หัวข้อ: วัดดังฝั่งธนพบจารึกใหม่ ปรากฏคำ‘ศรีอโยธยา’ นักปวศ.รุดอ่าน เจอชื่อบุคคลในพงศาวดาร เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 15, 2025, 07:42:49 am .
(https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/ปกเฟซ1200-จารึก_0-728x382.jpg) วัดดังฝั่งธนฯ พบจารึกใหม่ ปรากฏคำ ‘ศรีอโยธยา’ นักปวศ.รุดอ่าน เจอชื่อบุคคลในพงศาวดาร พบจารึกใหม่บนฐานพระพุทธรูปสุโขทัย วัดอินทาราม กรุงเทพฯ เอ่ยนาม ‘ศรีอโยธยา’ พ.ศ.1974 รัชกาลเจ้าสามพระยา นักวิชาการรุดอ่าน หวังพบหลักฐานสำคัญ อดีตอธิบดีกรมศิลป์ แนะเร่งบูรณะ เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ วัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการค้นพบจารึกบนฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในศาลารายของพระอุโบสถ ปรากฏคำสำคัญว่า ‘ศรีอโยธยา’ (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039375_0.jpg) เก๋งจีน ศาลารายที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่ปรากฏจารึกบนฐาน รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของผลงาน ‘อโยธยา ก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา’ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ตนเดินทางมาสำรวจและถ่ายภาพพระพุทธรูปรวมถึงจารึก หลังได้ทราบข่าวจากพระภิกษุของวัดแห่งหนึ่งว่ามีผู้สังเกตเห็นตัวอักษรบริเวณฐานพระพุทธรูปซึ่งหล่อด้วยโลหะ อันเนื่องมาจากวัสดุ ‘รัก’ หลุดร่อน เผยให้เห็นข้อความต่างๆ ตนจึงเดินทางมายังวัด และขออนุญาตทางวัดในการบันทึกภาพและข้อมูล เพื่อศึกษาต่อไป เนื่องจากจารึกดังกล่าว ไม่เคยปรากฏในทะเบียนจารึกของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร รวมถึงการตีพิมพ์เผยแพร่ใดๆ มาก่อน สำหรับเก๋งจีนดังกล่าว ตนเข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้ง พระยาศรีสหเทพ บูรณะวัดแห่งนี้ (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039432_0-1536x1008.jpg) “พระพุทธรูปองค์นี้ ประดิษฐานในเก๋งจีนซึ่งเป็นศาลารายในวัดอินทารามฯ เดิมบริเวณฐานพอกด้วยรัก หุ้มทอง ต่อมา รักกระเทาะ จึงพบจารึกอักษรไทย ภาษาไทย มี 3 บรรทัด เนื้อหาเท่าที่อ่านได้ในขณะนี้ มีคำสำคัญว่า ศรีอโยธยา และ บรมราชาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราช ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา กษัตริย์อยุธยา นอกจากนี้ ยังปรากฏนาม เจ้านครยศ ซึ่งก็คือ พระยาศรียศราช เมืองศรีสัชนาลัย อีกด้วย ความสำคัญ คือ พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยโลหะ คือ กลุ่มภาคกลางตอนบน เมื่อปรากฏคำว่า ศรีอโยธยา จึงเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงความตกค้างของชื่อเมืองอโยธยาที่เรียกมาแต่เดิมในความทรงจำ” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากตนถ่ายภาพอย่างละเอียด จึงได้ร่วมกับ ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง อ่านและปริวรรต โดยพบว่า ข้อความบรรทัดแรกในจารึก ระบุจุลศักราช 793 ตรงกับพุทธศักราช 1974 ในรัชกาลเจ้าสามพระยา สอดคล้องกับพระนามที่ปรากฏในจารึกว่า ‘บรมราชาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราช’ (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039425_0.jpg) สำหรับรายละเอียดคำอ่านอย่างไม่เป็นทางการของจารึกที่สะกดตามอักขรวิธีเดิม และคำปริวรรตเป็นภาษาปัจจุบัน มีดังนี้ ฐานด้านกระดานด้านหน้า บรรทัดที่ 1 สกราชได้ ๗๙๓ กุรนกัสตรเดิอนสิบออกใหมแปดคำวนนพุทธไทภาสากตสทงาขาพระเจ้าพระองคนีชีเจานคอรยศเปนขาพระบาททาวศริปศราช..นคอรผูเปนเจาทรง (ศักราชได้ 793 กุนนักษัตร เดือนสิบออกใหม่แปดค่ำ วันพุธ ไทภาษา กดสะง้า ข้าพระเจ้าพระองค์นี้ชื่อเจ้านครยศเป็นข้าพระบาทท้าวศริปศราช..นครผู้เป็นเจ้าทรง) บรรทัดที่ 2 ทศธรรมเมิอปางพระบาทเสดจไปในศริอโยธยาถวายบงัคมแดสํเดจบรมราชาธิบดีศรีบรมจกรพรรดิราชวนันนักลอยสํเดจบรมราชาธิบดิศริบรมจกรพรรดิราชพระราชโองการให้พยร (ทศธรรมเมื่อปางพระบาทเสด็จไปในศรีอโยธยาถวายบังคมแด่สมเด็จบรมราชาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชวันนั้นกลอยสมเด็จบรมราชาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชพระราชโองการให้เพียร) บรรทัดที่ 3 ปรากติชิฃุนนคอรยศดวยสุพรรณกบัดวยไดเกลิงราชทองอีกทองตรากอรสรรพรางวนนทงัหลายอิกเงนทองนิจายเปนพระพุทธประติมาพระองคนิแลกลอย ฃ (ปรากฎชื่อขุนนครยศด้วยสุพรรณกับด้วยได้เกลิงราชทองอีกทองตรากรสรรพรางวัลทั้งหลายอีกเงินทองนี้จ่ายเป็นพระพุทธปฏิมาพระองคนี้แลกลอย ข) บรรทัดที่ 4.…….เริอนนิงค่านาแล……(เรือนหนึ่งค่านาแล……) (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039401_0-1.jpg) ฐานด้านกระดานด้านพระหัตถ์ขวา บรรทัดที่ 1 อนนิ้งโสดพฃุนศรินคอรยสขพพฺรแดเจา (อันหนึ่งโสด พ่อขุนศรีนครยศขอพระพรแด่เจ้า…) บรรทัดที่ 2 อนัมาสบประเวณีธรรมไทพระจงทนพระพุ (อันมาสบประเวณีธรรมไทยพระจงทันพระพุ) บรรทัดที่ 3 ทธ เจาพระองคนีสถยรตเทาพระสาสนา (ทธ เจ้าพระองค์นี้เสถียรต่อเท่าพระศาสนา) (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039427_0.jpg) ด้าน นายเอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะประธานบูรณะพระพุทธรูป 32 องค์ ในพระอุโบสถเก่าวัดอินทารามวรวิหาร มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวว่า สุโขทัย ศรีสัชนาลัยเป็นเมืองสำคัญ มีพระพุทธรูปโลหะเป็นพันๆ องค์ เวลาเมืองร้าง ก็ถูกเคลื่อนย้ายมาอยู่วัดในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ เป็นจำนวนมาก กระทั่ง สมัยรัชกาลที่ 4 ก็เสด็จสุโขทัย และรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ก็ทรงสำรวจสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร “ทางวัดเองก็คิดว่าจะต้องดูแลบูรณะพระพุทธรูปองค์นี้ให้ดี เพราะมีความสำคัญ และเพื่อความปลอดภัย อาจต้องมีการซ่อมฐานในส่วนที่บูรณะขึ้นในสมัยหลัง ไม่ใช่ฐานสมัยสุโขทัย ส่วนเศียรพระพุทธรูป ชนกับเพดานเก๋งจีนที่ประดิษฐานอยู่ จึงจะมีการตัดฐานใหม่เพื่อลดความสูงลงมา ไม่ให้เปลวรัศมีชนเพดาน” นายเอนก กล่าว นายเอนก กล่าวด้วยว่า สำหรับการอ่านจารึก ตนได้ประสานไปทางผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว รวมถึงหารืออย่างไม่เป็นทางการกับนักวิชาการของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ด้วย “จารึกนี้เป็นหลักฐานใหม่ที่สนับสนุนหลักฐานเก่าในสมัยเจ้าสามพระยาซึ่งมีความสัมพันธ์กับสุโขทัยที่ลดอำนาจลง โดยอยุธยาเข้าครอบครองใช้พื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาไป” นายเอนก ทิ้งท้าย (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039371_0-1.jpg) (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039370_0.jpg) (https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2025/04/S__17039403_0.jpg) ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/local/arts-culture/news_5134028 (https://www.matichon.co.th/local/arts-culture/news_5134028) วันที่ 10 เมษายน 2568 - 16:09 น. |