนุวิจจวัณณภาสกะ (พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงกล่าวยกย่องสรรเสริญบุคคลที่ควรยกย่องสรรเสริญ)
๓. น อาวาสมัจฉรี (ไม่ตระหนี่หวงแหนที่อยู่อาศัย)
๔. น กุลมัจฉรี (ไม่ตระหนี่หวงแหนตระกูลอุปฐาก)
๕. น ลาภมัจฉรี (ไม่ตระหนี่หวงแหนลาภ)


นอกจากนี้ ยังมีอาวาสิกธรรมประเภทมีความสุขความเจริญเหมือนได้รับเชิญไปอยู่ในสวรรค์ อีก ๓ หมวด แต่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย หรือกำหนดได้ง่ายคือ

หมวดหนึ่ง เปลี่ยนเฉพาะข้อ ๕ เป็น "ไม่ยังศรัทธาไทยให้ตกไป"

อีกหมวดหนึ่ง เปลี่ยน ๔ ข้อต้นเป็นเรื่องมัจฉริยะทั้งหมด คือ เป็น น อาวาสมัจฉรี, น กุลมัจฉรี, น ลาภมัจฉรี,
น วัณณมัจฉรี ส่วนข้อสุดท้ายเป็น "ไม่ยังศรัทธาไทย ให้ตกไป"

อีกหมวดหนึ่ง เปลี่ยนเป็นเรื่องมัจฉริยะทั้ง ๕ ข้อ คือ เป็นผู้ไม่มีมัจฉริยะทั้ง ๕

มัจฉริยะ ๕  (ความตระหนี่, ความหวง, ความคิดกีดกันไม่ให้ผู้อื่นได้ดี หรือมีส่วนร่วม)
๑. อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่, หวงที่อาศัย เช่น ภิกษุหวงเสนาสนะ กีดกันผู้อื่นหรือผู้มิใช่พวกของตน ไม่ให้เข้าอยู่ เป็นต้น)
๒. กุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล, หวงสกุล เช่น ภิกษุหวงสกุลอุปฐาก คอยกีดกันภิกษุอื่นไม่ให้เกี่ยวข้องได้รับการบำรุงด้วย เป็นต้น)
๓. ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ, หวงผลประโยชน์ เช่น ภิกษุหาทางกีดกันไม่ให้ลาภเกิดขึ้นแก่ภิกษุอื่น)
๔. วัณณมัจฉริยะ (ตระหนี่วรรณะ, หวงสรีรวัณณะ คือผิวพรรณของร่างกาย ไม่พอใจให้ผู้อื่นสวยงาม ก็ดี หวงคุณวัณณะ คือ คำสรรเสริญคุณ ไม่อยากให้ใครมีคุณความดีมาแข่งตน หรือไม่พอใจได้ยินคำสรรเสริญคุณความดีของผู้อื่น ก็ดี)
๕. ธัมมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม, หวงวิชาความรู้ และคุณพิเศษที่ได้บรรลุ ไม่ยอมสอนไม่ยอมบอกผู้อื่น กลัวเขาจะรู้เทียมเท่าหรือเกินตน)

อ้างอิง
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒
พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต                        
อาวาสิกวรรคที่ ๔

ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)


(http://www.baanruenthai.com/forum/attachments/2553/30-11/untitled%5B6033%5D.jpg)

เจ้าอาวาส คือพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองวัด มีหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด กฎหมายกำหนดให้วัดหนึ่งมีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง แต่จะมีรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้หลายรูปตามควรแก่ฐานะของวัด เจ้าอาวาสเป็น พระสังฆาธิการ และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้

    * บำรุงรักษาวัด จัดกิจการ และศาสนสมบัติของวัดให้เป้นไปด้วยดี
    * ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ที่มีอยู่หรือพำนักอาศัยในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
    * เป็นธุระในการอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัย แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
    * ให้ความสะดวกตามสมควรในการทำบุญทำกุศล

เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้


    * ห้ามบรรพชิต และคฤหัสถ์ที่มิรับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
    * สั่งให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ที่ไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
    * สั่งให้บรรชิต และคฤหัสถ์ที่มีอยู่ หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณฑ์บนหรือขอขมาโทษ ในกรณีบรรพชิตหรือศิษย์วัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

ระบุคุณสมบัติของเจ้าอาวาสไว้ว่า ต้องมีพรรษาพ้น 5 และเป็นผู้ทรงเกียรติคุณ เป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง มีความรู้ มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์ ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตราย จนเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน

การแต่งตั้งเจ้าอาวาส นอกจากพระอารามหลวง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัด ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวให้เจ้าคณะอำเภอ รายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง

ถ้าพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยู่ ด้วย ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัด เพื่อเจ้าคณะภาคพิจารณาแต่งตั้ง การแต่งตั้งรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส นอกจากพระอารามหลวง ให้เจ้าอาวาสวัดนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติพระสังฆาธิการ เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง

พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในกรุงเทพ มหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

มีพรรษาพ้น 10 เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นราช สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี

พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

มีพรรษาพ้น 10 เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ และมีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท หรือพระครูสัญญาบัตรที่มีนิตยภัต ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี

การแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติพระ สังฆาธิการ เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อให้มหาเถรสมาคมพิจารณา

ถ้าพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะภาคดำเนินการพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มี คุณสมบัติครบถ้วนแล้วรายงานเจ้าคณะจังหวัด เพื่อพิจารณาเสนอตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม

สมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามมติมหาเถรสมาคม

ที่มา  http://www.xn--22cej4gzaby6cyaq5dzf9dj.com/2009/11/blog-post_1909.html (http://www.xn--22cej4gzaby6cyaq5dzf9dj.com/2009/11/blog-post_1909.html)