หัวข้อ: จริงหรือไม่ ที่สถิติ พระลดน้อยจำนวนลง เริ่มหัวข้อโดย: เจมส์บอนด์ ที่ พฤษภาคม 13, 2011, 07:30:37 pm จริงหรือไม่ ที่สถิติ พระลดน้อยจำนวนลง
ไม่ทราบว่า มีสถิติ ติดตามดูได้ที่ตรงไหน ใครรู้บ้างครับ :c017: หัวข้อ: Re: จริงหรือไม่ ที่สถิติ พระลดน้อยจำนวนลง เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 13, 2011, 09:39:14 pm สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กุมขมับ พบจำนวนพระ-เณร ลดฮวบ
นายอำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) บรรยายพิเศษสถานการณ์พระภิกษุสามเณรในประเทศไทยว่า การดำเนินงานของพระวินยาธิการเมื่อพบพระสงฆ์ที่ประพฤติไม่เหมาะสม จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นด้วย โดยตนหารือกับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) หลายแห่งแล้วว่า จะมีการบันทึกข้อตกลงกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่ง และสถานีตำรวจภูธรในแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของพระวินยาธิการ โดยสำรวจพระสงฆ์ ที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัยในปี 2550 พบมีพระที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัย 290 ราย นายอำนาจกล่าวต่อว่า สถานการณ์จำนวนพระภิกษุสามเณรในประเทศในภาพรวมมีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะจากผลการวิจัยของนายชาญณรงค์ บุญหนุน จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องแนวโน้มจำนวนและคุณภาพของพระสงฆ์ในชนบทของประเทศไทย เมื่อปลายปี 2550 ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า มีจำนวนพระสงฆ์ทั่วประเทศเพียง 125,000 รูป และมีสามเณรเพียงประมาณ 60,000 รูปเท่านั้น ซึ่งผิดจากข้อมูลที่สำนักงานพระพุทธศาสนาฯสำรวจไว้ว่า มีจำนวนพระภิกษุสามเณรรวม 313,267 รูป ทั้งนี้ผลวิจัยระบุด้วยว่า สาเหตุที่มีจำนวนพระภิกษุสามเณรน้อยลงนั้น เพราะเกิดมาจากประชาชนนิยมศึกษาทางโลก “ผลวิจัยยังพบว่าบางวัดมีพระสงฆ์อยู่ 20 รูป แต่มีพระที่เป็นพระจริงๆ ไม่ใช่พระที่บวชระยะสั้นเพียง 4 รูปเท่านั้น และที่เชื่อกันว่าประเทศไทยมีพระภิกษุสามเณรกว่า 300,000 รูปนั้น ไม่เป็นความจริง โดยสาเหตุหลักของการที่มีคนบวชน้อยลงมาจากคนนิยมเข้าศึกษาต่อในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มากกว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรม อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังทำให้คนนิยมบวชระยะสั้นแบบ 3 วัน 7 วัน” ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรฯกล่าว. ที่มา: ไทยรัฐ http://www.phrathai.net/news-article/ (http://www.phrathai.net/news-article/)สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ-กุมขมับ-พบจำนวนพระ-เณร-ลดฮวบ หรือคลิกที่ลิงค์นี้ครับ สาเหตุที่พระสงฆ์ ในปัจจุบันน้อยลง http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=216.msg767#msg767 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=216.msg767#msg767) หรือ http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=921&Itemid=304 (http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=921&Itemid=304) หัวข้อ: Re: จริงหรือไม่ ที่สถิติ พระลดน้อยจำนวนลง เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 13, 2011, 09:42:09 pm มติชนรายวัน วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11096
พระเณรหายไปไหน? โดยพระไพศาล วิสาโล ขบวนแห่นาคและพิธีอุปสมบทเป็นภาพที่คุ้นตาคนไทยเมื่อใกล้วันเข้าพรรษา แต่หลายปีหลังมานี้กลับมีให้เห็นน้อยมาก วัดตามเมืองต่าง ๆ มีพระนวกะมาจำพรรษาน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แม้แต่วัดใหญ่ ๆ ที่ผู้คนนิยมมาบวชในช่วงเข้าพรรษา นอกจากจำนวนพระนวกะจะลดลงแล้ว ยังบวชไม่ครบพรรษาเสียด้วยซ้ำ หลายคนบวชแค่เดือนเดียวก็ขอลาสิกขาแล้ว สภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่าสิบปีแล้วแต่เพิ่งเป็นที่สังเกตของคนทั่วไป หมู่บ้านในชนบทเป็นอันมากมีปัญหาว่าหาพระมาจำพรรษาไม่ได้ อันที่จริงนอกพรรษาก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่ไม่มีพระมาอยู่วัด แต่ไม่เป็นปัญหาเท่ากับช่วงเข้าพรรษา เพราะเป็นเทศกาลถือศีลทำบุญของชาวบ้าน หลายแห่งต้องใช้วิธี “จ้าง”พระมาอยู่ช่วงเข้าพรรษา แต่ก็มักแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่มักอยู่ได้แค่พรรษาเดียว ปีต่อไปก็ต้องหาพระรูปใหม่มาอยู่แทน จำนวนพระเณรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย (แต่คณะสงฆ์ไทยจะมองเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่หรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) แม้จะถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว แต่สำหรับสถาบันที่มีอายุยืนนานนับพันปี ปัญหาดังกล่าวต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยประสบมาก่อนเลยก็ว่าได้ แม้สถิติพระเณรจะเพิ่งมีการจัดทำขึ้นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมานี้เอง แต่เชื่อว่าในอดีต(ยกเว้นยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม)จำนวนพระเณรน่าจะอยู่ในระดับที่หากไม่คงตัวก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่มีลดลง จะว่าไปแล้วหากถอยหลังไปแค่ ๓๐-๔๐ ปี ก็จะพบว่าพระเณรเคยมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือเมื่อปี ๒๕๐๗ มีตัวเลขระบุว่าพระเณรทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น ๒๓๗,๗๗๐ รูป พอถึงปี ๒๕๒๓ จำนวนพระเณรเพิ่มเป็น ๕๐๙,๑๕๐ รูปหรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลา ๑๖ ปี อย่างไรก็ตามหลังจากปีนั้นมาจำนวนพระเณรก็ลดลงเป็นลำดับ จนถึงปี ๒๕๔๙ จำนวนพระเณรลดเหลือ ๓๑๓,๒๖๗ รูปหรือลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ตลอด ๒๖ ปีที่ผ่านมาประชากรไทยโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมื่อจำแนกเฉพาะพระอย่างเดียว ตัวเลขเมื่อปี ๒๕๔๙ เมืองไทยยังมีพระถึง ๒๕๐,๔๓๗ รูปมากกว่าเมื่อปี ๒๕๐๗ ซึ่งมีภิกษุเพียง ๑๕๒,๕๑๐ รูป แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นภาพลวงตาเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าในจำนวนกว่า ๒ แสน ๕ หมื่นรูปนี้รวมทั้งพระที่บวชระยะสั้นคือ ๗ วันถึง ๑ เดือนด้วย มีข้อมูลการวิจัยระบุว่าใน ช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๗ พระเณรที่บวชตั้งแต่ ๗ วันถึง ๑ เดือนในกรุงเทพมหานครและราชบุรีมีเกือบร้อยละ ๗๐ ของผู้บวชทั้งหมด หากคนในจังหวัดอื่น ๆ มีระยะเวลาการบวชในทำนองเดียวกับคนในสองจังหวัดดังกล่าว ก็หมายความว่าในเมืองไทยปัจจุบันมีพระที่บวชเกินกว่า ๑ เดือนขึ้นไปประมาณ ๘๐,๐๐๐ รูปเท่านั้น หรือเท่ากับ ๑ รูปเศษ ๆ ต่อ ๑ หมู่บ้าน และหากคัดพระที่บวชตั้งแต่ ๑- ๓ เดือนออกไป จะเหลือพระที่ยืนพื้นน้อยกว่านี้มาก อาจไม่ถึง ๑ รูป ต่อ ๑ หมู่บ้านด้วยซ้ำ การที่พระมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องนั้นมีหลายสาเหตุ อาทิ ๑. จำนวนสามเณรลดลง อันเป็นผลจากนโยบายการศึกษาภาคบังคับของรัฐ ซึ่งขยายไปจนถึงม.๓ และกำลังจะขยายไปถึงม.๖ อีกทั้งยังสามารถขยายออกไปครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้พ่อแม่ในชนบทนิยมส่งลูกไปโรงเรียนมากกว่าที่จะส่งลูกไปบวชเณร (เพื่อแสวงโอกาสทางการศึกษาอย่างแต่ก่อน) สมัยก่อนพระหนุ่มจำนวนไม่น้อยในชนบทก็มาจากเณรที่บวชแล้วยังไม่สึก อาจจะเพราะต้องการเรียนต่อให้สูงขึ้น หรือเพราะมีศรัทธาปสาทะในพระศาสนาก็ได้ ๒. การขาดแรงงานในหมู่บ้าน สมัยก่อนครอบครัวหนึ่ง ๆ มีลูกหลายคน ใครที่มาบวช(ตามประเพณี) มักจะบวชได้นานอย่างน้อยทั้งพรรษา หรืออาจทั้งปี ไม่เป็นภาระแก่ที่บ้าน เพราะที่บ้านมีแรงงานหลายคน แต่เดี๋ยวนี้คนหนุ่มบวชนานไม่ได้ เพราะครอบครัวหนึ่งมีลูกแค่ ๑-๒ คน ใครมาบวชก็จะทำให้คนที่เหลือมีงานหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นมักจะบวชแค่ ๑ เดือนอย่างมาก (ส่วนใหญ่ก็ ๑๕ วัน) และนิยมบวชฤดูแล้ง ยิ่งการบวชจำพรรษาด้วยแล้ว ยิ่งทำได้ยาก เพราะเป็นฤดูเพาะปลูก ต้องอาศัยแรงงานมาก ครั้นจะไปจ้างคนอื่นมาเป็นแรงงาน ก็ทำได้ยาก เพราะเดี๋ยวนี้แรงงานในหมู่บ้านขาดแคลน เนื่องจากมีลูกกันน้อยลง นี้เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายวางแผนครอบครัวที่ได้ผลมาเกือบ ๓๐ ปี ไม่ใช่แต่จะทำให้พระลดน้อยลง (จนกลายเป็นวัดร้างมากมาย) แต่ยังทำให้โรงเรียนในชนบทหลายแห่งต้องปิด เพราะมีนักเรียนน้อยมาก จนไม่คุ้มที่จะเปิดต่อ ๓. “ความรู้”ที่ได้จากการบวช ไม่สอดคล้องกับชีวิตของคนปัจจุบัน สมัยก่อนคนนิยมบวชเรียน เพราะเขาเห็นว่า “คุ้มค่า”เป็นประโยชน์แก่ชีวิตฆราวาส นอกจากทำให้อ่านออกเขียนได้ และรู้วิชาทางโลก หรือวิชาช่างแล้ว สึกไปก็มีคนพร้อมยกลูกสาวให้ (เพราะถือว่าเป็นคนสุก) ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงประโยชน์ทางธรรมและบุญกุศลที่ตนเองและพ่อแม่จะได้รับ แต่ปัจจุบันความรู้ที่จำเป็นแก่ชีวิตฆราวาส ผู้คนเห็นว่าสามารถหาจากแหล่งอื่นได้ เช่น โรงเรียน ยิ่งทุกวันนี้สามารถกินอยู่กับหญิงสาวได้โดยไม่ต้องบวช ก็เลยไม่มีความจำเป็นต้องมาบวช การมาบวชจึงมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อคล้อยตามประเพณีเท่านั้น เช่น เพื่อเป็นบุญกุศลให้พ่อแม่ หรือให้พ่อแม่เกาะชายจีวรขึ้นสวรรค์ ๔. วัดขาดผู้ให้การศึกษาหรือแนะนำสั่งสอน ไม่เพียงการแนะนำสั่งสอนในทางโลกเท่านั้น แม้แต่การให้การศึกษาในทางธรรม รวมถึงการอบรมกิริยามารยาท เวลานี้วัดส่วนใหญ่โดยเฉพาะในชนบท ไม่ได้ทำหน้าที่นี้เลย เพราะเจ้าอาวาสหรือพระในวัด ขาดความรู้ความสามารถ ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่งมาบวชได้ไม่นาน (เป็นพระจำพวก “หลวงตา”) ความรู้ทางปริยัติธรรมก็ขาด ประสบการณ์การปฏิบัติธรรมก็มีน้อยมาก ส่วนความรู้ทางโลกหรือการทำมาหากินก็ไม่ทันหรือสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ (แม้เป็นหมอสมุนไพร หรือช่างสานกระบุงฝีมือดี แต่คนหนุ่มน้อยคนจะสนใจ) จึงไม่สามารถดึงดูดให้คนหนุ่มเข้าวัดมาบวชได้ ส่วนพ่อแม่ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะให้ลูกมาบวชนาน ๆ ลูกบวชตามประเพณีแค่ ๑๕ วันก็พอใจแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังทำให้ไม่สามารถดึงผู้บวชให้อยู่ต่อได้นาน ๆ เพราะขาดศรัทธาปสาทะหรือไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายในการบวช ๕.พระเป็นที่นับถือของชาวบ้านน้อยลง แม้พระในปัจจุบันจะมีจุดอ่อนด้านความรู้ทางโลก แต่หากมีศีลาจารวัตรน่าศรัทธา ก็ยังสามารถดึงดูดคนให้เข้าวัดได้ อย่างน้อยพ่อแม่ก็อยากให้ลูกมาบวชเพื่อให้หลวงพ่อสั่งสอนในทางวินัยหรือความประพฤติ แต่ความที่เจ้าอาวาสจำนวนไม่น้อยไม่ทำตัวให้น่านับถือ มีชีวิตหรือความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างจากฆราวาส ชาวบ้านจึงไม่กระตือรือร้นที่จะส่งลูกมาบวชกับท่าน หลายคนกลับมีเรื่องวิวาทขัดแย้งกับพระหรือเจ้าอาวาสด้วยซ้ำ ๖. สองประการหลังมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่พระส่วนใหญ่ขาดการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ปัญหานี้โยงไปถึงนโยบายการศึกษาคณะสงฆ์ ที่ปล่อยให้แต่ละวัดจัดการกันเอง โดยคณะสงฆ์ดูแลแต่เรื่องการสอบหรือการวัดผลเท่านั้น อีกทั้งการศึกษาดังกล่าวก็จำกัดแต่ในด้านปริยัติ ขาดด้านปฏิบัติ โดยที่ปริยัติก็เน้นแต่การท่องจำ ไม่พัฒนาความสามารถในการคิดและประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ๗.ระบบการปกครองคณะสงฆ์ไม่เอื้อต่อการศึกษาคณะสงฆ์ กล่าวคือไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาของคณะสงฆ์ แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่า เช่น การก่อสร้าง ยิ่งระบบเปิดช่องให้มีการวิ่งเต้นทางสมณศักดิ์ ก็ยิ่งไม่มีแรงจูงใจให้เจ้าอาวาสหรือพระสังฆาธิการทุ่มเทให้กับการศึกษา อย่างไรก็ตามการขาดแคลนพระ มิได้เป็นปัญหามากเท่ากับคุณภาพของพระที่ตกต่ำลง แม้นว่าพระจะมีจำนวนลดน้อยลงกว่านี้ครึ่งหนึ่ง แต่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่เท่าตัว สถาบันสงฆ์และสังคมไทยก็จะดีกว่านี้มาก ตรงกันข้ามตราบใดที่ที่พระยังขาดคุณภาพดังที่เป็นอยู่ การมีพระจำนวนมาก ๆ มีแต่จะทำให้คนเสื่อมศรัทธาในคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันก็เป็นภาระอย่างมากในการควบคุมดูแลไม่ให้วิปริตจากพระวินัยและทำพระวินัยให้วิปริต ซึ่งในปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าคณะสงฆ์ทำได้ยาก การพัฒนาคุณภาพของพระที่มีอยู่จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัจจัยที่สำคัญคือการศึกษาซึ่งคณะสงฆ์จะต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังมากกว่านี้ โดยควรร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การศึกษาสงฆ์เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยในขั้นแรกอาจใช้วิธีรวมกำลังลงไปเฉพาะจุด เช่น จัดตั้งศูนย์กลางทางการศึกษาในทุกอำเภอทั่วประเทศ จากนั้นจึงค่อยกระจายไปทุกตำบล โดยต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรและวิธีการเสียใหม่ (เช่น เปลี่ยนจากการสอนไปเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้) ครอบคลุมทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ ทั้งทางธรรมและทางโลก การจัดการศึกษาดังกล่าวไม่ควรเน้นเฉพาะพระที่บวชระยะยาวเท่านั้น หากควรให้ความสำคัญกับพระที่บวชระยะสั้นด้วย เพราะหากท่านเหล่านั้นเข้าใจแก่นแท้ของพระศาสนา อีกทั้งได้รับความสุขสงบเย็นจากการปฏิบัติ ระหว่างบวช ก็จะมีศรัทธาในชีวิตพรหมจรรย์ และตัดสินใจบวชนานขึ้นจนอาจเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันศาสนทายาทที่มาจากสามเณรมีจำนวนลดลง พระที่บวชระยะสั้นจึงควรได้รับความใส่ใจในฐานะที่มีโอกาสเป็นศาสนทายาทกลุ่มใหม่ที่จะมาทดแทนพระที่สึกหาลาเพศไป ขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทเชื่อมโยงกับชุมชน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ชุมชนกลับมามีความสัมพันธ์อันดีกับวัดและและช่วยอุปถัมภ์พระสงฆ์แล้ว หากยังเปิดโอกาสให้ท่านได้ใช้ศักยภาพในทางสร้างสรรค์ ทำให้ท่านเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นพระและมีความมั่นคงในพระศาสนายิ่งขึ้น ไม่รู้สึกโดดเดียว ท้อแท้ หรือไร้ค่าจนต้องลาสิกขาไป อย่างไรก็ตามในระยะสั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการแก้ปัญหาพระขาดแคลนในชนบทซึ่งกำลังเป็นปัญหาทั่วประเทศ ในเบื้องต้นควรให้คณะสงฆ์ในพื้นที่ไม่ว่าระดับอำเภอหรือจังหวัด ปรึกษาหารือร่วมกับชุมชน ทั้งชาวบ้านและอบต. ว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร อาจจะอาศัยวิธีเวียนพระในอำเภอหรือในจังหวัด ไปประจำในชุมชนที่ขาดแคลน โดยมีการกลั่นกรองพอสมควร และมีกระบวนการอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าท่านจะไปทำงานในชุมชนได้อย่างน้อยก็ในด้านธรรมะ โดยทางชุมชนและอบต.จะต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้วย เช่น งบประมาณการอบรมพระ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างสำนึกให้ชุมชนมีส่วนรับผิดชอบในการอุปถัมภ์และดูแลพระสงฆ์ให้บำเพ็ญสมณกิจได้ด้วยดี ไม่ผิดเพี้ยนหรือไม่เกิดปัญหาขึ้นมา ทั้งหมดนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางด้วย มาตรการเหล่านี้หากละเลยไม่ใส่ใจ ก็น่าเป็นห่วงว่าสถานการณ์ของคณะสงฆ์ไทยจะถดถอยลงจนเกินกว่าจะแก้ได้ หมายเหตุ ขอขอบคุณอาจารย์ชาญณรงค์ บุญหนุน สำหรับข้อมูลจากงานวิจัย ที่มา http://www.visalo.org/article/matichon255107.htm (http://www.visalo.org/article/matichon255107.htm) หัวข้อ: Re: จริงหรือไม่ ที่สถิติ พระลดน้อยจำนวนลง เริ่มหัวข้อโดย: ธัมมะวังโส ที่ พฤษภาคม 14, 2011, 07:43:50 am จริงตามนั้น เลยนะจ๊ะ
ตอนนี้พระน้อยลงจริง ๆ นะจ๊ะ สาเหตุหลัก เพราะเปิดการศึกษาทางโลก ทำให้ศาสนทายาทได้ออกสู่วิถีชาวบ้านมากขึ้น ส่งเสริมวิชาทางโลก ในขณะเดียวกัน วิชาทางธรรมก็ลดลง ตอนนี้ มส. ได้มีนโยบาย บังคับเรียนภาษาบาลี ด้วยแล้ว เจริญธรรม ;) |