สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ เมษายน 18, 2023, 05:12:09 am



หัวข้อ: พัฒนา ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ กับ 13 ประโยคทองที่นักจิตวิทยาคอนเฟิร์มว่า ‘ดี’
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 18, 2023, 05:12:09 am

(https://media.thairath.co.th/image/aFmpEMovgFNy46gKkoDNUZQUzevnyKNLjWud2NZXNMwe9vA1.png)


พัฒนา ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ กับ 13 ประโยคทองที่นักจิตวิทยาคอนเฟิร์มว่า ‘ดี’

Summary

    - การสื่อสารชนิดที่พูดออกมาหนึ่งประโยค ก็ ‘ตก’ ผู้ฟังได้เลยนั้น ยังคงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แถมยังได้รับการยืนยันจากนักจิตวิทยาแล้วว่า หากฝึกบ่อยๆ คุณจะกลายเป็นคนหนึ่งที่ถึงพร้อมด้วย ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ แบบที่ใครๆ ก็อยากอยู่ใกล้

    - ความฉลาดทางอารมณ์จึงเหมือนเป็นสมบัติล้ำค่าและหายาก ที่จะช่วยให้คุณกระชับความสัมพันธ์ ลดความขัดแย้ง ในโลกที่อะไรๆ ก็พร้อมจะเข้ามาเล่นงานภาวะอารมณ์ที่ไม่คงที่ของเราอยู่ตลอดเวลา – และนี่คือ 13 ประโยคที่อาจช่วยให้คุณพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้มากขึ้นได้




ในโลกหลังยุคโควิด หรือ Post Covid แบบนี้ ทักษะหนึ่งที่แต่ละคนต้องหยิบออกมาปัดฝุ่นกันอีกครั้ง คือทักษะในการสื่อสาร

เพราะไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์, การ Work From Home หรืออยู่กับบ้านโดยทิ้งสังคมที่คุ้นเคยไว้เป็นเวลานาน เมื่อถึงคราวที่ต้องกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอีกครั้ง หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าต้องรื้อเทคนิควิธีการสื่อสารที่เกือบร่อแร่ออกมาใช้อีกครั้ง โดยเฉพาะการพูดจาให้ถูกหู หรือถูกใจผู้ฟัง

อย่างไรก็ดี การสื่อสารชนิดที่พูดออกมาหนึ่งประโยค ก็ ‘ตก’ ผู้ฟังได้เลยนั้น ยังคงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แถมยังได้รับการยืนยันจากนักจิตวิทยาแล้วว่า หากฝึกบ่อยๆ คุณจะกลายเป็นคนหนึ่งที่ถึงพร้อมด้วยความฉลาดทางอารมณ์ แบบที่ใครๆ ก็อยากอยู่ใกล้และอยากมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

    "การสื่อสารชนิดที่พูดออกมาหนึ่งประโยค ก็ ‘ตก’ ผู้ฟังได้เลยนั้น ยังคงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แถมยังได้รับการยืนยันจากนักจิตวิทยาแล้วว่า หากฝึกบ่อยๆ คุณจะกลายเป็นคนหนึ่งที่ถึงพร้อมด้วยความฉลาดทางอารมณ์ แบบที่ใครๆ ก็อยากอยู่ใกล้และอยากมีปฏิสัมพันธ์ด้วย"

ความฉลาดทางอารมณ์ คืออะไร? หากนิยามสั้นๆ มันคือ ความสามารถในการระบุ และเข้าใจอารมณ์ของทั้งตัวเองและผู้อื่นได้ ลองนึกภาพตามว่า ถ้าหากเรารู้ว่าจะสื่อสารอะไรออกไปให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับสารของเราอย่างชัดเจน ตรงประเด็น แถมผูกใจได้ มันจะดีทั้งตัวเราและอีกฝ่ายขนาดไหน

สิ่งนี้จึงเหมือนเป็นสมบัติล้ำค่าและหายาก ที่จะช่วยให้คุณกระชับความสัมพันธ์ ลดความขัดแย้ง ในโลกที่อะไรๆ ก็พร้อมจะเข้ามาเล่นงานภาวะอารมณ์ที่ไม่คงที่ของเราอยู่ตลอดเวลา และนี่คือ 13 ประโยคที่อาจช่วยให้คุณพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้มากขึ้นได้ หากคุณรู้จักวิธีที่จะใช้มันในทุกๆ วัน


(https://media.thairath.co.th/image/aFmpEMovgFNy46gKkoDNUVWQ3Beh5bbBDY4ZoHgUSp1V2oe9vA1.jpg)

1) “ช่วยอธิบายเรื่องนั้นเพิ่มอีกนิดได้มั้ย?”

คนที่ขาดการตระหนักรู้ต่อตนเอง มักจะสนใจเพียงแค่ความรู้สึก และความคิดเห็นของตัวเองเท่านั้น แต่สำหรับคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะสนใจว่าผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไร และพูดว่าอะไร ดังนั้น การสื่อสารที่เป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายตรงข้ามได้พูดความรู้สึกและประสบการณ์ อย่างการขอให้อธิบายเพิ่มเติม หรือการขยายความเรื่องที่พูดอีกครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการใช้คำตอบที่ได้ เพื่อการเรียนรู้ของทั้งตัวผู้พูดและคนฟังในเวลาเดียวกัน

2) “ฉันเข้าใจเธอนะ”, “ฉันกำลังฟังเธออยู่นะ”

การบอกอีกฝ่ายว่า คุณเข้าใจเขา เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างสิ่งแวดล้อมในการพูดคุย ที่นำไปสู่บรรยากาศแบบทีมเวิร์กได้ หรือคำพูดที่คล้ายๆ กัน เช่น “ฉันเข้าใจว่าคุณหมายถึงอะไร” หรือ “ฉันเข้าใจว่าคุณกำลังพูดถึงสิ่งไหน” เหล่านี้เป็นสัญญาณว่าคุณกำลังรับฟังอย่างตั้งใจ และเปิดพื้นที่ให้กับการสื่อสารตรงหน้า

3) “ฉันเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังพูดอยู่นะ แต่…”

เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ หรือคนที่ดูยากจะดีลด้วย นี่เป็นอีกหนึ่งประโยคที่ดึงเอาความฉลาดทางอารมณ์มาใช้ในท่าทีแบบสันติวิธี หากคุณไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย ลองแสดงออกด้วยท่าทีแบบมีชั้นเชิงที่ไม่ใช่การเผชิญหน้าทางอารมณ์ โดยมีเป้าหมายคือ การช่วยให้บรรลุวิธีการแก้ปัญหา ที่เป็นการตกลงร่วมกันได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

4) “คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น”

เพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกเป็นที่ยอมรับและเคารพ ลองใส่ใจและให้เวลาในการทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจพวกเขาให้มากขึ้น ลองสวมบทบาทเป็นอีกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจพวกเขาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นอีกนิด

5) “ฉันไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น ช่วยอธิบายให้ฉันฟังอีกทีได้มั้ย?”

ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่า คุณรู้ว่าเกิดปัญหา หรือเรื่องราวบางอย่างขึ้นกับอีกฝ่าย แต่แทนที่จะแสดงด้วยท่าทีเชิงลบ ลองเปลี่ยนเป็นการเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายได้แชร์ความคิดของเขาบ้าง หรือใช้ประโยคอื่นๆ เช่น “คุณช่วยอธิบายให้ฉันฟังได้มั้ย?”, “สิ่งที่ฉันได้ยินหมายถึง…ใช่มั้ย?”

6) “คุณหมายถึงอะไร?”

เมื่อคุณขอให้ใครสักคนช่วยไขความกระจ่างจากคำพูดก่อนหน้า คุณกำลังขอให้อีกฝ่ายได้พูดบางอย่างในลักษณะที่แตกต่างออกไป หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งคำพูดนี้จะแตกต่างจากการให้อีกฝ่ายพูดซ้ำ ซึ่งอาจจะไม่มีการขยายความ หรือให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

7) “เยี่ยมมาก!”

การแสดงความชื่นชม เป็นการยอมรับความพยายาม และความสำเร็จของผู้อื่น เมื่อใดที่คุณชื่นชมใครสักคนมันจะเป็นการสร้างบรรยากาศเชิงบวกขึ้นมาทันที ลองพูดว่า “ฉันชื่นชมคุณนะ” ดูสิ เชื่อว่าอีกฝ่ายต้องรู้สึกปลื้มคุณมากกว่าเดิมอีก

8) “ความเห็นเจ๋งทั้งคู่เลย มาดูกันว่าจะเอามาใช้งานได้ยังไง”

บางครั้งการทำงานร่วมกันหลายคน มักจะเกิดมุมมองที่มีความต่าง ประโยคนี้จึงเหมือนกาวประสานให้ผ่านจุดที่จะเกิดปัญหาแบบมีชั้นเชิง และยอมรับมุมมองที่ต่างกันได้ โดยเฉพาะในตำแหน่งหัวหน้า หากคุณสนับสนุนให้ทุกคนได้แบ่งปันข้อกังวลใจ คุณสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น แถมการศึกษายังพบว่าความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้ง เป็นเครื่องหมายหนึ่งของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์อีกด้วย

9) “ฉันชอบความเห็นของคุณในเรื่องนี้นะ”

ประโยคลักษณะนี้ หรือคล้ายๆ กัน เช่น “ขอคำแนะนำจากคุณได้มั้ย?” หรือ “จะเป็นไรมั้ยถ้าฉันขอคำแนะนำเพิ่มเติม?” เหล่านี้ล้วนเป็นประโยคทอง ซึ่งเป็นการทำให้อีกฝ่ายได้รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะทำให้เขามองคุณในมุมบวกได้อีกด้วย

10) “เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันรู้สึกกังวล (สับสนหรือเสียใจ)”

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะไม่ไปโฟกัสว่าใครคือตัวต้นปัญหา แต่จะโฟกัสที่สถานการณ์โดยรวม ด้วยประโยคนี้คุณจึงไม่กล่าวโทษใคร หรือวางอีกฝ่ายว่าเป็นคนละพวก แต่คุณกำลังอธิบายว่ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งช่วยให้หลีกเลี่ยงท่าทีเฉยเมย ตั้งแง่ หรือก้าวร้าวได้

11) “คือฉันรู้สึกแบบนี้นะ…”

เมื่อคุณมีความฉลาดทางอารมณ์ คุณมักเชื่อมต่อกับอารมณ์ของคุณที่เกิด ณ ขณะนั้น การตระหนักรู้ในตัวเองประเภทนี้จะทำให้คุณสื่อสารอารมณ์ และสร้างความประทับใจระหว่างคุณกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสองอย่างนี้ทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับคุณมากขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นให้พวกเขารู้จักที่จะสื่อสารแบบเดียวกันด้วย

12) “ฉันขอโทษ”

การมีความอ่อนน้อมถ่อมตนในปริมาณที่เหมาะสม เป็นเรื่องปกติของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง อย่ากลัวที่จะพูดว่า “ฉันขอโทษ” เมื่อคุณทำผิดพลาด จงยอมรับมันและขอโทษอย่างใจจริง ต่อใครก็ตามที่สมควรจะได้รับมัน

13) “ขอบคุณ!”

อย่าลืมชุดคำวิเศษณ์ที่คุณเคยถูกสอนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก อย่างคำว่า “ขอบคุณ” และ “ยินดีเสมอ” ล้วนเป็นชุดคำคลาสสิกที่ควรพูดติดปากทั้งสิ้น

@@@@@@@

การมีความตระหนักรู้ในตนเอง ผ่านคำพูดหรือการสื่อสาร ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องหมายของความฉลาดทางอารมณ์ที่คุณมีเท่านั้น แต่มันยังแสดงถึงความเคารพที่คุณมีต่อผู้อื่น ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาเคารพคุณมากขึ้นอีกด้วย







Thank to :-
อ้างอิง : cnbc.com
URL : https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/103045
Thairath Plus › Everyday Life › Living › Lifestyle
16 เม.ย. 66 | creator : วรรณวรา สุทธิศักดิ์