สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 13, 2024, 08:41:07 am



หัวข้อ: การส่งเสริมและแก้ไขสุขภาพจิต ตามแนวพุทธ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 13, 2024, 08:41:07 am
.
(https://i.pinimg.com/736x/85/44/b3/8544b3257728b42f7b678f55f52c73e1.jpg)


แนวทางแก้ปัญหาสภาพทางจิตใจ

สุขภาพจิตทางพุทธศาสนา ได้แก่ “โสภณจิต” หมายถึง จิตที่ดีงามซึ่งมีลักษณะผ่อนคลายสงบเงียบ เยือกเย็น เบา นุ่มนวลอ่อนโยน ผ่องใส ตั้งมั่น แข็งแรง ควรแก่การงานหรือพร้อมที่จะทำการงาน คล่องแคล่ว ซื่อตรงไม่บิดเบือน

ส่วนสุขภาพจิต ทางการแพทย์ หมายถึง การมีจิตใจสงบมั่นคง ไม่มีความเครียดและความวิตกกังวลมากจนเกินไป ไม่หงุดหงิด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ท้อแท้ไม่เบื่อหน่ายโลกหรือชีวิต มีความต้านทานทางจิตใจต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด มีความสามารถในการปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้

จิตที่มีสุขภาพดีดังกล่าว มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อจิตใจของคนเราถูกครอบงำด้วยกิเลสความเศร้าหมองทั้งหลาย จึงเป็นเหตุให้ทำความชั่วทางกาย วาจา และทางใจ

@@@@@@@

ดังนั้น จึงควรรู้จักใช้ปัญญารักษาจิตให้ปราศจากกิเลสทั้งหลาย ประเด็นที่ควรพิจารณาก่อนนำเสนอถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาทางจิตใจ คือ บุคคลทั่วไปสามารถที่จะใช้ปัญญากำจัดกิเลสให้หมดไปจากจิตใจได้หรือไม่นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง บุคคลผู้มีความแตกต่างทางปัญญาไว้ ๓ ประเภท คือ

    ๑) ผู้ที่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เลย ไม่ว่าจะมีผู้มาสั่งสอนหรือไม่ก็ตาม เหมือนผู้ป่วยด้วยโรค บางอย่างซึ่งไม่อาจรักษาให้หายได้

    ๒) ผู้ที่มีความสามารถทางปัญญาพัฒนาตนเองกำจัดกิเลสจนเป็นอริยชนได้ ไม่ว่าจะมีผู้มาแนะนำหรือไม่ก็ตาม เหมือนผู้ป่วยที่หายจากโรคได้เอง ไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม

    ๓) ผู้ที่ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยแนะนำสั่งสอน ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเข้าช่วย จึงจะสามารถเกิดปัญญากำจัดกิเลสได้ เมื่อไม่ได้ก็ไม่มีทางจะบรรลุธรรมได้เลย เหมือนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาจากหมอจึงหาย เมื่อไม่ได้รับการรักษาก็ไม่หายจากอาการเจ็บป่วยได้

จากกรณีนี้เอง พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์หรือผู้รู้ได้อาศัยความกรุณาช่วยแนะนำหรือแสดงธรรมแก่คนประเภทสุดท้ายเป็นอันดับแรกก่อน และแก่คนประเภทอื่น ๆ เป็นอันดับต่อมา

แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าได้กระทำตามหน้าที่แล้ว เพราะคนเรามีปัญญาที่แตกต่างกัน การบรรลุธรรมจึงมีความแตกต่างกันในเรื่องระยะเวลาไปด้วย ผู้ที่มีปัญญามากสามารถที่จะใช้ปัญญากำจัดกิเลสพ้นทุกข์ได้เร็ว ทำให้ชีวิตมีความสุขเป็นอิสระ ส่วนผู้ที่มีปัญญาน้อย ก็ยังต้องเสวยทุกข์มีชีวิตวนเวียนอยู่ในวัฎฎสงสารไปนาน ๆ จนกว่าจะพัฒนาปัญญาให้สูงขึ้น

ถ้าจะกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาพทางจิต เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น มักจะเป็นการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเศร้าโศกเสียใจ เมื่อสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รักนับตั้งแต่ญาติพี่น้องและทรัพย์สิน เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะตกอยู่ในสภาวะที่เครียด ซึมเศร้า มีอาการตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงหนัก คือ ไม่รู้สึกตัวว่ามีอาการทางจิตผิดปกติ

การรักษาโรคทางจิตนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ โยนิโสมนสิการ การใช้สมาธิบำบัด การคบหากัลยาณมิตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางการแก้ไขหรือทางออกของปัญหาที่เกิดจากสภาพทางจิตใจ อันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำอัตวินิบาตกรรมที่พุทธจริยศาสตร์ได้เสนอไว้ ดังจะได้กล่าวต่อไป


(https://i.pinimg.com/736x/b5/f3/33/b5f33347dbd73c6b9c9df4c6c8c81c9f.jpg)


๑. การใช้โยนิโสมนสิการ

ผู้ป่วยโรคทางจิตผิดปกติ เช่น มีความหลงใหลยึดติดหมกมุ่น มีพฤติกรรมก้าวร้าวจิตฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย และซึมเศร้า หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองให้หายจากโรคทางจิตได้ โดยการปรับความคิดหรือความเห็นให้ถูกต้อง ซึ่งเรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" อันเป็นการใช้ความคิดให้ถูกต้อง คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์หาสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ รู้จักคิดพิจารณาถึงโทษของความคิดนั้น ๆ

เมื่อผู้ป่วยรู้จักคิดก็จะเกิดปัญญาเข้าใจว่า ความทุกข์ทางจิตที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะตนเองยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราอยู่ ความคิดหรือการกระทำนั้น ๆ ไม่มีประโยชน์เลย มีแต่โทษทำให้สุขภาพกายและจิตเสื่อมอย่างเดียว จากนั้นผู้ป่วยก็ละทิ้งความคิดและพฤติกรรมที่ผิดนั้น แล้วเริ่มตั้งปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมใหม่ให้ดีขึ้น ทำให้สภาพจิตดีขึ้นจนหายเป็นปกติ

ดังตัวอย่าง วิธีการปรับความคิดและพฤติกรรมให้ดีขึ้น เพื่อขจัดนิวรณ์กิเลส คือ

    ๑) ความยินดีในสิ่งที่น่าใคร่นั้น พึงกำจัดด้วยการพิจารณาว่าเป็นสิ่งไม่สวยงาม หรืออสุภกรรมฐาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คลายความยึดติดจนเกินไป หรือพึงรู้จักเสียสละแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่นเพื่อคลายความยึดติด ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว

    ๒) ความพยาบาทนั้น พึงกำจัดด้วยการเจริญเมตตา แผ่ความรักความหวังดีแก่ผู้อื่น

    ๓) ความหดหู่และความเกียจคร้านนั้น พึงกำจัดด้วยการปลุกจิตตนเองให้ตื่นตัว เริ่มต้น เพียร ขยัน และรับประทานอาหารพอประมาณไม่มากเกินไป

    ๔) ความฟุ้งซ่าน พึงกำจัดด้วยการทำสมาธิให้จิตสงบ (จะกล่าวในหัวข้อต่อไป)

    ๕) ความลังเลสงสัย ก็พึงแก้ด้วยการพิจารณาถึงสิ่งทั้งหลายให้เข้าใจว่า สิ่งไหนเป็นกุศลหรืออกุศล มีโทษหรือมีประโยชน์ และพึงรู้จักสอบถามฟังคำแนะนำผู้ที่มีความรู้

การปฏิบัติฝึกฝนอบรมบ่อย ๆ ตามวิธีการดังกล่าวมา จะสามารถกำจัดบรรเทานิวรณ์ได้ผลดี จนทำให้จิตสะอาดปราศจากความเศร้าหมองหายจากโรคทางจิตได้


(https://i.pinimg.com/736x/80/9f/a2/809fa2053cc390a31f54364d9100e8f4.jpg)


๒. การใช้สมาธิบำบัด

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีความเศร้าหมองทางจิตหรือมีนิวรณ์ภายในจิต จะเป็นผู้ที่อ่อนไหวจิตใจหลงใหลง่าย หรือหยาบกระด้าง ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด หงุดหงิด วู่วาม วุ่นวาย จุ้นจ้านลุกลี้ลุกลน หรือหงอยเหงา เศร้าซึม หรือขี้ระหวาดระแวง ลังเล เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้ว ก็จะได้รับผลทางกายและจิตอย่างมากมาย

อนึ่งประโยชน์ของสมาธิไม่ว่าจะเป็นสมาธิแบบไหนก็ตาม เช่น การกำหนดลมหายใจเข้าออก การภาวนาว่า พุทโธ สัมมาอรหัง พองหนอยุบหนอ การกำหนดอิริยาบถต่าง ๆ การเคลื่อนไหวของมือและแขน ซึ่งเหมาะสมกับศรัทธาและจริตของแต่ละบุคคลย่อมมีประโยชน์ทำให้จิตใจที่เครียดเข้าสู่ความรู้สึกสงบ ปลอดโปร่ง เบาสบาย ผ่อนคลาย มีความอิ่มใจ มีความสุข นั่นคือจิตสงบจากนิวรณ์ซึ่งเป็นกิเลสทำให้จิตฟุ้งซ่าน

ในกรณีผู้ปฎิบัติมีจิตกระสับกระส่าย จิตไม่อาจเป็นสมาธิได้ง่าย ก็ควรเจริญสมาธิประเภทที่ฝึกผู้ปฎิบัติให้ใช้สติควบคุมความคิดให้อยู่ในแนวทางที่ดี เป็นระบบ เมื่อปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จิตก็จะเริ่มสงบระงับขึ้นเอง อันได้แก่
    - การเจริญพรหมวิหารสี่ หรือการแผ่เมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาไปให้ผู้อื่น หรือ
    - การเจริญอนุสสติข้อใดข้อหนึ่ง เช่น พุทธานุสติ คือ การพิจารณาคุณของพระพุทธองค์
    - ธรรมานุสติ คือ การพิจารณาคุณของพระธรรม
    - สังฆานุสติ คือ การพิจารณาคุณของพระสงฆ์
    - สีลานุสติ คือ การพิจารณา ถึงศีลที่ตนเองได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย และ
    - จาคานุสติ คือ การพิจารณาถึงทานที่ตนเองได้เคยบริจาคมาแล้ว

ปัจจุบันนี้มีหลักฐานงานวิจัยเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ได้รายงานผลการวิจัยจากการปฏิบัติสมาธิว่า สามารถลดอาการผิดปกติทางจิตได้เป็นอย่างดี ดังที่ พริ้มเพรา ดิษยวณิช ได้ทำการวิจัยเรื่อง “ผลของวิปัสสนากรรมฐานที่มีต่อความเครียดและความวิตกกังวล”

ผลการวิจัยปรากฏว่า การปฏิบัติสมถกรรมฐานมีผลทำให้ตัวแปรเชิงจิตพยาธิทุกชนิดลดลงหมดได้แก่ อาการย้ำคิดย้ำทำ ในบางเรื่อง ความไหวเร็วในสัมพันธภาพระหว่างบุคคล อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล ความรู้สึกไม่เป็นมิตรภาพ อาการกลัวกังวล ความคิดหวาดระแวง อาการโรคจิต เช่น ชอบเก็บตัวแยกตัวออกจากสังคม มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน

และมีข้อเสนอแนะว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ซึ่งให้ผลดีในการลดความเครียดและความวิตกกังวลสามารถนไปใช้ได้ดี กับผู้ทำงานที่มีความเครียดสูง เช่น นักบริหาร ผู้นำ แพทย์พยาบาล ครูอาจารย์ คนงาน นักศึกษา เป็นต้น

@@@@@@@

นับได้ว่า สมาธิมีประโยชน์ต่อการทำให้จิตผ่อนคลาย หายเครียด เกิดความสงบ หายกระวนกระวาย หยุดยั้งจากความกลัดกลุ้มวิตกกังวล เป็นเครื่องพักผ่อนกายให้ใจสบาย และมีความสุข เช่น บางท่านทำอานาปานสติขณะรอคอยรถประจำทาง ขณะว่าง หรือจะปฏิบัติแทรกในเวลาทำงานที่ใช้สมองหนัก

สมาธิยังสามารถทำให้ผู้ปฎิบัติมีจิตใจและมีบุคลิกลักษณะเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น สุภาพ นิ่มนวล สดชื่น แจ่มใส กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า เบิกบาน มองดูรู้จักตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง มีความพร้อมและง่ายต่อการปลูกฝังคุณธรรมเสริมสร้างนิสัยดี รู้จักทำใจให้สงบ และยับยั้งความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ เรียกได้ว่ามีความมั่นคงในอารมณ์

สมาธิแม้จะมีประโยชน์ตามที่กล่าวมา แต่ในขณะเดียวกันสมาธิอาจทำให้เกิดความวิปริตทางจิต ขึ้นกับผู้ป่วยบางประเภทได้ เช่น ผู้ป่วยโรคจิต (psychoses) ผู้ป่วยที่กำลังจะเป็นโรคจิต (impending psychoses) หรือมีอาการโรคจิตแฝงอยู่ (incipient psychoses) ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถจะแยกความจริงออกจากจินตนาการได้

เพราะโดยปกติ ผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวนทางจิต มักจะแยกตัวเองจากกลุ่มคน มีความเพ้อฝัน มีความกลัวคนอื่นทำร้าย กระวนกระวาย การทำสมาธิอาจจะกระตุ้นให้เกิด อาการผิดปกติเพิ่มมากขึ้น หรือบางคนอาจจะเห็นนิมิตบางอย่างเข้าใจเป็นเรื่องจริงหลงยึดติดในนิมิตนั้น บางคนไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองมีพฤติกรรมเพี้ยนไป ซึ่งเรียกว่า กรรมฐานแตกก็เป็นได้

นายแพทย์จำลอง ดิษยวณิช และคณะได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการฝึกสมาธิกับความแปรปรวนทางจิตใจ ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคจิตที่เกิดจากการฝึกสมาธิพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความวิปริตทางจิตใจ ได้แก่ การขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องในการฝึกสมาธิ การถดถอยทางจิตใจ การมีความขัดแย้งภายในจิตใจอยู่ก่อนแล้ว การเกิดความคิดว่าตนมีอำนาจหรือยิ่งใหญ่ บุคลิกภาพก่อนเกิดอาการที่ผิดปกติ การขาดอาจารย์สอนสมาธิที่มีความสามารถ ขาดสิ่งเร้าอาจนำไปสู่อาการประสาทหลอน หรือเมื่อเห็นภาพนิมิตอาจหลงเพลิดเพลิน เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ที่ใช้สมาธิช่วยในการรักษาความผิดปกติทางจิต ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือ นักจิตบำบัดผู้มีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องของการฝึกจิตเป็นอย่างดี ผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอในจิตพยาธิวิทยา จิตพลศาสตร์ และความขัดแย้งภายในจิตใจ ไม่ควรแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกสมาธิ หรือแม้จะมีความรู้ความสามารถก็ตาม เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจปลดปล่อยปัญหาออกมาอย่างพรั่งพรู จนเกินที่จะจัดการอะไรได้ เช่น มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เพ้อฝัน เป็นต้น


(https://i.pinimg.com/736x/5d/f8/77/5df877e3a54ef043d300ecafc0e4f001.jpg)


๓. การคบหากัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร คือ มิตรที่ดีงาม ซึ่งมีลักษณะเป็นที่น่าเคารพรักใคร่ น่าเจริญใจ รู้จักรับฟังและมีความอดทน มีความเข้าใจและสามารถอธิบายปัญหาให้ผู้อื่นฟังได้ดี กัลยาณมิตร ได้แก่ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ พระสงฆ์ แพทย์ จิตแพทย์ รวมทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างที่มีมาแล้วในสมัยพุทธกาล

ผู้ป่วยควรรู้จักคบหากัลยาณมิตร หรือญาติพี่น้องควรนำผู้ป่วย ไปพบกัลยาณมิตรที่ตนรู้จัก เพราะกัลยาณมิตรสามารถให้คำแนะนำที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหาแก่ผู้ที่มีความทุกข์ทางจิตได้

นอกจากนั้น ยังสามารถชักนำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง การให้คำแนะนำที่ดีจากกัลยาณมิตรมีประโยชน์มากต่อการรักษาโรคทางจิต แม้พระพุทธองค์ก็ทรงใช้วิธีการนี้ ด้วยเหตุที่ว่าผู้ป่วยที่เศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้ ผิดหวัง มีความกังวล ความเครียด ความเหงา เป็นต้น ไม่สามารถใช้ปัญญาพิจารณาเห็นความทุกข์ทางจิตของตนเองได้หรือไม่อาจจะทำให้ตนหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับคำแนะนำ คำปรึกษาที่ดีจากกัลยาณมิตร เริ่มตั้งแต่การสนทนาพูดคุย การสอบถาม การรับฟังความในใจที่ผู้ป่วยระบายออกมาการ ชี้แจงให้ผู้ป่วยได้รู้ได้เข้าใจถึงทุกข์และสาเหตุแห่งทุกข์ที่กำลังประสบอยู่ การพูดปลอบใจ การให้กำลังใจ การให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ เป็นต้น

ส่วนผู้ป่วยเองเมื่อได้รับคำแนะนำให้เห็นจริงแล้ว ก็จะเกิดโยนิโสมนสิการหรือปัญญา คือ สามารถพิจารณาด้วยตนเองตามคำแนะนำจนเกิดความเข้าใจถึงความทุกข์ทางจิตที่ตนเองประสบอยู่นั้นว่า ความเศร้าโศกเป็นต้นนี้ ไม่มีประโยชน์เลย มีแต่จะทำให้ทุกข์มากขึ้น ผู้ป่วยเมื่อเข้าใจถึงเหตุผลและยอมรับความจริงเหล่านั้น ก็จะรู้สึกผ่อนคลายจากภาวะหลงใหล ความพยาบาท ความหดหู่อ่อนแอ ความเศร้าโศก ความกังวล ความเครียด เป็นต้น จิตจะปลอดโปร่ง เบาสบาย เป็นสุข สามารถอยู่กับผู้อื่นได้ด้วยดี

นอกจากนั้น ท่านก็ใช้หลักการสังเกตจริตของผู้ป่วย เช่น ผู้ที่มีราคจริตก็จะแนะนำให้เห็นความไม่สวยงาม ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสรรพสิ่งทั้งหลาย หรือเมื่อมีจิตผ่อนคลายสบายขึ้นบ้างแล้ว ก็จะแนะนำให้เข้าใจถึงกฎไตรลักษณ์ ให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และความไม่มีสภาพที่แท้จริงของสิ่งนั้น ๆ หลักการนี้เป็นการแนะนำผู้ป่วยให้เข้าใจตามความเป็นจริง รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่น

ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิต ส่วนมากจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และจะตัดสินใจกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาไตร่ตรอง บางกรณีจึงทำให้ผู้ป่วยทางจิตนี้ ฆ่าตัวตายโดยไม่รู้ถึงสิ่งที่ตนกำลังกระทำ ฉะนั้น การรักษาต้องค่อย ๆ รักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด


(https://i.pinimg.com/736x/8b/d9/89/8bd9893215c60adc7056244087ab21b7.jpg)


กรณีตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นผู้ป่วยมีอาการทางจิตผิดปกติ มีสาเหตุมาจากความเศร้าโศกเสียใจ หรือผิดหวัง ไม่สมปรารถนา อาการจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

    (๑) อาการรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการไร้ความรู้สึกทางกายและจิต ไม่รู้ว่าตนเองทำอะไรลงไป ไม่มีความละอาย ไม่สามารถควบคุมจิตของตนเองได้ ผู้ป่วยมักจะเดินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจุดหมาย

    (๒) อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยมีอาการเพียงเศร้าโศกเท่านั้น เก็บตัวอยู่ในห้องไม่ยอมรับประทานอาหาร

ซึ่งมีการบำบัดตามพุทธวิธี ดังต่อไปนี้

๑) นางปฏาจารา ได้สูญเสียผู้เป็นที่รักทั้งสามี ลูก ๒ คน พ่อแม่และพี่ชาย เธอจึงมีความเศร้าโศกเสียใจและเกิดความแปรปรวนทางจิตใจ ผ้านุ่งห่มหลุดรุ่ย ไม่รู้สึกตัว ไร้ความละอายเดินเรื่อยไปอย่างไร้สติ

พระพุทธองค์ได้ทรงตรวจดูด้วยพระญาณก็รู้ว่า นางมีความสามารถพอที่จะบรรลุธรรมได้ จึงทำให้นางเดินสู่เชตวันมหาวิหาร ด้วยพุทธานุภาพ พอเธอเข้ามาใกล้ก็ตรัสว่า “จงกลับได้สติเถิดน้องหญิง”

ด้วยพระวาจาอันนุ่มนวลอ่อนโยน เต็มเปี่ยมด้วยพลังแห่งเมตตา ทำให้นางรู้สึกตัวมา ในขณะนั้นเอง เมื่อรู้ว่าตนเองไม่ได้นุ่งผ้า ก็เกิดความละอายขึ้น เมื่อสวมเสื้อผ้าที่มีคนนำมาให้แล้ว ก็เข้าไปกราบพระองค์ และระบายเรื่องที่ตนเองประสบให้พระองค์สดับ พร้อมกับขอให้เป็นที่พึ่งแก่เธอ

พระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบโยนเธอเพื่อไม่ให้คิดมาก ด้วยพระดำรัสว่า เธอมาถูกที่แล้ว เพราะทรงสามารถช่วยเธอได้ ตรัสเปรียบเทียบความเศร้าโศกเสียใจของเธอในขณะนี้ว่ายังมีน้อยกว่า ความเศร้าโศกในอดีตชาติที่ผ่านมา ทรงแนะนำให้เธอประมาทมัวเมาในชีวิต เมื่อพระดำรัสจบลงความเศร้าโศกของเธอเองได้เบาลงเป็นอันมาก

ต่อมาพระองค์ก็ได้ตรัสให้กำลังใจและให้คำแนะนำเธอว่า
    “คนเราเมื่อตายไปแล้วไม่มีญาติคนไหนจะเป็นที่พึ่งได้ ถึงเขาจะมีอยู่แต่ก็เหมือนกับไม่มี ส่วนผู้ที่ฉลาดควรมุ่งที่จะทำความดีรักษาศีล แล้วบำเพ็ญปฏิบัติธรรมให้ตนเองถึงนิพพาน”

คำแนะนำนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเป็นการสร้างความมั่นคงความแข็งแกร่ง ให้เกิดแก่จิตใจตนเอง จนกระทั่งหายจากอาการผิดปกติทางจิตในที่สุดนางจึงขออุปสมบทเป็นภิกษุณี ไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

@@@@@@@

๒) นางกีสาโคตมี เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะการจากไปของลูกชาย ด้วยความรักที่มีต่อลูก จึงทำให้นางไม่อาจจะยอมรับความจริงนี้ได้ จึงพยายามปลอบประโลมใจตนเองว่า ลูกจะต้องฟื้นคืนชีพได้แน่นอน นางจึงไม่ยอมเผาลูก แต่กลับอุ้มศพลูกเที่ยวหาหมอและยามารักษา นางได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้าตามคำแนะนำของชายคนหนึ่ง

นางได้ทูลถามว่า “พระองค์ทรงรู้จักยารักษาบุตรของข้าพระองค์หรือ” ตรัสตอบว่า “รู้” คำตอบนี้เป็นการให้ความหวังแก่ผู้ที่กำลังมีความทุกข์ทางใจ ทำให้นางดีใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รักษาลูกให้หาย พระองค์ได้ตรัสบอกให้นางไปหาเมล็ดผักกาดหยิบมือหนึ่งมาทำเป็นยา แต่มีข้อแม้ว่าต้องไปหามาจากบ้านที่ไม่มีคนเสียชีวิตมาก่อนเท่านั้น

นางก็เที่ยวแสวงหาทุกหลังคาบ้าน แต่ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่ใช่แค่บุตรของเราเท่านั้นที่ตาย แม้ทุกหลังคาเรือนก็มีคนตายทั้งนั้น” จิตใจที่อ่อนเพราะรักลูกก็กลับแข็งแกร่งขึ้น นางได้ฝังศพลูกในป่าแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงดำเนินการรักษาในขั้นตอนต่อไป ด้วยการเน้นย้ำให้เข้าใจถึงสัจจะหรือธรรมชาติของสรรพสิ่งว่า
    “ความตายนั้นเป็นธรรมดาสำหรับสัตว์ทั้งหลาย รวมไปถึงลูกของเธอด้วย”

จากนั้นทรงเตือนสติด้วยการชี้ตรงไปยังความหลงมัวเมาที่ครอบงำใจเธออยู่ ด้วยพระดำรัสว่า
    “มฤตยูย่อมพาชนมัวเมาในบุตรและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจหลงในสิ่งต่าง ๆ ดุจห้วงน้ำใหญ่ พัดพาชาวบ้านผู้หลับใหลไป”

พระดำรัสนี้เป็นประหนึ่งจุดไฟในที่มืด ทำให้นางเข้าใจสัจธรรม ต่อมานางได้บวชเป็นภิกษุณีและไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เรื่องนี้ผู้ป่วยได้เข้าใจได้ตนเองว่า แท้จริงแล้วความตายเกิดขึ้นกับทุกคน การที่จะมามัวเมากับสิ่งที่เป็นที่รักอยู่นี้ ไม่ได้ช่วยอะไร ด้วยแต่จะถูกความทุกข์ครอบงำ เวลาก็ผ่านไปเปล่าประโยชน์เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเป็นที่รักนั้น


(https://i.pinimg.com/736x/87/48/bc/8748bc03ffa10ef3b7af5cd50e72c3de.jpg)


อย่างไรก็ตาม นอกจากพุทธจริยศาสตร์ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไข หรือวิธีการการรักษาโรคที่เกิดจากสภาพทางจิตใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนอัตวินิบาตกรรมนั้น พุทธจริยศาสตร์ยังได้วางหลักธรรมสำหรับส่งเสริมสุขภาพจิตไว้ด้วย

การที่คนเราจะมีสุขภาพจิตดีนั้น มีองค์ประกอบหลายอย่าง นับตั้งแต่การมีสุขภาพกายที่สมบูรณ์แข็งแรง การรักษาความสะอาดส่วนตัวและสิ่งแวดล้อม การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และการรู้จักปรับความคิดและตัวเองให้เข้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดี ซึ่งมีผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยทางจิตและการส่งเสริมสุขภาพจิต

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีหลักธรรมหลายประการที่เอื้อต่อการรักษาโรคทางจิตให้ดีขึ้นจนหายขาด และเป็นการดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพจิต ซึ่งจะกล่าวเป็นตัวอย่าง ดังนี้

    ๑) สัปปายะ คือ สิ่งเป็นที่สบาย คือ ที่อยู่อาศัยสะดวกสบาย มีอาหารการกินสะดวก การสนทนาพูดคุยเรื่องที่ไม่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน การอยู่ร่วมกัลยาณมิตร การพักผ่อนในอิริยาบถที่สบาย

    ๒) การรักษาศีลและระเบียบวินัย

    ๓) สังคหวัตถุ ๔ คือ คุณธรรมเป็นเครื่องสงเคราะห์และยึดเหนี่ยวจิตใจกันและกัน ได้แก่ การให้ทานมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน การช่วยเหลือกัน การพูดจาสุภาพไพเราะอ่อนหวาน การขวนขวายช่วยเหลือกิจการ ทำประโยชน์ การวางตนเหมาะสมเสมอต้นเสมอปลาย

    ๔) พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตามีความรักปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีกรุณาช่วยเหลือผู้อื่น มีมุทิตา พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จ และมีอุเบกขารู้จักวางใจเป็นกลางโดยรู้เท่าทัน

    ๕) การปฏิบัติตามหน้าที่ต่อกันและกันให้ดีระหว่าง พ่อแม่ ลูก ครู อาจารย์ ลูกศิษย์ และพระสงฆ์ เป็นต้น

การรักษาโรคทางจิตและการส่งเสริมสุขภาพจิตดังกล่าวมาเป็นวิธีการหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงใช้รักษาผู้ป่วย และแนะนำให้ปฏิบัติตามหลักธรรมต่าง ๆ เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่า เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยและคนธรรมดาเกิดสัมมาทิฏฐิ เข้าใจถูกต้องไม่เอนเอียงไปในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งจะทำให้จิตหายจากความเศร้าหมองทั้งหลายที่จะนำไปสู่การทำอัตวินิบาตกรรมได้

เมื่อประยุกต์ใช้หลักธรรมต่าง ๆ กับผู้มีความผิดปกติทางจิตก็จะสามารถรักษาให้หายและยังป้องกันการทำร้ายตนเองจนถึงความตายได้ หรือใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการอื่นหลาย ๆ อย่าง เพราะวิธีการรักษาแบบพุทธองค์นั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วยังทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และมีแนวโน้มว่า นักจิตบำบัดสมัยใหม่หันมาสนใจให้ความสำคัญในการรักษาแบบพุทธศาสนามากขึ้น






ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : pinterest
ที่มา : จากสารนิพนธ์ "พุทธจริยศาสตร์กับอัตวินิบาตกรรม" โดย พระมหาสุภวิชญ์ ปภสฺสโร (วิราม), รศ. วิทยาลัยสงฆ์เลย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย