หัวข้อ: อารมณ์ของมรณสติ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 31, 2024, 07:41:53 am .
(https://i.pinimg.com/736x/9c/05/2f/9c052f8eb2f73cf97bc91d0ad185d1b7.jpg) อารมณ์ของมรณสติ การปฏิบัติธรรมกรรมฐานย่อมมีอารมณ์ที่จะเอาจิตใจยึด หรือไปกําหนดรู้เพื่อให้ใจตั้งมั่น ซึ่งมีอารมณ์ที่จะต้องระลึกรู้ ดังนี้ ๑. ให้ตั้งใจระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เอาเป็นที่ตั้งของใจไม่ปล่อยใจให้ตกไปในที่อื่น นอกจากการระลึกถึงความตายเท่านั้น ด้วยการตั้งสติกําหนดรู้ความตายอันจะมีแก่ตนและคนอื่นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกโดยไม่เผลอ ๒. ให้พิจารณาถึงสาเหตุที่ทําให้เกิดความตายมาเป็นอารมณ์ โดยนึกถึงมรณสติ ด้วยเอาสติปัญญาพิจารณาถึงสาเหตุของความตายที่เกิดแก่ตน และคนอื่น เช่น ตายเพราะความแก่ชราถูกฆ่าตายเป็นโรคตาย หรือหมดบุญ หมดกรรมตาย ความตายและสาเหตุของการตายเป็นอารมณ์ของผู้ปฏิบัติมรณสติ จะต้องเอาใจไปยึด ไปตั้งอยู่ เพื่อให้ใจได้มีที่เกาะ มีหลักของใจ เพราะว่าใจของมนุษย์ไม่หยุดนิ่ง มีลักษณะดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อให้ใจ หยุดนิ่ง สงบ เป็นสมาธิ มีอารมณ์อันเดียว จึงต้องมีที่ยึด สําหรับผู้ปฏิบัติต้องเอาใจไประลึกถึงความตายและสาเหตุความตายเป็นอารมณ์ ๓. ให้ระลึกถึงชีวิตของเราว่าไม่แน่นอน เราอาจจะตายได้ทุกเมื่อ ๔. ให้ระลึกถึงความตายว่าย่อมครอบงําสัตว์ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลชั้นไหน ก็ไม่พ้นความตายไปได้ และเราก็จะถูกความตายมาย่ํายีแน่นอน ๕. ให้ระลึกว่าเราอาจจะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถูกทําร้ายตายหรืออาจจะตายด้วยความร้อนจัด หนาวจัด หรืออาจจะตายบนบกหรือในน้ําก็ได้ ๖. ให้ระลึกถึงความจริงว่าชีวิตของเราไม่มีกําหนดจะมีชีวิตอยู่นานเท่าไร อาจจะตายเมื่ออายุ ๑๐๐ ปีก็ได้ ๘๐ ปีก็ได้ หรือ ๓๐ ปีก็ได้ คือ อาจจะตายในวัยเด็ก วัยกลางคน หรือวัยชราก็ได้ ไม่มีอะไรแน่นอน @@@@@@@ แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือว่า ขณะนี้เรายังมีชีวิตอยู่ และน่าปลื้มใจที่เราได้มีโอกาสมาปฏิบัติกรรมฐาน ถ้าเราตายก่อนเราก็จะไม่มีโอกาสปฏิบัติมรณสติกรรมฐานเช่นนี้ และก็ไม่มีหวังที่จะได้บรรลุคุณธรรมในพระพุทธศาสนา แต่บัดนี้เรายังมีหวังนับว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับอารมณ์มรณานุสติกรรมฐานไว้ว่า อารมณ์ของมรณานุสติกรรมฐานแต่ละประเภทย่อมมีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งต่างกัน บางอารมณ์ยากต่อการปฏิบัติจึงต้องมีครูอาจารย์คอยชี้แนะฝึกฝน จึงจะทําให้เกิดความเข้าใจ ในเรื่องนั้นได้ พระพุทธโฆษาจารย์ก็ถือว่า เป็นนักปราชญ์ท่านหนึ่งที่มีความรู้มีความสามารถในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงอารมณ์ของมรณสติ มี ๒ อย่าง คือ ๑. กาลมรณะ คือ ระลึกถึงความตายที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาของสังขาร เอามาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ๒. อกาลมรณะ คือ ระลึกถึงความตายนอกกาลเวลาที่ไม่สมควรตายก็ตาย ด้วยเหตุเช่น ถูกฆ่าตาย ตกน้ําตาย รถยนต์ชนตายเป็นอารมณ์กรรมฐาน @@@@@@@ เมื่อระลึกถึงความตายทั้งสองอย่างดังกล่าวนั้นแล้ว ก็ไม่พอเพื่อให้เกิดปัญญามากยิ่งขึ้น จึงให้นึกถึงความตายโดยอาการ ๙ อย่างเป็นอารมณ์อีก คือ ๑. ให้ระลึกถึงความตายเหมือนกับนายเพชฌฆาตสําหรับฆ่าคน เพราะนับแต่เกิดมาความตายก็คอยตัดชีวิตเสมอ ๒. ให้ระลึกถึงความตายว่า มีทั่วไปแก่คนรวยและคนจน ๓. ให้ระลึกถึงความตายของคนอื่นเข้ามาหาตนว่า ผู้ที่มียศมากมีบุญมาก ๔. ให้ระลึกโดยภาวนามากไปด้วยฤทธิ์ มีคําอธิบายว่า มีฤทธิ์เดชมากถึงเพียงไหนก็ตาม แต่ก็ไม่อาจยับยั้งซึ่งพญามัจจุราชไว้ได้ และจะป่วยการไปใยถึงตัวคนธรรมดาอย่างสามัญเล่า ๕. ให้ระลึกถึงความตายว่า เป็นของมีแก่ร่างกายอันทั่วไป แก่หมู่หนอนเป็นอันมาก คือ ร่างกายนี้เป็นที่อาศัยของหมู่หนอน ๘๐ ชนิด ซึ่งอาศัยกินอยู่ตามผิวหนังและหนัง เนื้อเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ๖. ให้ระลึกถึงความตายว่า เป็นของมีแก่ร่างกายซึ่งเป็นของมีกําลังน้อย คือ ร่างกายของสัตว์ทั้งปวงไม่ใช่เป็นของแข็งแรงอะไรเลย อยู่ได้ด้วยลมหายใจและสิ่งอื่นๆ เท่านั้น ๗. ให้ระลึกถึงความตายว่า เป็นของไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีป้ายบอกไว้ว่าจะต้องตายในเวลาใด ๘. ให้ระลึกถึงความตายว่า เป็นของประจําแน่นอน คือ ตายแน่ ไม่มียกเว้นใครเลยแม้แต่เพียงคนเดียว ๙. ให้ระลึกถึงความตายว่า เป็นของมีแก่ชีวิตอันมีประมาณเล็กน้อย คือ ชีวิตของสัตว์และคนทั้งหลายเป็นของน้อย ไม่มากพอกับความปรารถนาของตนเอง ถึงจะมีอายุยืนสักเท่าไรก็ยังนับว่าน้อยอยู่นั้นเอง ผู้ปฏิบัติที่ดีจะต้องรู้จักตัดอารมณ์ที่ไม่ดีออกให้ได้และควบคุมใจให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ดี หรือต้องรู้จักกําหนดอารมณ์อยู่เสมอ และในขณะที่ปฏิบัติอยู่นั้นต้องทราบอีกว่าอารมณ์ที่ไม่ควรยึดตามหลักในทางพุทธศาสนาจะต้องระวังอยู่เสมอ ขอบคุณที่มา : สารนิพนธ์เรื่อง "ศึกษาวิเคราะห์การเผชิญความตายอย่างสงบ ตามหลักมรณสติในพระพุทธศาสนาเถรวาท" โดย พระมหาสุพร รกฺขิตธมฺโม (ปวงกลาง) ขอบคุณภาพจาก : pinterest |