หัวข้อ: “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เปิดภาพพร้อมข้อความบน “จารึกเมืองศรีเทพ” เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 22, 2023, 09:03:38 am .
(https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2023/09/FB_IMG_1695279218201.jpg) “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เปิดภาพพร้อมข้อความบน “จารึกเมืองศรีเทพ” “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความบน “จารึกเมืองศรีเทพ” เพจเฟซบุ๊ก คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้เผยแพร่ภาพที่หาชมได้ยาก และข้อมูลใน “จารึกเมืองศรีเทพ” โดยระบุว่า ในโอกาสที่ “เมืองโบราณศรีเทพ” ได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments : เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง จึงขอนำเสนอโบราณวัตถุในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือ “จารึกเมืองศรีเทพ” ตามประวัติระบุว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบที่เมืองโบราณศรีเทพ เมื่อ พ.ศ. 2449 ตรงกับ ร.ศ. 125 เมืองศรีเทพปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกนี้ส่งมาเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2550 มีลักษณะเป็นเสากลมรูปคล้ายตะปูหัวเห็ดหรือคล้ายดอกบัวตูม ทำจากหินทรายเนื้อละเอียด จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด มีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” โดยปรากฏในหนังสือเรื่อง เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 3 เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า 20 ความว่า @@@@@@@ “ …ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้แปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโคลน สำหรับฝังดินขัดเกลี้ยง แต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้นเป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้มาที่กรุงเทพ (หอวชิรญาณ) ให้อ่าน ดูเป็นภาษาสันสกฤตมีคำว่า ขีลัง ซึ่งแปลว่าหลัก จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้คือ หลักเมืองศรีเทพแบบโบราณ เขาทำเป็นรูปตะปูตอกไว้ลงในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง…” และต่อมานายชะเอม แก้วคล้าย มีการอ่านชำระใหม่ เป็นคำว่า “ขิลํ” จากถ้อยความว่า “เวตฺตย ขิลํ สโจทฺยม” แปลว่า เขาเป็นผู้รู้ความรุ่งเรืองทั้งสิ้น เนื่องจากเนื้อหินด้านหนึ่งของจารึกแตกหาย ข้อความจารึกแต่ละบรรทัดจึงเหลืออยู่เฉพาะช่วงกลาง เนื้อหาที่เหลือโดยสรุป กล่าวถึงการสรรเสริญบุคคลว่า เป็นผู้เปี่ยมด้วยความรู้และยังเป็นผู้มีธรรม ซึ่งอาจเป็นพระราชาหรือเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 11 ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/2738829/ (https://www.dailynews.co.th/news/2738829/) 21 กันยายน 2566 ,14:01 น. |การศึกษา-ไอที |