สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => ถามตอบ ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ กรรมฐาน => ข้อความที่เริ่มโดย: บุญสม ที่ กันยายน 01, 2011, 09:27:42 am



หัวข้อ: สากัจฉา หมายถึงการปรับกัมมัฏฐานให้เกิดความเหมาะสม
เริ่มหัวข้อโดย: บุญสม ที่ กันยายน 01, 2011, 09:27:42 am
สากัจฉา  หมายถึงการปรับกัมมัฏฐานให้เกิดความเหมาะสม 
(ม.มู.อ.  ๒/๔๕๒/๒๕๔)


อยากทราบความหมาย เพราะยังไม่ค่อยจะเข้าใจ ครับกับประโยคนี้ ครับ

 :c017: :25:


หัวข้อ: Re: สากัจฉา หมายถึงการปรับกัมมัฏฐานให้เกิดความเหมาะสม
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 01, 2011, 01:32:33 pm
 
(http://www.rmutphysics.com/charud/scibook/buddhist1/buddhist1pic/pic2/76.jpg)

สากัจฉา
    น. การพูดจา, การปรึกษา. (ป.).


อ้างอิง พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

๓. สากัจฉาสูตร

             [๑๖๓] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อสนทนากับเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

    เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยศีลสัมปทากถาได้๑
    เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยสมาธิสัมปทากถาได้ ๑
    เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยตนเองและเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยปัญญาสัมปทากถาได้ ๑
    เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติสัมปทากถาได้ ๑
    เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะโดยตนเองและเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติญาณทัสสนะสัมปทากถาได้ ๑

ดูกรอาวุโสทั้งหลายภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเพื่อสนทนากับเพื่อนพรหมจรรย์

จบสูตรที่ ๓


อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๔๔๒๓ - ๔๔๓๖. หน้าที่ ๑๙๓. http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4423&Z=4436&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4423&Z=4436&pagebreak=0)             
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=163 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=163)
ขอบคุณภาพจากwww.rmutphysics.com



(http://www.rd1677.com/backoffice/PicUpdate/61827.jpg)

วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

            พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงสอนใครแต่ละครั้ง พระองค์ก็ทรงอาศัยองค์ประกอบหลายๆอย่าง   ในการสอนบุคคลระดับต่างๆ ที่มีพื้นฐานความรู้     สติปัญญาที่แตกต่างกัน   พระองค์ได้ประยุกต์คำสอนแต่ละลักษณะให้มีความเหมาะสม   เป็นการสอนที่แสดงถึงพุทธลีลาของพระองค์ ที่สำคัญการสอนในลักษณะนี้ของพระองค์ เป็นการนำเนื้อหาที่มีอยู่มาทำการตีความ โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วนำเข้าสู่หลักการที่ถูกต้อง  ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาดังนี้
 
วิธีการสอนแบบต่างๆ
            วิธีการสอนแบบต่างๆ ของพระพุทธเจ้าในหัวข้อนี้   ผู้เขียนได้กำหนดขอบข่ายตามลักษณะหัวข้อที่พระธรรมปิฎกกล่าวไว้ในหนังสือชื่อว่าพุทธวิธีการสอน   เพื่อง่ายต่อการจัดลำดับขั้นตอนการทำความเข้าใจ  ซึ่งการสอนธรรมะของพระพุทธเจ้ามีวิธีการที่หลากหลาย    พระองค์จะทรงพิจารณาจากบุคคลที่กำลังรับฟัง   ถ้าบุคคลมีระดับสติปัญญาน้อย ก็จะทรงสอนธรรมะอีกรูปแบบหนึ่ง ผู้มีปัญญามากก็จะใช้อีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถึงจะมีวิธีการสอนที่หลากหลายอย่างไร    เมื่อจัดเข้าอยู่ในประเภทแล้ว   จำแนกวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าได้ ๔ ประเภทคือ
 
          ๑. แบบสากัจฉาหรือสนทนา
            เป็นการสอนโดยใช้วิธีการถามคู่สนทนา เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจธรรมะและความเลื่อมใสศรัทธา    วิธีการสอนแบบนี้จะเห็นได้จากการที่พระองค์ใช้โปรดบุคคลในกลุ่มที่มีจำนวนจำกัดที่สามารถพูดตอบโต้กันได้   การสอนแบบนี้จะมีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายๆที่  

            เช่นกรณีของปริพพาชกชื่อว่าวัจฉโคตร  ที่เข้าไปทูลถามเรื่องความเห็นสุดโต่ง ๑๐ ประการกับพระองค์   และก็ได้มีการสนทนาแบบถาม – ตอบ ในเรื่องดังกล่าวระหว่างปริพพาชกกับพระพุทธองค์ เป็นต้น   ในการสอนแบบสากัจฉาหรือสนทนา   จะมีการถามในรายละเอียดได้มากกว่าการสอนแบบทั่วไป   เพราะเป็นการให้ข้อมูลต่อกลุ่มชนที่มีจำนวนจำกัด    เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบ   ผู้ฟังมักจะได้รับคุณวิเศษจากการฟังธรรมโดยวิธีนี้อยู่เสมอ
         
          ๒.   แบบบรรยาย 
            พระพุทธเจ้าจะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ในการแสดงธรรมประจำวัน   ซึ่งมีประชาชนและพระสาวกเป็นจำนวนมากมารับฟัง ถือว่าเป็นวิธีการที่พระพุทธองค์ใช้มากที่สุดในการแสดงธรรม    มีทั้งการแสดงธรรมที่มีใจความยาว และที่มีใจความแบบสั้นๆตามแต่สถานการณ์ที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น ในพรหมชาลสูตร   พระองค์ก็ได้บรรยายเกี่ยวกับเนื้อหาของศีลซึ่งแบ่งออกเป็น   ๓ ระดับคือ

            ๑)   ศีลระดับต้นที่เรียกว่าจุลศีล 
            ๒)   ศีลระดับกลางที่เรียกว่ามัชฌิมศีล 
            ๓)   ศีลระดับสูงที่เรียกว่ามหาศีล 

            และในตอนท้ายก็ทรงแสดงเรื่องทิฏฐิ  ทฤษฎีหรือปรัชญาของลัทธิต่างๆ ร่วมสมัยพุทธกาล    ซึ่งมีทั้งหมด ๖๒ ทฤษฎี   โดยพระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงหรือบรรยาย และชี้ให้เห็นว่า   พระพุทธศาสนามีความเห็น   หรือมีหลักคำสอนที่ต่างจากทฤษฎีทั้ง ๖๒ ประการนี้อย่างไร
 
          ๓. แบบตอบปัญหา
            การสอนแบบตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า จะทรงสอนให้พิจารณาดูลักษณะของปัญหาและใช้วิธีตอบให้เหมาะสมกัน   ซึ่งในการตอบปัญหาของพระองค์นั้น จะทรงพิจารณาจากความเหมาะสม     ตามลำดับแห่งภูมิรู้ของผู้ถามเป็นสำคัญ   เช่น   ในเทวตาสังยุตที่มีเทวดาไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า   “บุคคลให้อะไรชื่อว่าให้กำลัง   ชื่อว่าให้วรรณะ   ชื่อว่าให้ความสุข   ชื่อว่าให้จักษุ   ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง”

            พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า   “บุคคลที่ให้ข้าว   ชื่อว่าให้กำลัง   ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ   ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข   ให้ประทีปชื่อว่าให้จักษุ     และผู้ให้ที่พักชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมตะ” ในเนื้อหาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะการสอนแบบตอบปัญหา   และแสดงถึงการให้ความหมาย ด้วยการตีความคำถามในขณะเดียวกันด้วย
 
          ๔.   แบบวางกฎข้อบังคับ 
            เป็นการสอนโดยใช้วิธีการกำหนดหลักเกณฑ์   กฎ   และข้อบังคับให้พระสาวกหรือสงฆ์ปฏิบัติ   หรือยึดถือปฏิบัติด้วยความเห็นชอบพร้อมกัน     วิธีการนี้จะเป็นลักษณะของการออกคำสั่งให้ผู้ศึกษาปฏิบัติตาม     ถือว่าเป็นการสอนโดยการวางระเบียบให้ปฏิบัติร่วมกัน   เพื่อความสงบสุขแห่งหมู่คณะ   

ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยต่างๆ   ซึ่งใช้เป็นข้อบังคับให้พระภิกษุได้ปฏิบัติตาม   และที่สำคัญกฎข้อบังคับที่พระองค์ทรงบัญญัตินั้น   สามารถเป็นตัวแทนของพระองค์ได้   ดังที่ทรงตรัสในวันที่จะเสด็จปรินิพพานว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว   บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย   หลังจากเราล่วงลับไปก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”


อ้างอิง
หนังสือ "วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า"   
ผู้เรียบเรียงอาศัยแนวการอธิบายของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
รวมทั้งในส่วนกลวิธีในการสอนด้วย   เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจตามกรอบของคำสอนตามแนวที่ท่านได้กล่าวไว้ใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต),
พุทธวิธีในการสอน, พิมพ์ครั้งที่ ๗, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมมิก, ๒๕๔๔).
http://www.watyan.net/?name=news&file=readnews&id=40 (http://www.watyan.net/?name=news&file=readnews&id=40)
ขอบคุณภาพจากwww.rd1677.com


หัวข้อ: Re: สากัจฉา หมายถึงการปรับกัมมัฏฐานให้เกิดความเหมาะสม
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีสุพรรณ ที่ กันยายน 02, 2011, 10:05:36 am
ดังนั้น สากัจฉา ก็หมายถึงการร่ำเรียน กรรมฐาน ใช่หรือไม่คะ

  :25:


หัวข้อ: Re: สากัจฉา หมายถึงการปรับกัมมัฏฐานให้เกิดความเหมาะสม
เริ่มหัวข้อโดย: ธัมมะวังโส ที่ พฤศจิกายน 05, 2011, 10:15:32 am
อนุโมทนา กับคำอธิบาย ชัดเจนแล้ว ในความหมายของ อรรถ และ พยัชนะ

เจริญพร
 ;)