หัวข้อ: อานิสงค์ใหญ่ยิ่ง กับการบรรพชาสามเณร เริ่มหัวข้อโดย: paisalee ที่ มีนาคม 02, 2011, 04:32:12 am หน่อไม้ไผ่ย่อมงอกออกมาเป็นกอไผ่ ให้ความร่มเย็น เป็นสุขและประดับประดาวัดวา อาคารบ้านเรือนฉันใด สามเณรก็เป็นเหล่ากอของสมณะคือพระภิกษุ ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4ที่คอยปกปักรักษาพระพุทธศาสนาฉันนั้น ถ้าไม่มีสามเณรก็ไม่มีพระภิกษุ ดุจไม่มีหน่อไผ่ก็ไม่มีกอไผ่ ฉันนั้น
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หน้า 1177 ให้ความหมายของคำว่า"สามเณร" ไว้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม ดังนี้ "ผู้ดำรงเพศอย่างภิกษุแต่สมาทานศีล 10 เรียกสั้นๆ ว่า เณร" ความจริงการบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เริ่มแรกจริงๆก็บวชเป็นพระเลย โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชให้ดังปัญจวัคคีย์ภิกษุรุ่นแรก พระองค์ตรัสว่า "เอหิ ภิกฺขุจงมาเป็นภิกษุด้วยกันเถิด" เท่านั้น ท่านเหล่านั้นก็กลายเป็นภิกษุในทันที ต่อมาเมื่อผู้มาขอบวชมีมาก ขึ้นพระพุทธเจ้าทรงประทานอำนาจการบวชแก่พระสงฆ์ การบวชมีพิธีรีตองขึ้น เช่นมีกำหนดคุณสมบัติผู้มาขอบวช มีอุปัชฌาย์ผู้เป็นประธานในการบวช การ บวชเณร ปรากฏครั้งแรกเมื่อ ราหุลกุมารติดตามทูลขอทรัพย์สมบัติตามคำสั่งของผู้เป็นพระมารดาพระพุทธเจ้า ทรงดำริว่า การให้ "อริยทรัพย์" ดีกว่าให้ทรัพย์ธรรมดาจึงรับสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร สามเณร ราหุลบวชมาแล้วก็อยู่ในความดูแลของพระอุปัชฌาย์ คือ พระสารีบุตรตามหน้าที่ในพระวินัยจนได้รับการยกย่องสรรเสริญถึงคุณสมบัติที่ เป็นต้นแบบในทางสร้างสรรค์ 3อย่าง คือ 1. เป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า 2. เป็นผู้ใฝ่การศึกษาอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในด้านผู้ใฝ่การศึกษา 3. เป็นผู้มีความเคารพและกตัญญูกตเวทีต่ออุปัชฌาย์อย่างยิ่ง เข้าตำราโบราณที่ว่า "ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น" สามเณรราหุล นับเป็น "บิดา" ของสามเณรทั้งหลายในปัจจุบัน อนึ่ง ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ปกครอง ประเทศ ประกาศนโยบายปกครองอันเรียกว่า ธรรมวิชัย หรือ ธรรมราชา ที่กษัตริย์ในยุคต่อๆมาถือเป็นแบบอย่างนั้น พระองค์ถึงกับทรงคัดเลือกพระสูตรและเนื้อหาธรรมะด้วยพระองค์เอง แล้วทรงแนะนำว่าสูตรไหนพระเถระและพระเถรีทั้งหายควรอ่านควรศึกษา ที่สำคัญกว่านั้น คือ ทรงสร้างสถูปอุทิศให้สามเณรราหุลไว้สำหรับให้สามเณรทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา จนถึงปัจจุบันนี้ ถัดจากนั้นก็มีสามเณรทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลที่ควรจารึกไว้ให้ปรากฏเป็นทิฏฐานุคติ อีก 25 รูป มี สามเณรสังกิจ สามเณรบัณฑิต และสามเณรสุข เป็นต้น (ผู้สนใจในรายละเอียดพึงหาอ่านได้จากหนังสือ สามเณร : เหล่ากอแห่งสมณะ โดย ศ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต) เฉพาะประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการศึกษาพระปริยัติธรรม มีสามเณรผู้สามารถสอบผ่านจนจบหลักสูตรชั้นสูงสุดแต่อายุยังน้อย เช่น รูปแรกสมัยรัชกาลที่ 3 คือ สามเณรสา ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 9 วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม รูปที่ 2 คือ สามเณรปลด เกตุทัต ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 สถิต ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รูปที่ 3 คือ สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก วัดทองนพคุณ เป็นชาวมหาสารคาม สอบได้เป็นรูปแรกในรัชกาลปัจจุบัน ต่อมาลาสิกขาแล้วรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณในตำแหน่ง ราชบัณฑิตและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้อุทิศตัวทำงานโครงการบรรพชาสามเณร 84,000 รูป โดยสมบูรณ์แบบ รูปที่ 4 คือ สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร วัดพระพิเรนทร์ เป็นชาวสุพรรณบุรี ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) และเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม ผู้อุทิศตนทำงานด้านวิชาการและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยไม่ประมาทต่อกาลเวลาและสุขภาพ ตั้งแต่ พ.ศ.2506 จนถึงปัจจุบัน ยังมีสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9ประโยค จำนวนมากถึง 180 รูป พอดีนับเป็นเลขมงคลที่น่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบางรูป/คนมีความโดดเด่นเป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์ ส่วนราชการและมาตุภูมิ เช่น พ.ศ.2519 มีสามเณร 3 รูป สอบได้พร้อมกัน มั่นคงสมณเพศ และเป็นกำลังสำคัญในการสอนงานคณะสงฆ์ไทยและต่างประเทศแบบเชิงรุก คือ สามเณรประกอบ วงศ์พรนิมิตร วัดชนะสงคราม เป็นชาวสมุทรสาคร (ปัจจุบัน คือ พระธรรมเจดีย์ เจ้าคณะภาค 13 และเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร) สามเณรประยูร มีฤกษ์วัด ประยุรวงศาวาส (ปัจจุบัน คือ พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะภาค 2อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวา ส) และ สามเณรสุชาติ สอดสี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (ปัจจุบัน คือ พระธรรมปัญญาภรณ์ เจ้าคณะภาค 5 และเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง) ส่วนที่ลาสิกขาแล้วออกไปเป็นอุบาสก ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สามเณรอุทัย เมตตานุภาพ (เกลี้ยงเล็ก) วัดบางหลวง ปทุมธานี, สามเณรบรรจบ บรรณรุจิ (ปั่งมี) วัดสุทัศนเทพวราราม, สามเณรชรินทร์ จุลคประดิษฐ์ วัดมหาพฤฒาราม, สามเณรสำเนียง เลื่อมใส วัดดาวดึงษาราม, สามเณรแก้ว ชิดตะขบ วัดจักรวรรดิราชาวาส, สามเณรบุญเลิศ โสภา วัดพระพุทธบาท สระบุรี, สามเณรอุทิศ ศิริวรรณ วัดราชบูรณะ, สามเณรเวทย์ บุญคุ้ม วัดมหาสวัสดิ์ นครปฐม และ สามเณรเทพพร มังกรธานี วัดปทุมคงคา ฯลฯ และ ที่สำคัญสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย คือ การได้ทรัพยากรบุคคลที่ล้วนแต่เป็นผลิตผลมาจากการบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พัฒนาการตามหลักไตรสิกขา ก้าวสู่ความเป็นพระมหาเถระทั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และ เจ้าอาวาสทั่วประเทศ และที่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทยและต่างประเทศในเวลานี้ ในฐานะพระนักเขียนและนักเผยแผ่ธรรมะรุ่นใหม่ ก็มี พระมหาอุเทน ปญฺญาปริทตฺโต วัดชนะสงคราม, พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) วัดเบญจมบพิตรฯ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต วัดสร้อยทอง ซึ่งล้วนแต่มาจากการบรรพชาเป็นสามเณรเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การบรรพชาหรือการบวชเป็นสามเณรนั้นถือว่าเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ทั้ง แก่ผู้บวชและผู้จัดให้มีการบวชเพราะผู้บวชได้มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิตแบบ บรรพชิตจริงๆได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติเป็นหลักใจได้สนองพระคุณบิดามารดา ผู้เป็นบุรพการีส่วนบิดามารดาและวงศาคณาญาติย่อมได้โอกาสทำบุญเป็นพิเศษเท่า กับได้บวชใจไปด้วย นอกจากนี้ การบวชยังทำให้เกิดผลดีทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร กล่าวคือฝ่ายศาสนจักร หรือวัด ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอฉันย่อมมีความหมายขึ้น เพราะมีผู้นำมาใช้ประโยชน์ฝ่ายอาณาจักรหรือฝ่ายบ้านเมืองก็ได้รับความสงบร่ม เย็นได้สงวนทรัพยากรของชาติ ได้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไว้ ที่สำคัญคือ การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนของชาติได้อย่างแยบยลและมีผลมหาศาล เหนือ อื่นใด คือ การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ พระพุทธศาสนาและการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะการ บรรพชาเป็นสามเณร 84,000 รูป ทั้ง 76 จังหวัด พร้อมกันทั่วประเทศเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช องค์พระประมุขของชาติไทยผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บริบูรณ์ด้วยทศพิธราชธรรมเปี่ยมด้วยพระบารมีแห่งเมตตาคุณ และบริสุทธิ์ด้วยพระกรุณาธิคุณยังประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์อย่างหาที่ สุดมิได้เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550 ดังนั้น เราท่านทั้งหลายควรมีส่วนร่วมในมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์นี้ทั้ง ทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการอนุโมทนาบุญแล้วตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักศีล สมาธิ ปัญญามุ่งมั่นกระทำหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และจงรักภักดีระหว่างที่ลูกหลานของคนไทยพร้อมใจกันบรรพชาเป็นสามเณรพร้อมกัน 15 วันตั้งแต่วันที่ 14-28 ตุลาคม 2550และรวมพลังสวดมนต์ปฏิบัติสมาธิพร้อมกันในวันปิยมหาราชจะเป็นการประกาศ ความมั่นคงในหลัก "รู้รัก-สามัคคี" ได้ดีที่สุด และเชื่อมั่นด้วย ความบริสุทธิ์ใจว่า ในวันนี้ (ที่เคยบอบช้ำเมื่อครั้งที่ผ่านมา) สามารถนำสีจีวรเหลืองของพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์และสามเณรทุกรูปมาเป็นธงชัย พร้อมกับเสื้อเหลืองของพวกเราชาวไทยพร้อมใจกันประกาศความสุข สงบ เย็น ถวายเป็นพุทธบูชาและราชสักการะได้อย่างดีที่สุด ผู้เขียน: สมชาย สมานวงศ์ ที่มา: มติชน ข้อมูลจาก http://www.phrathai.net/node/277 (http://www.phrathai.net/node/277) (http://www.bangkokbiznews.com/2006/10/09/images/1_copy26.jpg) ขอบคุณภาพจากเว็บ http://www.bangkokbiznews.com (http://www.bangkokbiznews.com) |