สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 15, 2025, 11:27:23 am



หัวข้อ: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 15, 2025, 11:27:23 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_15_03_25_11_12_22.png)


กายานุปัสสนา : อานาปานปัพพะ

การปฏิบัติธรรมเป็นความมุ่งหมายสำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะการเรียนเป็นส่วนปริยัติ จะได้ผลก็ต้องมีการปฏิบัติ การปฏิบัติสำหรับบรรพชิต คือ ผู้บวชในพระพุทธศาสนาเบื้องต้น คือการปฏิบัติพระวินัย ซึ่งเป็นส่วนศีล แต่การปฏิบัติพระวินัยยังมีข้อที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นส่วนศีลนั้น เป็นสิกขาที่หนึ่ง สืบขึ้นไปอีก คือสมาธิและปัญญา เมื่อมุ่งผลของการปฏิบัติที่สูงขึ้น ก็ต้องปฏิบัติในสมาธิและในปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนาอีกด้วย

ฉะนั้น ในบัดนี้จะได้แสดงถึงหลักปฏิบัติสมาธิก่อน สมาธิ คือ การทำจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิ เพราะว่าจิตนี้มีปกติดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามยาก แต่ก็อาจที่จะทำให้สงบได้ อาจที่จะรักษาได้ ห้ามได้ ด้วยใช้สติกำหนดอารมณ์ของสมาธิ

@@@@@@@

อารมณ์ของสมาธินั้นมีมาก แต่ในบัดนี้จะแสดงเพียงข้อหนึ่ง คือ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในสติปัฏฐานสูตรท่านสอนให้ผู้ที่จะทำสมาธิข้อนี้ นั่งขัดบัลลังก็คือขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติ มีสติมั่น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก และให้ตั้งสติกำหนดเป็นขั้นๆ ไป คือ

     ๑. หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ หายใจออกยาวก็ให้รู้
     ๒. หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ หายใจออกสั้นก็ให้รู้
     ๓. ศึกษาคือ สำเหนียกกำหนดกายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษา คือ สำเหนียกกำหนดกายทั้งหมดหายใจออก
     ๔. ศึกษาคือ สำเหนียกกำหนดสงบระงับกายสังขาร เครื่องปรุงกายอันหมายถึง ลมหายใจ หายใจเข้าศึกษา คือ สำเหนียกกำหนดสงบระงับกายสังขาร เครื่องปรุงกายอันหมายถึง ลมหายใจ หายใจออก

ท่านแสดงไว้เป็น ๔ ขั้น ควรทำความเข้าใจเรื่องลมหายใจทั้ง ๔ ขั้นนี้ โดยสังเขป คือ

เมื่อยังมิได้ปฏิบัติทำจิตให้สงบ ลมหายใจก็หยาบ มีระยะที่หายใจยาว อีกอย่างหนึ่งต้องการสูดลมหายใจยาว ก็ทำการสูดหายใจให้ยาวได้ สำหรับในขั้นนี้จะทำการสูดลมหายใจให้ยาวอย่างออกกำลัง หรือหายใจโดยปกตินั่นแหละ แต่เมื่อยังไม่ทำสมาธิ ก็ยาว คือว่า หยาบ เมื่อเช่นนี้ก็ให้ทำสติให้รู้อยู่ เข้ายาวก็ให้รู้ ออกยาวก็ให้รู้

คราวนี้เมื่อทำสมาธิ จิตละเอียดเข้า ลมหายใจก็ละเอียดเข้า ช่วงหายใจก็สั้นเข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ให้รู้ คือว่าเข้าสั้นก็ให้รู้ ออกสั้นก็ให้รู้

@@@@@@@

ต่อจากนี้ก็ศึกษา คือ สำเหนียกกำหนดให้รู้กายทั้งหมดนี้ ในปฏิสัมภิทามรรคอธิบายว่า กายมี ๒ คือ รูปกายและนามกาย รูปกายได้แก่ รูปขันธ์ ก็ให้รู้ว่า รูปขันธ์มีอิริยาบถในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร อิริยาบถใหญ่เป็นอย่างไร อิริยาบถน้อยเป็นอย่างไร ตลอดจนให้รู้ลมหายใจ ซึ่งก็จัดว่าเป็นรูปขันธ์เหมือนกัน นี้เรียกว่ารูปกาย และให้รู้นามกาย คือให้รู้ความคิดให้รู้สัญญาคือ ความกำหนดในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร คอยกำหนดให้รู้ทั้งรูปกายและนามกายทั้งหมด

แต่ว่าในข้อนี้ในวิสุทธิมรรคอธิบายแคบเข้ามาว่า กายทั้งหมดนี้หมายถึงกองลมทั้งหมด ซึ่งโดยปกติเมื่อหายใจเข้า ลมก็จะตั้งต้นที่จมูกกลางที่หทัยลงไปถึงนาภี เมื่อขาออกก็จากนาภีมาหทัยแล้วก็มาจมูก ก็ให้กำหนดรู้ให้ตลอดสายทั้งเข้าทั้งออก

คราวนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๔ คือ ศึกษาสำเหนียกกำหนดสงบระงับกายสังขาร คือ ลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออกกำหนดลมหายใจที่เป็นไปโดยปกติ ที่เมื่อจิตละเอียด หายใจก็ละเอียดเข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็รักษาความละเอียดไว้ และคอยกำหนดจิตให้ละเอียดยิ่งขึ้น และรักษาลมหายใจที่ละเอียดนั้นไว้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น

ปล่อยให้เป็นไปตามปกติธรรมดาที่เป็น ไม่เกร็งตัว ไม่บังคับลม ถ้าไปเกร็งตัว ไปบังคับลม ก็อาจจะทำให้เกิดเกร็งกาย หายใจฮืดฮาด เป็นปลุกตัว ทำให้ร่างกายบางทีก็เอะอะตึงตัง ซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นวิธีปฏิบัติในอานาปานสติ วิธีปฏิบัติในอานาปานสตินั้น ต้องกำหนดให้ละเอียดยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นสี่ขั้น

แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้น สำหรับขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ก็กำหนดไปตามที่เป็น สำหรับในขั้นสี่ก็เป็นผลที่ละเอียดเข้าความสำคัญจึงอยู่ในขั้นที่สาม ขั้นที่สามนั้นในเบื้องต้น ก็อาจจะต้องคอยตามลมเข้า ตามลมออก ตามลมที่เข้าก็คือส่งจิต จากนาสิกไปอุระ (หรือหทัย) แล้วก็ไปนาภี ขาออกก็จากนาภีมาอุระ แล้วก็ออกนาสิก เช่นนี้ จิตยังไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้กำหนดจุดไว้จุดหนึ่งเพียงจุดเดียว

@@@@@@@

ในตำราปฏิสัมภิทามรรคและวิสุทธิมรรค ท่านสอนให้กำหนดจุดที่ลมกระทบ ในที่ต้นทางเข้าและในที่ปลายทางออก คือ ถ้าคนจมูกยาวก็ที่กระพุ้งจมูก ถ้าคนจมูกสั้นก็ที่ริมฝีปากเบื้องบน แต่ว่าที่ไหนนั้น ก็สุดแต่ละบุคคล ให้สังเกตดูว่าเมื่อหายใจเข้า ลมกระทบที่ไหนก่อน ที่ริมฝีปากเบื้องบนหรือที่กระพุ้งจมูก ก็ให้กำหนดไว้ที่จุดนั้น และเมื่อออก ลมออกก็จะมากระทบที่นั่น

จุดที่ลมกระทบเมื่อเข้าและเมื่อออกนั้น เรียกว่า นิมิต แปลว่า ที่กำหนดจิต เมื่อกำหนดจิตไว้ที่กำหนดไว้ ดังนี้
     เมื่อหายใจเข้าลมกระทบที่นิมิต คือ ที่กำหนดจิตอันนี้ก็รู้
     เมื่อลมหายใจออกมากระทบที่นิมิต ที่กำหนดจิตอันนี้ก็รู้
     และเมื่อให้จิตกำหนดอยู่ในจุดนี้ รู้อยู่เสมอดังนี้ ก็ชื่อว่า ได้รู้กองลมทั้งหมด

เปรียบเหมือนอย่างว่า คนเลื่อยไม้ ก็มองกำหนดดูอยู่ที่ไม้ตรงที่เลื่อยเลื่อยอยู่ ก็เห็นไม้ที่ตรงนั้นด้วย เห็นเลื่อยอยู่ที่ตรงนั้นด้วย กำหนดอยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว ไม่ต้องดูเลื่อยทั้งหมดที่เสือกไปเสือกมาทำการเลื่อย ดูอยู่จุดเดียว คือที่ไม้ตรงเลื่อยถูกนั้นเพียงจุดเดียว และเมื่อเห็นอยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว ก็เป็นอันว่าได้เห็นทั้งหมด กำหนดจิตให้อยู่ตรงนี้จุดเดียว


(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_15_03_25_11_12_38.png)


ในการที่ตั้งสติกำหนดอยู่ที่จุดเดียวนี้ เพื่อจะช่วยให้จิตกำหนดมั่นคง ท่านก็สอนวิธีเป็นอุบายสำหรับช่วยต่างๆ เช่น สอนให้นับ

ดังในวิสุทธิมรรคสอนให้นับ นับช้านับเร็ว

นับช้า ก็คือ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑, เข้า ๒ ออก ๒, เข้า ๓ ออก ๓,
แล้วก็ ๔-๔, ๕-๕ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๕-๕ แล้วต่ออีกเป็น ๖-๖
แล้วกลับไป ๑-๑ จนถึง ๗-๗ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๘-๘
แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๙-๙ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๑๐-๑๐

แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๕-๕ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๖-๖ ......
ย้อนไปใหม่ดังนี้อยู่เสมอ จนจิตเชื่องเข้าพอจะอยู่ที่ ก็เปลี่ยนเป็นนับเร็ว คือ ไม่นับคู่ แต่ว่านับเดี่ยว หายใจเข้า ๑ หายใจออก ๒ เป็นต้น เมื่อจิตเชื่องเข้าอยู่ที่แล้วก็ทิ้งการนับ กำหนดอยู่ที่จุดนั้นเสมอ ไม่ให้คลาดเคลื่อนไป

แต่ว่าบางอาจารย์ก็สอนอย่างอื่น ให้หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ แต่ว่าวิธีเหล่านี้เป็นวิธีอุปกรณ์ สุดแต่ว่าใครจะชอบอย่างไร ใครจะใช้วิธีนับ ใช้นับอย่างที่สอนไว้ในวิสุทธิมรรค หรือจะใช้อย่างอื่นก็สุดแต่จะชอบ เช่นว่า จะนับ ๑ ไปจนถึง ๑๐ ทีเดียว แล้วกลับนับ ๑ ถึง ๑๐ ใหม่ อย่างนี้ก็ไม่ขัดข้องอะไร เพราะเป็นอุบายเท่านั้น

@@@@@@@

     ๑. ต้องมีอาตาปะ แปลว่ามีความเพียร หมายความว่าตั้งใจไว้ว่าจะทำสมาธิเป็นเวลาเท่าไร เมื่อไร ก็ต้องทำตามที่ตั้งใจ รักษาสัจจะคือความตั้งใจจริงเอาไว้ และก็ทำให้ได้จริงตามที่กำหนดไว้ ไม่ให้เหลวไหล เบื่อก็ต้องทนให้ครบตามที่ตั้งใจไว้

     ๒. ต้องมีสัมปชานะ คือ ความรู้ตัว คือให้มีความรู้อยู่เสมอ ไม่ให้เผลอตัว ยิ่งสมาธิละเอียดเท่าไร ก็ต้องให้มีความรู้แจ่มใสขึ้นเท่านั้น ถ้าหลับไปเสียหรือว่าดับไปเสีย เช่นว่าปล่อยใจให้ตกวูบไปก็จะเป็นสัปหงกหรือว่าเป็นหลับไป หรือว่าถ้าเผลอตัวดังนี้ ก็ชื่อว่าขาดสัมปชานะ ไม่ถูกต้อง ต้องให้มีสัมปชานะคือความรู้อยู่

     ๓. สติ คือ ความระลึกกำหนด ต้องมีสติระลึกกำหนดอยู่ที่อารมณ์ของสมาธินั้นให้แน่วแน่ อย่าปล่อยให้สติเลื่อนลอย ถ้าปล่อยให้สติเลื่อนลอยไปก็จะกลายเป็นคนใจลอยกลายเป็นมีโทษ เท่ากับว่ามาหัดให้เป็นคนใจลอย เพราะฉะนั้น ต้องตั้งสติกำหนดไว้ที่อารมณ์ของสมาธิให้มั่นคง แพล็บไปข้างไหนก็ต้องจับเข้ามาเอาไว้ที่อารมณ์ของสมาธินั้น และ

     ๔. ไม่ยินดียินร้ายอะไรๆ ในโลกนี้ ในตอนนี้ก็หมายเพียงแต่ว่า ไม่ยินดีในอารมณ์ของสมาธิ ไม่ยินดีในนิมิตของสมาธิที่ปรากฏ ซึ่งเป็นตัวกิเลส เพราะถ้าไปยินดีในอารมณ์ของสมาธิ ก็อาจที่จะทำเกินพอดี อย่างบางคนนั่งจนไม่รู้เวลาที่จะพัก ไม่รู้เวลาที่จะบริโภค ถ้ายิ่งไปติดไปเพลินในนิมิตของสมาธิด้วยแล้ว ก็จะยิ่งไปกันใหญ่

     ในด้านตรงกันข้ามก็เหมือนกันต้องไม่ยินร้ายในอารมณ์ของสมาธิ ในนิมิตของสมาธิ คือ เมื่อตั้งใจจะทำแล้ว ถึงตอนต้นจะไม่ชอบ ต้องพยายามฝืนใจไปทำไปให้จงได้ และเมื่อประสบนิมิตที่ไม่ชอบ ก็ต้องคิดว่า ไม่ใช่เป็นของจริง แต่เป็นของที่เป็นสัญญชะ คือเกิดจากสัญญา หรือเป็นภาพอุปาทานทั้งนั้น ไม่มีความจริงอะไร

     ไม่ให้เกิดความยินดีตื่นเต้นในอารมณ์ ในนิมิตของสมาธิ ไม่ให้เกิดความยินร้ายตกใจกลัวในอารมณ์ ในนิมิตของสมาธิทุกๆ อย่างทำความรู้ให้ตั้งมั่น ทำสติให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของสมาธิเท่านั้น จนกว่าจะหมดเวลาที่เราได้กำหนดไว้

@@@@@@@

จิตที่เป็นสมาธิท่านว่า เป็นจิตที่ควรแก่การงาน เห็นได้ชัด ดังเช่นในการอ่านหนังสือ จะอ่านหนังสือสักหน้าหนึ่ง ถ้าใจฟุ้งซ่าน บางทีก็ต้องอ่านหลายเที่ยว และยังจะกำหนดความให้เกิดความเข้าใจก็ไม่ค่อยได้ จำก็ไม่ค่อยได้ แต่ถ้าอ่านด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นและแน่วแน่ ก็จะอ่านได้รวดเร็วกว่า และจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งดีกว่า

เพราะฉะนั้น การที่หัดทำสมาธินี้ จึงเป็นกิจที่ชอบ อาจจะใช้จิตที่เป็นสมาธินี้ไปเล่าเรียนศึกษา หรือจะไปบำเพ็ญประโยชน์อะไรก็ได้เป็นอันมาก ตามที่แสดงมานี้ เป็นเรื่องของอานาปานสติ โดยย่อก็เพียงนี้





ขอบคุณที่มา : หนังสือ "บันทึกกรรมฐาน" โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ผู้จัดพิมพ์ : รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 19, 2025, 09:35:46 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_15_03_25_11_12_22.png)


กายานุปัสสนา : อิริยาปถปัพพะ สัมปชัญญปัพพะ ปฏิกูลปัพพะ

ตามพระสูตร พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติระลึกไปในกาย ตั้งแต่พื้นเท้ามาจนถึงศีรษะเป็นส่วนเบื้องบน ตั้งแต่ศีรษะลงไปจนถึงพื้นเท้าเป็นส่วนเบื้องต่ำ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบกำหนดว่า เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยปฏิกูลน่าเกลียดประการต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในกายนี้ คือ

เกสา ผม, โลมา ขน, นขา เล็บ, ทนฺตา ฟัน, ตโจ หนัง,
มํสํ เนื้อ, นหารู เอ็น, อฏฺฐิ กระดูก, อฏฺฺฐิ มิญฺชํ เยื่อในกระดูก,

วกฺกํ ไต, หทยํ หัวใจ, ยกนํ ตับ, กิโลมกํ พังผืด, ปิหกํ ม้าม,
ปปฺผาสํ ปอด, อนฺตํ ไส้ใหญ่, อนฺตคุณํ สายรัดไส้,

อุทริยํ อาหารใหม่, กรีสํ อาหารเก่า, ปิตฺตํ ดี, เสมฺหํ เสลด, ปุพฺโพ น้ำหนอง,
โลหิตํ น้ำเลือด, เสโท น้ำเหงื่อ, เมโท มันข้น, อสฺสุ น้ำตา, วสา มันเหลว,
เขโฬ น้ำลาย, สิงฺฆาณิกา น้ำมูก, ลสิกา ไขข้อ, มุตฺตํ มูตร

รวมเป็นอาการ ๓๑ กับในที่อื่น ท่านแสดงไว้อีก ๑ คือ มตฺถเก มตฺถลุงฺคํ ขมอง มันสมองในขมองศีรษะ รวมเป็นอาการ ๓๒

การตั้งสติระลึกไปในกาย ซึ่งประกอบด้วยอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ให้เห็นว่า เป็นของปฏิกูลดังกล่าวมานี้ เป็นเครื่องกำจัดฉันทราคะ ความติด ความยินดี ความกำหนัดด้วยอำนาจของความพอใจในกาม ทำลายกามฉันท์นิวรณ์ให้สงบให้สิ้นไปได้

@@@@@@@

วิธีตั้งสติกำหนดนั้น อาศัยการพิจารณา คือ ต้องตั้งสติกำหนดให้เห็นอาการเหล่านี้ทีละอาการในครั้งหนึ่ง จะเพียงอาการเดียว หรือหลายอาการก็สุดแต่ เมื่อสติกำหนดลงไปให้เห็นเหมือนอย่างมองเห็นแล้ว ก็พิจารณาให้ความปฏิกูลของอาการเหล่านี้ปรากฏตามที่เป็น คือ ความปฏิกูลนั้นเป็นอย่างไร ก็ให้พิจารณาให้เห็นอย่างนั้น ไม่ใช่ให้เห็นโดยที่ไม่เป็นหรือโดยสัญญา โดยแกล้งนึกเอา

อาการเหล่านี้ปรากฏความปฏิกูลในตัวเอง ทั้งโดยสี ทั้งโดยสัณฐาน คือทรวดทรง ทั้งโดยกลิ่น ทั้งโดยที่เกิด ทั้งโดยที่อยู่ เห็นได้ง่าย เพราะปรากฏอยู่ที่ตัวเองเมื่อปล่อยหมักหมมไว้ไม่ชำระล้าง ความปฏิกูลก็ปรากฏขึ้นทันที

ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะธรรมชาติธรรมดาของอาการเหล่านี้มีความเป็นของปฏิกูล แต่โดยปกติไม่ได้กำหนด ไม่ได้พิจารณา ซ้ำยังมีการตกแต่งแก้ไข จึงไปติดอยู่ที่การตกแต่งแก้ไข แถมมีฉันทราคะมาประกอบ ก็ทำให้เห็นเป็นที่น่ายินดี แต่เมื่อเพิกอาการตกแต่งแก้ไขที่ปกปิดความปฏิกูลนั้นออกเสีย ความปฏิกูลปรากฏขึ้นแก่ใจ ฉันทราคะก็จะหายไป เพราะความเป็นปฏิกูลนั้นเป็นข้าศึกต่อฉันทราคะ หรือกามฉันท์ ความปฏิกูลปรากฏขึ้นเมื่อใด กามฉันท์หรือฉันทราคะก็หายไปเมื่อนั้น

ในวิธีกำหนดนี้ จะกำหนดยกออกไปทีละอย่างก็ได้ คือ

กำหนดให้เห็นเกสา ผม แล้วก็ยกเอาผมออกไป
กำหนดให้เห็น โลมา ขน แล้วก็ยกเอาขนออกไป
นขา เล็บ ก็ให้เล็บออกไป
ทนฺตา ฟัน ก็ให้ฟันหลุดออกไป
ตโจ หนัง ก็ลอกหนังออกไป
มํสํ เนื้อ ก็ให้เนื้อหลุดไป
นหารู เอ็น ก็ให้เอ็นหมดไป

อฏฺฐิ กระดูก ในตอนนี้ จะกำหนดกระดูกเอาไว้ให้เห็นแต่โครงร่าง กระดูก ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา ตั้งแต่ศีรษะลงไป กำหนดดูกระดูก ที่ปรากฏอยู่เพียงเท่านี้ก็ได้ หรือจะให้กระดูกหมดไป เหลือแต่เยื่อในกระดูก ให้หมดทีละอย่างๆ ในที่สุดก็ไม่มีอะไร

ดังนี้ก็ได้ แต่ต้องอาศัยตั้งสติกำหนดพิจารณา เมื่อจิตสงบก็จะมี "อุปัฏฐานะ" คือ ความปรากฏของอารมณ์แจ่มชัด เมื่อมีอุปัฏฐานะ คือ ความปรากฏของอารมณ์แจ่มชัดขึ้น สติที่กำหนดก็จะเป็นอุปัฏฐานะ คือ แจ่มชัดขึ้นเช่นเดียวกัน และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเหมือนอย่างมองเห็น เท่ากับเป็นการสร้างตาเอ๊กซเรย์ มองเห็นจนถึงกระดูกเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กามฉันท์หรือ ฉันทราคะที่เกิดขึ้น ก็จะสงบไปได้ จิตใจก็จะตั้งมั่น

@@@@@@@

อนึ่ง ท่านสอนให้ทำสัมปชัญญะในอิริยาบถใหญ่ คือ เมื่อเดิน ก็ให้มีความรู้ตัว เมื่อยืน ก็ให้มีความรู้ตัว เมื่อนั่ง ก็ให้มีความรู้ตัว เมื่อนอน ก็ให้มีความรู้ตัว เมื่อจะน้อมกายไป อย่างใด ก็ให้มีความรู้ตัว อย่างนั้นทุกอิริยาบถ และท่านสอนให้ทำสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวในอริยาบถน้อยๆ ต่างๆ

เช่น เมื่อก้าวไปข้างหน้า เมื่อถอยไปข้างหลัง เมื่อคู้แขนเข้า หรือ อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเข้า เมื่อเหยียดออก เมื่อนุ่งห่ม เมื่อกิน เมื่อดื่ม เมื่อเคี้ยว เมื่อถ่าย หรือเมื่อเดิน ยืน นั่ง นอน ตื่น พูด นิ่ง ก็ให้มีความรู้ตัวอยู่ให้ตลอดด้วย

การทำสัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวนี้ ก็เป็นบทประกอบเข้า เพราะประสงค์ให้มีทั้งสติทั้งสัมปชัญญะดังที่กล่าวมาแล้ว
     กายคตาสตินี้ ควรจะหัดพิจารณาอีกข้อหนึ่ง เพราะนอกจากทำจิตใจให้เป็นสมาธิ ยังอาจเป็นเครื่องกำจัดกามฉันท์ หรือฉันทราคะได้ด้วย
     ส่วนอานาปานสตินั้นเป็นสมาธิได้ดี แต่ไม่สู้จะกำจัดฉันทราคะ หรือกามฉันท์ได้ถนัดนัก
     เพราะฉะนั้น ก็ให้เจริญสมาธิไว้ทั้ง ๒ ข้อเหล่านี้

ท่านแสดงว่า สมาธิล้วน คือ จิตใจตั้งมั่นสงบเพียงอย่างเดียวนั้น ถ้าไม่เจริญวิปัสสนา เมื่อออกจากสมาธินั้นแล้ว บางทีกิเลสแรงขึ้น เช่น ราคะ โทสะ แรงขึ้น เพราะเป็นจิตที่มีกำลัง แต่ไม่ได้ผ่อนปรนเอากิเลสออกไปบ้าง เมื่อจิตมีกำลังและมีกิเลสหนุนอยู่ กิเลสไม่ถูกผ่อนปรนออกเสียบ้าง เมื่อคราวประสบอารมณ์ที่เป็นเหตุยั่วราคะ ราคะก็เกิดแรง เมื่อประสบอารมณ์ที่เป็นเหตุยั่วโทสะ โทสะก็เกิดแรง แรงกว่าไม่ได้ทำสมาธิ

ส่วนกายคตาสตินี้เจือวิปัสสนาไปในตัวด้วย ก็เป็นการผ่อนปรนกิเลสกองราคะออกไปได้บ้าง เพราะฉะนั้น เมื่อหัดเจริญไว้ และออกจากสมาธิอันนี้แล้ว เมื่อถูกอารมณ์ที่เป็นเครื่องยั่วราคะมายั่ว ก็จะไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะจิตใจเคยกำหนดอยู่ในความปฏิกูล ก็ย่อมจะเห็นปฏิกูลได้ง่าย

ฉะนั้น ในเวลาที่บวช พระอุปัชฌายะท่านจึงสอน "ตจปัญจกกรรมฐาน" คือ ยกขึ้นสอนเพียง ๕ ข้อ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ สำหรับจะได้พิจารณาเป็นเครื่องมือในเวลาที่บวชอยู่ เมื่อมีกรรมฐานอันนี้คู่ใจอยู่ ก็จะประพฤติพรหมจรรย์ได้เรียบร้อยดี ถ้าขาดกรรมฐานข้อนี้ พรหมจรรย์ก็จะเร่าร้อน เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนกรรมฐานข้อนี้ไว้ ตั้งแต่เมื่อบวช ก็ควรที่จะเจริญกายคตาสตินี้ เป็นอีกข้อหนึ่งไปด้วย

          สำหรับวันนี้ก็ยุติเพียงเท่านี้


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 20, 2025, 02:27:05 pm
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_41_59.jpeg)


กายานุปัสสนา : ธาตุปัพพะ

วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิอีกข้อหนึ่ง คือ "ธาตุกรรมฐาน" หรือที่เรียกว่า "ธาตุววัตถาน" การกำหนดธาตุ คำว่า "ธาตุ" นั้นแปลว่า ทรงไว้ คล้ายกับคำว่า "ธัมมะ" มาใช้ในภาษาไทยในความหมายว่า รากหรือมูลราก ซึ่งหมายถึงต้นเดิม หรือหมายถึง ส่วนที่คงที่ไม่ใช่ส่วนผสม เมื่อมาหมายอย่างนี้ ก็เลยมีความเห็นค้านธาตุในพระพุทธศาสนาว่า ยังไม่ได้เป็นธาตุแท้ เช่น ธาตุดินก็ไม่ใช่เป็นธาตุแท้ ธาตุน้ำก็ไม่ใช่เป็นธาตุแท้ ดังที่แยกได้ในทางวิทยาศาสตร์

แต่เมื่อก่อนนี้ ก็มีแสดงสิ่งที่เรียกว่า ธาตุแท้เป็นอย่างๆ ในบัดนี้สิ่งที่ว่าเป็นธาตุแท้นั้นก็ไม่ใช่เสียแล้ว เพราะทุกๆ อย่างวิทยาศาสตร์ในบัดนี้ก็บอกว่ามาจากอะตอม (atom) ซึ่งแยกออกไปได้เป็นส่วนประกอบต่างๆ เพราะฉะนั้น ธาตุแท้ในทางโลกก็ยังไม่แน่นอน ยังเป็นแต่เพียงยุติกันด้วยกำหนดคุณลักษณะอย่างหนึ่งๆ แล้วสมมติกันว่าเป็นธาตุอย่างหนึ่งๆ

ส่วนธาตุในทางพระพุทธศาสนานั้น มีความหมายถึงว่า คุณลักษณะอย่างหนึ่งๆ ที่เป็นที่สรุปรวมสิ่งที่มี
คุณลักษณะอย่างเดียวกันเข้าด้วยกัน และแสดงไว้ว่าในร่างกาย อันนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ
    ปฐวีธาตุ ธาตุดิน
    อาโปธาตุ ธาตุน้ำ
    เตโชธาตุ ธาตุไฟ
    วาโยธาตุ ธาตุลม
และในบางพระสูตร ก็แสดงธาตุ ๕ คือ อากาสธาตุ ธาตุอากาศ เพิ่มเข้าอีกหนึ่ง

@@@@@@@

อะไรบ้างเป็นธาตุเหล่านี้ ท่านก็ชี้ไว้สำหรับให้พิจารณา คือ ในร่างกายอันนี้
เกสา ผม, โลมา ขน, นขา เล็บ,ทนฺตา ฟัน, ตโจ หนัง,
มํสํ เนื้อ, นหารู เอ็น, อฏฺฐิ กระดูก, อฏฺฐิ มิญฺชํ เยื่อในกระดูก,
วกฺกํ ไต, หทยํ หัวใจ, ยกนํ ตับ, กิโลมกํ พังผืด, ปิหกํ ม้าม, ปปฺผาสํ ปอด,
อนฺตํ ไส้ใหญ่, อนฺตคุณํ สายรัดไส้, อุทริยํ อาหารใหม่, กรีสํ อาหารเก่า
และสิ่งอื่นๆ ที่มีลักษณะแข้นแข็ง เรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดิน คือ เอาลักษณะแข้นแข็ง

ปิตฺตํ ดี คือน้ำดี, เสมฺหํ เสลด, ปุพฺโพ น้ำหนอง,โลหิตํ น้ำเลือด,
เสโท น้ำเหงื่อ, เมโท มันข้น, อสฺสุ น้ำตา,วสา มันเหลว,
เขโฬ น้ำลาย, สิงฺฆาณิกา น้ำมูก, ลสิกา ไขข้อ, มุตฺตํ มูตร
และ ส่วนอื่นที่มีลักษณะเอิบอาบ เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำนี้ก็เอาลักษณะที่เอิบอาบ

ส่วนไฟนั้น ก็ได้แก่
เยน จ สนฺตปฺปติ ไฟทำให้ร่างกายอบอุ่น
เยน จ ชิรยติ ไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม
เยน ปริทยฺหติ ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน
เยน อสิตปีตขายิตสายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ ไฟที่ทำให้อาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มถึงความย่อยได้
และ ไฟอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความร้อนขึ้นก็เรียกว่าเป็น เตโชธาตุ ธาตุไฟ นี้ก็เอาลักษณะที่เร่าร้อน หรือรุ่มร้อน

@@@@@@@

ส่วนที่เป็นลมนั้น ก็ได้แก่
อุทฺธงฺคมา วาตา ลมที่พัดขึ้น เบื้องบน
อโธคมา วาตา ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ
กุจฺฉิสยา วาตา ลมที่อยู่ในท้อง คือในกระเพาะอาหาร
โกฏฺฐสยา วาตา ลมที่อยู่ในไส้
องฺคมงฺคานุสาริโน วาตา ลมที่พัดไปตลอดอวัยวะน้อยอวัยวะใหญ่
และอสฺสาโส ลมหายใจเข้า , ปสฺสาโส ลมหายใจออก
หรือว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีลักษณะพัดไหว เรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลม นี่ก็เอาลักษณะพัดไหว

อัสสาสะนั้น ในวิสุทธิมรรคแสดงไว้ว่า ลมหายใจออก ปัสสาสะแสดงไว้ว่า ลมหายใจกลับ คือ ลมหายใจเข้า เพราะอธิบายว่า เด็กเมื่อคลอดออกมาจากครรภ์มารดานั้นหายใจออกก่อน แล้วจึงหายใจเข้า และคำว่าอัสสาสะ นำหน้าปัสสาสะ เมื่อเป็นเช่นนี้ อัสสาสะจึงได้แก่ลมหายใจออก ซึ่งเป็นลมหายใจครั้งแรกของเด็ก และปัสสาสะจึงเป็นหายใจเข้า แต่ก็มีอาจารย์อื่นแปลกลับกันว่า อัสสาสะ หายใจเข้าปัสสาสะ หายใจออก

คราวนี้ ถ้าจะพิจารณาว่าเด็กเมื่อคลอด ออกมาทีแรกนั้น หายใจเข้าก่อน หรือหายใจออกก่อน อันนี้ก็จะต้องศึกษาในทางแพทย์ดู แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็ไม่ถือเป็นสำคัญนัก ต้องการให้กำหนดก็แล้วกัน คือให้รู้ของจริงในปัจจุบัน หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ส่วนศัพท์ที่เป็นสมมติบัญญัตินั้น ก็สุดแต่จะใช้ ถ้าต้องการจะรู้ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องไปค้นทางตำราแพทย์ หรือไปถามแพทย์ดูอีกทางหนึ่ง

@@@@@@@

ส่วนอากาศนั้น ก็ได้แก่
กณฺณจฺฉิทฺทํ ช่องหู นาสจฺฉิทฺทํ ช่องจมูก มุขฉิทฺทํ ช่องปาก
เยน อสิตปีตขายิตสายิตํ อชฺโฌหรติ ช่องที่อาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มกลืนผ่านลงไป
ยตฺถ อสิต ปีตขายิตสายิตํ ติฏฺฐติ ช่องที่อาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มตั้งอยู่
และ เยน จ อสิตปีตขายิตสายิตํ อโธภาคา นิกฺขมติ ช่องที่อาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มออกไปภายนอก
หรือว่า ช่องว่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า อากาสธาตุ นี้ก็เอาลักษณะที่เป็นช่องว่าง

การจัดธาตุและระบุอวัยวะ ระบุลักษณะที่เป็นธาตุดังกล่าวนี้ แสดงตามที่ท่านจัดไว้ในพระคัมภีร์ แสดงความรู้ในทางกายวิภาค ที่จะพึงหยิบยกมาเป็นทางพิจารณาทำธาตุกรรมฐาน ในบัดนี้ ถ้าผู้ที่รู้วิชาแพทย์ รู้วิชากายวิภาค จะมาจัดระบุขึ้นตามในตำราปัจจุบัน ก็อาจจะได้ความละเอียดพิสดารขึ้นอีก แต่ก็ยังไม่มีใครทำ ถ้าผู้ที่เรียนแพทย์มาทำขึ้นได้ จัดตามตำราแพทย์ในปัจจุบันได้ ก็จะดีเหมือนกัน

ในร่างกายอันนี้ เมื่อไม่พิจารณาแยกธาตุ ดูรวมๆกันอยู่ ก็เป็นก้อนเป็นแท่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน และเมื่อยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ก็มีเรื่องกระวนกระวายต่างๆ สืบเนื่องกันไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้พิจารณาแยกธาตุ คือ ดูลงไปว่า ก้อนที่เรายึดถือกันว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น มีอะไรบ้าง และตัวตนอยู่ที่ไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ แยกออกไปทีละส่วนก็จะพบว่า เป็นธาตุดินบ้าง เป็นธาตุน้ำบ้าง เป็นธาตุไฟบ้าง เป็นธาตุลมบ้าง เป็นธาตุอากาศบ้าง

@@@@@@@

ในทางสรีรศาสตร์ปัจจุบันนี้ก็มีแสดงไว้ว่า ช่องว่างในร่างกายมนุษย์นี้มากมาย ถ้าหากว่าจะยุบให้เป็นก้อนเข้าจริงๆ โดยไม่ให้มีช่องว่างเลย ตัวมนุษย์เรานี้ก็จะเล็กเหลือนิดเดียว ผู้นั้นเขาว่าเท่าขนาดหัวไม้ขีด จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาดูย่อมจะรู้สึกว่า ช่องว่างในตัวเรานี้มากมายเหลือเกิน ดูด้วยกล้องจึงจะรู้สึก ยิ่งกล้องนั้น ละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งจะเห็นโพรงในร่างกายเรามากขึ้นเท่านั้น

คราวนี้มาพิจารณาดู ถ้าสมมติว่า หยิบออกไปวางเสียทีละอย่าง หยิบเอาธาตุดินไปเสียก่อน แล้วหยิบเอาธาตุน้ำออกไปหยิบเอาธาตุไฟออกไป หยิบเอาธาตุลมออกไป ก็เหลือแต่อากาศคือช่องว่างๆ อยู่เท่านั้น เดิมก่อนที่จะมาเป็นร่างกายอันนี้ ก็เป็นอากาศธาตุอยู่ เมื่อธาตุทั้งหลายมาประกอบกันเข้าเป็นสังขาร จึงได้เป็นร่างกายอันนี้ และเมื่อธาตุทั้งหลายเหล่านี้แยกออกไป ก็มาเป็นอากาศธาตุ คือ เป็นช่องว่างตามเดิม

การกำหนดธาตุดังกล่าวมานี้ จะเห็นสักแต่ว่า เป็นธาตุก็จะทำให้เห็นความว่างเปล่าจากตัวจากตน เพราะสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นตัวเป็นตนนั้น เมื่อแยกออกไปแล้วก็พบแต่ว่าเป็นธาตุทั้งนั้น ถ้าจะแยกอย่างในสมัยปัจจุบันนี้ก็คือว่า แยกออกไปๆ ก็เป็นอะตอม (atom) อะตอมทั้งหมดบรรจุอยู่ในอากาศธาตุคือช่องว่าง

เมื่อแยกอะตอม (atom) ออกไปอีกทีหนึ่ง ก็เหลือแต่อากาศธาตุคือช่องว่าง นี้เรียกว่าเป็นธาตุกรรมฐาน ทำให้เกิดสมาธิ คือ ความสงบตั้งมั่นด้วย และแกมวิปัสสนา ปัญญาก็เห็นแจ้งด้วย เพราะทำให้ความเห็นเป็นอนัตตาประกอบไปด้วยกัน

        ในวันนี้ก็ยุติเพียงเท่านี้


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 22, 2025, 10:39:53 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_42_17.jpeg)


กายานุปัสสนา : นวสีวถิกาปัพพะ

ได้แสดงวิธีปฏิบัติมาแล้วเรื่องการทำอานาปานสติ การทำสัมปชัญญะในอิริยาบถใหญ่ ในอิริยาบถน้อย และ กายคตาสติ สติที่ระลึกไปในกายตามอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ที่นับเป็น ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ กับได้แสดงธาตุววัตถาน กำหนดธาตุหรือว่าธาตุกรรมฐาน ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น พิจาณากายที่ยังมีชีวิต คือ กายที่ยังมีลมหายใจ เคลื่อนไหว อิริยาบถต่างๆได้ มีอาการของกายต่างๆ ยังทำงานได้ตามหน้าที่ ธาตุต่างๆก็ยังรวมกันอยู่เป็น "อุปาทินนะ คือ มีใจครอง"

คราวนี้ เมื่อธาตุต่างๆแตกสลาย หยุดหายใจ หยุดเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ อาการต่างๆ ของกายหยุดทำหน้าที่ ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ

ฉะนั้น จึงมีวิธีสอนให้พิจารณาศพ ศพที่ตายแล้วจริงๆ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า นำมาพิจารณาเทียบกับกายนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อสุภะ หรือ อสุภ แปลว่า ไม่งาม ในที่อื่นว่าไว้ ๑๐ แต่ในสติปัฏฐานจำแนกไว้ ๙ หมวด คือ

@@@@@@@

หมวดที่ ๑. พิจารณาศพที่ตาย ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าตายวันหนึ่ง สองวัน สามวัน ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำหนองไหล แล้วเทียบเข้ามาที่ร่างกายอันนี้ว่าก็จะเป็นเช่นเดียวกัน

หมวดที่ ๒. พิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้านั้น ที่ถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน คือว่าถูกกา ถูกแร้ง ถูกนกตะกรุม ถูกสุนัข ถูกสุนัขจิ้งจอกกัดกิน ถูกปาณชาติต่างๆ กัดกิน แล้ว น้อมเข้ามาว่า กายอันนี้ก็จะต้องเป็นฉันนั้น

หมวดที่ ๓. พิจารณาศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก มีเนื้อ มีเลือด มีเส้นเอ็นรึงรัด แล้วก็น้อมเข้ามาเทียบกับกายนี้ว่าจะต้องเป็นฉันนั้น

หมวดที่ ๔. พิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงร่างกระดูก ไม่มีเนื้อแต่ว่ายังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นรึงรัดแล้วก็น้อมเข้ามาเทียบกับกายอันนี้ว่าจะต้องเป็นฉันนั้น

หมวดที่ ๕. พิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงร่างกระดูก มีเนื้อและเลือดหมดสิ้นไป แต่ว่าโครงกระดูกนั้นยังมีเส้นเอ็นรึงรัดให้คุมกันอยู่กับร่าง แล้วก็น้อมนำมาเทียบกับ กายอันนี้ว่าจะต้องเป็นฉันนั้น

หมวดที่ ๖. พิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงร่างกระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรัดรึง กลายเป็นกระดูกที่กระจัดกระจายเรี่ยราด กระดูกมือก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกเข่าก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกขาก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกอกก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกแขนก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกหัวไหล่ก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกคอก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกคางก็หลุดไปทางหนึ่ง กระดูกฟันก็หลุดไปทางหนึ่ง จนถึงกะโหลกศีรษะก็หลุดไปอีกทางหนึ่ง เรี่ยราดกระจัดกระจาย แล้วน้อมมาเทียบกับกายอันนี้ว่าจะต้องเป็นฉันนั้น

หมวดที่ ๗. พิจารณากระดูกที่หล่นเรี่ยราดอยู่ในป่าช้านั้น มีสีขาว มีสีแสงเหมือนสีสังข์ น้อมมาเทียบกับกายอันนี้ว่าจะต้องเป็นฉันนั้น

หมวดที่ ๘. พิจารณากระดูกที่เรี่ยราดอยู่ในป่าช้านั้นซึ่งรวมอยู่เป็นกองๆ เป็นส่วนๆ มีอายุพ้นหนึ่งปีออกไป และพิจารณาเทียบกับกายอันนี้ว่าจะต้องเป็นฉันนั้น

หมวดที่ ๙. ก็พิจารณากระดูกเหล่านั้น ที่เป็นกระดูกป่นละเอียด สิ้นรูปร่าง สิ้นสมมติบัญญัติว่าเป็นกระดูก หมดสิ้นไป แล้วนำมาเทียบกายอันนี้ว่าจะต้องเป็นฉันนั้น

@@@@@@@

รวมเป็นนวสีวถิกาปัพพะ ข้อที่ว่าศพในป่าช้า ๙ ข้อ พิจารณาตั้งแต่เป็นศพตายใหม่ๆ จนถึงกระดูกผุป่น เป็นอันว่าหมดสิ้นไป ร่างกายอันเดิมนี้ก็ไม่มี มีแต่อากาศธาตุ ช่องว่าง หรือที่ว่างเปล่าไปทั้งนั้น แต่ครั้นเมื่อก่อเกิดร่างกายอันนี้ขึ้นมา ก็มาเป็นสิ่งหนึ่ง แล้วในที่สุดสิ่งต่างๆที่มาก่อขึ้นนั้น ก็จะสลายไปหมด กลับเป็นไม่มี ความที่เคยเปลืองที่อยู่นั้นก็สิ้นไป ก็กลับเป็นที่ว่างเป็นอากาศธาตุไปตามเดิม ไม่มีอะไร


(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_42_36.png)


ตามที่กล่าวมานี้ เป็นวิธีพิจารณากายในกาย อันเรียกว่า "กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ที่ตั้งที่ปรากฏของสติที่ใช้เป็นอนุปัสสนา คือดูตามไปซึ่งกายในกาย คำว่าในกายเป็นคำรวม หมายถึงว่า ในกายทั้งหมด แต่ว่าในกายทั้งหมดนี้มีส่วนต่างๆอยู่มาก ก็จะต้องดูไปทีละอย่าง จะยกส่วนไหนขึ้นมาพิจารณาก็ได้

เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าพิจารณากายในกาย คือ พิจารณา ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นว่า ลมหายใจเข้าออก หรืออิริยาบถ เป็นต้น แต่ก็พิจารณาอยู่ในกายอันนี้ จะพิจารณากายในเวทนา ในจิต ในธรรมก็ไม่ได้ เมื่อจะพิจารณากายก็ต้องพิจารณาในกาย หรือว่าที่กายอันนี้ พิจารณาภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ภายในก็คือ ที่กายของตน ภายนอกก็คือ ที่กายของผู้อื่น

แต่ว่าที่กายของผู้อื่นนั้น ก็เป็นแต่เพียงเทียบเคียงว่า กายของเราฉันใด ของผู้อื่นก็ฉันนั้น ไม่ใช่ว่าให้ไปจ้องพิจารณาที่ตัวเขาจริงๆ ถ้าไปจ้องเขาอย่างนั้น บางทีจะกลับเกิดกิเลสขึ้นอีก แต่ว่าอีกอย่างหนึ่งก็หมายความว่า ภายใน ก็คือที่ว่าเป็นส่วนละเอียด ภายนอกก็คือ ที่เป็นส่วนหยาบ

ภายในที่เป็นส่วนละเอียดนั้น ก็คือ กำหนดให้เป็นนิมิตที่กำหนดขึ้นที่ใจของตัว
ส่วนภายนอกนั้นก็คือ กายที่เป็นส่วนหยาบ ที่เป็นตัวกายจริงๆ

@@@@@@@

ทีแรกก็ต้องหยาบก่อน จะเรียกว่า ภายนอกก็ได้ เช่น กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ต้องกำหนดที่ลมหายใจจริงๆ เช่น กำหนดที่ปลายดั้งจมูกหรือที่ริมฝีปากบน ซึ่งเป็นจุดที่ลมหายใจผ่านเมื่อเข้าและออก

แต่ว่าครั้นลมละเอียดเข้าๆ ก็มากำหนดนิมิตขึ้นที่จิต เปรียบเหมือนอย่างว่า เมื่อตีระฆัง เสียงระฆังก็ดังขึ้น ก็กำหนดเสียงระฆังนั้น ครั้นเสียงระฆังนั้นเงียบไปแล้ว ก็กำหนดนิมิตของเสียงระฆังนั้น เสียงระฆังจริงๆ นั้นเงียบไปแล้ว แต่ว่านิมิตของเสียงระฆังในใจยังไม่เงียบ ยังกำหนดอยู่ เสียงระฆังจริงๆ นั้นเรียกว่าเป็นภายนอก แต่ว่านิมิตของเสียงระฆังที่อยู่ในใจเรียกว่าเป็นภายใน

ลมหายใจก็เหมือนกัน ลมหายใจจริงๆ ที่กำหนดในตอนแรกเรียกว่าเป็นภายนอก แต่ว่านิมิตของลมหายใจที่เป็นในจิตเรียกว่าเป็นภายใน นี่ก็เรียกว่าเป็นภายนอก ภายในอีกอย่างหนึ่ง ข้ออื่นๆ ก็เหมือนกัน และท่านให้พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอกให้ตรงกัน และก็ให้พิจารณาทั้งเกิดทั้งดับด้วย

เรื่องของเกิดดับนี้ เมื่อสติกำหนดอยู่ที่กายดังกล่าวมานี้ ความเกิดก็จะปรากฏขึ้น ความดับก็จะปรากฏขึ้น อย่างเช่น ลมหายใจ หายใจเข้ามา หายใจออกไป นี้ก็เกิดดับกันหนหนึ่งและก็เกิดก็ดับกันทุกๆ ขณะที่หายใจเข้าหายใจออก

อิริยาบถต่างๆ ก็เหมือนกัน เมื่อเดินอยู่ หยุดเดิน ยืน อาการเดินนั้นก็ดับ และเมื่อยืน เลิกยืนมานั่ง อาการยืนก็ดับมาเป็นนั่ง ก็เกิดดับกันอยู่ดังนี้ จนกว่าชีวิตดับเป็นศพ เมื่อเป็นศพแล้ว ศพนั้นก็จะต้องแตกสลายจนเป็นกระดูกละเอียดป่น

@@@@@@@

ก็เป็นอันว่าดับไปหมด แต่ว่าในการพิจารณานั้น ก็จะต้องยกขึ้นมาเป็นอารมณ์ของจิต เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ เพื่อเป็นที่ตั้งของความรู้ ในขั้นนี้ยังไม่ปล่อยให้ว่างไปหมด ยังต้องกำหนดให้เป็นอารมณ์ไว้ในจิต แต่ว่าก็ให้กำหนดสักแต่ว่าเป็นที่ตั้งของสติ และเป็นที่รู้เท่านั้นไม่ให้เกิดความยึดถืออะไรๆ ขึ้นได้ และระวังไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้นได้

เมื่อปฏิบัติดังนี้ ก็ชื่อว่าได้ทำกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ในขั้นที่ปฏิบัตินั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่า จะพิจารณารวดเดียวไปทุกประการ เพียงข้อใดข้อหนึ่งที่ตนชอบที่ตนพอใจ ซึ่งเป็นสัปปายะของตัวก็ใช้ได้ และเมื่อทำใจให้เป็นสมาธิได้แล้ว จะยักย้ายไปอย่างอื่นก็เห็นง่ายเข้า เห็นชัดเข้า

          ในวันนี้ก็จบเพียงเท่านี้


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 01, 2025, 08:34:52 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_43_31.png)


เวทนานุปัสสนา

แสดงวิธีปฏิบัติสืบต่อขึ้นไป การตั้งสติไปในกายดังกล่าวมาโดยลำดับนั้น เมื่อนั่งปฏิบัติ ก็อาจจะรู้สึกไม่สบาย เช่นว่า เมื่อยขบ เหนื่อยหน่าย ทำให้กระสับกระส่าย เพราะถ้าไม่คุ้นเคยปฏิบัติ เริ่มปฏิบัติทีแรกจะรู้สึกเช่นนั้น ไม่สบาย ไม่สนุกสนานเหมือนอย่างการปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปทางอื่น เช่น ดูภาพวิวที่สวยงาม ฟังวิทยุ ดูหนังสือ หรืออะไรทำนองนั้น

แต่ว่าเมื่อได้ลองควบคุมใจให้สงบอยู่ในอารมณ์ที่ตั้ง มีความคุ้นเคยเข้าโดยลำดับ ก็จะได้รับความสุขในการปฏิบัติ และเมื่อได้รับความสุขในการปฏิบัตินั้น ก็จะเริ่มได้รสของสมาธิ และก็จะรู้สึกว่า ความสุขที่ได้รับจากความสงบนั้นละเอียดประณีตยิ่งกว่าความสุขอันเกี่ยวแก่รูป รส กลิ่น เสียง ดังที่กล่าวมา

ฉะนั้น เมื่อรู้สึกสบายหรือไม่สบายอย่างไร ก็ให้ตั้งสติกำหนดรู้ เรียกว่าเลื่อนเข้ามารู้เวทนา คือความเสวยอารมณ์เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง เมื่อเลื่อนเข้ามาดูเวทนา ดังนี้ จะพบว่าในตนของเรานี้ ก็เต็มไปด้วยเวทนา และเวทนานี้เองเป็นต้นเหตุอันหนึ่ง ที่จะทำให้จิตใจเป็นอย่างไร เวทนาที่กำหนดดูนี้ ก็ดูที่เวทนาตัวจริงที่ประสบอยู่

@@@@@@

ในขณะที่นั่งปฏิบัติอยู่ ถ้ารู้สึกว่ามีความสุข ก็ให้รู้ว่านี้เป็นสุขเวทนา ถ้ารู้สึกว่ามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่านี้เป็นทุกขเวทนา ถ้าเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ให้รู้ว่านี่เป็นอทุกขมสุขเวทนา และแม้ว่าเป็นสุขเวทนา ก็ต้องให้รู้ว่าเป็นสามิสหรือว่าเป็นนิรามิส

เช่นว่า ในขณะที่กำลังนั่งทำสมาธิอยู่ สติหลุดออกไปนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ แล้วเกิดเป็นสุขขึ้น นี่ก็ให้รู้ว่า นี่สุข อย่างนี้เป็นสามิสสุข สุขที่เกิดจากอามิส ที่มีอามิส แต่ถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากความสงัด เกิดจากสมาธิ นี่ก็เป็นนิรามิสสุข สุขที่ไม่มีอามิส

ทุกข์ก็เหมือนกัน ถ้าขณะที่นั่งอยู่ได้รับความทุกข์ เช่น ว่าเมื่อยขบ ถูกยุงกัด กระสับกระส่ายต่างๆ นี้ก็จัดว่าเป็นพวกสามิสทุกข์ ทุกข์ที่มีอามิสทั้งนั้น เพราะเกี่ยวแก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าเป็นทุกข์ที่เกิดจากความยังไม่ได้ ไม่ถึงสมาธิต้องการจะให้ได้ให้ถึง ก็ยังไม่ได้ไม่ถึง มีความทุกข์เพราะเหตุนี้ ก็จัดว่าเป็นนิรามิสทุกข์ ทุกข์ที่ไม่มีอามิส

อทุกขมสุขก็เหมือนกัน ถ้าว่าเฉยๆไป เพราะความคุ้นอันเกี่ยวแก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะข้างนอก นั่นก็เป็นสามิส มีอามิส แต่ว่าถ้าเกี่ยวด้วยอุเบกขาภายในจิตที่เกิดจากสมาธิ นี่ก็เป็นนิรามิส ไม่มีอามิส

@@@@@@@

ในขั้นปฏิบัตินั้น ทุกข์จะละไปได้ก็ด้วยสุข คือ เมื่อทีแรก ก็มีทุกข์ในการปฏิบัติดังกล่าว

แต่เมื่อการปฏิบัตินั้นได้ประสบผลเข้าบ้าง ก็มีความสุข ทุกข์ก็หายไป

คราวนี้เมื่อจิตละเอียดเข้าสุขก็หายไป เหลือแต่อุเบกขา ซึ่งเป็นอทุกขมสุข

เพราะฉะนั้น ในขั้นปฏิบัตินั้น อทุกขมสุขเป็นขั้นสูง

การที่ตั้งสติพิจารณาให้รู้ ดังนี้ เรียกว่า เวทนานุปัสสนา


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 05, 2025, 09:21:50 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_43_31.png)


จิตตานุปัสสนา

คราวนี้ที่เวทนาจะเป็นอย่างใดนั้น ถ้าจิตไม่เป็นไปอย่างนั้น ก็ไม่เป็นอะไร แต่ว่าโดยปกติ เวทนามักจะชักจิตใจให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง คือว่าเมื่อมีสุขเวทนา ก็ชักให้จิตมีราคะ ความติดความยินดี ความกำหนัด ทุกขเวทนา ก็ชักจิตให้มีโทสะ คือความไม่ชอบ ความหงุดหงิด ความรำคาญ ความขัดเคือง อทุกขมสุขเวทนา ก็ชักจิตให้มีโมหะ คือ ความหลง สยบติดอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาให้ละเอียดเข้ามาอีก ก็ต้องมาดูที่จิต

     จิตมีราคะหรือไม่มีราคะ ก็ให้รู้
     จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ ก็ให้รู้
     จิตมีโมหะหรือไม่มีโมหะ ก็ให้รู้

นอกจากนี้ก็ให้รู้อาการของจิตปลีกย่อยที่ประกอบอยู่กับหัวข้อทั้ง ๓ นี้ คือว่า
     จิตหดหู่หรือฟุ้งซ่าน ก็ให้รู้
     จิตที่กว้างขวางหรือคับแคบ ก็ให้รู้
     จิตที่ยิ่งไม่ยิ่ง ก็ให้รู้
     จิตที่ตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น ก็ให้รู้
     จิตที่หลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น ก็ให้รู้

โดยปกตินั้น เมื่อจิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นจิตที่หดหู่หรือฟุ้งซ่าน เป็นจิตที่คับแคบ เป็นจิตที่ไม่ตั้งมั่น เป็นจิตที่ไม่หลุดพ้น แต่ถ้าจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นจิตที่กว้างขวาง เป็นจิตที่ยิ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่น เป็นจิตที่หลุดพ้นคอยดูจิตของตนว่าเป็นอย่างใด การที่ตั้งสติกำหนดจิตดังกล่าวมานี้ เรียกว่าเป็น จิตตานุปัสสนา

@@@@@@@

ในขั้นแรกก็ตั้งสติกำหนดกายในกาย ต่อมาก็กำหนดเวทนาในเวทนา เพื่อจะได้ดูให้ใกล้ชิดเข้ามา เพราะเวทนานี้เป็นตัวร้ายที่จะคอยทำลายการปฏิบัติ ถ้าไม่ดูให้ดีแล้วก็จะทำลายสมาธิ และเมื่อจะดูให้ละเอียดเข้ามาอีก ก็ให้ดูจิต เพราะว่า สำคัญอยู่ที่จิตนี่เอง แปลว่าดูให้ใกล้ชิดเข้ามาที่สุด

ในการปฏิบัติทั้ง ๓ ขั้นที่กล่าวมานี้ ถ้าในขั้นฝึกหัดตรวจเรื่อยๆมา ตรวจกายเรื่อยๆมา ตรวจเวทนาเรื่อยๆมา ตรวจจิตเรื่อยๆมา คล้ายกับว่า เราอพยพเข้าไปอยู่กุฏิใหม่ก็เดินดูเสียให้ทั่ว อะไรอยู่ที่ไหนบ้าง กว้างขวางเท่าไร แต่ว่าเวลาที่เราจะพักจริงๆ นั้น เราก็พักอยู่เพียงแห่งเดียว เช่นว่า จะนอน ก็ตั้งเตียงนอนแห่งเดียว ไม่ใช่ว่าเดินไปรอบๆ อยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง ก็เป็นอันว่าไม่ต้องพักกันเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่พักจริงๆ นั้น เราพักอยู่เพียงแห่งเดียว นี่ก็เหมือนกัน เราก็พักอยู่เพียงแห่งเดียว คือว่า ถ้าชอบอานาปานสติ ก็พักอยู่ที่อานาปานสติ เป็นแต่เพียงว่าคอยดูเอาไว้ มีเวทนาอะไรโผล่เข้าจะขัดขวาง ก็ให้รู้ มีจิตอะไรโผล่เข้ามา ก็ให้รู้ แล้วก็ประคับประคองอยู่เพียงแห่งเดียวนั้น ให้แน่วแน่ต่อไป นั่นแหละ การปฏิบัติจึงจะดำเนิน

                                      ในวันนี้ก็ยุติเพียงเท่านี้


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 07, 2025, 09:33:52 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_43_31.png)


ธัมมานุปัสสนา
นิวรณ์ – ขันธ์ – อายตนะ

วันนี้จะอบรมธรรมปฏิบัติในหมวดธรรม การตั้งสติกำหนดใจให้เป็นสมาธินั้น ในสติปัฏฐานให้รวมใจมากำหนดที่กายอันนี้ ตรวจดูส่วนต่างๆที่กายอันนี้ เหมือนดังที่ได้อธิบายแล้ว แต่ก็เป็นการตรวจดูทั่วๆไป เหมือนอย่างเข้าไปในบ้านแห่งหนึ่ง ก็ตรวจดูในบ้านนั้นทั่วๆไป แต่การที่จะนั่งพักนอนพักในบ้านเพียงแห่งเดียว ชอบใจจะนั่งพักนอนพักที่ไหน ก็นั่งพักนอนพักที่นั้น

ในกายอันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อตรวจดูทั่วๆ ไปแล้วจะนั่งที่ไหน ก็กำหนดเอาไว้จุดหนึ่ง แต่ให้อยู่ภายในกายอันนี้ เช่น กำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออกด้วยตั้งนิมิตคือที่กำหนดไว้ เช่น ริมฝีปากเบื้องบน หรือปลายกระพุ้งจมูก ซึ่งเป็นที่ลมกระทบดังที่กล่าวมาแล้ว

และเมื่อรู้สึกเวทนาอย่างใด ก็ให้รู้ เช่นว่าเมื่อได้รับทุกขเวทนา เช่น ถูกยุงกัด หรือว่าร้อน หรือว่าส่งใจนึกออกไปข้างนอกในเรื่องทำให้เป็นทุกข์ ก็ให้รู้ แล้วก็ต้องให้รู้ด้วยว่า มีอะไรเป็นเครื่องล่อให้เกิดเวทนาอันนั้น และเมื่อไม่แพ้ทุกขเวทนา ยังตั้งใจไว้มั่นต่อไป ทุกขเวทนาก็จะค่อยๆสงบไป คราวนี้เมื่อได้รับสุขเวทนา คือความสบาย ก็ต้องให้รู้ และก็ต้องให้รู้ด้วยว่า อะไรมาเป็นเครื่องล่อสุขเวทนา เช่นว่าได้รับลมเย็น หรือบางทีใจแล่นออกไปข้างนอก ไปพบอารมณ์ที่น่ายินดี ก็เกิดความยินดีขึ้น

เมื่อคอยรู้เวทนาอยู่อย่างนี้ เวทนาที่มีเครื่องล่อข้างนอกก็จะน้อยลง ใจก็จะสงบเข้าๆ จนถึงสงบมาก ก็จะได้รับเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ที่เรียกว่าเป็น อุเบกขา นี้ก็เหมือนกัน บางทีเฉยๆ ด้วยโมหะ ก็ต้องให้รู้ว่า ความโง่นั่นเองมาทำให้เฉยๆ แต่เมื่อปฏิบัติตั้งจิตให้มั่นต่อไป จนเกิดความรู้สึกเป็นอุเบกขา เพราะจิตสงบนั่นแหละ เรียกว่าเป็นอันเจริญการปฏิบัติสูงขึ้น

@@@@@@@

คราวนี้ก็ต้องให้ดูเข้ามาถึงจิตใจ จิตใจเป็นอย่างใด ก็ต้องให้รู้ และจิตใจนั้นเป็นฝ่ายที่เป็นกิเลส ก็เนื่องมาจากเวทนานั่นเอง สุขเวทนาก็มาปรุงให้จิตมีราคะ ทุกขเวทนาก็มา ปรุงให้จิตมีโทสะ อทุกขมสุขเวทนามาปรุงให้จิตมีโมหะ

แต่ว่าถ้าคอยดูให้รู้อยู่ เวทนาก็ปรุงจิตไม่ได้ จิตก็ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ดังนี้เป็นต้น ก็ต้องกำหนดดูให้รู้แต่ถ้าเพียงเท่านี้ จิตกับกิเลสก็ยังเนื่องกัน ฉะนั้น ก็ต้องกำหนดให้ลึกซึ้งเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คือ ให้ดูเฉพาะกิเลส คือ ภาวะในจิตว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องคำนึงถึงตัวจิต แต่ดูภาวะในจิต กามฉันท์มีหรือไม่ พยาบาทมีหรือไม่ ถีนมิทธะ ความง่วงวุนเคลิบเคลิ้ม มีหรือไม่ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญ มีหรือไม่ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย มีหรือไม่

เมื่อทำสมาธิ ตั้งจิตกำหนดลมหายใจดังกล่าวแล้วอยู่ ถ้าสติกำหนดมั่นคง นิวรณ์ก็ไม่มีโอกาส แต่ว่าถ้าจิตแลบออกไป ก็ต้องคอยดูให้รู้ใจว่า กามฉันท์เข้ามาหรือเปล่า พยาบาทเข้ามาหรือเปล่า เป็นต้น

บางทีกามฉันท์สงบ พยาบาทสงบ แต่ก็ยังมีล่อแหลมอยู่อีก ๒ คือ ง่วงกับฟุ้งซ่าน ถ้ากำหนดสติไม่ตั้งมั่น ใจก็ฟุ้งออกไป นี้ก็ให้รีบรู้แล้วก็ชักเข้ามา เมื่อชักเข้ามา จิตสงบ

บางทีง่วง เพราะว่าความง่วงกับความสงบใกล้กัน ก็ต้องให้รู้ให้ตื่นอยู่ อย่าให้หลับ อย่าให้เผลอไผล บางทีใจตื่นอยู่ด้วยสติและด้วยรู้ แต่ก็ไม่เห็นจะได้จะถึงอะไร ก็สงสัยจะไม่มีผลกระมัง หรือว่าอะไรจะมาปรากฏต่อไป ก็คิดสงสัยไป ดังนี้ ก็เป็นอันตรายแก่สมาธิ ฉะนั้น ก็ต้องอย่าสงสัย หน้าที่ก็คือว่า ดำเนินการปฏิบัติต่อไป และผลของการปฏิบัติก็จะมาปรากฏขึ้นเอง

@@@@@@@

การที่คอยกำหนดให้รู้ทันนิวรณ์ และคอยระงับนิวรณ์ดังกล่าวมานี้ เป็นการเลื่อนการปฏิบัติขึ้น อีกชั้นหนึ่ง เข้าในหมวดธรรม แต่ว่าก็ควรจะรู้ต่อไปอีกว่า นิวรณ์นั้นเดินมาทางไหน อาศัยอะไร นิวรณ์นั้นอาศัยเบญจขันธ์เข้ามา คืออาศัยรูป อาศัยเวทนา อาศัยสัญญา อาศัยสังขาร อาศัยวิญญาณ

     รูปก็ คือ รูป-กายที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ เป็นมหาภูตรูป และประกอบด้วยอุปาทายรูป รูปอาศัย รวมกันเป็นรูปกาย
     เวทนา ก็คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข
     สัญญานี้ ก็คือ ความจำได้หมายรู้
     สังขาร ก็คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด
     วิญญาณ ก็คือความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้องสิ่งที่กายถูกต้อง และได้รู้เรื่องรูป เรื่องเสียงเป็นต้น ในอดีตที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้ว
 
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นนามธรรม รวมเรียกว่านามรูป นามรูปอันนี้เป็นที่อาศัยเกิดของกิเลส ถ้าไม่มีนามรูป กิเลสก็ไม่มีที่อาศัยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูให้รู้ที่อาศัย เท่ากับว่าให้รู้บ้านของกิเลส


(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_42_36.png)


คราวนี้เมื่อรู้บ้านของกิเลสแล้ว ก็ต้องรู้ประตูบ้าน บ้านนั้นถ้าหากปิดประตูหน้าต่างหมด อะไรก็เข้ามาไม่ได้ แต่ว่าเมื่อเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ กิเลสจึงจะเข้ามาได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักบ้านของกิเลส คือ เบญจขันธ์ อันได้แก่นามรูปนี้แล้ว ก็ต้องรู้ประตูหน้าต่างของบ้าน ซึ่งเป็นทางเข้าของกิเลสด้วย ก็ได้ แก่อายตนะภายใน ๖ ซึ่งเป็นตัวทวาร ๖ ก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ ทั้ง ๖ นี้เรียกว่า ทวารก็ได้ คือ เป็นประตู สำหรับอารมณ์เข้ามา

อารมณ์ก็คือ อายตนะภายนอก ๖ อัน ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่อง เมื่อเรียกคู่กับอายตนะภายใน ก็เรียกว่าอายตนะภายนอก แต่เมื่อ เรียกคู่กับทวาร ก็เรียกว่าอารมณ์ จะเรียกอย่างไหนก็ได้

อายตนะภายในก็ดี ทวารก็ดี ก็เป็นอันเดียวกัน อายตนะภายนอกก็ดี อารมณ์ก็ดี ก็หมายความถึงอันเดียวกัน
อารมณ์เป็นสิ่งที่เข้ามา ทวารเป็นประตูเข้า เบญจขันธ์นั้นเป็นบ้าน จิตก็เท่ากับว่าเป็นเจ้าของบ้านที่อยู่ข้างใน

อารมณ์ที่เข้ามานั้น โดยปกติก็เข้ามาเป็นสังโยชน์ คือมาผูกมัดรัดรึงจิตไว้ เมื่อมาผูกมัดรัดรึงจิตไว้ จึงได้เกิดเป็นนิวรณ์ ถ้าหากว่า อารมณ์ไม่เข้ามาผูกจิต นิวรณ์ก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น จิตต้องรู้จักว่า นี่เป็นบ้านอาศัยของกิเลส นี่เป็นทวาร คือ ประตู บ้านสำหรับกิเลสจะเข้ามา และนี่เป็นอารมณ์คือ เป็นสิ่งที่เข้า

@@@@@@@

ถ้ารู้อยู่ดังนี้ อารมณ์ก็จะไม่เข้ามารัดรึงจิตได้ คือไม่เข้ามาเป็น สังโยชน์ เครื่องประกอบเครื่องรัดรึงผูกมัดจิต
เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยมีสติอยู่เต็มตัว สติต้องให้อยู่เต็มบ้าน สติต้องให้อยู่เต็มทุกประตู เมื่อมีสติคอยรับรองอยู่ ดังนี้ อารมณ์ก็เข้ามาผูกมัดจิตไม่ได้ ก็เกิดนิวรณ์ขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าเผลอสติเข้าเมื่อใด อารมณ์ก็เข้ามาผูกมัดจิตได้ เมื่อผูกมัดจิตได้ ก็เกิดเป็นนิวรณ์ขึ้น

เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้มีสติรู้ลู่ทางไว้รอบคอบ การที่กำหนดให้รู้จักขันธ์ ๕ ให้รู้จักอายตนะภายในภายนอก ให้รู้จักสังโยชน์ คือ อารมณ์ที่เข้ามาผูกรัดรึงจิตไว้ให้ตลอด ดังนี้ ก็เป็นการรู้ที่เป็นการป้องกันตัวด้วย เป็นการแก้ไขด้วย  แต่ถ้าหากว่าไม่รู้ ก็ชื่อว่าไม่รู้การป้องกันการแก้ไข ทำสมาธิก็ไม่สำเร็จ

ฉะนั้น ในหมวดธรรมะนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักนิวรณ์ ให้รู้จักขันธ์ ๕ ให้รู้จักอายตนะ ให้รู้จักสังโยชน์ พร้อมทั้งให้รู้ในด้านสงบระงับและวิธีปฏิบัติ ก็ตรวจดูลู่ทางให้รู้ให้ทั่วถึง แต่ว่าการกำหนดใจให้เป็นสมาธินั้น ก็กำหนดอยู่ในอานาปานสติเป็นหลัก และเมื่ออะไรจะพล๊อบแพล็บเข้ามา ก็ให้รู้ลู่รู้ทางแล้ว ก็จะแก้ไขได้ทันท่วงที กลับมาทำใจให้ตั้งมั่นแน่วแน่ได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

                                                      วันนี้ก็ยุติเพียงเท่านี้


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 13, 2025, 08:24:17 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_43_31.png)


โพชฌงค์

วันนี้จะกล่าวถึงการปฏิบัติทางจิตสืบต่อไป ได้กล่าวมาแล้วในหมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต และหมวดธรรมะถึงข้อให้กำหนดอายตนะ ซึ่งมีแนวการปฏิบัติเนื่องกันมาโดยตลอดด้วย ตั้งจิตให้เป็นสมาธิอยู่ในอารมณ์ข้อหนึ่ง ให้เป็นหลักอารมณ์ที่ให้ตั้งเป็นหลักไว้นั้น คือ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก แต่ก็ให้กำหนดตรวจกายให้ทั่วๆ ไปด้วย แล้วมาพักอยู่ที่ส่วนอานาปานะ

เมื่อประสบเวทนาอันใด เมื่อจิตเป็นอย่างใด ก็ให้รู้ เพื่อมิให้เป็นอันตรายแก่สมาธิในอานาปานสติ ประคองอานาปานสตินั้น และก็ให้ตรวจดูอาการของจิต คือ ว่าแยกออกไปจากจิต คือ ดูนิวรณ์ในจิต ที่ล่อแหลมอยู่ ก็คือ ง่วงกับฟุ้ง ดังที่กล่าวแล้ว

นอกจากนี้ก็สงสัย แต่ถ้ามีสติตื่นอยู่ ง่วงก็จะไม่เกิด ฟุ้งก็จะไม่เกิด และเมื่อคอยระงับตัณหา คือ ตัวอยากที่จะประสบผลไว้ สงสัยก็ไม่เกิด ประคองอานาปานสตินั้นไว้ และก็สำรวจดูขันธ์ดูอายตนะสืบต่อไป พอให้รู้ทางเกิดของนิวรณ์ แต่ในขั้นนี้ก็พอให้รู้ลู่ทางไว้เท่านั้น ต้องการให้ประคับประคองอานาปานสติไว้ให้เป็นจุดเดียว ไม่เช่นนั้นก็จะฟุ้งซ่าน ใจแตกไม่รวม

@@@@@@@

คราวนี้จะย้อนมาเตือนให้ระลึกถึงหลักของการปฏิบัติที่ทิ้งไม่ได้ คือ

อาตาปี มีความเพียร ไม่เกียจคร้านย่อหย่อน ตั้งสัจจะว่าจะทำก็ต้องทำ

สมฺปชาโน มีความรู้ ไม่ให้เผลอตัว ให้รู้ตัวทั้งที่เป็นส่วนรูปกาย ให้รู้ว่านั่งอยู่อิริยาบถอย่างไร อาการอย่างไร ให้รู้นามกาย ความคิดเป็นอย่างไร สติเป็นอย่างไร ความกำหนดเป็นอย่างไร

สติมา มีสติ คือ มีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าหายใจออก ไม่ปล่อยให้สติเลื่อนลอย เมื่อจะเลื่อนลอยไป ก็ต้องชักกลับเข้ามาคุมสติให้อยู่ที่

และ เนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ กำจัดความยินดียินร้ายในโลก โดยเฉพาะ ก็คือ เมื่อเกิดความยินดีอะไรขึ้นในขณะปฏิบัติ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปรากฏนิมิตที่ชอบใจก็ตาม ก็ต้องระงับความยินดี
     เมื่อเกิดความยินร้ายขึ้น เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เมื่ออึดอัดรำคาญ หรือว่าประสบนิมิตที่ไม่ชอบใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องระงับความยินร้ายนั้น
     ความคิดก็ตาม อารมณ์ก็ตาม นิมิตก็ตาม อันใดอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้นที่จะล่อให้ยินดียินร้าย ก็ต้องละทั้งหมด

หลักอันนี้ทิ้งไม่ได้ คนที่ทำการปฏิบัติแล้วสติเสียไป ก็เพราะเหตุว่าทิ้งหลักอันนี้

ทำไม่สำเร็จ ก็เพราะขาดอาตาปี
มักจะสะดุ้งเหมือนอย่างเป็นโรคประสาท ก็เพราะขาดสัมปชาโน
ใจลอย คือ ยิ่งทำสมาธิไปยิ่งเป็นคนใจลอยเผลอไผล ก็เพราะขาดสติมา
ป้ำเป๋ออะไรไปบ้าง ก็เพราะขาดการกำจัดความยินดียินร้าย ในความคิด ในอารมณ์ ในนิมิตอะไรที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติแล้ว หลักทั้ง ๔ นี้ทิ้งไม่ได้ ยิ่งทำสมาธิละเอียดขึ้นเท่าใด หลักทั้ง ๔ นี้ก็ต้องละเอียดยิ่งขึ้นเท่านั้น

@@@@@@@

และเมื่อได้ปฏิบัติในสมาธิ ในเบื้องต้นก็จะได้อุปจาร คือว่า สมาธิเฉียดๆก่อน แล้วก็จะได้อัปปนา คือ แนบแน่นเข้า โดยลำดับ ต้องอาศัยอุปกรณ์คือ ๑ วิตก ๒ วิจาร
     วิตกนั้น ได้แก่ การนำจิตเข้ามาสู่อารมณ์ของสมาธิ ที่เปรียบเหมือนอย่างการเคาะระฆังขึ้นทีแรก
     วิจารนั้น ได้แก่ การนำจิตให้คลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์ เหมือนอย่างเสียงครางของระฆัง

ในตอนต้นจะต้องใช้วิตกวิจารอยู่เรื่อย คือ เมื่อชักจิตเข้ามาอยู่กับอารมณ์ จิตก็มักจะหลุดออกไป แลบออกไปโน้น แลบออกไปนี้ ก็คอยคอยชักกลับเข้ามาอยู่เสมอ โดยต้องใช้อยู่เสมอ จนจิตค่อยเชื่องเข้า และค่อยแน่วอยู่กับอารมณ์ของสมาธิ เรียกว่า คลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์ของสมาธิ

เมื่อจิตเริ่มคลุกเคล้าเข้ามาดั่งนี้ ก็เริ่มเป็นวิจาร เมื่อค่อยเป็นวิจารขึ้น อันนี้ก็เรียกว่า เริ่มจะได้อุปจาร คือ เฉียดๆเข้ามาแล้ว

เมื่อเฉียดๆเข้ามาดังนี้ ก็เริ่มจะได้ปีติ ความอิ่มกายอิ่มใจ บางทีก็ถึงกับขนลุกซู่ ได้สุข คือ ความสบายกายสบายใจ แต่ก็อย่าให้ฟุ้งไปเพราะปีติ เพราะถ้าสุขฟุ้งไป เพราะปีติเพราะสุข ก็เสียสมาธิ ต้องคอยคุมสติไว้ไม่ให้ฟุ้งไป

เพราะปีติเพราะสุข และเมื่อกายใจเป็นสุข จิตก็จะตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา คือ มีอารมณ์เดียว ซึ่งเกิดจากวิเวก คือสงัดจากกาม และจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะในเวลานั้น กามก็สงบไปจากจิต อกุศลธรรมก็สงบไปจากจิต

@@@@@@@

เมื่อถึงขั้นนี้ จึงชื่อว่า ได้อัปปนาสมาธิขั้นแรก เป็นสมาธิที่แน่วแน่ เรียกว่าได้ ปฐมฌาน คือความเพ่งที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น ปฐมฌานจึงมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

คราวนี้ เมื่อรักษาเอกัคคตาอันนี้ไว้สนิทแนบเนียนยิ่งขึ้น วิตก วิจาร ก็เลิกใช้ เพราะว่าจิตก็หนึ่งแล้ว ไม่ต้องคอยเฝ้าชักจิตเข้ามาสู่อารมณ์ ซึ่งเรียกว่าวิตก ไม่ต้องคอยเฝ้าประคองจิตไว้ให้แน่วแน่อยู่กับอารมณ์ ซึ่งเป็นวิจาร เพราะว่าจิตแน่วแน่เป็นหนึ่งอยู่ได้แล้ว วิตกวิจารก็หมดหน้าที่ เอกัคคตานั้นก็ละเอียดเข้า เรียกว่าเกิดจากสมาธิ คือความตั้งใจมั่น เป็นเอกัคคตาข้างในเข้า เมื่อถึงขั้นนี้ก็เรียกว่าได้ ทุติยฌาน ความเพ่งที่สอง มีองค์สามคือ ปีติ สุข เอกัคคตา

เมื่อรักษาเอกัคคตาอันนี้ไว้ให้แน่วแน่ยิ่งขึ้น ความรู้สึกซู่ซ่าทางกายทางจิตซึ่งเป็นปีติก็สงบ เพราะว่าความรู้สึกที่เป็นปีตินี้ มีในจิตยังไม่เป็นเอกัคคตาเต็มที่ เมื่อเป็นเอกัคคตาเต็มที่ ปีติคือ ความรู้สึกซู่ซ่าก็กลายเป็นของหายไป ก็สงบไป เมื่อถึงขั้นนี้ก็เป็น ตติยฌาน ความเพ่งที่สาม ซึ่งมีองค์สองคือ สุข กับ เอกัคคตา

เมื่อรักษาเอกัคคตาอันนี้ให้แน่วแน่ยิ่งขึ้น ก็สิ้นความรู้สึกเป็นสุข กลายเป็นอุเบกขา คือ ไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะเมื่อยังรู้สึกเป็นสุขอยู่ จิตก็ยังแย่งมารู้สึก ก็แปลว่า จิตยังเป็นสองง่าม คือว่า แน่วอยู่กับอารมณ์ด้วย รู้สึกด้วย เมื่อเอกัคคตาละเอียดเข้า จิตก็มารวมอยู่กับเอกัคคตาอันเดียว ไม่ออกมารู้สึกข้างนอก ลักษณะอันนี้ก็เป็นอุเบกขา คือไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อถึงขั้นนี้ก็เป็นจตุตถฌาน คือ ฌานที่สี่ มีองค์สอง คือ เอกัคคตา อุเบกขา


(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_42_36.png)


ในทางปฏิบัตินั้น จะปฏิบัติทำสมาธิให้มากเรื่อยขึ้นไปจนถึงฌานชั้นที่สี่ หรือจะเอาแต่ฌานชั้นที่หนึ่งก็ได้ ที่สองก็ได้ ที่สามก็ได้ จิตที่เป็นเอกัคคตาแม้ด้วยฌานชั้นที่หนึ่ง ก็เรียกว่า เป็นจิตที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน พอที่จะใช้ปฏิบัติในวิปัสสนาสูงขึ้นไปได้

เพราะฉะนั้น เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ก็น้อมจิตที่เป็นเอกัคคตานั้น ไปจับพิจารณาเบญจขันธ์ที่เคยตรวจดูมาคราวหนึ่งอย่างคร่าวๆ แล้วให้ชัดเจน ตรวจดูอายตนะ ตรวจดูให้รู้จักหน้าตาของเบญจขันธ์ว่า รูปมีลักษณะหน้าตาอย่างไร เวทนามีลักษณะหน้าตาอย่างไร สัญญามีลักษณะหน้าตาอย่างไร สังขารมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร

และตรวจดูทางเกิดนามธรรม คือ ทางเกิดของเวทนา สัญญา สังขาร ก็ตรวจสืบไปถึงอายตนะ ดูลักษณะหน้าตาของอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย มนะ , ดูลักษณะหน้าตาของอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะ คือ เรื่องราว นามธรรมเกิดขึ้นอาศัยอายตนะกระทบกัน คือ เกิดอายตนะ

และเมื่อสิ้นวาระ ก็ดับไปคราวหนึ่งๆ เช่นว่า เมื่อตาเห็นรูป ก็เกิดวิญญาณ ความรู้สึกเห็นรูป เกิดเวทนา ความรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นสุข หรือเฉยๆ เกิดสัญญา ความจำได้หมายรู้ในรูป เกิดสังขารคือ ความคิดปรุงหรือความปรุงคิดในรูป

ในตอนนี้เอง สังโยชน์คือ เครื่องผูกก็เข้ามาผูกอารมณ์ไว้กับจิต เมื่อผูกอารมณ์ไว้กับจิต ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งของฉันทราคะ ก็เกิดกามฉันท์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งของโทสะ ก็เกิดพยาบาท ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งของโมหะ ก็เกิดถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และ วิจิกิจฉา อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอันว่า อายตนะนี้เองนำให้เกิดนามธรรม นำให้เกิดเครื่องผูกจิต คือผูกจิตไว้กับอารมณ์ หรือ ผูกอารมณ์ไว้กับจิต แล้วก็นำให้เกิดนิวรณ์

@@@@@@@

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ตั้งสติมั่นคง ให้เป็นตัว รู้ตัวตื่นอยู่ตามเป็นจริง เมื่อตั้งสติมั่นเป็นตัวตื่นตัวรู้อยู่ดังนี้ ก็เป็น สติสัมโพชฌงค์ขึ้น ก็ย่อมจะเกิดปัญญาวิจัย คือว่า แยกออกได้เป็นส่วนๆ ว่า นี่เป็นเบญจขันธ์คือนามรูป นี่เป็นอายตนะ ภายในภายนอก นี่เป็นสังโยชน์ผูกใจเข้าแล้ว นี่เป็นนิวรณ์ ดูจนวิจัยออกไปได้ดังนี้ ก็เป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

เมื่อวิจัยออกไปได้แล้ว ก็ทำหน้าที่ละส่วนที่เป็นกิเลส อบรมส่วนที่เป็นสติให้มากขึ้น แต่ว่าในขั้นนี้นั้น ละเป็นสำคัญ คือ ละส่วนที่เป็นกิเลสออกไปเสีย ด้วยวิธีป้องกันอย่างหนึ่ง ละอย่างหนึ่ง คือ มีสติวิจัยอยู่ อายตนะก็จะไม่เป็นทางก่อกิเลสตั้งต้น แต่สังโยชน์ แต่ว่าถ้าเผลอสติ อายตนะก็จะเป็นทางก่อกิเลสตั้งต้น แต่สังโยชน์ ถ้าก่อขึ้นในใจ ก็ต้องดู ดูให้รู้ว่านี่กิเลส จนกิเลสสงบ ก็ชื่อว่าละด้วยการดูให้รู้ อันนี้เรียกว่าเป็น วิริยสัมโพชฌงค์

เมื่อละกิเลสออกไป ก็ฟอกจิตใจให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ผล คือปีติก็เกิดขึ้น เป็นปีติที่ละเอียด คือเป็นความดูดดื่มใจอันเกิดจากการวิจัยการละส่วนที่เป็นกิเลสออกไป เป็นปีติที่ประกอบด้วยความสุขอยู่ในตัว ทำให้สุขกาย สุขใจ มีความละเอียดยิ่งขึ้น เป็นปีติสุขที่ละเอียดกว่าปีติสุขในสมาธิ อันนี้ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์

เมื่อเป็นปีติสัมโพชฌงค์ ใจก็ตั้งมั่นแน่วแน่ยิ่งขึ้น ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ เมื่อใจตั้งมั่นแน่วแน่ยิ่งขึ้น ก็เพ่งดูธรรมะนั้นด้วยจิต สมาธินั้น คือดูความจริงที่ปรากฏขึ้น กิเลสที่อาศัยอายตนะเกิดสงบ ความจริงของปัญจขันธ์ไม่ปรากฏก็เพราะไม่ดู หรือว่าดู แต่ว่ายังมีฝ้าอยู่ในจิตปิดบังไว้ เมื่อชำระฝ้าในจิตออกไปเสียได้ และใช้จิตที่บริสุทธิ์นั้นดูปัญจขันธ์ ดูลักษณะหน้าตาของปัญจขันธ์นั้นนั่นแหละให้ปรากฏ ความจริงของปัญจขันธ์ก็จะปรากฏขึ้น

ดูอยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปตกแต่งความจริง เพราะถ้าไปตกแต่งความจริง เป็นความจริงที่ตกแต่งขึ้นแล้ว ก็ไม่ใช่ความจริงที่แน่แท้ ดูให้ความจริงนั้นให้ปรากฏเป็นความจริงขึ้นเอง ดูที่ไหน ก็ดูที่ปัญจขันธ์อันนี้ เมื่อดูอยู่ด้วยสมาธิจิตที่เป็นสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

@@@@@@@

ฉะนั้น เมื่อการปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ ก็เลื่อนจากสมาธิมาปฏิบัติขั้นปัญญา หรือเลื่อนจากขั้นสมถะมาในขั้นวิปัสสนา เมื่อมาถึงขั้นวิปัสสนาแล้ว ก็ต้องยกปัญจขันธ์ขึ้นเป็นอารมณ์ ในขั้นของสมถะนั้น ยกอานาปานสติเป็นอารมณ์ เมื่อมาถึงขั้นวิปัสสนา ยกปัญจขันธ์ขึ้นเป็นอารมณ์ เมื่อยกปัญจขันธ์เป็นอารมณ์ ก็ดำเนินมาตั้งแต่ขึ้นสติสัมโพชฌงค์เป็นลำดับ จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์

พิจารณาตรวจดูแล้ว จะปฏิบัติในสมาธิ หรือจะลองหัดพิจารณาในด้านวิปัสสนาก็ได้ ถ้าพิจารณาในด้านวิปัสสนาก็ยกปัญจขันธ์ขึ้นเป็นอารมณ์ ดูปัญจขันธ์ ดูอายตนะภายในภายนอก ดูสังโยชน์ ดูให้รู้ให้ทั่วถึง แล้วก็วิจัยว่าอันไหนเป็นอะไร เป็นอย่างๆ แล้วก็เลื่อนขึ้นไปเป็นวิริยะ คือว่าละ ละด้วยดูให้รู้ ส่วนที่เป็นกิเลสก็จะสงบ แล้วผลก็เป็นปีติ เมื่อเป็นปีติ เป็นสุขแล้ว ก็จะเป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา อุเบกขานั่นก็มิใช่อื่นก็กลับมาดูปัญจขันธ์นั้น ให้ความจริงของปัญจขันธ์ปรากฏ

     นี้เป็นแนวปฏิบัติในขั้นวิปัสสนาตามสติปัฏฐาน


หัวข้อ: Re: บันทึกกรรมฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 14, 2025, 09:23:43 am
.
(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_43_31.png)


อริยสัจจ์ ๔

การอบรมในวันนี้ จะสืบต่อจากที่ได้กล่าวมาแล้วถึงโพชฌงค์ แต่จะย้อนกล่าวเพื่อให้อนุสนธิกันว่า การปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้น ทำทางสมถะและทำทางวิปัสสนา ในหมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต ดำเนินทางสมถะ ครั้นถึงหมวดธรรมก็เริ่มมาทางวิปัสสนา

แต่เมื่อปฏิบัติทางสมถะ ก็อาจพิจารณา ในหมวดนิวรณ์ หมวดขันธ์ หมวดอายตนะ ให้รู้ลู่ทางเกิดของสังโยชน์ ของนิวรณ์ แล้วก็กลับมาตั้งจิตไว้ในอานาปานสติ เมื่อจะมีอะไรมาทำให้วอกแวกนั้น แล้วก็กลับมาตั้งจิตไว้ในสมาธิ จนจิตตั้งมั่นแน่วแน่ เป็นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเมื่อแน่วแน่มาก ก็เข้าถึงขั้นฌาน ตามลำดับขั้นตามที่กล่าวมาแล้ว

คราวนี้ ในขั้นปฏิบัติต่อไป ก็น้อมจิตที่เป็นสมาธินั้นมาดำเนินทางวิปัสสนาโดยตรง การดำเนินทางวิปัสสนาโดยตรงนั้น จะต้องพิจารณาขันธ์อายตนะ เพราะว่าขันธ์อายตนะนี้เป็นภูมิ เป็นภาคพื้นของวิปัสสนา เมื่อกำหนดขันธ์ ดูอายตนะ สติก็จะตั้งมั่น เป็นสติสัมโพชฌงค์ และจะสืบต่อมาโดยลำดับ จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ได้กล่าวแล้ว อุเบกขานั้น ก็คือการดูธรรมนั้น ก็หมายถึงว่าดู ปัญจขันธ์นั้น ดูที่ไหน ก็ดูที่จิต จิตที่ตั้งมั่น

ฉะนั้น จะกล่าวว่าดูที่จิตตั้งมั่นก็ได้ เมื่อจิตตั้งมั่น ตั้งมั่นในอะไร ตั้งมั่นอยู่ใน ปัญจขันธ์ ก็จะพบปัญจขันธ์ ความจริงของปัญจขันธ์ก็จะปรากฏ ความจริงของปัญจขันธ์นั้นคือเกิดดับ รูปขันธ์ในอดีตก็เกิดดับมาโดยลำดับ ในปัจจุบันก็เกิดอยู่ในปัจจุบัน ในอนาคตก็จะเกิดดับในอนาคต

@@@@@@@

แต่ว่าดูในปัจจุบันเท่านั้น ลมหายใจเข้าก็เกิด ออกก็ดับ อิริยาบถต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เท่ากับเกิดดับอยู่เสมอ อาการ ๓๑ หรือ ๓๒ รวมเข้าก็เป็นธาตุธาตุ ๔ หรือธาตุ ๕ นี้ก็เกิดดับอยู่เสมอ แต่เพราะมีสันตติ คือความสืบต่อตามลำดับ จึงไม่ปรากฏ แต่ถ้าพิจารณาก็อาจปรากฏได้

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เกิดดับอยู่เสมอ เมื่อเห็นความเกิด เห็นความดับชัดเจนขึ้น ทุกขสัจจ์ ความจริงคือ ทุกข์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อดูที่ทุกขสัจจะ สมุทัยสัจจะก็ปรากฏ คือ อัตตาหรือเรา ซึ่งยึดอยู่ที่ปัญจขันธ์ ยึดนี้เป็นอุปาทาน ยึดด้วยอะไร ยึดด้วยตัณหา ตัณหาอุปาทานก็ปรากฏ

และเมื่อสมุทัยสัจจะปรากฏหน้าตาขึ้นแก่ปัญญาที่ดูอยู่กิเลสนั้น มีปกติต้องหลบหน้าปัญญา เหมือนอย่างของไม่จริงหรือของปลอม เมื่อรู้ว่าจริง ความปลอมปรากฏขึ้น ก็ไม่เป็นที่ต้องการ เมื่อดูอยู่ รู้หน้าตาของสมุทัย สมุทัยก็จะสงบ นิโรธคือความดับก็ปรากฏขึ้น

สมุทัยปราฏขึ้นแก่อะไร ปรากฏขึ้นแก่ความรู้ ความรู้นั้นก็เป็นรู้ปล่อย ความรู้วางก็ปรากฏขึ้น เป็นมรรค ซึ่งเมื่อประมวลถึงอาการทั้งปวงของมรรค ก็เป็นองค์ ๘ คือ เมื่อจะดูความรู้ความเห็นนั้น ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อจะดูความดำริ ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ เมื่อจะดูความปกติกายปกติวาจา ก็เป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ ดูความเป็นอยู่ ก็เป็นสัมมาอาชีวะ ดูความเพียรที่ปฏิบัติอยู่นั้น ก็เป็นสัมมาวายามะ ดูตัวสติของตนในเวลานั้นก็เป็นสัมมาสติ ดูความตั้งใจมั่นก็เป็นสัมมาสมาธิ ประกอบกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มรรคสัจจะก็ปรากฏขึ้น

(https://www.madchima.org/forum/gallery/2_20_03_25_1_42_36.png)


เมื่อปฏิบัติให้สัจจะทั้ง ๔ ปรากฏขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวดังนี้ ถ้าความปรากฏขึ้นนั้นเป็นกุปปธรรม ก็ชื่อว่าได้รับผลที่ยังเป็นกุปปธรรม ถ้าความปรากฏขึ้นนั้นเป็นอกุปปธรรมก็ได้รับผลที่เป็นอกุปปธรรม แต่แม้ว่าได้รับผลที่เป็นกุปปธรรม คือ ยังกำเริบได้ ก็ยังชื่อว่าได้รู้ทางดำเนิน และได้รับความสุขอันเกิดจากการปฏิบัติ

การบรรยายในวันนี้ จึงเป็นอันว่าจบสติปัฏฐาน หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต และหมวดธรรม สติปัฏฐานนี้เป็นหนทางอันเอก คือเป็นทางดำเนินอันเดียว เพื่อวิสุทธิ คือ ความหมดจดซึ่งจะทำให้ล่วงโสกะ ปริเทวะ ดับทุกข์โทมนัส เป็นทางที่จะให้ดำเนินไปเพื่อญายธรรม เพื่อนิพพาน

เพราะฉะนั้น จึงเป็นพระสูตรที่ควรจะสนใจ ควรจะเข้าใจและควรที่จะได้ปฏิบัติ เมื่อได้ปฏิบัติอยู่เสมอ จะทำให้ได้ประสบรสของพระพุทธศาสนา ผู้ที่รู้สึกจืดชืดในพระพุทธศาสนา เกิดความเบื่อหน่ายดังที่เรียกว่า อนวิรติ ในพระพุทธศาสนา สงสัยในพระพุทธศาสนา ก็เพราะไม่ได้พิจารณาให้เข้าใจในสติปัฏฐานไม่ได้ลองปฏิบัติ แต่ถ้าหากพิจารณาให้เข้าใจและลองปฏิบัติดูจนได้รับรสในการปฏิบัติบ้างแล้ว ก็จะเห็นค่าของพระพุทธศาสนายิ่งนัก

                           จบการอบรมกรรมฐานเพียงเท่านี้

                                       (-จบแล้วครับ-)