สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 31, 2024, 07:28:55 am



หัวข้อ: การระลึกถึงความตายให้เกิดปัญญา
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 31, 2024, 07:28:55 am
.
(https://i.pinimg.com/736x/4d/47/d4/4d47d49f0e48f230c9cf24e88184eebd.jpg)


การระลึกถึงความตายให้เกิดปัญญา

การระลึกถึงความตายเพื่อให้เกิดสติปัญญา จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วยเหตุผลตามความเป็นจริงของสังขารหรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อได้เข้าใจความจริงของชีวิต คือ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดา การได้เข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้ ทําให้จิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่หมั่นไหวไปตามอิฏฐารมณ์

อนิฏฐารมณ์เหมือนภูเขาหินใหญ่ไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม และจิตใจก็น้อมไปสู่ความสงบและเกิดสมาธิได้เร็ว การระลึกถึงความตายที่ให้เกิดปัญญา ซึ่งมีหลักการพิจารณา คือ

    @@@@@@@

    ๑) ให้คิดเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่น เช่น คนเราแม้มีความแตกต่างกันอย่างไรไม่ว่าฐานะ หรือสติปัญญา ในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกัน

    ๒) ให้มองว่าความตายจู่โจมเราได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา เพราะว่ามันติดตัว ติดตามเรามาตั้งแต่เกิด

    ๓) ให้มองว่าแม้จะใช้อํานาจ หรือทรัพย์สินมากเท่าใด เราก็มิอาจรักษาชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักที่สุดเอาไว้ได้

    ๔) ให้เข้าใจว่าชีวิตเราเปราะบางอ่อนแอ ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ จึงจะอยู่ได้ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือได้มาอย่างไม่สมดุลก็จะทําให้เกิดปัญหาได้ทุกเมื่อ

    ๕) ให้คิดว่าร่างกายเราเป็นของสาธารณะ เป็นเรือนอยู่ที่มีหนอนและเชื้อโรคอันเป็นภัยมากมายหลายชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยแห่งความตายทั้งสิ้น

    ๖) ชีวิตนั้นจํากัดนัก อายุขัยมีกําหนดเวลาของมัน คนเราอยู่ได้ไม่มากกว่า ๑๐๐ ปีก็ต้องตาย บางคนมีอายุ  เกิน ๑๐๐ ปี แต่ก็ตายอยู่ดี และก็อยู่เกิน ๑๐๐ ปีได้ไม่นานนัก

    ๗) ชีวิตคนเรานั้น มีโอกาสตายได้ทุกเวลา เพราะชีวิตมีการเกิดการตายเป็นสาเหตุใหญ่ต่อเนื่องเป็นวัฏสงสาร

    ๘) ให้เข้าใจว่าชีวิตไม่มีนิมิตที่แน่ชัด ไม่มีใครรู้ได้ว่าเราจะตายด้วยเหตุใด ตายเมื่อใดตายอย่างไร และตายที่ใด

@@@@@@@

การสอนให้ได้พิจารณาถึงสาเหตุของความตายอันจะเกิดมีแก่เราอย่างนี้ ย่อมทําให้เรารู้ชัดว่าชีวิตมีความตายและสาเหตุที่ทําให้เราตายมีอยู่ รอบตัว ความตายอาจเกิดขึ้นกับตัวเราได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ โดยไม่มีเครื่องหมายบอกให้ทราบล่วงหน้า

ดังนั้น จึงทําให้ได้คิดเตือนใจตนไม่ให้เป็นผู้ประมาทในการสร้างความดี ด้วยการสร้างบารมีทาน ศีล สมาธิให้มาก มีสิ่งใดที่ยังไม่ได้สร้างก็รีบขวนขวายทําให้มากขึ้น การสร้างบุญบารมีอย่างนี้ถือได้ว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในกิจทั้งปวง ด้วยการทําดี คิดดี พูดดีและรู้ถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือไม่ควร ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้





ขอบคุณที่มา : สารนิพนธ์เรื่อง "ศึกษาวิเคราะห์การเผชิญความตายอย่างสงบ ตามหลักมรณสติในพระพุทธศาสนาเถรวาท" โดย พระมหาสุพร รกฺขิตธมฺโม (ปวงกลาง)
ขอบคุณภาพจาก : pinterest