สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

ธรรมะสาระ => สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 13, 2011, 11:15:33 am



หัวข้อ: ธรรมที่เป็น "ปฏิปักษ์ต่อฌาน"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 13, 2011, 11:15:33 am
(http://gallery.palungjit.com/data/543/lpput03.jpg)

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นข้าศึกของฌาน คือ ธรรมที่คอยขัดขวางไม่ให้ฌานจิตเกิดขึ้น เรียกว่า นิวรณ์
 
นิวรณ์ มี ๕ ประการ ได้แก่

๑. กามฉันทนิวรณ์
    คือ   ความติดใจในกามคุณอารมณ์ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และ การสัมผัสถูกต้อง ที่น่าอภิรมณ์ เมื่อใดที่ไปเพลิดเพลิน ติดใจในสิ่งเหล่านี้แล้ว จิตก็จะไม่สามารถเข้าถึงฌานได้

๒. พยาปาทนิวรณ์
    คือ   ความมุ่งปองร้ายผู้อื่น เปรียบเหมือนน้ำ ที่เดือดพล่าน ถ้าจิตครุ่นคิดปองร้ายผู้อื่นอยู่ ฌานจิตก็จะเกิดไม่ได้ จึงต้องใช้ปีติข่ม ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อฌานจิตนี้

๓. ถีนมิทธนิวรณ์
    คือ   ความหดหู่ ความท้อถอย ไม่ใส่ใจ เป็นอันดีต่ออารมณ์ที่เพ่งนั้น เปรียบเหมือนน้ำ ที่มีจอก มีแหนปิดบังอยู่ ถ้าจิตใจเกิดความท้อถอย ไม่ใส่ใจต่ออารมณ์ ที่กำลังเพ่งอยู่ ฌานย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ต้องใช้วิตกข่ม ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ ต่อฌานนี้

๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์
   คือ   ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ซึ่งเปรียบเหมือนน้ำ ที่ถูกลมพัดกระเพื่อมอยู่เสมอ ถ้าจิตใจยังนึกคิด ในเรื่องราวต่าง ๆ อยู่ จิตก็จะไม่สามารถที่จะเข้าถึงฌานได้ ต้องใช้สุขข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนี้

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์
    คือ   ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ เปรียบเหมือนน้ำที่ขุ่น เป็นตม หรือน้ำที่ตั้งไว้ในที่มืด ถ้าเกิดลังเล ไม่แน่ใจอยู่ตราบใด ก็จะเป็นเหต ุให้เข้าถึงฌานไม่ได้ตราบนั้น ต้องใช้วิจารข่ม ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนี้เสีย
         
          เมื่อได้ข่มนิวรณ์ ที่เป็นปฏิปักษ์ธรรม ที่ขัดขวาง มิให้เกิดฌานได้เมื่อใด ฌานจิต จึงจะเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น ถ้านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ ยังคงมีอยู่ประการใด ประการหนึ่งเพียงประการเดียว ฌานจิตก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เหตุนี้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จึงสำคัญยิ่ง ที่เป็นปัจจัยให้เกิดฌานจิต ดังนั้นจึงเรียกธรรม ๕ ประการนี้ว่า เป็น องค์ฌาน เพราะเป็นองค์สำคัญที่ทำให้เกิดฌานจิต กล่าวคือ
 
องค์ฌาน มี ๕ ประการ
    วิตก   ทำหน้าที่   ข่มถีนมิทธนิวรณ์
    วิจาร   ทำหน้าที่   ข่มวิจิกิจฉานิวรณ์
    ปีติ    ทำหน้าที่ำ   ข่มพยาปาทนิวรณ์
    สุข    ทำหน้าที่   ข่มอุทธัจจนิวรณ์
    เอกัคคตา    ทำหน้าที่   ข่มกามฉันทนิวรณ์


(http://www.alumnispu.com/profile/my_documents/my_pictures/5DE_126525%5B1%5D.jpg)

การข่มนิวรณ์ด้วยองค์ของฌานทั้ง ๕ มีดังนี้

           ๑. วิตก คือการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เริ่มแรกทำฌานต้องมีสิ่งสำหรับเพ่ง เป็นต้นว่า ใช้ดินมาทำกสิน แล้วยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ คือการเพ่งดวงกสิณ โดยไม่ให้จิตใจ ไปนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ ถ้าจิตนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ อยู่ จิตก็จะตกไปจากการเพ่งดวงกสิณ ต้องยกจิตขึ้นสู่การเพ่งใหม่ จิตจะต้องเพ่งอยู่กับดวงกสิณตลอดเวลา เมื่อจิตเกิดความท้อถอย ความง่วง (ถีนมิทธะ) ก็จะเข้าครอบงำจิตใจได้ (วิตกเจตสิก ข่มถีนมิทธเจตสิก)
         
           ๒. วิจาร คือการประคองจิตให้มั่นคงอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง เมื่อวิตกยกจิต ขึ้นสู่อารมณ์ที่เพ่งแล้ว วิจารก็ประคองจิต ไม่ให้ตกไปจากอารมณ์ที่เพ่ง เหมือนการถลาไปในอากาศของนก (วิตกเหมือนการกระพือปีกของนก) ดังนั้น ผู้ปฏิบัติควรทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ไม่ให้เกิดความลังเลสงสัยเกิดขึ้นในจิตใจ ว่าการเพ่งเช่นนี้จะได้ฌานจริงหรือ ถ้าเกิดลังเลใจ (วิจิกิจฉา) จิตก็จะตกไปจากอารมณ์ที่เพ่ง
         
          ๓. ปีติ คือความปลาบปลื้มใจ อิ่มเอิบใจในการเพ่งอารมณ์ เมื่อได้ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ต้องประคองจิตให้มั่น โดยปราศจากการท้อถอย และลังเลใจ ความปลาบปลื้ม อิ่มเอิบใจย่อมเกิดขึ้น ขณะที่จิตมีปีติ ปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจอยู่นั้น ก็จะไม่มีความพยาบาท มุ่งร้าย หรือขุ่นเคืองใจ เข้ามาแทรกแซงได้้

ปีติ ความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจ มี ๕ ประการ คือ
๑)   ขุททกาปีติ   ปลาบปลื้มใจ   เล็กน้อย พอรู้สึกขนลุก
๒)   ขณิกาปีติ   ปลาบปลื้มใจ   ชั่วขณะ เกิดขึ้นบ่อยๆ
๓)   โอกกันติกาปีติ   ปลาบปลื้มใจ   ถึงกับตัวโยกตัวโคลง
๔)   อุพเพงคาปีติ   ปลาบปลื้มใจ   จนตัวลอย
๕)   ผรณาปีติ   ปลาบปลื้มใจ   จนอิ่มเอิบซาบซ่านไปทั่วกายและใจ

          ปีติ ที่เป็นองค์ฌาน ที่สามารถข่มพยาบาทนิวรณ์ได้นั้น ต้องถึงผรณาปีติ ส่วนปีติอีก ๔ ไม่นับว่าเป็นองค์ฌาน เพราะยังเป็นของหยาบ และมีกำลังน้อยอยู่
         
          ๔. สุข ในองค์ฌาน หมายถึง ความสุขใจ หรือโสมนัสเวทนา เมื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์แล้ว ประคองให้จิตตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์ จนปีติเกิดเช่นนี้แล้ว สุขก็ย่อมเกิดตามมา ความสุข ก็คือความสงบ ที่ปราศจากความฟุ้งซ่าน รำคาญใจนั่นเอง
         
          ๕. เอกัคคตา คือจิตที่มีสมาธิแน่วแน่ ในอารมณ์เดียว คือจะแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เอกัคคตามี ๓ ระดับ คือ

๑)   ขณิกสมาธิ    หรือบริกรรมสมาธิ คือ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ได้ชั่วขณะ หรือเป็นสมาธิ ขณะบริกรรม ว่าปฐวี ๆ เป็นต้น
๒)   อุปจารสมาธิ   คือ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใกล้จะได้ฌาน
๓)   อัปปนาสมาธิ    คือ จิตตั้งมั่น หรือแนบแน่น อยู่ในอารมณ์ที่กำหนด ไม่ซัดส่ายไปไหน กิเลสไม่สามารถรบกวนได้ และอัปปนาสมาธิ ก็คือ ฌานจิต ที่เป็นอัปปนา เกิดขึ้นแล้ว


(http://www.watpanamjone.org/Image/Meawsound.jpg)
         
          การข่มนิวรณ์ ด้วยอำนาจแห่งองค์ฌานนี้ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน เป็นการประหาณ ไว้ได้นานตราบเท่าที่ ฌานยังไม่เสื่อม เปรียบประดุจหินทับหญ้า ถ้าไม่ยกหินออก หญ้าก็งอกขึ้นไม่ได้ฉันใด ถ้าฌานยังไม่เสื่อมนิวรณ์ ก็ไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ฉันนั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า นิวรณ์กำเริบขึ้นได้เมื่อใด ฌานก็จะเสื่อมไปได้เมื่อนั้น


อ้างอิง
แบบเรียนอภิธรรม หลักสูตรเรียนทางอินเตอร์เน็ท
อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย  มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย นายวิศิษฐ์  ชัยสุวรรณ
http://www.buddhism-online.org/Section03B_01.htm (http://www.buddhism-online.org/Section03B_01.htm)
ขอบคุณภาพจาก http://gallery.palungjit.com/,http://www.alumnispu.com/,http://www.watpanamjone.org/ (http://gallery.palungjit.com/,http://www.alumnispu.com/,http://www.watpanamjone.org/)


หัวข้อ: Re: ธรรมที่เป็น "ปฏิปักษ์ต่อฌาน"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 05, 2012, 12:15:43 pm

กระทู้แนะนำครับ
การคบกัลยาณมิตร การพูดคุยเรื่องที่เป็นกุศล "ช่วยละนิวรณ์ได้"
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6830.msg25332;topicseen#msg25332 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6830.msg25332;topicseen#msg25332)