สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 29, 2023, 07:05:41 am



หัวข้อ: ทำไม คนรุ่นใหม่ ในประเทศร่ำรวย ถึงหมดรักรถยนต์.?
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 29, 2023, 07:05:41 am
(https://media.thairath.co.th/image/SKy71bJykI1i7uiSFFtA75qcostHeWbK5W1CvPs1a2h0Zk4e9vA1.png)


ทำไม คนรุ่นใหม่ ในประเทศร่ำรวย ถึงหมดรักรถยนต์.?

Summary

  • รถยนต์เคยเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ พ่อแม่ยุคเบบี้บูมเมอร์ต่างคะยั้นคะยอให้ลูกหลานไปหัดขับรถให้เร็วที่สุด แต่วัยรุ่นยุคใหม่กลับมองว่าทักษะการขับขี่รถยนต์เป็นเรื่องที่มีไว้ก็ดี แต่ไม่มีก็ไม่ได้เสียหายอะไร อัตราการครอบครองใบอนุญาตขับขี่ของกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะในหมู่ประเทศร่ำรวยจึงเริ่มดิ่งลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นมิลเลนเนียลมาจนถึงเจน Z

   
  • แม้จะไม่มีใครฟันธงได้ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหมดรักรถยนต์ แต่ก็มีความเป็นไปได้หลากหลายที่พอจะสนับสนุนแนวโน้มพฤติกรรมดังกล่าว ตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ทำให้เราไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อทำกิจกรรมสันทนาการอีกต่อไป สถานะทางการงานและการเงินที่ง่อนแง่นไม่มั่นคงของเหล่าคนรุ่นใหม่ และความกังวลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 
  • นโยบายรัฐในปัจจุบันก็มีส่วนทำให้ความจำเป็นในการใช้รถยนต์ลดลง อาทิ การออกแบบผังเมืองใหม่ที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์น้อยลง การลดพื้นที่จอดรถ การเปลี่ยนพื้นผิวถนนให้เป็นทางเดินเท้าและสวนสาธารณะ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมหากต้องการขับรถยนต์เข้าไปในใจกลางเมือง เป็นต้น



‘รถยนต์’ หนึ่งในเทคโนโลยีล้ำสมัยในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเรียกได้ว่าเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เมืองถูกออกแบบใหม่เพื่อรองรับการมาถึงของรถยนต์ พื้นผิวโลกถูกถมทับด้วยถนนลาดยางสีดำสนิท การเดินทางเพื่อไปทำงานและท่องเที่ยวสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและสารพัดมลภาวะจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล

รถยนต์เคยได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนหลายคนมองว่าเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ พ่อแม่ยุคเบบี้บูมเมอร์แทบทุกบ้านที่มีรถยนต์ต่างพยายามคะยั้นคะยอให้ลูกหลานไปหัดขับรถให้เร็วที่สุดเท่าที่กฎหมายจะเอื้ออำนวย แต่วัยรุ่นยุคใหม่กลับส่ายหน้า พวกเขาและเธอมองว่าทักษะการขับขี่รถยนต์เป็นเรื่องที่มีไว้ก็ดี แต่ไม่มีก็ไม่ได้เสียหายอะไร อัตราการครอบครองใบอนุญาตขับขี่ของกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะในหมู่ประเทศร่ำรวยจึงเริ่มดิ่งลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นมิลเลนเนียลมาจนถึงเจน Z

เมื่อปีที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกา มีเด็กอายุ 16 ปีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ครอบครองใบขับขี่ ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับราว 25 ปีก่อน จำนวนผู้มีใบขับขี่ยังลดลงในแทบทุกกลุ่มประชากรที่อายุต่ำกว่า 40 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะทางการใช้รถยนต์ก็ลดลงเช่นกัน ผู้ใช้รถใช้ถนนกลุ่มใหญ่จึงกลายเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ซึ่งโตมากับรถยนต์ และยังคงไม่เปลี่ยนพฤติกรรมแม้ว่าจะย่างเข้าสู่วัยเกษียณ

ในสหภาพยุโรปเองก็พบแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นอังกฤษที่ขับรถได้มีสัดส่วนลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเองถึงแม้ปัจจุบันจะครอบครองรถยนต์จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ระยะทางการขับขี่กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนีที่อุตสาหกรรมรถยนต์เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ

แนวโน้มดังกล่าวชัดเจนอย่างมากในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ลิน โคเปนเฮเกน ลอนดอน ปารีส และเวียนนา ที่การเดินทางในชีวิตประจำวันโดยใช้รถยนต์มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในปารีสที่จำนวนเที่ยวเดินทางโดยใช้รถยนต์ลดลงไปใกล้เคียงกับเมื่อ 50 ปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำมันแพงทั่วโลก


(https://media.thairath.co.th/image/xVtw60fWQp1V208s1a2hvgQEABhJdBPDM6GMp1V2IG21wBT7qVfyce9vA1.png)

สารพัดเหตุผลที่ทำให้รถยนต์ ‘ไม่จำเป็น’

แม้จะไม่มีใครฟันธงได้ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ในประเทศร่ำรวยถึงหมดรักรถยนต์ แต่เหล่านักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญก็นำเสนอหลากหลายความเป็นไปได้ที่พอจะสนับสนุนแนวโน้มพฤติกรรมดังนี้

ความเป็นไปได้แรกคือการเติบโตของโลกอินเทอร์เน็ต เหล่ามิลเลนเนียลและเจน Z คุ้นชินกับการพบปะบนโลกออนไลน์ รวมถึงการใช้สารพัดบริการผ่านแพลตฟอร์ม ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องก้าวขาออกจากบ้านเพื่อไปดูหนัง ช็อปเสื้อผ้า หรือซื้อหาอาหารเพราะทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และต่อให้พวกเขาจะมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองก็ยังสามารถใช้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถยนต์ไม่ว่าจะเป็น Uber หรือ Grab การต้องหัดขับรถยนต์เองจึงดูเป็นสิ่งที่เกินจำเป็น

ความเป็นไปได้ที่สองคือ สถานะทางการเงินที่ง่อนแง่นของคนรุ่นใหม่ รายงานฉบับหนึ่งในอังกฤษเปิดเผยว่าเหล่า วัยรุ่นมีแนวโน้มทำงานที่รายได้ต่ำและไร้ความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ครอบครองบ้านน้อยลง และอยู่ในระบบการศึกษายาวนานมากขึ้น สถานภาพทางการเงินที่ย่ำแย่ ประกอบกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ อาทิ ค่าเบี้ยประกัน และค่าที่จอดรถที่สูงขึ้นกลายเป็นกำแพงกีดกันให้คนรุ่นใหม่ยากที่จะมีรถยนต์เป็นของตัวเอง

ความเป็นไปได้สุดท้ายอาจดูเป็นเหตุผลเฉพาะกลุ่มสักหน่อย โดยแรงผลักดันที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจไม่ขับรถยนต์คือความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม สะท้อนจากกระแสรณรงค์กดดันให้รัฐบาลรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังซึ่งแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่ รวมถึงการเรียกร้องให้เมืองจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่โดยใส่ใจผู้อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น แทนที่จะออกแบบทุกอย่างโดยยึดรถยนต์เป็นศูนย์กลาง

@@@@@@@

ผังเมืองใหม่ที่กีดกันรถยนต์ออกจากเมือง

การออกแบบผังเมืองในปัจจุบันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามค่านิยมและไลฟ์สไตล์ในหมู่คนรุ่นใหม่ และกีดกันรถยนต์ออกจากใจกลางของการออกแบบพื้นที่เมือง

ประเทศไทยเองก็เคยมีกระแสรณรงค์ใน ‘วันปลอดรถยนต์’ หรือ Car Free Day ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กันยายนของทุกปี ถึงแม้ว่ากระแสในไทยจะเอนเอียงไปทางล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่หลายเมืองใหญ่เห็นประโยชน์จากท้องถนนที่ไร้รถยนต์เพราะนอกจากจะช่วยลดมลภาวะและลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกแล้ว ยังเสริมสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศเริ่มเดินหน้านโยบาย ‘ขอคืนพื้นที่’ จากรถยนต์

ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ สภาท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มเดินหน้ามาตรการ ‘ย่านชุมชนรถยนต์น้อย’ โดยมีการปิดถนนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวเข้าตรอกซอกซอยเพื่อเลี่ยงการจราจรจากถนนสายหลัก ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ก็ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณรถยนต์โดยการหั่นพื้นที่จอดรถใจกลางเมืองให้เหลือไว้เฉพาะที่จอดสำหรับคนพิการหรือผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ส่วนประเทศฝรั่งเศส สาเหตุที่ปริมาณการใช้รถใช้ถนนในกรุงปารีสที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายรัฐที่ขจัดลานจอดรถยนต์ ลดขนาดถนน และเปลี่ยนมอเตอร์เวย์ริมแม่น้ำแซนให้กลายเป็นสวนสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงถนนฌ็องเซลิเซ่ (Champs-Élysées) อันโด่งดังโดยการลดขนาดพื้นที่สำหรับรถยนต์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนเป็นทางเท้าและพื้นที่สีเขียว

@@@@@@@

แน่นอนครับ ว่าการเปลี่ยนแปลงแบบ ‘บนลงล่าง’ ผ่านกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของภาครัฐย่อมมีผู้ที่ต่อต้าน เช่น การประท้วงการจัดเก็บ ‘ค่าธรรมเนียมรถติด’ (congestion charge) ซึ่งรถทุกคันต้องจ่ายหากขับเข้าเมืองนิวยอร์ก หรือนักการเมืองฝ่ายค้านในอังกฤษที่เรียกร้องให้มี ‘เสรีภาพในการขับขี่’ ยังไม่นับค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในเมืองใหญ่ที่ปลอดรถยนต์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประวัติศาสตร์การต่อสู้กับรถยนต์อย่างยาวนานในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปก็จะพบว่าเมื่อรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าขอคืนพื้นที่ถนนจากรถยนต์แล้วเปลี่ยนให้เป็นถนนคนเดินหรือพื้นที่สาธารณะ แทบไม่มีประเทศใดเลยที่จะ ‘กลับลำ’ เปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวกลับมาเป็นถนนอีกครั้ง

การศึกษาหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า พฤติกรรมการขับขี่ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยวัยรุ่นจะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปแม้ว่าอายุจะเพิ่มขึ้นก็ตาม หมายความว่าในอนาคตเมื่อคนหนุ่มสาวในปัจจุบันเติบโตเข้าสู่วัยกลางคน มีครอบครัว และจำเป็นต้องมีรถยนต์เพื่อใช้ในการเดินทาง พวกเขาก็ยังพึ่งพารถยนต์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเหล่าเบบี้บูมเมอร์ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมรถยนต์

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าวัฒนธรรมรถยนต์กำลังอยู่ในช่วง ‘ขาลง’ อย่างน้อยก็ในกลุ่มประเทศร่ำรวย





Thank to : https://plus.thairath.co.th/topic/spark/102941
Thairath Plus › Spark | 23 มี.ค. 66 | creator : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์