สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 18, 2025, 09:40:43 am



หัวข้อ: สัพพัตถกกรรมฐาน และ ปาริหาริยกรรมฐาน
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 18, 2025, 09:40:43 am
.
(https://i.pinimg.com/474x/fb/72/41/fb72410d7fdb22b9b24b32a53d6229d9.jpg)


สัพพัตถกกรรมฐาน และ ปาริหาริยกรรมฐาน
สมถะและวิปัสสนาเป็นส่วนแห่งวิชชา เป็นทางให้ถึงความสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ



 :25: :25: :25:

ความหมายของคำว่า “กรรมฐาน”

เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “กรรมฐาน” นี้ ข้อมูลจากพจนานุกรมและจากมุมมองของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ให้ความหมายไว้ในหลายแง่มุม ตามที่ปรากฏ คือ

     •  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของกรรมฐานว่า คือ ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบายทางใจ 2 ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2554)

     •  ขณะที่ Buddhist Dictionary ให้ความหมายว่า “กรรมฐาน (Kammaṭṭhāna) แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน มีการปฏิบัติสมาธิ เป็นต้น เป็นคำที่ใช้ในความหมายของวิชาการทำสมาธิ ใช้ในความหมายของการฝึกสมาธิ (ภาวนา) ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา แต่ในพระสูตรใช้คำนี้บ่งถึง กิจกรรมในท้องทุ่ง หรือการประกอบอาชีพ เช่น กสิกรรม การค้าขาย เป็นต้น (Nyanatiloka, 2007)

     •  ท่านราหุล (Walpola Sri Rahula) วินิจฉัยว่า คำว่า “กรรรมฐาน” มาแทนคำดั้งเดิมคือคำว่า “ภาวนา” หมายถึง การเจริญ (culture) หรือการพัฒนา (development) ได้แก่ การเจริญหรือการพัฒนาจิตใจ เมื่อกล่าวให้ถูกต้องตรงตามความหมายจริง ๆ ของศัพท์ การภาวนาทางพระพุทธศาสนา คือ การเจริญจิต มีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองและสิ่งรบกวนทั้งหลาย (Walpola Sri Rahula, 2009)

     •  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายว่า “กรรมฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ อุบายทางใจ วิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา นิยมเขียนว่า “กรรมฐาน” โดยหลักทั่วไป คือ
        (1) สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบวิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ
        (2) วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา” (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2554)

     •  ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล ให้ความเห็นว่า กรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต หมายความถึงสิ่งที่จิตเข้าไปยึดหน่วง เพื่อให้เกิดวิถีจิตที่พัฒนาไปสู่สภาพที่มีคุณธรรมอันพึงประสงค์ยิ่งขึ้น (ศ. ดร. ระวี ภาวิไล, 2548)

@@@@@@@

จากข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้ สามารถสรุปความหมายของกรรมฐานได้ 3 ความหมายคือ

    (1) กรรมฐาน คือ สิ่งที่ให้จิตยึดเป็นฐานที่มั่นหรือเป็นอารมณ์
    (2) กรรมฐาน คือ งานฝึกจิต และ
    (3) กรรมฐาน คือ การพัฒนาจิตใจให้เจริญก้าวหน้า เกิดความสงบและเกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามมา

กรรมฐานนี้มีรากเค้ามาจากการทำงานของชาวบ้าน ที่ใช้แรงงานเพื่อประกอบอาชีพธุระการงาน แต่ในทางพระพุทธศาสนานำคำดังกล่าวมาใช้เป็นงานการพัฒนาจิตใจแทน


(https://i.pinimg.com/474x/39/0d/93/390d93596f920e9c13fa3c8920b283b8.jpg)


ประเภทของกรรมฐาน

แนวทางการปฏิบัติกรรมฐานนั้นมีหลายวิธี แต่เมื่อจัดประเภทของกรรมฐานในพระพุทธศาสนา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ในพระไตรปิฎกได้บันทึกเกี่ยวกับกรรมฐานทั้งสองอย่างนี้ ไว้ว่า

     1) ธรรม 2 อย่าง ที่ควรเจริญยิ่ง คือ สมถะและวิปัสสนา (พระไตรปิฎกภาษาไทย,(2539), เล่ม 14 ข้อ 431 หน้า 490, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

     2) เมื่อภิกษุรู้ว่า ยังไม่เจริญสมถะและวิปัสสนาก็ควรเจริญ (พระไตรปิฎกภาษาไทย,(2539), เล่ม 14 ข้อ 450 หน้า 503, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

     3) สมถะและวิปัสสนาเป็นส่วนแห่งวิชชา เป็นทางให้ถึงความสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ (พระไตรปิฎกภาษาไทย, (2539), เล่ม 18 ข้อ 377 หน้า 453-454, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

ส่วนคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้จำแนกกรรมฐานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

     1) สพฺพตฺถกกมฺมฏฺฐาน (สัพพัตถกกรรมฐาน) ได้แก่ เมตฺตา มรณสฺสติ และ อสุภสญฺญา
     2) ปาฏิหาริยกมฺมฏฺฐาน (ปาริหาริยกรรมฐาน) (อรรถกถาภาษาบาลี สมันตปาสาทิกา ฉบับมหาจุฬาอัฏฐกถา, วิ.อ. เล่ม 1 ข้อ 165 หน้า 454 - 455, วิสุทฺธิ. เล่ม 1 ข้อ 42 หน้า 105) ได้แก่ กรรมมฐานที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ

@@@@@@@

กรรมฐานทั้งสองอย่างนี้ ท่านมุ่งอธิบายลักษณะในการนำไปใช้ว่า สัพพัตถกกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่พึงใช้ในทุกที่ คือ

     (1) เมตฺตา เมตตาใช้แผ่ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม ชาวบ้าน ผู้เป็นใหญ่ในถิ่นนั้น เทวดา เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นมีจิตอ่อนโยน ไม่ทำร้ายผู้ปฏิบัติ แต่จะช่วยอภิบาลรักษาให้ผู้ปฏิบัติอยู่เป็นสุขในการปฏิบัติธรรม

     (2) อสุภสญฺญา การเจริญอสุภสัญญาคือความจำได้หมายรู้ว่าไม่งามเพื่อไม่ทำให้เกิดตัณหาแม้ในอารมณ์ที่เป็นทิพย์

     (3) มรณสฺสติ มรณสติ คือการพิจารณาเกี่ยวกับความตาย เพราะเมื่อบุคคลรู้ว่า ต้องตายแน่ ย่อมจะละการแสวงหาที่ไม่สมควร เป็นผู้มีความสลดใจ เจริญธรรมสูงขึ้นโดยลำดับ และเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน (วิสุทฺธิ. ฉบับภาษาบาลี เล่ม 1 ข้อ 42 หน้า 105 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

ส่วนปาริหาริยกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่สอดคล้องกับอุปนิสัย(จริต) ซึ่งผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องปฏิบัติเป็นประจำอย่างใดอย่างหนึ่งใน 40 วิธีนั้น มีอนุสสติ 10 กสิณ 10 เป็นต้น

@@@@@@@

อารมณ์ของสมถกรรมฐานทั้งหมดตามที่กล่าวมานี้ มีจุดมุ่งหมายโดยรวม คือ เพื่อกำจัดนิวรณ์ซึ่งเป็นตัวปิดกั้นประสิทธิภาพการทำงานของจิต และผลสำเร็จที่ได้จากการเจริญสมถกรรมฐาน ก็คือ เกิดสมาธิในระดับต่าง ๆ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ฌาน” (รูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔)

ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน คือ อุบายวิธีเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง โดยมองเห็นความเป็นอนิจจัง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่ง ดังคำบาลีว่า “อนิจจาทิวเสน วิวิเธหิ อากาเรหิ ธมฺเม ปสฺสตีติ วิปสฺสนา” (อรรถกถาภาษาบาลี อัฏฐสาลินี ฉบับมหาจุฬาอัฏฐกถา, (2532), เล่ม 1 ข้อ 181 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

อีกนัยหนึ่งวิปัสสนาก็คือวิธีที่ทำให้เห็นแจ้ง หมายถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งตรงตามสภาวะที่เป็นจริงจนถอนตัวออกจากความยึดมั่นถือมั่นและความเห็นผิดทั้งหลายได้

@@@@@@@

ฉะนั้น สรุปได้ว่า ประเภทของกรรมฐานมีสองอย่าง คือ สมถะและวิปัสสนา โดยที่สมถะก่อให้เกิดสมาธิ ส่วนวิปัสสนา คือ การอบรมบ่มเพาะปัญญาจนเห็นแจ้งในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง กรรมฐานทั้งสองนี้เกื้อกูลต่อกันและสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถือเป็นรูปแบบของการพัฒนาจิตในพระพุทธศาสนานั่นเอง

อ่านฉบับเต็มได้ที่ :-
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jmb/article/view/260308/175787
และ ดาวน์โหลด pdf file ได้ที่ :-
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jmb/article/view/260308/175787
หรือ ดาวน์โหลด pdf file ได้ที่ด้านล่าง







ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : pinterest
บทความ : เรื่อง แนวทางการปฏิบัติกรรมฐานของพระมหาเถรศรีศรัทธา
โดย พระมหายงยุทธ ธีรธมฺโม ,พระมหาบุญเกิด ปญฺญาปวุฑฺฒี ,คงสฤษฎ์ แพงทรัพย์ และพระมหาพิทักษ์ จิตฺตโสภโณ
ที่มา : วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (กันยายน – ธันวาคม 2565)