สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 14, 2025, 07:59:53 am



หัวข้อ: “ทำไมพระพุทธศาสนาในไทยจึงมี ๒ นิกาย” คำถามของฝรั่งต่อ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 14, 2025, 07:59:53 am
.
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/6/6d/Somdet_Phra_Yanawachirodom.jpg/800px-Somdet_Phra_Yanawachirodom.jpg)


“ทำไมพระพุทธศาสนาในไทยจึงมี ๒ นิกาย” คำถามของฝรั่งต่อ "หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร"

ครั้งหนึ่ง มีฝรั่งอเมริกันคนหนึ่งซึ่งศึกษาพระพุทธศาสนาในไทยมาพอสมควร ได้ตั้งคำถามต่อเจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) คำถามเป็นภาษาอังกฤษและตรงไปตรงมาแบบคนต่างชาติว่า “ทำไมพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงแบ่งออกเป็น ๒ นิกาย ทั้งที่มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน นิกายทั้งสองมีเป้าหมายต่างกันอย่างไร”

หลวงพ่อวิริยังค์ไม่ตอบทันที เพียงแต่ยิ้ม แล้วถามกลับด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า “แล้วทำไมระบบการเมืองในอเมริกาจึงมี ๒ พรรค คือ พรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต ทั้งที่เป็นประเทศเดียวกัน ทั้งสองพรรคมีเป้าหมายต่างกันไหม”

ฝรั่งนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนตอบว่า “ไม่ต่างครับ เป้าหมายคือพัฒนาประเทศให้เจริญและให้ประชาชนมีความสุข”

หลวงพ่อตอบกลับว่า “พระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่มี ๒ นิกาย ก็ไม่ต่างจากระบบการเมืองของอเมริกานั่นแหละ”

ฝรั่งยกมือไหว้แล้วกล่าวว่า “เข้าใจแล้วครับ”

@@@@@@@

วาทะอันเฉียบคมของหลวงพ่อวิริยังค์ สามารถจบคำถามของคนทั้งโลกไว้ในประโยคเดียวเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็เปิดประตูให้เห็นความจริงอีกขั้นหนึ่งว่า ความหลากหลายในพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเข้าใจว่าแก่นธรรมะมิได้แบ่งแยกด้วยชื่อนิกาย แต่เป็นมนุษย์ต่างหากที่ตีความและจัดรูปแบบต่างกันตามเวลา สถานที่ และจริตของผู้ปฏิบัติ

ในพระไตรปิฎก ไม่ได้มีบันทึกว่าพระพุทธเจ้าทรงจัดตั้ง “นิกาย” ขึ้นมาแต่อย่างใด พระองค์เพียงแต่ทรงแสดงธรรมโดยตรงแก่เวไนยสัตว์ตามจริต โดยไม่มีระบบ ไม่มีสังกัด ทรงวางไว้เพียงสิ่งเดียวก็คือ “ธรรมวินัย” และตรัสไว้ชัดเจนในมหาปรินิพพานสูตรว่า “ธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนเรา” เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วราว ๓ เดือน ได้มีการประชุมพระสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ รูป ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ เพื่อรวบรวมคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ โดยเฉพาะธรรมะที่ได้ยินจากพระอานนท์และพระวินัยที่พระมหากัสสปะตรวจสอบจากการปฏิบัติของหมู่สงฆ์ พระเถระเหล่านั้นไม่ได้แก้ไข แต่ทบทวนเพื่อรักษาธรรมะของเดิมไว้ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้แปรปรวนไปตามความเห็นส่วนตน

ต่อมาอีกราว ๑๐๐ ปี ได้เกิดกรณีความเห็นต่างในธรรมวินัยบางข้อ จนนำไปสู่การสังคายนาครั้งที่ ๒ ได้มีการประชุมพระสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์จำนวน ๗๐๐ รูป ณ เมืองเวสาลี พระภิกษุกลุ่มหนึ่งต้องการผ่อนปรนเรื่องเล็ก ๆ เช่น การเก็บเงินไว้ใช้ การฉันอาหารเกินเวลา เป็นต้น ขณะที่อีกฝ่ายยืนยันในความเคร่งครัดตามธรรมวินัยเดิม


(https://cheewajit.com/app/uploads/2020/01/collage23023.jpg)


ความเห็นต่างนี้เอง ที่กลายเป็นรอยแยกครั้งสำคัญของคณะสงฆ์ ที่เป็นออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ได้แก่ “สถวีระวาท” (ผู้ยึดตามพระวินัยเคร่งครัด) และ “มหาสังฆิกะ” (ผู้เน้นความยืดหยุ่น) ซึ่งต่อมากลายเป็นรากฐานของเถรวาทและมหายานในปัจจุบัน

เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปยังอินเดียตอนเหนือ จีน ทิเบต ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะการปฏิบัติย่อมเปลี่ยนไปตามภาษา วัฒนธรรม และแนวคิดในแต่ละท้องถิ่น จึงเกิดการตีความใหม่ มีการแปลพระไตรปิฎกหลายภาษา และการเพิ่มคำอธิบาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความพยายามของผู้ศรัทธาที่ต้องการเข้าถึงธรรมะ แต่แปลความออกมาในแนวทางต่างกันไป

ในประเทศไทยเอง พระพุทธศาสนาเถรวาทได้ตั้งมั่นในยุคสุโขทัย แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ มีการปฏิรูปคณะสงฆ์โดยรัชกาลที่ ๔ จนเกิดเป็น “ธรรมยุติกนิกาย” ซึ่งเน้นความเคร่งครัดในวินัย การสวดภาษาบาลีให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และการอ้างอิงพระไตรปิฎกตามแนวบาลี ขณะที่ “มหานิกาย” ซึ่งเป็นนิกายเดิม ยังคงมีจำนวนมากกว่าและยืดหยุ่นในบางจุดตามจารีตไทย

แม้ทั้งสองนิกายจะแตกต่างกันในรายละเอียดของการปฏิบัติ เช่น วิธีสวด การบวช หรือแนวทางการฝึกอบรม แต่ยึดมั่นในพระไตรปิฎกฉบับเดียวกัน ถือศีล ๒๒๗ ข้อเท่ากัน เคารพพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน และมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือ “นิพพาน”

@@@@@@@

นิกายจึงไม่ใช่การแบ่งแยกพระพุทธศาสนา เปรียบเสมือนเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาที่ต่างกัน แต่ทั้งหมดมุ่งสู่ยอดเขาลูกเดียวกัน นั่นคือ “ความหลุดพ้นจากกิเลส” ฉะนั้น เมื่อใดที่ยึดนิกายมาเป็นเครื่องแบ่งแยก แสดงว่า เมื่อนั้นอาจจะเดินออกจากทางสายกลางของพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัวก็ได้

การที่หลวงพ่อวิริยังค์ ใช้คำถามเรื่องการเมืองอเมริกันมาเปรียบเทียบกับนิกายในพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่แค่การยกตัวอย่างเปรียบเปรย แต่เป็นการให้กรอบความคิดใหม่ว่า ความต่างกันไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่คือธรรมชาติของความคิดมนุษย์ซึ่งเป็นปุถุชนต่างหาก

ความต่างที่ไม่ละเมิดธรรมวินัย ย่อมไม่เป็นภัย ยิ่งกว่านั้น หากความต่างนี้ยังนำไปสู่ความสงบ เย็น และพ้นทุกข์ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรเคารพเช่นกัน

ฉะนั้น ไม่ว่าจะยึดนิกายไหนก็ตาม ตราบใดที่ชาวพุทธยังเจริญภาวนาเพื่อลดอัตตา ปฏิบัติเพื่อฝ่าฟันกับกิเลส และยึดธรรมวินัยเป็นหลัก แสดงว่าได้อยู่ในกระแสของพุทธศาสนาโดยแท้จริง เพราะธรรมะไม่ได้แบ่งนิกาย แต่ใจของคนต่างหากที่ชอบแบ่งโน่นนี่นั่น นั่นเอง





ขอขอบคุณ :-
บทความ : คัดลอก เรียบเรียง และสรุปจากเรื่องเล่าจากแพทย์ไทยในอเมริกา เล่าให้คณะกฐินสามัคคีจากประเทศไทยฟัง ณ วัดราชธรรมวิริยาราม ๓ เมืองเอ็ดมันตัน รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ถ่ายทอดต่อโดย มนต์ชัย เทียนทอง
ภาพจาก : https://upload.wikimedia.org/ , https://cheewajit.com/