สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 11, 2011, 01:35:55 pm



หัวข้อ: "มองผ่านเลนส์พ่อ" ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สุดรักของกษัตริย์นักพัฒนา
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 11, 2011, 01:35:55 pm

(http://www.thairath.co.th/media/content/2011/12/10/222637/hr1667/630.jpg)

"มองผ่านเลนส์พ่อ" ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สุดรักของกษัตริย์นักพัฒนา

ภาพประทับใจที่ปรากฏเจนตา และเป็นที่จดจำกันดีของประชาชนชาวไทยตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา คือ ภาพของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงสะพายกล้องส่วนพระองค์และแผนที่ เสด็จฯไปเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวไทยทั่วทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในถิ่นทุรกันดาร

โดยทุกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่สะท้อนผ่าน “เลนส์พ่อ” ล้วนตอกย้ำให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความเป็นกษัตริย์นักพัฒนา และองค์อัครศิลปิน ผู้ทรงประสานศาสตร์และศิลป์ในการนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่วิถีแห่งความสุข และความเจริญยั่งยืนนาน


(http://www.thairath.co.th/media/content/2011/12/10/222637/l20/o7/420/308.jpg)

มุมมองและความมีศิลปะส่วนพระองค์ ตลอดจนมิติภาพของสถานที่และผู้คนในมุมมองแปลกตา ซึ่งถือเป็นบันทึกข้อมูลประวัติศาสตร์ด้านการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดลงหนังสือ มองผ่านเลนส์พ่อ จัดทำขึ้นโดยทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554

ภาพถ่ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ มิใช่เป็นงานอดิเรกเพื่อทรงพระสำราญ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆมากมายนับไม่ถ้วน อีกทั้งยังเป็นหลักฐานในการบันทึกข้อมูลเพื่อประกอบพระราชดำริในเรื่องต่างๆอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ อาทิ เมื่อคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2538 ทรงถ่ายภาพจุดสำคัญๆไว้เป็นข้อมูลในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมครั้งต่อไป หรือภาพถ่ายของภูมิประเทศ

ที่เสด็จฯไปเยี่ยมเยือน เพื่อศึกษาทำเลที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเขื่อนและฝายต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้โปรดเกล้าฯให้จัดเก็บรูปภาพอย่างเป็นระบบระเบียบโดยมีหมายเลขประจำภาพด้วย


(http://www.thairath.co.th/media/content/2011/12/10/222637/l20/o4/420/284.jpg)

ในหนังสือเล่มนี้นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนขึ้นครองสิริราชสมบัติ ตลอดจนถ่ายทอดความงดงามของสายสัมพันธ์อันแนบแน่นในราชสกุลมหิดล ยังมีการประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวพระราชกรณียกิจ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนชาวไทยตลอด 65 ปีของการครองราชย์

โดยมุ่งเน้นนำเสนอภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์ ผสมผสานกับภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ และโครงการในพระราชดำริ ที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เพื่อสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับคนไทยทั้งแผ่นดิน โดยเป็นที่ตระหนักชัดว่า ทุกแห่งหนที่เสด็จฯไปเยี่ยมเยือนนั้น จะมีประชาชนพากันมารอเฝ้าฯรับเสด็จฯอย่างแน่นขนัด

ไม่ว่าจะเป็น การเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วภาคกลางเป็นภาคแรก ตลอดจนการประพาสรอนแรมแดนอีสาน ทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญระหว่างเสด็จฯเยือนราษฎรไว้อย่างละเอียด สะท้อนให้เห็นถึงความรักความห่วงใยที่ทรงมีต่อประชาชนของพระองค์ โดยสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำเสมอก็คือ ไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาใด เป็นคนชนชาติไหน เมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแล้ว ย่อมได้รับพระเมตตาเหมือนกัน

แม้จะทรงมีพระปรีชาสามารถรอบรู้ในศาสตร์หลากหลายแขนง แต่การถ่ายภาพถือเป็นงานอดิเรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดมากเป็นพิเศษ ทรงพระปรีชายิ่งในการถ่ายภาพทั้งกล้องธรรมดา, กล้องถ่ายภาพยนตร์ และการถ่ายภาพสไลด์ โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทรงศึกษาและฝึกฝนเทคนิคการถ่ายภาพอย่างจริงจัง มาจากความประทับพระทัยในเสน่ห์งดงามของธรรมชาติในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

ภาพถ่ายของพระองค์นั้น นอกจากเป็นภาพถ่ายที่มีศิลปะและความงดงามแล้ว ยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาอีกด้วย โดยพระองค์จะเลือกมุมใดมุมหนึ่งให้เด่นขึ้นมา แสดงให้เห็นว่า ผู้ถ่ายมีความเข้าใจและสนใจอย่างลึกซึ้ง ผิดกับการถ่ายภาพความงามทั่วไป

นอกจากนี้ ยังทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพด้วยพระองค์เอง ทั้งภาพขาวดำและภาพสี นับเป็นพระปรีชาที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน พระองค์ทรงจัดทำห้องมืดขึ้นในบริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะทรงสร้างสรรค์ภาพให้เป็นศิลปะถูกต้องและรวดเร็วด้วยพระองค์เอง

อีกทั้งยังทรงเป็นนักคิดค้นเทคนิคใหม่ๆในการถ่ายภาพ ครั้งหนึ่งทรงใช้แผ่นกรองแสงเป็นแผ่นใส ส่วนบนเป็นสีฟ้า ส่วนด้านล่างเป็นสีแสด ทำให้เมื่อถ่ายภาพออกมาได้ภาพที่งดงามแปลกตา ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีใครคิดค้นแผ่นกรองแสงดังกล่าวขึ้นใช้มาก่อน

ตลอดพระชนมายุของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกล้องถ่ายภาพคู่พระบารมีอยู่ด้วยกันหลายกล้อง โดยกล้องตัวแรกของในหลวงมียี่ห้อว่า CORONET MIDGET เป็นกล้องที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงซื้อให้ ขณะพระชนม์เพียง 8 พรรษา เพื่อให้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีเขียวปะดำ ผลิตในประเทศอังกฤษ เป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัวเอง การถ่ายภาพจึงต้องอาศัยความชำนาญอย่างมาก


(http://www.thairath.co.th/media/content/2011/12/10/222637/l20/o3/420/297.jpg)

เมื่อครั้งที่ทรงดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ยามเมื่อตามเสด็จสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชนิวัตประเทศไทยคราวใด ก็จะเห็นพระองค์ทรงสะพายกล้องถ่ายรูปบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆทุกแห่งที่ได้เสด็จไป

ต่อมาหลังเสด็จฯขึ้นครองราชย์ ยังทรงฉายพระรูปสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ   สมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ และไม่ว่าจะเสด็จฯไปเยี่ยมราษฎร ณ ที่แห่งใด ก็จะเห็นได้ว่าทรงมีกล้องถ่ายรูปคู่พระวรกายอยู่เสมอ แล้วจะทรงใช้บันทึกภาพประชาชนและภาพเหตุการณ์ต่างๆมากมาย เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบงานที่ได้ทรงปฏิบัติ

กล้องถ่ายภาพคู่พระบารมีที่น่ากล่าวขานถึง และเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ ยังรวมถึงกล้อง KODAK VEST POCKET MONTREUX มีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมทรงมินิบ็อกซ์ ใช้ฟิล์มม้วน ถ่ายได้ 6 ภาพ ทรงใช้ระหว่างปี พ.ศ.2481-2484, กล้อง ELAX LUMIERE

ทรงใช้บันทึกภาพระหว่างตามเสด็จรัชกาลที่ 8 นิวัตเมืองไทย, กล้อง CONTAX II เลนส์ Zeiss-Option No. 821255 กับ No. 885584 Sonnar 1 : 2 F 50 mm. เป็นกล้องทันสมัยที่ทรงได้มาจากสิงคโปร์ ทรงใช้ฉายพระรูปหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493

และต่อมาทรงเปลี่ยนกล้องอีกหลายรุ่น ตามลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน จนกระทั่งในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2538 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการแพร่ภาพเป็นครั้งแรกผ่านรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนไกลกังวล อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ประชาชนตระหนักว่า กล้องถ่ายภาพคู่พระบารมีที่ทรงใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยให้โครงการพระราชดำริอันยิ่งใหญ่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีคือ กล้อง RICOH EF-90 Lens 35 mm. F

1 : 35 ที่ทรงจับสลากได้เป็นรางวัล ส่วนกล้องรุ่นล่าสุดที่ทรงใช้ถ่ายรูปประชาชน เมื่อเสด็จกลับจาก รพ.ศิริราช ในปี พ.ศ.2552 คือ กล้อง CANNON EOS 30D


(http://www.thairath.co.th/media/content/2011/12/10/222637/l20/o6/420/296.jpg)

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว การถ่ายภาพไม่ใช่เพียงเพื่อความสุนทรีย์ดังเช่นคนทั่วไป หากแต่เป็นการบันทึกสาระสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้ประชาชนของพระองค์มีความสุข มีรอยยิ้ม และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสไว้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2537 ว่า...“การถ่ายรูปนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นเพียงแต่กดชัตเตอร์ไว้สำหรับเก็บให้เป็นที่ระลึก แล้วก็ถ้ารูปนั้นดี มีคนได้มาเห็นรูปเหล่านั้นและพอใจ ก็ทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้กับผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบ หมายความว่าได้ให้เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป...”

หากภาพหนึ่งภาพสามารถถ่ายทอดเรื่องราวแทนตัวอักษรได้มากกว่าร้อยพันคำพูด ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์และภาพพระราชกรณียกิจนับร้อยภาพที่ปรากฏในหนังสือ “มองผ่านเลนส์พ่อ” คงเป็นภาพกระจ่างชัดที่สะท้อนให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ.



ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.thairath.co.th/content/life/222637 (http://www.thairath.co.th/content/life/222637)