หัวข้อ: เทพ Anubis vs หมาเก้าหาง | สุนัขส่งวิญญาณผู้ตาย จากอียิปต์ถึงหลุมศพที่ศรีเทพ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 17, 2023, 09:14:02 am .
(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/เพ็ญสุภา-2257-696x365.jpg) เทพ Anubis vs หมาเก้าหาง | สุนัขส่งวิญญาณผู้ตาย จากอียิปต์ถึงหลุมศพที่ศรีเทพ โครงกระดูกสุนัขที่ศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น “แหล่งมรดกโลกด้านวัฒนธรรม” แห่งใหม่ล่าสุดไปหยกๆ นั้น นอกเหนือจากจะมีความโดดเด่นเรื่องหลักฐานโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ยุคที่เรียกให้เข้าใจง่ายๆ กันว่า “ทวารวดี” ตามติดด้วยยุคบาปวนของขอม ทั้งประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลาจารึก ซากเนินร้าง เขาคลังนอก เขาคลังใน ปรางค์สองพี่น้อง ฯลฯ แล้ว ยังมีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดอีกจุดหนึ่ง นั่นคือหลุมศพโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (เป็นจุดแรกที่รถรางจะพาไปชม หากไม่นับศูนย์ข้อมูลที่รวบรวมเศษซากชิ้นส่วนประติมากรรม 2-3 หลัง) ตื่นเต้นเพราะเราไม่เพียงแต่ได้พบ “โครงกระดูกของมนุษย์” เท่านั้น หากยังพบโครงกระดูกของ “สุนัข” ปะปนในหลุมเดียวกันอีกด้วย! ประเด็นนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยบรรยายผ่านรายการต่างๆ หลายครั้งแล้วว่า “หมาพวกนี้ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นหมาในพิธีกรรม ทำหน้าที่ส่งวิญญาณผู้ตาย ใครอยากรู้รายละเอียดให้ไปอ่านหนังสือชื่อ ‘ข้าวปลา หมาเก้าหาง’ ที่ผมเขียนไว้ได้” (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-1-1536x1153.jpg) โครงกระดูกสุนัขเคียงข้างโครงกระดูกมนุษย์ในหลุ่มศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่แหล่งโบราณคดีศรีเทพ นอกจากนี้แล้ว สุจิตต์ยังอ้างอิงถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุ 3,000 ปี 2-3 แห่งที่มีการวาดภาพสุนัขปะปนอยู่ในภาพเดียวกันกับกลุ่มมนุษย์ ดูเผินๆ แล้วประหนึ่งว่าต่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอยู่ไม่น้อย สองแห่งแรกชัดเจนมาก คือ ที่ถ้ำเขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กับที่ภูปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ส่วนบางแห่งค่อนข้างลบเลือนภาพไม่ค่อยชัดนัก อาทิ ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-2-1536x1024.jpg) ภาพโฟกัส โครงกระดูกสุนัขที่ศรีเทพ เชื่อว่าถูกบูชายัญ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งวิญญาณผู้ตาย ผู้เขียนถ่ายภาพทั้งสองนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 “องค์ความรู้เดิมนั้น พอเห็นภาพเหล่านี้ปุ๊บ นักวิชาการด้านโบราณคดีส่วนใหญ่ก็ฟันธงทันทีเลยว่า นี่ไง หลักฐานยุคดึกดำบรรพ์ที่สะท้อนว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ในความเป็นจริง ไม่ใช่เลย การเขียนภาพประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์บนผนังถ้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนศาสนสถาน จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมาวาดภาพสัตว์เลี้ยง.?” สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าว (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-3.jpg) หนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ รวบรวมนิทานพื้นบ้านถึงคนกับหมา หมาเป็นผู้เอาพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาให้คนปลูก หมาเอาข้าวมาจากสวรรค์ และส่งมนุษย์กลับคืนสู่แถน หนังสือ ‘ข้าวปลาหมาเก้าหาง’ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนขึ้นในปี 2546 หรือราว 20 ปีมาแล้ว เน้นการรวบรวมนิทานพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ว่าล้วนมีความผูกพันกับวัฒนธรรมข้าว แต่ละชาติพันธุ์อาจมีเรื่องเล่าหรือมุขปาฐะที่เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่โดยหลักๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ต้องการบอกว่า เดิมนั้น “หมาเคยมีถึงเก้าหาง” และหมาเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทแรกที่ดั้นด้นปีนป่ายขึ้นไปยังสวรรค์ กระทั่งได้พบแปลงนาข้าว ซึ่งถือว่าเป็นของดีของวิเศษ หมาตัวนั้นจึงได้เอาหางของมันจุ่มลงในนาข้าวเพื่อให้เมล็ดข้าวติดหางมันมา ตั้งใจจะเอามาให้มนุษย์ปลูก (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-5-1536x1219.jpg) จากหนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง” (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-4-scaled.jpg) จากหนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง” แต่เจ้ากรรมแท้ๆ เทวดาดันเห็นจึงวิ่งไล่ฟันหางของหมาขาดไป 8 เส้น เหลือเพียง 1 เส้นเท่านั้น เมื่อหมากลับคืนมาสู่โลกมนุษย์ ได้เอาพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาให้คนปลูก และเมื่อมนุษย์เสียชีวิต บางชาติพันธุ์ต้องการให้บุคคลผู้นั้นขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ (จะเรียกดินแดนสุขาวดีนั้นว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แถน สรวง ฟ้า สวรรค์ ในยุคที่ยังไม่มีพุทธ พราหมณ์) เช่นชาวจ้วง จำเป็นต้องบูชายัญ “สุนัข” 1 ตัว ให้ตายไปพร้อมกับศพมนุษย์ (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-6-1677x2048.jpg) จากหนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง” (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-7-1536x1533.jpg) จากหนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง” ด้วยความเชื่อที่ว่า หมาเป็นสัตว์ประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถขึ้นไปยัง แถน สรวง ฟ้า สวรรค์ ได้ โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้นำเสนอภาพประกอบพิธีกรรมบูชายัญสุนัขเพื่อส่งวิญญาณผู้ตาย ผ่านรูปกลองมโหระทึก (ฆ้องกบ) ของชาวจ้วง ครั้นถึงกรณีที่มีการพบรูปสุนัขในแหล่งโบราณคดีที่ศรีเทพ ฝังรวมกับมนุษย์ จึงมีการตั้งคำถามกันมากว่า สุนัขตัวนี้ตายตามธรรมชาติพร้อมเจ้าของของมัน หรือถูกจับบูชายัญ เพื่อทำหน้าที่ส่งวิญญาณผู้ตายไปปรโลก (แถน สรวง ฟ้า สวรรค์) (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-8-1536x1152.jpg) อนูบิส ที่ถูกถ่ายทอดในภาพจิตรกรรม ตามสุสานอียิปต์ ทำหน้าที่ดองศพ และชั่งหัวใจคนตาย ทั้งยังเดินนำไปปรโลก (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-9.webp) ประติมากรรมรูปเทพอนูบิสในรูปลักษณ์หมาจิ้งจอก แล้วเทพ Anubis ของอียิปต์โบราณเล่า จะเอาวิญญาณผู้ตายไปไหน.? จากองค์ความรู้ดังกล่าว ทำให้ดิฉันต้องหันไปเพ่งพินิจถึงประเพณีฝังศพของชาวอียิปต์โบราณ ตามที่เราท่านทราบกันดีถึงเทวปกรณัม ว่ามีเทพองค์หนึ่ง ตัวเป็นมนุษย์ หัวเป็นหมาจิ้งจอก มักถูกวาดหรือปั้นให้ยืนประกอบในสุสานของผู้ตายเสมอ เทพครึ่งคนครึ่งสัตว์ผู้นี้มีชื่อว่า “อนูบิส” Anubis อันที่จริงคำว่า Anubis เป็นภาษากรีก แปลว่า “สุนัขรุ่นหนุ่ม/สุนัขผู้เป็นโอรส” ส่วนภาษาอียิปต์โบราณนั้นชื่อว่า Inpou / Inpu / Anpu / Anepou ล้วนเป็นชื่อที่อ่านยากจึงไม่นิยมเรียก เนื่องจากอารยธรรมกรีกก็สมาทานเทพเจ้าหลายองค์มาจากอียิปต์แล้วเอามาปรับชื่อเสียงเรียงนามใหม่ แม่ของอนูบิสคือ Bastet (Nephthys) และพ่อของเขาคือ Osiris เทพเจ้าสูงสุด ผิวกายของอนูบิสมี “สีดำ” ในอียิปต์สีดำไม่ใช่สีแห่งความโศกเศร้า หากหมายถึงสีของมัมมี่หลังจากผ่านกระบวนการดองศพแล้ว สีนี้ยังบ่งบอกถึงการเน่าเปื่อยของร่างกาย ซึ่งการพันมัมมี่ต้องใช้น้ำมันดินสีดำ อีกทั้งยังเป็นสีของตะกอนโคลนดินอันอุดมสมบูรณ์สะสมอยู่ในแม่น้ำไนล์ในช่วงน้ำท่วมอีกด้วย สีดำจึงเป็นสีแห่งการเกิดใหม่ และสีแห่งความหวัง (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-10.jpg) พัฒนาการของอนูบิส จากอียิปต์สู่กรีก โรมัน อนูบิสเข้าไปเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแห่งความตายตอนไหน อย่างไร กี่ขั้นตอน เท่าที่ศึกษา ขอยกมาให้เห็นพอเป็นสังเขป ดังนี้ 1. ทันทีที่มีคนตาย อนูบิสจะช่วยทำหน้าที่ดองศพผู้ตายในลักษณะมัมมี่ 2. อนูบิสนำผู้ตายเข้าไปในห้องโถงที่มีเทพี “มาแอต” (Ma’at) สวมชุดขาวถือขนนก ทำหน้าที่ผู้พิพากษาศักดิ์สิทธิ์ โดยอนูบิสมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักหัวใจของผู้ตาย หากเบาดุจขนนก แสดงว่าเป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ จะถูกส่งไปสวรรค์ หากหัวใจหนักอึ้งจนตาชั่งเอียงกระเท่เร่ แสดงว่ายังมีความละโมบใจบาปหยาบช้า ก็จะต้องถูกส่งไปลงนรก ทั้งนี้ ชาวอียิปต์โบราณเชื่อกันว่าหัวใจเป็นที่สิงสถิตของอารมณ์ ความรู้สึก สติปัญญา ความคิดอ่าน และศีลธรรมของบุคคล ดังนั้น การที่วิญญาณจะสามารถไปสู่ชีวิตหลังความตายได้ หัวใจของคนผู้นั้นจักต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องเบาบางเหมือนขนนก คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมต้องใช้ “หมาจิ้งจอก” ทำหน้าที่ส่งวิญญาณด้วยเล่า ในเมื่อมีสัตว์อื่นๆ ให้เลือกอีกมากมาย อาทิ นก ปลา สิงห์ ม้า แพะ ฯลฯ นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยา พยายามค้นหาคำอธิบายกันอยู่นานหลายปี มีข้อถกเถียงกันหลากทฤษฎี จนในที่สุด มีเหตุผลหนึ่งค่อนข้างได้การยอมรับในวงกว้าง นั่นคือ ในอียิปต์โบราณก่อนจะสถาปนาให้ “หมาจิ้งจอก/หมาป่า/หมาดำ” (จะเรียกอย่างไรก็สุดแท้แต่) มาเป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์ดวงวิญญาณผู้ตายนั้น ชาวอียิปต์ค้นพบว่าในทุกแห่งตามป่าช้าที่มีการฝังศพคนตายนั้น มักเห็นภาพ “หมาจิ้งจอก/หมาป่า/หมาดำ” มะรุมมะตุ้มขุดคุ้ยศพจนกระจุยกระจาย แทบไม่ค่อยมีสัตว์อื่นใดมารุมแทะทึ้งศพมนุษย์แบบนี้เลย อย่ากระนั้นเลย ในเมื่อ “หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง” ชาวอียิปต์มองว่าไหนๆ “หมาจิ้งจอก/หมาป่า/หมาดำ” ชอบอยู่กับซากศพเป็นทุนเดิม ก็ควรมอบหน้าที่ให้สัตว์กลุ่มนี้มาทำหน้าที่พิทักษ์รักษาศพเสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยดีไหม จักได้ช่วยป้องกันมิให้หมาจรจัดอื่นๆ มาแทะทึ้งศพ นัยหนึ่ง เมื่อชาวอียิปต์ได้เห็นสัตว์ที่ชอบแทะกินศพมาทำหน้าที่เฝ้าศพเสียเอง ก็ทำให้อุ่นใจได้ว่าศพของบรรพบุรุษพวกเขาย่อมไม่ถูกทำลาย (อย่างน้อยก็เชิงสัญลักษณ์) (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2023/11/ปริศนาโบราณคดี-2257-11.jpg) อนูบิสในศาสนาคริสต์ยุคต้น ยังคงให้ความสำคัญว่าสุนัขเป็นผู้ตัดสินความชั่วดี และคอยส่งวิญญาณให้ผู้ตาย ยังมีอีกคำถามหนึ่งตามมาว่า แล้วในวัฒนธรรมอียิปต์นั้น ต้องบูชายัญสุนัข 1 ตัว หลังจากคนตายไป 1 คน ด้วยหรือไม่ คำตอบก็คือ มี! มีแน่นอน! ไม่ต่างไปจากวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ได้มีการค้นพบสุสานมัมมี่สุนัขนับพันนับหมื่นตัว กองพะเนินเทินทึกฝังอยู่ไม่ไกลจากสุสานของฟาโรห์ (กษัตริย์) หรือสุสานของคนชั้นสูงทั่วไปตามเมืองสำคัญๆ ในอียิปต์ กรีก และโรมัน ทำให้เข้าใจได้ว่า พิธีกรรมส่งวิญญาณผู้ตาย หาได้จบลงเพียงแค่การนำเสนอภาพจิตรกรรมหรือภาพสลักรูปอนูบิสทำหน้าที่ง่วนอยู่กับการดองศพมัมมี่ หรือกำลังช่วยเทพีมาแอตชั่งน้ำหนักหัวใจผู้ตาย เท่านั้นไม่ ทว่าต้องมีการบูชายัญสุนัข 1 ตัวต่อ 1 ศพของมนุษย์คู่ขนานกันไปด้วย แนวคิดของการใช้ “หมาจิ้งจอก/หมาป่า/หมาดำ” เป็นเทพในการพิทักษ์ศพ ส่งวิญญาณผู้ตายไปอีกปรโลกหนึ่ง ยังคงมีสืบทอดจากอียิปต์สู่กรีก โรมัน จนถึงคริสเตียนตอนต้น (สมัยศิลปะเรียก บีแซนไทน์ กอทิก และโรมาเนสก์) อย่างเข้มแข็ง เพียงแต่ค่อยๆ ปรับรายละเอียดปลีกย่อยในพิธีกรรมให้แตกต่างกันไป ทั้งบางยุคสมัยก็เปลี่ยนชื่อเรียก อนูบิส ไปเป็นชื่ออื่นๆ สรุป สิ่งที่ดิฉันนำเสนอในบทความชิ้นนี้ อยากให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพกว้างของการใช้ “สุนัข” มาทำหน้าที่ส่งวิญญาณคนตาย ของซีกโลกตะวันตกกับตะวันออกที่มาพ้องกันโดยบังเอิญ แม้ว่าจะมีตำนานเรื่องเล่าความเป็นมาที่แตกต่างกันลิบโลก • ขอขอบคุณ :- ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน 2566 คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ เผยแพร่ : วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 website : https://www.matichonweekly.com/column/article_727191 (https://www.matichonweekly.com/column/article_727191) |