สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 26, 2011, 07:15:45 pm



หัวข้อ: The Day After Tomorrow บทเรียนสำหรับวันพรุ่งนี้(มีคลิป)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 26, 2011, 07:15:45 pm
The Day After Tomorrow บทเรียนสำหรับวันพรุ่งนี้
(หนังช่างคิด  OLDBOY บางคูวัด)

เพราะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งละลาย น้ำท่วม พายุถล่ม ติดบนยอดตึก ขาดแคลนอาหาร
บทพิสูจน์ความสำคัญของความรักในครอบครัว ความเสียสละ จิตสาธารณะ ...
แต่อะไรล่ะที่ทำให้เราเดินมาถึงจุดนี้ และเมื่อรอดไปได้แล้ว เราจะเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้งกันอย่างไรในวันพรุ่งนี้


(http://www.matichon.co.th/online/2011/10/13196156671319616211l.jpg)

ในห้วงมหาวิกฤตอุทกภัยแห่งสยาม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อันมีพิบัตภัยเป็นฉากหลัง ความย่อยยับระดับสาธารณะ ไปจนถึงระดับ สากล กระตุ้นความสนใจของผู้ชมได้ตามสูตรสำเร็จที่ผู้เขียนผ่านตา มีประสบการณ์ร่วมมาตั้งแต่ยุค Earthquake (จะเก่าไปไหนเนี่ย) มาจนถึงรุ่น 2012

แน่นอนว่าประเด็นสำคัญที่เป็นจุดขายก็คือ ภาพจำลอง “วันสิ้นโลก” ที่คนส่วนใหญ่ก็พยายามจินตนการตามไปด้วยว่า หากวันนั้นมาถึงจริง จะเป็นอย่างไรหนอ อาคารบ้านเรือนถล่มพังทลาย ชีวิตผู้คนล้มตาย ต่างก็เอาตัวรอดรักษาชีวิต ไม่คิดคำนึงถึงกฎเกณฑ์ใดๆ ฯลฯ

ดูภาพการทำลายล้าง สถานการณ์จลาจลแบบกลียุค ที่ปรากฎในภาพยนตร์เมื่อใดก็กระตุ้นต่อมตื่นเต้นให้ทำงานสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ดีนักแล เสียอยู่แต่ว่า ฉากจบของเรื่อง พระเอกของเรา หรือมวลประชาผู้เสียสละ สามัคคี ก็มักฟันฝ่า เอาชนะ หาทางรอดจนได้เสียทุกทึไป

เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ The Day After Tomorrow ที่แม้จะวางบทเอาไว้บนโครงที่เข้มแข็ง ดูมีเหตุมีผลน่าเชื่อถือ เชื่อมโยงเข้ากับกระแสวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งคนทั้งโลกกำลังหวาดผวากับ “ภาวะโลกร้อน”

แต่องค์ประกอบที่วางโจทย์เอาไว้ให้ตัวละครดำเนินเรื่องตามขนบนิยมของ ฮอลลีวู๊ด ก็พาให้ผู้ชมเดินห่างจากมุมคิดเรื่อง “ต้นธาร” หรือ มูลเหตุแห่งโลกร้อน ที่ควรเก็บไปคิด แก้ไขอย่างจริงจังในระยะยาว

แน่ละในเมื่อเป็นภาพยนตร์อเมริกัน การพุ่งเป้าโจมตีไปที่ “วิถีชีวิต” และ “การบริโภค” แบบอเมริกันที่เป็นสาเหตุสำคัญอันทำให้เกิดภาวะโลกร้อนรุนแรง จึงแปะติดมาแบบบางเบา จนผู้ชมแทบจะลืมไปว่า นั่นแหละตัวการทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความหายนะ (สุดท้ายก็มัวแต่ไปช่วยลุ้นให้พระเอกและครอบครัวเอาตัวรอด และสร้างวีรกรรมจนสำเร็จ


(http://www.matichon.co.th/online/2011/10/13196156671319616235l.jpg)

ดูจบแล้วหันกลับมาเสพข่าว “น้ำท่วม” ในดินแดนสยาม ก็ให้รู้สึกหวั่นใจว่า ถึงที่สุดแล้ว เราจะได้บทเรียนอะไรบ้าง จากความสูญเสียมหาศาลที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย(นับจากเสียกรุงศรีอยุธยา?) มาต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้อย่างเข้มแข็ง พร้อมรับกับวิกฤตอื่นๆ ได้มากน้อยเพียง

เราได้รู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับน้ำท่วม  ความหมายเชิงอุทกศาสตร์ หลักการบริหารจัดการน้ำ เทคนิคด้านการชลประทาน ฯลฯ (ที่ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่บอดใบ้ ไม่เคยถูกบรรจุอยู่ในหยักสมองแม้แต่น้อย)

เรารู้จักภูมิศาสตร์ประเทศไทยกันมากขึ้น รู้จักชื่อแม่น้ำ ลำคลองแบบท่องขึ้นใจ ทั้ง เจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี ระพีพัฒน์ รังสิตประยูรศักดิ์ หลักหก  ฯลฯ ได้จดจำภาพถ่ายดาวเทียมบอกระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลของพื้นที่ทำเลต่างๆ ฯลฯ


(http://www.matichon.co.th/online/2011/10/13196156671319616242l.jpg)

แต่คำถามสำคัญ หาก “น้ำลด” พวกเรารอดแล้ว มาเริ่มต้นฟื้นฟูกันใหม่ เราก็ต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ประเทศไทยเดินมาสู่จุดแห่งความหายนะขนาดนี้ได้อย่างไร ข้อบกพร่องผิดพลาดอยู่ตรงไหนบ้าง

เราพลาดอะไรไป เราทำอะไรไม่ถูกหรือเปล่าในเรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำ  หากเราย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้(เหมือนในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง) เรารู้ไหมว่า ต้องแก้ตรงจุดไหน ทำอย่างไร ไม่ควรทำอะไร

ปัญหา “มวลน้ำยักษ์” แบบนี้จึงจะไม่เกิดขึ้นอีก

“ถ้า...” แบบที่หลายๆ คนฟาดเหวี่ยงระบายอารมณ์ เช่น ถ้าผู้นำฉลาด! ถ้านักการเมืองไม่โกง ถ้าหน่วยงานภาครัฐทำงานประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ ถ้าประชาชนคุ้นเคยกับการเตรียมรับพิบัติภัย แบบคล่องตัวในการอพยพ ถ้า.... ถ้า.... ถ้า..... เราจะรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้มาได้ชิลๆ จริงหรือ

นี่ต่างหากคือคำถามสำคัญสำหรับ “วันใหม่ของพรุ่งนี้”


(http://www.matichon.co.th/online/2011/10/13196156671319616249l.jpg)

เหมือนที่ผมก็กลับมานั่งสรุปบทเรียนส่วนตัวว่า จุดผิดพลาดของเราคือ

   1.ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป(ส่วนใหญ่ก็คิดแบบนี้ว่า คงไม่ท่วม ท่วมก็คงไม่มาก  มากก็คงไม่นาน แล้วเราก็จะผ่านไปได้ บลาๆๆๆ)
   2.เตรียมแผนอพยพไม่รอบคอบรัดกุมมากพอ(ทั้งๆ ที่น่าจะมีเวลานำสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ตามสมควรนานอย่างน้อย 1-2 เดือน)

หลังจากน้ำลดแล้ว เราจะเหลือสติในการกลับมาทบทวนว่า ความพยายามจะ “ฝืนธรรมชาติ” ด้วยการตั้งกำแพงสู้กับน้ำ ทุ่มทรัพยากรทั้งในรูปกระสอบทราย  คันดินเหนียว ฯลฯ นั่นเป็นวิธีคิดที่ “ผิดตั้งแต่ต้น” และ “เสียเปล่า” แทนที่จะเอากำลังเหล่านั้นมาขนย้ายทรัพย์สินไปสู่ที่ปลอดภัยให้มากที่สุด หรือเตรียมการอพยพให้ดีที่สุด

พูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ทำไมไม่คิด “หนี” แทนที่จะ “สู้” เพราะถึงที่สุดแล้ว เราสู้ไม่ไหว

ก่อนที่คอลัมน์เกี่ยวกับภาพยนตร์จะถูกมวลน้ำซัดไปไกลมากกว่านี้ อยากย้ำประเด็นเดิมอีกครั้งหนึ่งว่า สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า การรวมพลังกาย กำลังใจ  ฟื้นฟู กอบกู้ประเทศกันใหม่ก็คือ ต้องถอยกลับไปสรุปบทเรียน เพื่อให้ได้องค์ความรู้และวิธีคิดใหม่สำหรับการเปลี่ยนรื้อหลายๆ เรื่อง หลายๆ ระบบ

เพื่อที่จะไม่ผิดพลาดซ้ำอีก

หลังจากวันนี้ วันพรุ่ง ต้องดีกว่า ... ถ้าเราใช้บทเรียนจากความเจ็บปวดวันวานอย่างคุ้มค่า


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1319615667&grpid=01&catid=&subcatid= (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1319615667&grpid=01&catid=&subcatid=)
 

http://www.youtube.com/watch?v=JQDSAiPiEDU#ws (http://www.youtube.com/watch?v=JQDSAiPiEDU#ws)

http://www.youtube.com/watch?v=gJn261UAdaA#ws (http://www.youtube.com/watch?v=gJn261UAdaA#ws)

http://www.youtube.com/watch?v=wj61xFRx6HQ#ws (http://www.youtube.com/watch?v=wj61xFRx6HQ#ws)