สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 14, 2025, 11:02:44 am



หัวข้อ: ความเป็นมาและอานุภาพ ของ “มหาสันติงหลวง”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 14, 2025, 11:02:44 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_14_03_25_10_35_48.png)


ความเป็นมาของ “มหาสันติงหลวง”
โดย พ.อ.หญิง อุษากรณ์ จันทรวงศ์

ย้อนเวลาไปในปี พ.ศ.๒๕๓๘ มีใครรู้จักบทสวดมนต์ที่เรียกว่า “อุปปาตะสันติ” หรือ “มหาสันติงหลวง” กันบ้างไหม.? คำตอบก็คือ “ไม่รู้จัก” ตัวผู้เขียนเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน จำได้ว่าได้ยินชื่อบทสวดมนต์นี้ครั้งแรกยังรู้สึกแปลกๆ หู ในชื่อของบทสวดที่แปลกประหลาดแล้ว ยังมีอานุภาพที่แสนมหัศจรรย์ด้วย

วันแรกที่รู้จักบทสวดมนต์นี้ คือ วันที่ได้พบกับ น.อ.อภิคม มีผลกิจ เพื่อนทหารอากาศท่านหนึ่ง ซึ่งช่วยดูแลเรื่องงานออกแบบเจดีย์ศรีมหาราช วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ ให้ในช่วงหนึ่ง น.อ.อภิคม เห็นว่า ผู้เขียนชอบไปสวดมนต์ทำบุญตามวัดวาต่างๆ จึงถามผู้เขียนขึ้น ในวันนั้นว่า

    “คุณพี่ชอบสวดมนต์ เคยสวดมหาสันติงหลวงไหมครับ”
     ผู้เขียนได้ยินคำถามยังทวนชื่อบทสวดนั้นไปว่า
    “บทสวดมนต์อะไร ชื่อแปลกจังเลย ไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่รู้จักเลย”

จึงได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมว่า บทสวดมนต์นี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อุปปาตะสันติ” หรือ “มหาสันติงหลวง” เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของทางล้านนา คนโบราณจะใช้สวดป้องกันภัยอันตรายต่างๆ และใช้สวดต่ออายุกัน พี่สาวของ น.อ.อภิคม ชื่อคุณสุรีย์ มีผลกิจ ชอบนำคณะเพื่อนๆ ไปสวดตามวัดต่างๆ เป็นประจำ อยากให้ผู้เขียนได้รู้จัก พี่สาวและนำคัมภีร์นี้ไปสวดกันมากๆ บ้านเมืองจะได้ร่มเย็นเป็นสุข จะขอพาพี่สาวและนำคัมภีร์มามอบให้ผู้เขียนในวันต่อไป

@@@@@@@

วันต่อมา น.อ.อภิคม มีผลกิจ ก็ได้ขับรถพาพี่สาวของเธอมาพบผู้เขียนที่บ้านตอนช่วงบ่าย พบกันตรงลานจอดรถ ยังไม่ได้เข้าห้องรับแขกทานน้ำอะไรกันเลย พอ น.อ.อภิคม แนะนำผู้เขียนให้รู้จัก และสวัสดีคุณพี่ของเธอเท่านั้น  คุณพี่สุรีย์ก็เข้ามาโอบกอดผู้เขียน และฝากงานเผยแผ่คัมภีร์นี้ต่อไป โดยกล่าวว่า

    “พี่อายุมากแล้ว คงไม่สามารถเผยแผ่ออกไปได้มาก พาเพื่อนๆ ไปนิมนต์พระสวดแต่ละวัดก็ไปเป็นกลุ่มน้อย กำลังคงไม่ถึง คุณสัญญากับพี่ได้ไหมว่าจะช่วยนำคัมภีร์นี้ไปเผยแผ่ให้สวดกันทั่วประเทศ สัญญาได้ไหม”

จำได้ว่าท่านพูดถึงตรงนี้แล้ว น้ำตาคลอเต็มสองตาเลย ผู้เขียนรู้สึกตกใจและงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ไม่อยากเห็นคุณพี่สุรีย์ร้องไห้ จึงรับปากท่านว่าจะพยายามนำคัมภีร์มหาสันติงหลวงนี้ ไปเผยแผ่ให้ทั่วประเทศตามที่คุณพี่สุรีย์ปรารถนา เพื่อนำความสุขสงบมาสู่แผ่นดินไทย

ผู้เขียนได้รับหนังสือคัมภีร์ “อุปปาตะสันติ หรือ มหาสันติงหลวง” จากคุณพี่สุรีย์ มีผลกิจ ๑ เล่ม เป็นหนังสือที่คุณพี่และคณะญาติธรรมได้จัดพิมพ์ขึ้นเอง เมื่อได้อ่านดู จึงทำให้รู้ประวัติความเป็นมาของคัมภีร์มหาสันติงหลวง ดังนี้

     “อุปปาตะสันติ” ทางเมืองเหนือเรียกว่า “มหาสันติงหลวง” แปลว่า บทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สวดเพื่อสงบเหตุร้าย และสวดเพื่อสงบสิ่งที่กระทบกระเทือน

      คัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนาไทย แต่งโดยพระมหามังคละสีละวังสะ พระเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่รูปหนึ่ง ในสมัยของพระเจ้าสิริธรรมจักกวัตติลกราชาธิราช(พระเจ้าติโลกราช) รัชกาลที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังราย ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๓๐ เป็นคาถาล้วน จำนวน ๒๗๑ คาถา จัดเข้าในหนังสือประเภท “เชียงใหม่คันถะ”


(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_14_03_25_10_45_27.png)


คัมภีร์นี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ในหมู่ชนชาวล้านนามาแต่โบราณกาล ทั้งพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้าน พากันสวดและฟังอุปปาตะสันติ เพื่อกลับความร้ายให้กลายเป็นความดี มีคำเล่าว่า สมัยที่ท่านแต่งอุปปาตะสันตินั้น ที่เชียงใหม่มีโจรผู้ร้ายและคนอันธพาลชุกชุมผิดปกติ มีเหตุร้ายและสิ่งกระทบกระเทือนอยู่เสมอ พระมหาเถระสีลวังสะจึงให้พระสงฆ์สามเณรและประชาชนพากันสวด และฟังอุปปาตะสันติ เพื่อสงบเหตุร้ายทั้งมวลที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

ต่อมา ชาวพม่ามีความเลื่อมใส นำคัมภีร์นี้เข้าไปในประเทศพม่า ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์และประชาชน นับถือว่าพระคัมภีร์อุปปาตะสันตินี้ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก พากันนิยมท่อง นิยมสวด และนิยมฟังกัน อย่างกว้างขวาง แพร่หลายไปทั่วประเทศพม่าในสมัย ๕๐๐ ปีที่ล่วงแล้ว ในงานพิธีสืบชะตา งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

เนื้อความในอุปปาตะสันติคาถานั้น สรุปได้ว่า

    เป็นธรรมที่กระทำความสงบอันยิ่งใหญ่
    เป็นธรรมเครื่องสงบเหตุร้ายทั้งปวง
    เป็นธรรมเครื่องป้องกันอมนุษย์ และยักษ์
    เป็นธรรมเครื่องพ้นจากความตายก่อนกำหนดเวลา
    เป็นธรรมเครื่องย่ำยีกำลังของข้าศึก
    เป็นธรรมเครื่องจำเริญชัยชนะแด่พระราชา
    เป็นธรรมเครื่องนำสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งปวงออกไป

อุปปาตะสันติคาถาเป็นบทสวดอย่างพิสดาร ท่านจึงกล่าว พระนามของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ไว้อย่างครบถ้วน ทั้งที่มีมาในอดีต ในปัจจุบัน และจักมีมาในอนาคต รวมตลอดไปจนถึงท่านที่ทรงคุณ ทรงอำนาจ ทรงฤทธิ์ ในทางที่ดีอื่นๆ เช่น เทวดา อินทร์ พรหม ยักษ์ นาค คนธรรพ์ ครุฑ อสูร เป็นต้น เพื่อขอความเป็นมงคล ความสงบ ความสวัสดี ความไม่มีโรค ชัยชนะ และอายุ รวมทั้งขอให้ท่านคุ้มครองให้พ้นจากเหตุเภทภัยนานัปการ อันจะบังเกิดขึ้นในกาลทุกเมื่อ

@@@@@@@

คัมภีร์อุปปาตะสันติเป็นคัมภีร์ของไทย แต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทยไปอยู่เมืองพม่าเสียนาน จนแทบกล่าวได้ว่าคนไทยในสมัยหลังๆ นี้ ไม่มีใครรู้จัก ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของคัมภีร์นี้ แต่บัดนี้ เป็นที่โสมนัสยินดียิ่ง ที่เจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์(เช้า ฐิตะปัญโญ) ป.ธ.๙ วัดโพธาราม ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ท่านได้ชำระคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านที่ไม่สันทัดบาลี โดยได้ต้นฉบับภาษาบาลีอักษรพม่า จากท่าน พระอาจารย์ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระอัครมหาบัณฑิต แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำาปาง

นับว่า เป็นการนำคัมภีร์ของล้านนาไทยโบราณ กลับคืนมาสู่เมืองไทย ให้ชาวไทยในยุคปัจจุบันได้รู้จัก ได้ศึกษา ได้สวด ได้ฟังให้เกิดประโยชน์ทางสันติ เพื่อความสงบระงับจากภัยพิบัติทั้งปวง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวล้านนา ชาวไทย ตลอดจนชาวโลกทั้งมวล

เมื่อได้รับคัมภีร์อุปปาตะสันติ หรือ มหาสันติงหลวงมาแล้ว ผู้เขียนจึงได้นำเรื่องราว งานเผยแผ่บทสวดอุปปาตะสันตินี้ไปปรึกษาท่านเจ้าคุณพระราชญาณปรีชา (สุนทร สุนฺทราโภ) และสรุปว่า การเผยแผ่จะเริ่มจากภาคต่างๆ โดยเริ่มที่ภาคเหนือก่อน โดยจัดสวดมหาสันติงหลวงขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๙ ณ เสนาสนะป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ (ปัจจุบันคือ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ)

ต่อมา ท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม และคณะสงฆ์ รวมถึงอุบาสกอุบาสิกาก็ได้ร่วมสวดมหาสันติงหลวง ในภาคกลาง เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๙ ด้วย และต่อมาก็ได้นำพระคาถานี้ไปสวดยังจังหวัดต่างๆ จนครบ ๔ ภาคทั่วประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายสวดเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองปีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙

นอกจากการนำคัมภีร์นี้ไปสวดยังภาคต่างๆ ทั้ง ๔ ภาคทั่วประเทศไทยแล้ว พระราชญาณปรีชา และคณะศิษย์ก็ได้เผยแผ่ พระคัมภีร์นี้ออกไป โดยจัดทำเทปบันทึกเสียงบทสวดอุปปาตะสันติ พร้อมแผ่นพับบทสวดขึ้นแจกจ่ายด้วย โดยใส่ทำนองให้ง่ายต่อการสวด และทำให้ไม่น่าเบื่อ

@@@@@@@

คณะสงฆ์ผู้ร่วมบันทึกเทปบทสวดอุปปาตะสันติในชุดแรก มีรายนามดังนี้
     ๑. พระราชญาณปรีชา (สุนทร สุนฺทราโภ)
     ๒. พระครูไพศาลศีลสังวร
     ๓. พระครูพิศาลสุธรรโมภาส
     ๔. พระครูวรญาณโกวิท
     ๕. พระมหาบุญเสริม ธมฺมปญฺโญ

การสวดมหาสันติงหลวงที่สำคัญที่สุด คือ การที่พระราชญาณปรีชา (สุนทร สุนฺทราโภ) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง พระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม ได้รับมอบให้เป็นประธานนำสวดมหาสันติงหลวง ถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นประจำทุกวันที่ ๖ ธันวาคม เวลา ๑๘.๐๐ น. ที่มณฑลพิธีพุทธมณฑลบริเวณลานหน้าองค์พระประธาน นับแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

เวลาของงานเผยแผ่ได้ดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด มาถึงวันนี้เป็นที่น่ายินดีที่ไม่มีใครไม่รู้จักบทสวดอุปปาตะสันติ หรือมหาสันติงหลวงอีกต่อไปแล้ว ความฝันของผู้หญิงคนนั้น คือ คุณพี่สุรีย์ มีผลกิจ ได้ก้าวมาเป็นความจริงแล้ว

ประโยชน์แห่งสันติ และความเป็นสิริมงคลจงบังเกิดแด่ชาวไทย ตลอดจนชาวโลกทั้งมวล ไม่มีที่สิ้นสุดด้วยเถิด


(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_14_03_25_10_36_05.png)


อานุภาพของอุปปาตะสันติ

๒๖๒. อิจเจวะมุปปาตะสันติง โย วะเทยยะ สุเณยยะ วา
        วิเชยยะ สัพพะปาปานิ วุทธัตตัญจะ ภะวิสสะติ.

        ผู้ใดสวดหรือฟังคัมภีร์ อุปปาตะสันติ อันกล่าวแล้วด้วยประการฉะนี้
        จะพึงชนะบาปทั้งปวง และจักเจริญด้วยคุณ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ

๒๖๓. โสตถิกาโม ละเภ โสตถิง สุขะกาโม สุขัง ละเภ
        อายุกาโม ละเภยยายุง ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง.

        ผู้ใดปรารถนาความสวัสดี พึงได้ความสวัสดี ผู้ปรารถนาความสุข
        พึ่งได้ความสุข ผู้ปรารถนาอายุ พึงได้อายุ ผู้ประสงค์บุตร พึงได้บุตร

๒๖๔. นะ ตัสสะ โรคา พาเธนติ วาตะปิตตาทิสัมภะวา
        อะกาละมะระณัง นัตถิ นะ เทโว วิสะโมสะเร.

        โรคที่เกิดจากลม จากดีเป็นต้น ย่อมไม่เบียดเบียนบุคคลนั้น
        ความตายในกาลอันไม่สมควร ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น มิจฉาเทวดาย่อมไม่รังแกต่างๆ นานา

๒๖๕. นะ จุปปาตะภะยัง ตัสสะ โนปิ ปัตตะภะยัง ตะถา
        นัสสันติ ทุนนิมิตตานิ ปาปะกัมมัฏฐิตานิ จะ
        ฑีฆะมายุ มะหาโสตถิง อาโรคฺยัญจะ สะทา ภะเว.

        เคราะห์ร้ายและภัยย่อมไม่มีแก่เขา นิมิตร้ายและสิ่งที่ตั้งขึ้น
        เพราะบาปกรรมย่อมพินาศไป ความมีอายุยืน ความสวัสดีอันประเสริฐ
        และความไม่มีโรค จะพึงมีแก่เขาในกาลทุกเมื่อ

๒๖๖. โย สุตฺวาปิ มะหาสันติง สังคามัง ปะวิเส นะโร
        วิชะเย เวริโน สัพเพ นะ สัตเถหฺยะภิภูยะเต.

        ผู้ใดฟังคัมภีร์อุปปาตะสันติอันประเสริฐแล้ว พึงเข้าไปสู่สมรภูมิ
        บุคคลนั้นอันศาสตราไม่กล้ำกราย ย่อมชนะข้าศึกทั้งมวล

        @@@@@@@

๒๖๗. สัพพะทา ละภะเต ปีติง วิปัตติง นาวะคาหะติ
        โรเคหิ นาภิภูยะเต สะวัตถูหิ วิวัฑฒะเต.

        เขาย่อมได้ซึ่งความอิ่มใจในกาลทุกเมื่อ ความวิบัติย่อมไม่มากล้ำกราย
        ย่อมไร้โรคา ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ศฤงคาร

๒๖๘. ยัตฺระ เทเส วะโกวะกา พาฬฺหะกา รักขะสาทะโย
        อุปปาตะสันติโฆเสนะ สัพเพ ตัตถะ สะมันติ เต.

        สัตว์ร้ายน้อยใหญ่ และรากษสเป็นต้น ผู้อยู่ในป่าเขาลำเนาไพรทั้งหลายทั้งปวง
        ย่อมสงบด้วยเสียงแห่งการสวดคาถาอุปปาตะสันติ

๒๖๙. ยะมุททิสสะ วะเท สันติง สะชีวัญจาปฺยะชีวิตัง
        โส มุจจะเต มะหาทุกขา ปัปโปติ สุคะติง สะทา.

        บุคคลสวดคัมภีร์อุปปาตะสันติ อุทิศให้ผู้ใดที่มีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่
        บุคคลนั้นย่อมพ้นจากมหันตทุกข์ ย่อมเข้าถึงสุคติภพในกาลทุกเมื่อ

๒๗๐. เทวัฏฐาเน นะคะเร วา นิจจะมุปปาตะสันติยา
        ปาละกา เทวะราชาโน เตชะสิรีวิวัฑฒะนา.

        ท้าวเทวราชทั้งหลายผู้ปกปักรักษาเนืองนิจ ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์หรือในพระนคร
        เป็นผู้เจริญด้วยเดชและสิริมงคล ด้วยคัมภีร์อุปปาตะสันตินี้

๒๗๑. ปะฐัพฺยาปาทิสัญชาตา อุปปาตา จันตะลิกขะชา
        อินทาทิชะนิตุปปาตา ปาปะกัมมะสะมุฏฐิตา
        สัพพุปปาตา วินัสสันติ เตชะสุปปาตะสันติยาติ.

        เหตุร้ายอันเกิดจากแผ่นดินไหว และน้ำท่วม เป็นต้น
        เหตุร้ายที่เกิดจากฟากฟ้า เหตุร้ายอันเกิดจากจันทรุปราคา เป็นต้น
        เหตุร้ายที่เกิดจากบาปกรรม เหตุร้ายทั้งปวงเหล่านั้นจักพินาศไป ด้วยเดชแห่งอุปปาตะสันติ






ขอบคุณที่มา : หนังสือ มหาสันติงหลวง ที่ระลึกงานสมโภชวัดราชผาติการามวรวิหาร พุทธศักราช ๒๕๕๘
จัดพิมพ์โดย : วัดราชผาติการาม วรวิหาร