หัวข้อ: “กรรมฐานสายพระโพธิสัตว์” ของ พระมหาเถรศรีศรัทธา เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 17, 2025, 09:13:56 am .
(https://i.pinimg.com/736x/4e/99/5c/4e995ccbf9503c979dd0f8cd99204ee3.jpg) “กรรมฐานสายพระโพธิสัตว์” ของ พระมหาเถรศรีศรัทธา จากบทความเรื่อง "แนวทางการปฏิบัติกรรมฐานของพระมหาเถรศรีศรัทธา" วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (กันยายน – ธันวาคม 2565) :25: :25: แนวการปฏิบัติกรรมฐาน เมื่อเจ้าศรีศรัทธาออกบวชเป็นพระภิกษุ ท่านมีจริยาวัตรเยี่ยงพระเถระสายอรัญญวาสี มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดเยี่ยงพระมหาเถระในสิงหลทวีป (ลังกา) และมีปฏิปทาที่น่าเลื่อมใสศรัทธาหลายประการ ศิลาจารึกได้บันทึกคุณลักษณะของท่านไว้ว่า “มีหลานพ่อขุนผาเมืองผู้หนึ่ง คือสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีลงกาทีปมหาสวามี… มักกระทำบุญ กระทำธรรม (ปฏิบัติธรรม) มักโอยทานทุกเมื่อ บ่คิดแค้น จักให้แก่ท่าน แต่งสะอาดงามหนักหนา จึงโอย(ให้)ทานบิณฑิบาต โอยทานบ่ขาดสักวัน โอย(ทาน)สิบห้าคาบแล...มักฉันทุกอันดังนั้นแล” (กรมศิลปากร, 2527) และความตอนหนึ่งในศิลาจารึกอีกตอนที่พรรณนาถึงคุณสมบัติของท่านว่า “พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี...บ่มิเคียดตอบ ขสานติไมตรี (ประสานไมตรี) รู้ปราณี เอ็นดูสัตว์ทั้งหลาย โปรสสราย(รักษา)บ่ให้ล้มบ่ให้ตาย รู้บุญรู้คุณท่าน สงบเสงี่ยมมารยาท อาจสังวรตน สั่งสอนคนทั้งหลายให้รู้ละอายรู้กลัวบาปกลัวผิดต่อผู้เฒ่าผู้แก่” (กรมศิลปากร, 2527) @@@@@@@ หากประมวลคุณลักษณะตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 (กรมศิลปากร, 2527) ตามที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ สามารถสรุปคุณสมบัติของพระมหาเถรศรีศรัทธาได้ดังนี้ 1. เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม 2. ใฝ่บุญใฝ่ธรรม ชอบให้ทานทุกวัน 3. นุ่งห่มสะอาดงามหนักหนา 4. ออกบิณฑบาตไม่ขาดสักวัน 5. ฉันอาหารที่ได้จากการบิณฑบาต 6. ส่วนเหลือจากที่ฉันก็นำไปแจกจ่ายแก่ผู้อื่น (โอยทานบิณฑบาต) 7. เมตตาและเอ็นดูสรรพสัตว์ 8. รู้บุญรู้คุณผู้อื่น 9. ชอบเดินธุดงค์แสวงหาปัญญารู้อันพิเศษ 10. รู้ทุกภาษา @@@@@@@ เมื่อกาลออกพรรษา เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสามารถจาริกไปปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆได้ พระมหาเถรศรีศรัทธา ได้จำศีลภาวนาอยู่ตามป่าเขา บางครั้งก็ฉันเพียงใบไม้และผลไม้แทนข้าว ปฏิบัติเคร่งครัด บำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ไม่หยุดไม่พักทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ดังจารึกวัดศรีชุมว่า “มักกระทำเพียรพยายาม กลางวันบ่ยืน กลางคืนบ่อยู่ เทียร(เพียร)ปรารถนาโพธิสมภาร” (กรมศิลปากร, 2527) มีวัตรปฏิบัตินั้นท่านประพฤติเช่นพระสงฆ์ที่อยู่ในสิงหลทวีปทุกประการ ดังความในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า "พระมหาเถรศรีศรัทธา มักจำศีลภาวนาอยู่กลางป่ากลางดง ฉันใบพงลูกหมากรากไม้ มีวัตรปฏิบัติเยี่ยง(พระใน)สิงหลทวีปทุกประการ มักเพียรแสวงหาปัญญารู้อันวิเศษ รู้ทุกภาษา" (กรมศิลปากร, 2527) จึงกล่าวได้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธามีคุณลักษณะพิเศษ คือเป็นผู้อยู่ด้วยเมตตากรรมฐาน นิยมการให้ทาน ชอบการปฏิบัติธรรม สมถะเรียบง่าย มีระเบียบวินัย สร้างสรรค์สาธารณประโยชน์ และปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต (https://so06.tci-thaijo.org/public/journals/821/cover_issue_17633_th_TH.png) ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมฐานในคัมภีร์พุทธศาสนากับแนวปฏิบัติกรรมฐานของพระมหาเถรศรีศรัทธา บุคลิกภาพในด้านการปฏิบัติธรรมของพระมหาเถรศรีศรัทธาตามที่ปรากฏในศิลาจารึกพบว่ามีหลายลักษณะ ที่ประมวลได้จะเห็นว่าท่านเป็นผู้มีความเมตตาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งฟื้นฟูวัดวาศาสนวัตถุที่ทิ้งร้างในที่ต่างๆ และยังปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอีกด้วย อาจจำแนกคุณลักษณะในการปฏิบัติกรรมฐานของท่านได้ ๓ ส่วน คือ เมตตากรรมฐาน สมถะวิปัสสนา และการบำเพ็ญโพธิสัตวบารมี 1. เมตตากรรมฐาน กรรมฐานประเภทนี้ ปรากฏในจริยาวัตรของพระมหาเถรศรีศรัทธา ดังที่ท่านโอยทาน(บริจาคทาน)ทุกวัน และมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย ให้มีการไถ่และปล่อยชีวิตสัตว์จำนวนมาก จัดว่าเป็นคุณลักษณะของเมตตาซึ่งเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติกรรมฐานในทางพระพุทธศาสนา โดยจัดอยู่ในสัพพัตถกกรรมฐาน(๑-) __________________________ (๑-) สัพพัตถกัมมัฏฐาน คือ กรรมฐานที่พึงต้องการในที่ทั้งปวง หรือพึงใช้เป็นฐานของการเจริญภาวนาทุกอย่าง, กรรมฐานที่เป็นประโยชน์ในทุกกรณี ได้แก่ เมตตา มรณสติ และบางท่านว่า อสุภสัญญา (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์) 2. สมถะวิปัสสนา การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวพระมหาเถรศรีศรัทธาพิจารณาได้จากลักษณะของพระสายอรัญญวาสี พระอรัญญวาสี คือพระที่อยู่ป่าเป็นวัตร และวัดที่พักนั้นมักตั้งอยู่ในป่าห่างไกลจากชาวบ้าน มุ่งเน้นการศึกษาสมาธิและวิปัสสนา บำเพ็ญเพียรทางจิตเป็นหลัก จะพบบทบาทของพระมหาเถรศรีศรัทธาว่า ท่านภาวนาอยู่ตามป่าเขา ฉันใบไม้เป็นอาหาร มีวัตรปฏิบัติ เช่น พระสิงหล(ลังกา) ดังคำในศิลาจารึกว่า “กลางคำบ่ยืน กลางคืนบ่อยู่” นั่นชี้ให้เห็นว่า ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ เป็นพระนักภาวนา เป็นพระป่าสายอรัญญวาสี หรือเรียกว่า สายวิปัสสนาธุระ ซึ่งมุ่งการปฏิบัติกรรมฐานทั้งสมถะและวิปัสสนานั่นเอง 3. การบำเพ็ญโพธิสัตวบารมี การเป็นพระโพธิสัตว์นั้นต้องบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ มีทานเป็นต้น รวมทั้งช่วยเหลือสรรพสัตว์ในรูปแบบต่างๆ และต้องปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าด้วย เห็นได้ว่า เมื่อพระมหาเถรศรีศรัทธาเดินทางไปในถิ่นใด เมื่อเห็นวัดวาศาสนาอยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย ก็มักจะเทศนาสั่งสอนประชาชนได้รู้ถึงคุณค่าของศาสนสถานและได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงหลังออกพรรษา ท่านธุดงค์ไปตามป่าตามเขา ในบางที่หากมีพระธาตุ เจดีย์หรือพระพุทธรูปที่ชำรุดทรุดโทรม ท่านก็จะเที่ยวซ่อมแซมให้คืนสภาพดีดังเดิม บางแห่งกลางป่าเขา ขาดปูนมาโบกทา ก่อทำเจดีย์วิหาร พระมหาเถรศรีศรัทธาได้ลองอธิษฐานขอปูน ยังไม่ทันไร ก็ได้พบปูนมาโบกทาสมใจหมาย เมื่อสร้างวิหารเป็นต้นเสร็จแล้ว แต่ยังขาดพระพุทธรูป ท่านจึงให้คนไปเสาะเอาพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ และในสถานที่เช่นนั้ น มีเพียงพระพุทธรูปที่ชำรุดเสียหาย จึงหามาได้เพียงบางชิ้นบางส่วนเท่านั้น ดังศิลาจารึกว่า “ 0 ลาง แห่งได้แข้งได้ขา ลางแห่งได้มือได้ตีน ย่อมพระหินอันใหญ่ ชักมาด้วยล้อด้วยเกวียน เข็นเข้าในมหาพิหาร เอามาต่อติดประกิดด้วยปูน มีรูปโฉมพรรณอันงามพิจิตรดังอินทรนิรมิต…” (กรมศิลปากร, 2527) ท่านให้เอามาต่อกันจนเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ได้ประดิษฐานไว้ที่มหาวิหารนั้น ผลงานของท่านที่ตกทอดถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็คือ “พระอถารส” ในจารึกบอกว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เป็นผู้สร้าง หลังจากที่ประดิษฐานพระธาตุและพระปฏิมาอันท่านกระทำแล้วด้วยเงิน ทอง เหียก งา แล้วจึงกระทำพระอถารสขึ้น และท่านได้อธิษฐานว่า “ขอบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้เราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพื่อพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นจากสังสารวัฏด้วยเถิด” (ปุญฺญกมฺเมน พุทฺโธ โหมิ อนาคเต สงฺสารโมจนตฺถาย สพฺเพสตฺเต) (กรมศิลปากร, 2527) (https://www.madchima.org/forum/gallery/2_17_03_25_8_17_08.png) เหล่านี้ถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสัตว์โลก ซึ่งเป็นแนวทางของพระโพธิสัตว์ตามคติทางพุทธศาสนา ดังนั้น กรรมฐานตามแนวของพระมหาศรีศรัทธา เห็นได้ว่า มีความสอดคล้องกับกรรมฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยพระมหาเถรศรีศรัทธานั้น ปฏิบัติกรรมฐานตามแนวพระไตรปิฎกและคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งท่านได้เดินทางไปศึกษาโดยตรงที่ลังกา โดยมีกรรมฐานที่เด่นชัดตามจริยาวัตรของท่าน คือ เมตตากรรมฐาน สมถะวิปัสสนา แต่การปฏิบัติกรรมฐานของท่านนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อจะเป็นพระอรหันตสาวก หากแต่มุ่งปฏิบัติกรรมฐานและบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต สามารถเขียนตารางเปรียบเทียบได้ดังนี้ ____________________ พระไตรปิฎกและวิสุทธิมรรค การบำเพ็ญ : สัพพัตถกกรรมฐาน สมถะวิปัสสนา เป้าหมาย : อรหันตสาวก ________________ พระมหาเถรศรีศรัทธา การบำเพ็ญ : เมตตากรรมฐาน สมถะวิปัสสนา โพธิสัตวบารมี เป้าหมาย : พระพุทธเจ้า ________________ @@@@@@@ จึงสรุปได้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาเป็นทั้งพระคามวาสีและอรัญญวาสี ที่มุ่งสงเคราะห์ประชาชนและปฏิบัติธรรมควบคู่กัน ขณะเดียวกันท่านก็เที่ยวสั่งสมบารมีเรื่อยไป เพื่อเป็นปัจจัยแห่งการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต อาจเรียกการปฏิบัติกรรมฐานในสายนี้ว่า “กรรมฐานสายพระโพธิสัตว์” ก็ได้ เพราะสายนี้มุ่งบำเพ็ญบารมี ฌาน และวิปัสสนา ไปพร้อมๆกัน อ่านฉบับเต็มได้ที่ :- https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jmb/article/view/260308/175787 (https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jmb/article/view/260308/175787) และ ดาวน์โหลด pdf file ได้ที่ :- https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jmb/article/view/260308/175787 (https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jmb/article/view/260308/175787) หรือ ดาวน์โหลด pdf file ได้ที่ด้านล่าง ขอขอบคุณ :- บทความ : เรื่อง แนวทางการปฏิบัติกรรมฐานของพระมหาเถรศรีศรัทธา โดย พระมหายงยุทธ ธีรธมฺโม ,พระมหาบุญเกิด ปญฺญาปวุฑฺฒี ,คงสฤษฎ์ แพงทรัพย์ และพระมหาพิทักษ์ จิตฺตโสภโณ ที่มา : วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (กันยายน – ธันวาคม 2565) |