สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 15, 2025, 07:10:31 am



หัวข้อ: ย้อนรอย กรรมวิธีสร้างพระสมเด็จฯ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 15, 2025, 07:10:31 am
.
(https://static.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5Fa6rV9L41r0T7ElJawUAgDdhUTXqfGi8oR7x45lVpmzfU5FuR0qgd.webp)


ย้อนรอย กรรมวิธีสร้างพระสมเด็จฯ

ในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้นประกอบด้วยปัจจัยหลัก 4 อย่าง คือ แม่พิมพ์พระ มวลสารวัตถุดิบ ช่าง และกรรมวิธีการสร้าง การทำความเข้าใจถึงปัจจัยเหล่านี้ อาจจะช่วยให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจถึงรูปลักษณะที่ควรจะเป็นของพระสมเด็จฯ รวมถึงยังสามารถเข้าใจถึงที่มาที่ไปขององค์พระสมเด็จฯ ในเชิงเหตุและผลตามหลักการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการอีกด้วย ในบรรดาปัจจัยทั้ง 4 อย่างนี้ กรรมวิธีการสร้างเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะมีรายละเอียดมากและหลักฐานอ้างอิงมีน้อย ในการทำความเข้าใจจึงต้องหาข้อมูลอ้างอิงจากปัจจัยอีก 3 ปัจจัยที่เหลือ

@@@@@@@

การรู้ถึงลักษณะของแม่พิมพ์พระบอกถึงกรรมวิธีการสร้างได้อย่างไร

• แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯ

แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงมาตรฐานนั้นสร้างจากวัสดุที่มีความแข็ง เช่น หินสบู่ โดยจากการพบหลักฐานแผ่นแม่พิมพ์หินสบู่ที่มีการแกะลวดลายเพื่อสร้างงานศิลปกรรมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4–5 มักพบว่าช่างจะแกะลวดลายลงในหินแผ่นเดียวกันจนเต็มเนื้อที่ โดยที่จะไม่มีการตัดแบ่งหินสบู่ออกเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อทำเป็นแม่พิมพ์ขนาดเล็กหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งลวดลาย ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่สะดวกเนื่องด้วยความแข็งของหินสบู่ อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น การแกะแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯ จึงน่าจะทำในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยเป็นการแกะลวดลายองค์พระแบบกลับด้าน โดยแกะทีละองค์เป็นจำนวนหลายองค์ลงบนแผ่นหินขนาดใหญ่พอควร

ลักษณะของแม่พิมพ์หินสบู่ที่มีขนาดใหญ่ มีผลโดยตรงต่อกรรมวิธีสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ โดยวิธีการที่เหมาะสมน่าจะเป็นการนำมวลสารผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามคติการสร้าง มาผสมตำโขลกให้เข้ากันตามสูตรที่กำหนดไว้ แล้วนำมาปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ แล้วจึงกดประทับลงบนแม่พิมพ์ โดยก่อนที่จะกดน่าจะต้องมีการโรยหรือทาแม่พิมพ์ด้วยวัสดุที่ทำให้เนื้อวัตถุดิบไม่เกาะติดกับแม่พิมพ์ (ตรียัมปวาย เรียกว่าแป้งโรยพิมพ์) เพื่อให้ถอดองค์พระออกจากแม่พิมพ์ได้โดยง่ายและยังเป็นการยืดอายุแม่พิมพ์อีกด้วย

มวลสารพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้นเป็นวัตถุดิบที่ทรงคุณค่าผ่านพิธีกรรมที่พิถีพิถันเข้มขลัง โดยเฉพาะผงวิเศษ 5 ประการ อันประกอบด้วย ผงปัถมัง ผงอิธะเจ ผงมหาราช ผงพุทธคุณ ผงตรีนิสิงเห นั้นเกิดจากการที่ท่านเจ้าประคุณฯ ได้เขียนหัวใจพระคาถาต่างๆ ลงบนกระดานชนวนแล้วลบออก ทำซ้ำหลายขั้นตอนกว่าที่จะได้มา จึงควรที่จะต้องใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด อีกทั้งวัตถุดิบมวลสารที่เมื่อผสมน้ำมันตังอิ้วแล้วนั้น ถ้าทิ้งไว้นานจะเริ่มแข็งตัวทำให้นำมาใช้ไม่ได้อีก จึงต้องเตรียมไว้ในจำนวนที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป


(https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04avfkGH3vswjG6w10mMwo6VKFkVgZO9.webp)


• แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม

เมื่อคราวสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เมื่อปี พ.ศ. 2413 นั้น นอกจากแม่พิมพ์หินสบู่ที่นำมาสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมด้วยแล้วนั้น “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตนำเสนอว่า น่าจะมีการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมด้วยแม่พิมพ์ที่ทำจากไม้ด้วยเช่นกัน โดยแม่พิมพ์ชนิดนี้จะเป็นแม่พิมพ์ขนาดเล็กพอดีกับองค์พระ และที่สำคัญคือ การสร้างพระสมเด็จฯ ด้วยแม่พิมพ์ชนิดนี้นั้นเป็นการสร้างโดยการนำแม่พิมพ์กดลงบนเนื้อพระซึ่งแตกต่างจากการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เป็นการกดเนื้อพระลงบนแม่พิมพ์ การที่บอกว่าเป็นแม่พิมพ์ไม้นั้น ก็ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

เหตุผลแรก ในการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้น เสมียนตราด้วง ต้นตระกูลธนโกเศศ ต้องการสร้างพระจำนวนมากด้วยความเร่งรีบ เพื่อนำไปบรรจุในองค์พระเจดีย์ใหญ่ และน่าจะมีการสร้างแม่พิมพ์ขึ้นเป็นจำนวนมากพอสมควรเช่นกัน แม่พิมพ์ที่แกะจากไม้นั้นทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าแม่พิมพ์ที่ทำจากหิน แต่อาจจะมีความคมชัดและความงดงามประณีตน้อยกว่า และเมื่อแกะแม่พิมพ์เสร็จแล้วยังสามารถตัดแบ่งไม้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดเล็กตามขนาดองค์พระได้สะดวก (แม่พิมพ์หินที่ใช้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น ค่อนข้างยากที่จะตัดแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมชิ้นเล็กและยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น)

เหตุผลที่สอง เมื่อสังเกตพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจำนวนหนึ่งแล้ว มักจะเห็นเป็นขอบปลิ้นบริเวณเส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์ (เส้นกรอบสี่เหลี่ยมครอบซุ้มผ่าหวาย) ที่มักจะมีการตัดขอบองค์พระบริเวณแนวนั้นพอดี

ในขั้นตอนการแกะแม่พิมพ์ไม้นั้น ตามทฤษฎีของช่างสิบหมู่หรือช่างหลวง เส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์เกิดจากการที่ช่างได้ขูดเส้นแนวตั้งและแนวนอนเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เพื่อกำหนดโครงร่าง โดยจะแกะเส้นซุ้มผ่าหวายและองค์พระให้อยู่ภายในกรอบโครงร่างนี้ เมื่อแกะพระเสร็จแล้ว ช่างจะทำการตัดแม่พิมพ์ไม้แบ่งออกเป็นแม่พิมพ์กรอบสี่เหลี่ยมชิ้นเล็ก โดยมักจะตัดขอบแม่พิมพ์ไม้ตามแนวเส้นกรอบบังคับพิมพ์หรือกว้างกว่าเล็กน้อย

พระสมเด็จบางขุนพรหมจำนวนมากที่องค์พระเมื่อทำเสร็จแล้วจะมองไม่เห็นเส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์ แต่มองเห็นเป็นขอบปลิ้นแทน แต่อาจมีบางองค์ที่ยังมีเส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์ปรากฏให้เห็นอยู่ เช่น ที่มักเห็นในพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่ หรือพระบางองค์ที่ช่างตัดขอบห่าง (อาจจะตัดห่างจากขั้นตอนการตัดขอบแม่พิมพ์ไม้ หรือตัดห่างจากขั้นตอนการตัดขอบองค์พระ) จึงทำให้รู้ว่า ช่างมีการขูดเส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์ไว้เช่นกัน

ขอบปลิ้นที่มักจะมองเห็นบริเวณขอบองค์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่เมื่อกดแม่พิมพ์ลงบนเนื้อพระที่รองรับอยู่เบื้องล่าง แรงกดด้วยมือจะทำให้แม่พิมพ์พระจมลงไปในเนื้อพระ เป็นลักษณะของการห่อแม่พิมพ์เอาไว้ จะมากน้อยแล้วแต่แรงกด เมื่อยกแม่พิมพ์ขึ้นจะเกิดแรงดึงจากเนื้อพระทำให้พระบางองค์ที่มีเส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์เหลืออยู่เกิดเป็นสันนูนขึ้นมากกว่าเดิม (พระสมเด็จพระวัดระฆังฯ นั้นเส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์จะมีความนูนอยู่ระดับหนึ่ง บางองค์จะนูนมากเป็นพิเศษ อาจจะเกิดจากการขูดเส้นของช่างหรืออาจจะเกิดจากการยุบตัวของพื้นผิวด้านใน บางท่านเรียกเส้นนี้ว่า เส้นลวดกันลาย)

และที่สำคัญมากคือบริเวณที่เป็นขอบแม่พิมพ์ที่เป็นระนาบต่างระดับไม่ถูกแม่พิมพ์กดลงไป โดยช่างมักจะใช้ของมีคมเช่นมีด ตัดขอบพระตามรอยขอบแม่พิมพ์นี้ เพื่อเอาเนื้อเกินบริเวณรอบองค์พระออกไป (อาจจะเป็นการตัดโดยการลากมีดจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่งขององค์พระ หรือเป็นการลงมีดตัดลงไปตรงๆ พร้อมกันทั้งแนว บางครั้งพบว่ามีการลงมีดแบะออก ทำให้พื้นผิวหน้าพระแคบกว่าพื้นผิวด้านหลังองค์พระ) รอยปลิ้นที่เกิดขึ้นนี้ มาจากเนื้อบริเวณขอบแม่พิมพ์ที่ไม่ถูกแม่พิมพ์กดลงไป เมื่อถูกคมมีดตัดตามรอยขอบนี้จะทำให้เนื้อปลิ้นเข้ามาด้านในองค์พระ ถ้าช่างวางใบมีดให้ด้านล่างแบะออกด้านข้างก็จะทำให้รอยปลิ้นม้วนเข้าด้านในองค์พระมากขึ้น

เหตุผลประการที่สาม ลักษณะด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆังฯ ถ้าแบ่งตามทฤษฎีของนิรนาม ผู้ชำนาญการพระเครื่อง ที่เขียนอธิบายในหนังสือ พรีเชียส ของผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ และหนังสืออาณาจักรพระเครื่องของอาจารย์ปรีชา เอี่ยมธรรมนั้น จะแบ่งออกเป็น 4 แบบคือ แบบหลังเรียบ หลังกระดาน หลังกาบหมาก และหลังสังขยา

แต่เมื่อพิจารณาลักษณะด้านหลังของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลักษณะของหลังเรียบ อาจจะมีลักษณะปลีกย่อยเป็นแบบอื่นบ้าง แต่โดยรวมแล้วต้องถือว่าเป็นลักษณะของหลังเรียบ เป็นเครื่องช่วยยืนยันว่าเป็นการกดแม่พิมพ์พระลงบนเนื้อพระที่อยู่ด้านล่างซึ่งวางอยู่บนวัสดุที่มีความราบเรียบ ไม่ใช่เป็นการกดพระจากด้านหลังไปด้านหน้าด้วยวัสดุที่แตกต่างกันเหมือนการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่จะทำให้ลักษณะด้านหลังองค์พระมีความแตกต่างกันออกไป

@@@@@@@

• การตัดขอบองค์พระ

อาจารย์ประจำ อู่อรุณ กรุณาให้ความเห็นว่า การตัดขอบของพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น เป็นไปได้ทั้งสองแบบ อาจจะเป็นการตัดจากด้านหลังไปด้านหน้าองค์พระ โดยตัดขณะที่ยังไม่แกะพระออกจากแม่พิมพ์ การตัดแบบนี้อาจจะทำให้ตัดได้ไม่สวยงามนัก อาจชิดไปหรือห่างไปเนื่องจากไม่เห็นองค์พระขณะตัด (มีความเป็นไปได้ว่าเช่นกันว่าอาจจะมีการทำเส้นบอกแนวให้ตัดบนแผ่นแม่พิมพ์หินสบู่) หรืออาจจะเป็นการตัดขอบจากด้านหน้าไปด้านหลังกรณีที่แกะพระออกจากแม่พิมพ์แล้ว

โดยก่อนที่จะตัดจะต้องรอให้เนื้อพระมีความหมาดตัวพอสมควร ถ้าตัดในขณะที่เนื้อพระเปียกไปหรือแห้งไปอาจจะทำให้รูปทรงออกมาผิดเพี้ยนมากเกินไป สำหรับการตัดขอบพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ถ้าวิเคราะห์แบบแม่พิมพ์ไม้ข้างต้นนั้นจะเป็นการตัดจากด้านหน้าองค์พระไปด้านหลัง

มีข้อสังเกตว่าบริเวณขอบด้านหลังของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้นมักจะไม่ปรากฏรอยปริกระเทาะ ส่วนในพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น บางองค์จะปรากฏให้เห็นรอยปริกระเทาะหรือที่บางท่านเรียกว่ารอยปูไต่ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตนำเสนอแนวทางในการอธิบายดังนี้ว่า พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่สร้างจากแม่พิมพ์ไม้นั้น เป็นการกดเนื้อพระโดยใช้แรงกดจากด้านหน้าองค์พระไปด้านหลังองค์พระ ในขณะที่พระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้นเป็นการกดเนื้อพระโดยใช้แรงกดจากด้านหลังองค์พระไปด้านหน้า เนื้อพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้นมีความแก่ปูนซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดเกาะตัว

แต่เนื้อพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้นมีส่วนผสมของมวลสารต่างๆ มากมายซึ่งเมื่อผสมเข้าไปแล้วจะลดทอนคุณสมบัติในด้านการยึดเกาะตัวของปูนทำให้เกิดการปริกระเทาะได้ง่ายกว่า มีความเป็นไปได้ว่าการปริกระเทาะที่ขอบด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น เกิดจากการตัดขอบองค์พระ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการตัดจากด้านหน้าไปด้านหลังหรือจากด้านหลังไปด้านหน้า น่าจะมีโอกาสทำให้เกิดการกระเทาะที่ด้านหลังองค์พระได้เช่นกัน


(https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04avfkGH3vswjG6w10UZc32jorSlQak0.webp)


• ลักษณะของพื้นผิวพระสมเด็จฯ เมื่อสร้างเสร็จ

อาจแบ่งได้เป็น 3 โซน กรณีของพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น

โซนที่หนึ่ง คือ พื้นผิวพระที่เกิดจากแรงกดบนเนื้อพระให้แนบสนิทกับผิวแม่พิมพ์ แรงกดประเภทนี้เริ่มต้นจากการกดลงตรงๆ จากด้านหลังพระโดยอาจจะใช้อุปกรณ์ช่วยกดเช่นแผ่นไม้กระดาน แต่เมื่อเนื้อพระลงไปในบล็อกแม่พิมพ์แล้วแรงกดจะมาจากทุกทิศทาง จากลักษณะของการออกแบบแม่พิมพ์ที่มีลักษณะเป็นแอ่งมีการลาดเทและกรอบบังคับพิมพ์ พื้นผิวในโซนนี้จะมีความเรียบแน่นตัวมากเป็นพิเศษ (การที่พบการปริกระเทาะเฉพาะที่ด้านหลัง ไม่พบที่ด้านหน้าองค์พระสมเด็จวัดระฆังฯ อาจจะเกิดด้วยสาเหตุนี้ก็ได้) ความเหนียวเกาะตัว และความละเอียดของเนื้อปูนวัตถุดิบ รวมถึงแรงกดไล่ฟองอากาศ มีผลโดยตรงกับความเรียบของพื้นผิว ในส่วนของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่ทำจากแม่พิมพ์ไม้นั้นการแน่นตัวของเนื้อพระจะแตกต่างกันมาก

โซนที่สอง คือ พื้นผิวด้านหลังองค์พระ กรณีพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น เป็นพื้นผิวที่เกิดจากแรงกดลงในทิศทางเดียว โดยกดผ่านอุปกรณ์ช่วยเช่นแผ่นไม้กระดานหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดลักษณะเฉพาะต่างๆ เช่นแบบ หลังเรียบ หลังกระดาน หลังกาบหมาก และหลังสังขยา พื้นผิวด้านหลังจะได้รับแรงกดที่แน่นพอสมควรแต่ไม่เท่าพื้นผิวด้านหน้า เนื่องจากขณะกดจะมีการถ่ายแรงไปด้านข้างตามการปลิ้นตัวของเนื้อพระด้วย ในส่วนของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่ทำจากแม่พิมพ์ไม้นั้นจะมีความคล้ายกัน เนื่องจากขณะกดจะมีการถ่ายแรงไปด้านข้างเช่นกัน

โซนที่สาม คือพื้นผิวด้านข้างที่เกิดจากแรงตัดเฉือน พื้นผิวที่เกิดจากแรงแบบนี้จะไม่เกิดความแน่นตัวที่เกิดจากการตัด อาจจะเกิดรอยแยกจากการตัดหรือไม่เกิดก็ได้ การตัดพระจากด้านหน้าไปด้านหลัง หรือจากด้านหลังไปด้านหน้าสังเกตจากพื้นผิวด้านนี้ได้ไม่ยาก และสามารถที่จะสังเกตเห็นความเหนียวเกาะตัวและความละเอียดเดิมๆ ของเนื้อพระก่อนกดประทับลงบนแม่พิมพ์จากพื้นผิวโซนนี้ได้ชัดเจนกว่าโซนอื่น ในส่วนของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่ทำจากแม่พิมพ์ไม้นั้นจะมีความคล้ายกัน

เมื่อตัดขอบเสร็จแล้วจึงนำมาวางผึ่งไว้ให้แห้งตัวระยะหนึ่ง หลังจากนั้นอาจจะมีการรักษาผิวพระด้วยวัสดุที่ใช้ในการรักษาผิวพระเพื่อป้องกันการสึกหรอจากการโดนน้ำหรือเหงื่อ เช่นมีการลงรัก ซึ่งรักมีอยู่หลายประเภทเช่นรักดำ รักน้ำเกลี้ยง หรืออาจทาด้วยน้ำว่าน น้ำหมาก หรือยางไม้บางชนิด พระบางองค์อาจจะมีการปิดทองล่องชาด อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือพลายชุมพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรุณาให้ข้อมูลว่า ในสมัยก่อนพระสมเด็จฯ ที่มีการล่องชาดมักจะถูกมองว่าไม่แท้ แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกัน

จากนั้นจึงนำเข้าสู่พิธีปลุกเสกใหญ่ด้วยคาถาชินบัญชรอันลือเลื่องของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตเป็นขั้นตอนต่อไป

@@@@@@@

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ พระสมเด็จศาสตร์ (https://www.facebook.com/profile.php?id=100068392400460) ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูป พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครู อีกองค์หนึ่ง เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน

พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม องค์ตำนาน ที่งดงามมากอีกองค์หนึ่ง เนื้อหนึกนุ่ม มีเม็ดพระธาตุปรากฏให้เห็นหลายจุด มีรอยรูพรุนเข็ม พื้นผนังองค์พระปรากฏรอยหนอนด้นที่เป็นเอกลักษณ์ของเนื้อพระวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงถูกต้องตามตำรา สังเกตเห็นรอยขูดแม่พิมพ์เป็นจงอยปากนกที่มุมขวาล่างองค์พระ ตัดขอบพอดีกรอบบังคับแม่พิมพ์ เส้นกรอบบังคับแม่พิมพ์มีลักษณะนูนเด่นเป็นพิเศษ ด้านหลังเป็นแบบกระดาน มีขอบปริกระเทาะที่แสดงถึงธรรมชาติความเก่า เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟสบุ๊ค – พระสมเด็จศาสตร์ (https://www.facebook.com/profile.php?id=100068392400460)
อ่านคอลัมน์ ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ เพิ่มเติม (https://www.thairath.co.th/tags/ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ)
website : https://www.thairath.co.th/lifestyle/amulet/2858195 (https://www.thairath.co.th/lifestyle/amulet/2858195)
14 พ.ค. 2568 ,10:50 น. | ไลฟ์สไตล์ > พระเครื่อง | ไทยรัฐออนไลน์