หัวข้อ: “หมอชีวกโกมารภัจจ์” ผู้อยู่เบื้องหลัง “โรคอันตราย 5 ประการ” ห้ามบวช เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 22, 2023, 10:36:48 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2023/03/ภาพปก-พระพุทธเจ้า-696x364.jpg) ภาพประกอบบทความ - พระพุทธเจ้าประทับสีหไสยา เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน “หมอชีวกโกมารภัจจ์” ผู้อยู่เบื้องหลัง “โรคอันตราย 5 ประการ” ห้ามบวช หมอชีวกโกมารภัจจ์ คือผู้มีความสามารถด้านการแพทย์ในสมัยพุทธกาล นอกจากความรู้ทางการแพทย์ที่สั่งสม จนได้รับตำแหน่งแพทย์ของพระเจ้าพิมพิสาร และหมอประจำของพระพุทธเจ้า “หมอชีวกโกมารภัจจ์” ยังอุทิศตัวเพื่อพุทธศาสนา โดยหนึ่งในหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันก็คือ พระธรรมวินัยว่าด้วยเรื่องโรคอันตราย 5 ประการ ที่ไม่สามารถบวชได้ อันได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ (โรคหลอดลมพอง) และ โรคลมบ้าหมู @@@@@@@ หมอชีวกโกมารภัจจ์ เกี่ยวข้องอันใดกับเรื่องนี้.? ก่อนเฉลย ขอเกริ่นถึงประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์เสียก่อน ใน “พระไตรปิฎก” กล่าวไว้ว่า ชีวกกุมารเป็นบุตรของนางสาลวดี หรือหญิงงามเมืองประจำนครราชคฤห์ ที่มีค่าตัวถึงคืนละ 100 กษาปณ์ เชี่ยวชาญและเก่งกาจด้านการฟ้อนรำ ขับร้อง รวมไปถึงบรรเลงเครื่องดนตรี ทว่าวันหนึ่ง นางสาลวดีเกิดตั้งครรภ์ขึ้น พอคลอดออกมาและทราบว่าเป็นเพศชายก็ไม่ต้องการเลี้ยงดู เพราะบุตรชายนั้นไม่มีประโยชน์อันใดต่ออาชีพของนาง ก่อนจะสั่งให้หญิงคนใช้เอาเด็กไปทิ้งกองขยะ โชคยังเป็นของเด็กชาย เมื่อพระอภัยราชกุมารผ่านมาพบเข้า จึงทรงสั่งให้คนไปดูทารก ระหว่างนั้นทรงร้องถามว่ายังมีชีวิตหรือไม่ คนที่ไปดูทูลตอบว่ายังมีชีวิตอยู่ เป็นที่มาของนาม “ชีวก” ซึ่งแปลว่าชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ พระอภัยราชกุมารทรงเลี้ยงดูชีวกกุมารในฐานะพระโอรสบุญธรรมด้วยความรักใคร่เอ็นดู ก่อนจะประทานชื่อให้เพิ่มเติมว่า “โกมารภัจจ์” หมายถึง ผู้ที่พระราชกุมารเลี้ยง จนกลายมาเป็น “ชีวกโกมารภัจจ์” อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปรากฏในหนังสือบาลี-สันสกฤต ชื่อ “คัมภีร์มูลสรวาสติวาทวินยวัสต” กลับอธิบายประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์แตกต่างออกไป โดยกล่าวว่าชีวกกุมารเป็นบุตรของหญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่พระเจ้าพิมพิสารลักลอบมีสัมพันธ์ลับ ๆ ในเวลาที่สามีของนางออกไปทำงานต่างเมือง เมื่อตั้งครรภ์นางจึงรีบกราบทูลให้พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบทันที พระองค์ได้พระราชทานแหวนให้หนึ่งวง และทรงสัญญากับหญิงนั้นว่าคลอดแล้วให้วางทารกไว้บริเวณหน้าพระราชวัง ขณะที่พระเจ้าพิมพิสารประทับอยู่กับพระอภัยราชกุมาร ข้าราชบริพารได้กราบทูลว่าพบตะกร้าหน้าประตูพระราชวัง เมื่อเจ้าชายทรงได้ยินเรื่องตะกร้า จึงกราบทูลพระราชาว่า สิ่งที่มีอยู่ในนั้นควรมอบให้แก่หม่อมฉัน พอทราบว่าภายในเป็นเด็กทารก พระราชาก็ตรัสถามว่าทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ก่อนจะทรงทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ @@@@@@@ เมื่อพระองค์ทรงเห็นแหวนที่เคยมอบให้หญิงชาวบ้านคนนั้น ทำให้ทรงทราบโดยนัยว่าทารกคือใคร จึงพระราชทานทารกให้กับพระอภัยราชกุมาร ต่อมาเจ้าชายได้ให้พระนามว่า “ชีวกกุมารภฤตะ” เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารเคยตรัสถามว่า “มีชีวิตอยู่หรือไม่?” และได้รับการเลี้ยงดูจากพระอภัยราชกุมาร แม้ไม่ทราบว่าชาติกำเนิดแท้จริงเป็นเช่นไร แต่ต่อมาชีวกโกมารภัจจ์ได้เติบโตเป็นหมอผู้มีชื่อเสียงจากการรักษาชาวบ้านให้หายจากโรคภัย ไม่เกี่ยงว่าเป็นคนรวยหรือจน ความเก่งกาจของหมอชีวกโกมารภัจจ์ระบือไกลไปทั่วเมือง ได้ถวายการรักษาพระเจ้าพิมพิสาร และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก ก่อนจะกลายเป็นแพทย์ประจำของพระพุทธเจ้า และถวายตัวให้กับพระพุทธศาสนา รวมถึงช่วยรักษาพระสงฆ์ที่เจ็บป่วย วันหนึ่งแคว้นมคธเกิดโรคระบาด ผู้คนมากมายต่างล้มป่วยด้วย 5 โรคร้าย ได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ และ โรคลมบ้าหมู ทุกคนต่างหวังพึ่งพาหมอชีวกโกมารภัจจ์ แต่หมอเองก็มีคนป่วยที่ต้องดูแลรักษาอยู่ล้นมือ ทำให้ต้องปฏิเสธชาวบ้านเหล่านั้นไป แม้ว่าชาวบ้านจะยอมจ่ายทรัพย์สินจำนวนมากหรือยอมเป็นทาสเพื่อให้หมอรักษาก็ตาม ด้วยความกลัวตาย ชาวบ้านที่เป็นชายจึงบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากทราบว่าชีวิตของพระสงฆ์นั้นเต็มไปด้วยความสบาย ทั้งหมอชีวกโกมารภัจจ์ยังรักษาพระสงฆ์ที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างดี แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด หมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาพวกเขา @@@@@@@ เมื่อหายจากโรคร้าย ร่างกายกลับมาแข็งแรง ชาวบ้านก็ลาสิกขาทันที แม้หมอชีวกโกมารภัจจ์สงสัยแต่ก็ไม่ได้ถามถึงสาเหตุการลาสึก จนวันหนึ่งได้เอ่ยปากถามชาวบ้านที่เคยบวชพระ และได้คำตอบว่า เหตุผลที่เข้ามาในร่มกาสาวพัสตร์ก็เพราะต้องการให้หมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาโรคให้เท่านั้นเอง ไม่ได้บวชประสงค์รู้ใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อรู้เหตุผลที่แท้จริง หมอผู้มีฝีมือในสมัยพุทธกาลท่านนี้ จึงทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ดังปรากฏในบทความ “บทบาทหมอชีวกโกมารภัจจ์ต่อพระพุทธศาสนา” ของพระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย หัวหน้าภาควิชาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่า “…หมอชีวกได้ฟังดังนั้นกล่าวตำหนิไปต่าง ๆ แล้วนำความไปกราบทูลพระพุทธองค์ถึงผลกระทบจากการที่มีคนเข้ามาบวชในลักษณะดังกล่าว จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่หมู่พระสงฆ์เป็นอย่างมาก นำพาความเดือดร้อนวุ่นวายมาให้ในภายหลัง ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนแก้ จึงกราบทูลพระพุทธองค์ขอให้ทรงมีพระบัญญัติห้ามไม่ให้บวชคนที่เป็นโรคติดต่อ ประกอบไปด้วยโรคที่ผู้คนในแคว้นมคธเป็นกันอยู่ในขณะนั้น 5 ชนิดคือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคไข้มองคร่อ โรคลมบ้าหมู ซึ่งเน้นหนักไปที่โรคผิวหนังที่สามารถติดต่อกันได้ ที่ไม่สามารถติดต่อกันได้แต่ก็ทำให้ผิวไม่น่าดูเป็นที่น่ารังเกียจ ดังนั้น จึงไม่ควรให้บวช” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีการระบุเรื่องโรคอันตราย 5 ประการ ที่รับรู้กันในปัจจุบัน หมายเหตุ : จัดย่อหน้าและเน้นคำในเครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน อ่านเพิ่มเติม :- - รากฐานการแพทย์-สาธารณสุขไทย จากยุคกรมหมอหลวง สู่โรงพยาบาลที่ราษฎรเข้าถึง (https://www.silpa-mag.com/history/article_50037) - ขยายบริการแพทย์สู่ภูมิภาค งานแรกๆ ของคณะราษฎรหลัง 2475 (https://www.silpa-mag.com/history/article_77813) - หมอแมคฟาร์แลนด์ “อิฐก้อนแรกของศิริราช” บันทึกเล่าการแพทย์(สมัยใหม่)ยุคบุกเบิกในไทย (https://www.silpa-mag.com/history/article_24912) อ้างอิง :- - พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย. “บทบาทหมอชีวกโกมารภัจจ์ต่อพระพุทธศาสนา.” วารสาร “ศึกษาศาสตร์” มหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย 5, ฉ. 1 (มกราคม-มิถุนายน, 2560): 61-75. - วินัย อินเสมียน และพระมหามิตร ฐิตปญฺโญ. “หมอชีวกกับการรักษาโรคในพุทธศาสนา.” วารสารสถาบันวิจัยพิมลธรรม 8, ฉ. 1 (มกราคม-มิถุนายน, 2564): 128-136. - เสฐียรพงษ์ วรรณปก. “หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก.” สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 https://www.matichon.co.th/columnists/news_1072128. (https://www.matichon.co.th/columnists/news_1072128.) ขอขอบคุณ :- ผู้เขียน : ปดิวลดา บวรศักดิ์ เผยแพร่ : วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2566 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 21 มีนาคม 2566 URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_104499 (https://www.silpa-mag.com/history/article_104499) |