สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 04, 2023, 06:45:04 am



หัวข้อ: ทำไมรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่ควรผ่ากลาง “อยุธยา” และ “อโยธยา”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 04, 2023, 06:45:04 am
.
(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/4019/live/b9a3bbf0-60fa-11ee-9658-c3cdfde66104.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ภาพ รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา เมื่อ 26 มี.ค. 2439 แขวนอยู่เห็นเด่นชัดในสถานีรถไฟอยุธยา


ทำไมรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่ควรผ่ากลาง “อยุธยา” และ “อโยธยา”

ชายในเสื้อยืดสีดำยืนอยู่ริมแม่น้ำ จากฝั่งวัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเก่าแก่ของอยุธยา พลางชี้ให้คณะหญิงชาย-หนุ่มสาว หลายสิบชีวิต มองไปยังทัศนียภาพงดงามริมน้ำ ที่ในอนาคตอาจถูกบดบังด้วยเสาตอม่อ และสถานีรถไฟความเร็วสูงที่จะมีขนาดเท่าตึกสูงหลายชั้น

“อะไรที่บดบังภูมิทัศน์ บดบังความโดดเด่นของอารยธรรมมนุษยชาติ ก็ถูกถอดออกจากมรดกโลกได้” ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี บอกกับคณะทัวร์ที่ไม่ได้มา จ.อยุธยา เพื่อท่องเที่ยว แต่มาสำรวจความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากกระทรวงคมนาคม เดินหน้าสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ตามแผนเดิม


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/d18f/live/c4f79d00-60f5-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix ,คำบรรยายภาพ : ศิริพจน์ ระบุว่า สถานีรถไฟและตอม่อทางรถไฟความเร็วสูง จะสูงเท่ากับโรงแรมแห่งนี้ ที่อยู่ตรงข้ามวัดพนัญเชิง

ทำไมทางรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ที่อยู่ห่างจากแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 1.5-2 กิโลเมตร ถึงทำให้ไทยเสี่ยงสูญเสียเมืองมรดกโลกแห่งนี้ไป ศิริพจน์อธิบายว่า เพราะเส้นทางรถไฟฯ แม้จะอยู่ห่างจาก “พื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น” (Core Zone) แต่ยังอยู่ใน “แนวกันชน” (Buffer Zone) ของแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

คณะกรรมการอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก จึงมีความกังวลและเตือนมาถึงรัฐบาลไทยเมื่อปี 2564 ว่า เมืองเก่าอยุธยา “อาจถูกถอดออกจากมรดกโลก” โดยให้ทางเลือกว่า

    - ก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก
    - เปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยอ้อมพื้นที่ปริมณฑลของเขตที่ประกาศขึ้นเป็นมรดกโลกของเกาะเมืองอยุธยา

ทางรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 1 “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ซึ่งจะเชื่อมเข้ากับ ระยะที่ 2 “นครราชสีมา-หนองคาย” ติดต่อกับโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่เปิดให้บริการไปแล้ว

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกตีตกโดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2557 ต่อมาเกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งได้ฟื้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย-จีน ตามเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ใช้มาตรา 44 เมื่อปี 2560 ยกเว้นกฎหมายและระเบียบตรวจสอบ ให้เดินหน้าโครงการต่อไป


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/1635/live/4c82dcd0-60f6-11ee-a72e-b3fe3b95382a.png)
ที่มาของภาพ, สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2566 ว่า รางรถไฟความเร็วสูงจะไม่ก่อปัญหาต่อสถานะมรดกโลกของอยุธยา เพราะสร้างบน “แนวรถไฟเดิม” และตำแหน่งสถานีก็ห่างจากพื้นที่นครประวัติศาสตร์ พร้อมระบุว่าในขั้นต้นจะเดินหน้า “สร้างระบบรางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปก่อน จะไม่สร้างสถานีจอดรถอยุธยาจนกว่าจะมีความสรุป”

แต่ในสายตานักวิชาการหลายคน แค่การสร้างรางรถไฟนั้น ก็เหมือนการขุดทำลายประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า “ต้นกำเนิดคนไทยและประเทศไทย” เพราะเส้นทางรถไฟนั้น จะ “ผ่ากลาง” พื้นที่ที่เรียกว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” หรือ “อโยธยา” ที่มีหลักฐานเชื่อกันว่า เป็นรากฐานก่อกำเนิดอยุธยา และความเป็นไทยมาถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับ ศิริพจน์ ที่เชื่อว่าหากในสมัยรัชกาลที่ 5 พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการรถไฟในประเทศไทย กำเนิดแนวคิดเรื่องการบูรณะโบราณสถาน "ผมเชื่อว่า รัชกาลที่ 5 จะไม่สร้างทางรถไฟทับเมืองโบราณอโยธยา ไม่ทำหรอก"


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/1bc9/live/b01fcf00-60f6-11ee-a72e-b3fe3b95382a.png)
ที่มาของภาพ, Handout , คำบรรยายภาพ : เส้นสีแสดง แสดงให้เห็นจุดที่ทางรถไฟความเร็วสูงจะ "ผ่า" กลางอโยธยา

*หมายเหตุ : แนวคิดการบูรณะโบราณสถานเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (2457-2461) จากการทิ้งระเบิดทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

**กิจการรถไฟไทยได้เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2439

สุโขทัย... ไม่ใช่ “อาณาจักร” แรกของไทย.?

ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ มักจะพร่ำสอนเสมอว่า “สุโขทัย” เป็นอาณาจักรแห่งแรก หรือราชธานีแห่งแรกของไทย จนกระทั่งปี 2562 สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งข้อสังเกตว่า กรมศิลปากร ได้เปลี่ยนคำเรียกเหล่านี้ เป็น “รัฐสุโขทัย” ไม่กล่าวถึงว่าเป็น "ราชธานีแห่งแรก" - "อาณาจักรแห่งแรก ๆ" ตามงานนิทรรศการ หรือหนังสือของกรมศิลปากร อีกต่อไป

เขามองว่า การกำหนดให้กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก มีเป้าหมายเพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองชาตินิยม” ให้เกิดการ “คลั่งเชื้อชาติ” ด้วยการสร้าง “รัฐในอุดมคติ” จนกระทั่งเริ่มปรากฏหลักฐานทางวิชาการ ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา ที่ขัดแย้งกัน

แล้วราชธานีแห่งแรกของไทย คือที่ไหน? นักเขียนเจ้าของคอลัมน์ “สยามประเทศไทย” อธิบายตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และพงศาวดารว่า คือ "อโยธยา" โดยบุคคลแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5


(https://ichef.bbci.co.uk/news/785/cpsprodpb/f1b5/live/ced45fb0-60f6-11ee-a2cc-89c9f3fc75a6.png)
ที่มาของภาพ, กรมศิลปากร , คำบรรยายภาพ : รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา “โบราณคดีสโมสร” เมื่อ 30 พ.ย. ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450)

ย้อนไปเมื่อครั้งพระองค์สถาปนา “โบราณคดีสโมสร” เมื่อ 30 พ.ย. ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ทรงมีพระราชดำรัส แปลความเป็นภาษาปัจจุบันได้ว่า “อยุธยาคือเมืองใหม่ของอโยธยา (กรุงศรีอยุธยาฤาอโยชฌิยา) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก มีวัดวาอารามสำคัญๆ ได้แก่ วัดพนัญเชิง, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดอโยธยา (วัดเดิม), วัดกุฎีดาว, วัดมเหยงคณ์ เป็นต้น ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาได้ทรงปฏิสังขรณ์แทบทั้งนั้น”

“สังคมไทยถูกหลอกตลอดเวลา 100 ปีที่ผ่านมา... ประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่งเหมือนนิยาย ขายเหมือนข่าวปลอม” สุจิตต์ กล่าว


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/387f/live/09c443b0-60f7-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : สุจิตต์ ยังหยิบยกบุคคลสำคัญอีกหลายคน ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอโยธยา มาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ผู้คุมงานขุดค้นและบูรณะพระราชวังโบราณอยุธยา ถวายรัชกาลที่ 5, ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, จิตร ภูมิศักดิ์ อดีตนักปราชญ์ประชาชน, พเยาว์ เข็มนาค อดีตหัวหน้าช่างสำรวจโบราณคดี กรมศิลปากร

ย้อนกลับมาที่คณะทัวร์ ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่รับบทไกด์พิเศษได้นำคณะมาถึงวัดใหญ่ชัยมงคล ก่อนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ปฐมกษัตริย์ของอยุธยา ได้โปรดเกล้าให้ขุดศพ “เจ้าแก้ว-เจ้าไท” ซึ่งทิวงคต (เสียชีวิต) จาก “อหิวาตกโรค” ขึ้นมาเผา โดยสถานที่ปลงศพนั้น ให้สถาปนาเป็นพระอารามชื่อวัดป่าแก้ว ซึ่งต่อมาคือ วัดใหญ่ชัยมงคล

(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/0b4d/live/2ea46b60-60f7-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix คำบรรยายภาพ : วัดใหญ่ชัยมงคล แต่เดิมชื่อ "วัดป่าแก้ว"

ศิริพจน์ ตั้งคำถามว่า คำว่า “โรคห่า” ที่คนไทยตีความว่าเป็น อหิวาตกโรค แท้จริงแล้วคือ “กาฬโรค” หรือที่ยุโรปเรียกว่า “ความตายสีดำ” (พ.ศ. 1890-1894) เพราะช่วงปี 1893 ที่พระเจ้าอู่ทอง “ทรงหนีโรคห่า” มาสถาปนากรุงศรีอยุธยา ประจวบเหมาะกับที่หายนะกาฬโรคในยุโรป กำลังบรรเทาลงพอดี

เขายังหยิบยกพงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ว่า แท้จริงนั้น พระเจ้าอู่ทองไม่ได้อพยพหนีจากสุพรรณบุรีหรือลพบุรีมาตั้งอาณาจักรอยุธยา แต่เป็นการย้ายจาก “อโยธยา” ไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ แล้ว “ขวัญเมืองใหม่” หรือแก้เคล็ดเปลี่ยนชื่อ เป็น “อยุธยา” เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักฐานว่า อโยธยา เป็นราชธานีก่อนอยุธยา และมีมาก่อนสุโขทัยเสียอีก

ถึงจุดนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ “The rise of Ayudhya” (2517) ในฐานะผู้ร่วมคณะทัวร์เดียวกันนี้ แสดงความเห็นว่า “ถ้าเราเอาเรื่องประวัติศาสตร์โลก (กาฬโรคในยุโรป) มาประยุกต์กับประวัติศาสตร์ไทย… ผมอยากเชื่อว่า กาฬโรคต้องระบาดแรงมากในอุษาคเนย์ อาณาจักรนครวัดนครธมอาจล่มเพราะกาฬโรค และอยุธยาขึ้นมาได้เพราะกาฬโรค”


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/76f3/live/805b4dc0-60f7-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ อยากเชื่อว่า อยุธยาขี่กระแสมาจากกาฬโรคระบาดในอุษาคเนย์

ทำลายมรดก-ชุมชน.?

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เดินชมสถานีรถไฟอยุธยา ในตำบลไผ่ลิง ในช่วงก่อนบ่าย ซึ่งมีคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก หรือรอเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่น ๆ

ท่ามกลางภาพม้านั่งทรงกลม เจ้าหน้าที่โบกธงให้สัญญาณ และรถไฟที่เคลื่อนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ มองหา คือภาพเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา เมื่อ 26 มี.ค. 2439 ซึ่งแขวนอยู่เห็นเด่นชัดภายในสถานีรถไฟ


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/4d55/live/a92f44e0-60f7-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : บรรยากาศคึกคักที่สถานีรถไฟอยุธยา

และเมื่อได้ทราบถึงแผนการสร้างสถานีรถไฟคร่อมทับสถานีรถไฟอยุธยา ที่มีสถานะเป็น “โบราณสถาน” เขาขอตั้งคำถามว่า

“คุณจะทำสถานีใหญ่โตมโหฬาร บังอาจสามารถที่จะสร้างอะไรมาคร่อมทับ สถานีที่รัชกาลที่ 5 และพระพันปี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) มาเปิดได้หรือไม่ ผมอยากจะถาม” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/707a/live/db7ee860-60f7-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในบทบาทไกด์ทัวร์

ข้ามทางรถไฟไปยังฝั่งตรงข้าม เป็นที่ตั้งของศาลหลวงพ่อคอหัก ศิลปะสมัยทวารวดีที่อยู่ ณ จุดนี้มาหลายร้อยปี และอาจเป็นหลักฐานถึงชุมชนยุคก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่หากมีการเดินหน้าสร้างสถานีรถไฟ ศาลแห่งนี้ก็ต้องถูกย้ายไป เช่นเดียวกับชุมชนหลายสิบครัวเรือนบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ได้ข่าวว่าจะเวนคืนไปถึงถนนที่จะไปถึงวัดประดู่... รื้อหมดเลย ประชาชนเขาไม่ยอมหรอก” สัมพันธ์ โสภณนิติธรรม อดีตพนักงานฝ่ายทรัพย์สินที่ดินการรถไฟ ที่อาศัยอยู่บนที่ดินของการรถไฟมาตั้งแต่เกิด บอกกับบีบีซีไทย

“คนอยุธยาอยากได้รถไฟความเร็วสูง แต่ถ้ามีปัญหาแบบนี้ เบนเส้นทางก็ได้นี่” เขากล่าวต่อ


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/6583/live/fd727770-60f7-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ชุมชนข้างศาลหลวงพ่อคอหัก คงต้องย้ายออก หากมีการสร้างสถานีรถไฟคร่อมทับสถานีเก่า เช่นเดียวกับอีกหลายชุมชน

ประเด็นเรื่องการสร้างเส้นทางและสถานีรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางอยุธยา กลายเป็นประเด็นถกเถียงกว้างขวาง หลัง เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล โพสต์ว่า “ประชาชนคนไทยต่างลุ้นกับกรณี ศรีเทพ จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่อยุธยาที่เป็นอยู่แล้ว กำลังจะถูกถอด เพราะรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง” โดยมีผู้คนจำนวนไม่น้อย มาแสดงความเห็นสนับสนุนการสร้างทางรถไฟ

ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา พรรคก้าวไกล ก็ออกมาคัดค้านโครงการเช่นกัน โดยเขาบอกกับบีบีซีไทยว่า ภาครัฐประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลต่าง ๆ กับประชาชนในอยุธยาถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงน้อยมาก เขาและพรรคก้าวไกลจึงต้องการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วน

“เราหวังดี เพื่อให้พี่น้องชาวอยุธยาทราบข้อมูลมากขึ้นว่า เมืองในอนาคตที่จะเป็นเมืองในฝันของชาวอยุธยาจะเป็นอย่างไร อะไรคือการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดกับชาวอยุธยา” ทวิวงศ์ สส.ชายอายุน้อยที่สุด ในวัย 27 ปี กล่าว

เขายังขอเสริมจุดยืนของเขาและพรรคก้าวไกลว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างรถไฟความเร็วสูง ในเวลานี้ เพราะ “ประเทศไทยต้องการเส้นเลือดฝอย ก่อนจะมีเส้นเลือดใหญ่”


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/00f1/live/0e104fd0-60f8-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา พรรคก้าวไกล มาร่วมสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลกับคณะทัวร์

คุณค่าอยุธยา... ที่ไม่ใช่มรดกโลก

ย้อนไปเมื่อปี 2564 ที่ยูเนสโกได้แจ้งคำเตือนถึงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ที่อาจทำให้อยุธยาถูกถอดสถานะมรดกโลก เป็นปีเดียวกับที่ ลิเวอร์พูลในสหราชอาณาจักร ถูกถอดออกจากสถานะมรดกโลก เพราะโครงการพัฒนาหลายแห่ง รวมถึงการสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ของสโมสรเอฟเวอร์ตัน ทำให้คุณค่าของพื้นที่แม่น้ำเมอร์ซี ที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองถดถอยอย่างร้ายแรง

กรณีคล้ายกันเกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อยูเนสโกได้ถอด “ที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาแม่น้ำเอลเบอ เมืองเดรสเดน” ของเยอรมนี ออกจากบัญชีมรดกโลก เพราะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

นี่คือกรณี “อดีตมรดกโลก” ที่ ศิริพจน์ หยิบยกขึ้นมาเตือนว่า ไทยไม่ควรชะล่าใจ “ถ้าเขาไม่ถอด เขาจะเตือนทำไม แล้วอยุธยาโดนเตือนมา 3 ครั้งแล้ว” ศิริพจน์ บอกกับบีบีซีไทย “แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่ารัฐไทยจะแคร์หรือเปล่า แต่คนที่ทำงานสาขาโบราณคดีจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้”


(https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/7c61/live/2e701f80-60f8-11ee-a72e-b3fe3b95382a.jpg)
ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : จากขวาไปซ้าย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการเสวนา

นั่นจึงนำมาสู่การเสวนาในชื่อ “มรดกเผด็จการ ม.44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา” เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่รวมนักวิชาการสาขาต่าง ๆ มาแสดงความเห็นถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงตัดผ่านอยุธยา โดยย้ำจุดยืนของผู้ร่วมเสวนาทุกคนว่า “ต้องการรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา แต่ไม่อยากให้ทำลายเมืองเก่า และคุณค่าทางประวัติศาสตร์”

บีบีซีไทย สรุปความเห็นของวงเสวนา ได้ดังนี้

ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

“มาตรา 44 ปิดปาก การโต้แย้งถกเถียงใด ๆ รวมถึงการศึกษาเมืองโบราณอโยธยา” พร้อมยกตัวอย่างโครงการก่อสร้างที่จอดรถใต้สนามหลวงของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หลายสมัย ที่ต้องล้มเลิกไป เพราะคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ประเมินว่ามีความเสี่ยงกระทบกระเทือนโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่อยู่ใต้ท้องสนามหลวง ดังนั้น ทำไมการสร้างทางรถไฟและสถานีรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา ถึงได้มองข้ามจุดนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

“เรารู้เราเห็นสิ่งที่มันจะถูกทำลายอยู่ตรงหน้า โดยหน่วยงานรัฐ... จะยังมีใครนั่งรถไฟมาลงอยุธยาอีกไหม ถ้าไม่ใช่มรดกโลก ไม่มีความเป็นเมืองที่น่าเที่ยวอีกต่อไป เพราะมนต์ขลังหรือความเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ได้หายไปแล้ว”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ในเชิงกฎหมายนั้น การพัฒนาเมืองไม่เพียง “ทำให้พื้นที่หรือกายภาพเจริญขึ้นอย่างเดียว แต่ต้องครอบคลุมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย” ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และอื่น ๆ


(https://ichef.bbci.co.uk/news/538/cpsprodpb/0e13/live/75b0eff0-60f8-11ee-a2cc-89c9f3fc75a6.png)
ที่มาของภาพ, หนังสือเมืองโบราณ , คำบรรยายภาพ : หนังสือเมืองโบราณ ฉบับปี 2560 ว่าด้วย "อโยธยาศรีรามเทพนคร"

ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งถือเป็น HIA ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยปรึกษากับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผอ.ศูนย์การประชาสัมพันธ์ รฟท. เปิดเผยกับสื่อ รวมถึงมติชนว่า การทำ HIA จะประเมินผลกระทบต่อมรดกโลกใน 3 ด้าน คือ ทัศนียภาพ กายภาพ และสังคม-เศรษฐกิจ รวมถึงการเสนอแนวทางพัฒนาที่เหมาะสม แต่ยังยืนยันว่า การดำเนินการก่อสร้างจะใช้เฉพาะพื้นที่เขตรถไฟเดิม ไม่กระทบต่อมรดกโลก หรือพื้นที่ของประชาชนแต่อย่างใด

สำหรับ ผู้ยืนยันว่า “สนับสนุนรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา” อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ เขามองว่าการก่อสร้างทางรถไฟผ่ากลาง “อโยธยา” จะทำให้คนไทยเสียโอกาสในการสำรวจคำอธิบายใหม่ว่า “คนไทยเป็นใครและมาจากไหน”

“สังคมไทยต้องร่วมกันอนุรักษ์อโยธยา” เขากล่าวในวงเสวนาเดียวกัน “สำหรับผม อโยธยาเป็นเมืองไทยแห่งแรก เป็นเมืองต้นกำเนิดเมืองไทย และภาษาไทย เป็นต้นกำเนิดสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และประเทศไทย”

“แล้วจะทำลายอโยธยาทำไม... จะทำลายต้นกำเนิดความเป็นคนไทยทำไม”






Thank to :-
website : https://www.bbc.com/thai/articles/cz5elnpxj3lo (https://www.bbc.com/thai/articles/cz5elnpxj3lo)
Author, เรื่อง : ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงศ์
Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย | 3 ตุลาคม 2023