สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มกราคม 03, 2012, 12:45:49 pm



หัวข้อ: 3 เครื่องวัด ความเป็นพุทธ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 03, 2012, 12:45:49 pm
(http://intrapv.treasury.go.th/tanarak/admin/admin_province/newsRoom_view.php?newsId=2092&orderNo=1)

3 เครื่องวัด ความเป็นพุทธ
โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

ขอถือโอกาสกล่าวถึงหลักการ หรือหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาสัก 3 ข้อ โดยเอามาเป็นบทตั้งสำหรับสำรวจว่า เวลานี้ หลักการเหล่านี้ที่ถือว่าเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนานั้น เรายังเชื่อถือถูกต้องและปฏิบัติถูกต้องหรือไม่

หลักการที่ 1 คืออะไร ขอย้อนกลับไปพูดถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา

...ชาวอินเดียนั้น แต่เดิมนับถือศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อถือ และหลักปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลครอบงำสังคมอินเดียทั้งหมด ประชาชนถูกสอนให้มีความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า คือ พระพรหม ผู้สร้างโลก และสร้างสรรค์บันดาลชะตากรรมของมนุษย์ทั้งหลาย สังคมมนุษย์ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นถูกกำหนดโดยองค์พระผู้เป็นเจ้าคือ พระพรหม ให้แบ่งกันโดยชาติกำเนิดเป็นชนชั้นต่างๆ เรียกว่าวรรณะ 4 ...

ความเชื่อในอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้าต่างๆ ทำให้คนในชมพูทวีปนั้นหวังความอยู่รอดปลอดภัย และโชคลาภ ความสุข สิ่งที่ปรารถนาจากการดลบันดาลของเทพเจ้า เมื่อหวังผลประโยชน์ความสมปรารถนาจากอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า ก็ต้องอ้อนวอน ...อย่างที่เรียกว่าเป็นการเซ่นสรวงอ้อนวอน

การเซ่นสรวงอ้อนวอนนั้น เมื่อทำไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเทพเจ้าจะพอใจหรือไม่ การเอาอกเอาใจจึงไม่มีที่สิ้นสุด...คนอินเดียก็เลยวุ่นกับการบูชายัญ สภาพเช่นนี้เป็นไปทั่วในสังคมอินเดียจนถึงยุคพุทธกาล...

สิ่งที่ต้องการพูดในที่นี้ก็คือ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าการเชื่อในอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้าทั้งหลายที่แสดงออกด้วยการอ้อนวอนบูชายัญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง พระองค์จึงได้สอนชาวอินเดียใหม่ว่า ท่านทั้งหลายจงดูซิ ในธรรมชาตินั้นมีความจริงอยู่

ความจริงนี้ก็คือ กฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ การที่ผลเกิดจากเหตุ เหตุทำให้เกิดผล สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน อย่ามัวมองดูว่าเป็นฤทธิ์ดลบันดาลของเทพเจ้า

ความเป็นจริงที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นเราเรียกว่า ธรรม

เมื่อไม่มีใครมาบังคับ ก็ต้องปกครองตัวเองให้ได้ ต้องเรียกร้องกับตัวและฝึกตนเองให้ทำ

ธรรม ก็คือ ความจริง ได้แก่กฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามธรรม คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือตามกฎธรรมชาติอันนี้ มนุษย์ต้องการผลอะไร ก็ต้องทำเหตุที่จะให้เกิดผลนั้น ไม่ต้องไปมัวอ้อนวอนรอคอยการดลบันดาลของเทพเจ้า เมื่อทำเหตุตรงที่จะนำมาซึ่งผล ผลก็เกิดขึ้นมาตามที่เราต้องการ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือการกระทำเหตุ การกระทำเพื่อให้เกิดผลที่ต้องการด้วยเรี่ยวแรงของเรา อันนี้เรียกว่า กรรม

เพราะฉะนั้น ธรรม หรือหลักความจริงในกฎธรรมชาติจึงเรียกร้องให้เราทำกรรม แต่กรรมหรือการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องใช้ความเพียร ไม่เหมือนกับการไปอ้อนวอนเทพเจ้า ถ้าเราไปอ้อนวอนเทพเจ้า พอเราอ้อนวอนท่านเสร็จ เราก็นอนคอยผล แต่ถ้าเราจะทำเหตุที่จะให้เกิดผล เราต้องใช้ความเพียรพยายาม

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสหลักกรรมคู่กับหลักความเพียร


(http://www.posttoday.com/media/content/2012/01/01/AB768CDF20F54E52B9C1904CEBCAFE82.jpg)

จะเห็นได้ว่า ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระองค์เองว่าเป็น กรรมวาที วิริยวาที ต้องเรียกคู่กัน กรรมวาที ผู้ถือหลักกรรม วิริยวาที ผู้ถือหลักความเพียร และเรียกชื่อพระพุทธศาสนาว่า กรรมวาทะ วิริยวาทะ แปลว่า หลักการแห่งกรรม หรือหลักการกระทำ และหลักแห่งความเพียรพยายาม

มนุษย์จะต้องทำกรรมและทำด้วยความเพียรพยายาม อันนี้คือหลักการของพระพุทธศาสนา แทนที่จะไปเซ่นสรวงอ้อนวอนแล้วรอคอยผลที่เกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้า ก็หันมาทำกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลด้วยความเพียรพยายามของตน

อย่างไรก็ตาม มนุษย์แม้จะทำกรรมด้วยความเพียรพยายาม แต่ถ้าทำไม่ตรงเหตุปัจจัย ทั้งๆ ที่ทำเสียเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากด้วยความเพียรเต็มที่ แต่ก็ไม่เกิดผลตามที่ต้องการ เพราะเหตุไม่ตรงผล เมื่อการกระทำนั้นไม่ตรงกับผลที่ต้องการจะให้เกิดขึ้น มันก็ไม่สำเร็จ เรียกว่า กรรมนั้นไม่ตรงตามธรรม คือ กรรมนั้นไม่เป็นเหตุปัจจัยของผลดีที่ต้องการจะให้เกิดขึ้น

เมื่อเป็นอย่างนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดผลสำเร็จ ก็ต้องมีปัญญารู้เหตุปัจจัยแล้วทำกรรมให้ตรงเหตุปัจจัย คือต้องรู้ตัวธรรม ได้แก่รู้ความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยนั้น

เมื่อรู้ตัวเหตุปัจจัยในธรรมชาติตามหลักธรรม กรรมที่ทำก็สอดคล้องกับธรรม คือ ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ เมื่อกรรมสอดคล้องกับธรรมก็เกิดผลที่ต้องการขึ้นมา ทั้งหมดนี้ก็หมายความว่า ต้องมีปัญญารู้เหตุปัจจัย เพื่อให้ทำกรรมได้ถูกต้องตามธรรม พูดสั้นๆ ว่า รู้ธรรมนั่นเอง

ทำอย่างไรจะมีปัญญารู้เหตุปัจจัยขึ้นได้ ก็ต้องมีสิกขาหรือศึกษา คือ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ต้องพัฒนาตน แล้วก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา เพราะฉะนั้นเพื่อให้กรรมคือการกระทำเกิดผลตามธรรม จึงเรียกร้องว่าเราจะต้องมีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน ที่เรียกว่า สิกขา เพราะฉะนั้นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาก็คือ สิกขา

โดยนัยนี้ชีวิตมนุษย์จึงต้องเป็นชีวิตแห่งการศึกษา คือ ต้องฝึกฝนพัฒนาเรียนรู้ตลอดเวลา มนุษย์เรียนรู้ขึ้นมาก็จะทำกรรมที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น กรรมนั้นก็จะเป็นไปเพื่อผลดีที่ต้องการ ชีวิตก็จะประสบความสุข ความดีงามยิ่งขึ้นไป


(http://www.kalyanamitra.org/daily/dhamma/images/content/spec/sp500830.jpg)

รวมความว่า เมื่อสิกขา/ศึกษา ก็เกิดปัญญา จึงรู้ธรรมแล้วก็ทำกรรมได้ตรงเหตุปัจจัย จึงได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม แล้วหลักธรรมก็เรียกร้องหลักกรรม หลักกรรมก็เรียกร้องให้มีสิกขาคือ การศึกษา สิกขาก็เอาปัญญามาโยงกรรมให้ถึงและให้ถูกธรรม

สิกขา/ศึกษา เรียกเต็มว่า ไตรสิกขา เป็นระบบการปฏิบัติทั้งหมดของชาวพุทธ ชาวพุทธนั้นถือว่าชีวิตของเราอยู่ได้ด้วยการศึกษา และชีวิตที่มีการศึกษา ก็จะเป็นชีวิตที่ดีงามที่เราเรียกว่า มรรค เพราะฉะนั้นสิกขาก็สอดคล้องกับมรรค

สิกขา ก็มี ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ย่อลงแล้วก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ชีวิตดีงามที่เป็นมรรคก็เกิดจากการมีชีวิตอยู่ด้วยการศึกษานั่นเอง

เราสิกขา คือ ฝึกชีวิตให้เป็นอยู่ดี เราก็มีมรรค คือมีชีวิตที่เป็นอยู่ดี ฝึกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น พูดตามสำนวนนี้ว่า ดำเนินชีวิตให้ดี เป็นสิกขาแล้วก็ดำเนินชีวิตได้ดี (หรือด้วยดี) เป็นมรรค สิกขาก็ทำให้ดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้นๆ เรียกว่าก้าวหน้าไปในมรรค

ในที่นี้ต้องการเน้นว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาก็คือ การที่เราต้องทำกรรมด้วยความเพียรพยายาม และจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อจะทำกรรมให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป แทนที่จะคิดว่าเราจะขอให้ใครช่วย เราจะไปอ้อนวอนเทพเจ้าองค์ไหนให้ทำให้เรา ก็หันมาถามตัวเองนี่แหละว่า เราจะต้องทำอะไร และเราจะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเราอย่างไรเพื่อให้การกระทำของเราได้ผลดียิ่งขึ้น นี้คือหลักการของพระพุทธศาสนา


(http://www.buddha.tht.in/images/raha45.jpg)

ที่ถามว่าจะต้องทำอะไรก็คือ หลักกรรม และที่ถามว่าเราจะต้องแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตัวเราอย่างไร ก็คือ หลักสิกขานั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น ในกระบวนการที่เราจะต้องทำกรรมด้วยความเพียรพยายาม และมีการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนตลอดเวลานี้ ท่านยังย้ำด้วยหลักอัปปมาทะอีกว่า จะต้องมีความไม่ประมาท จะต้องใช้เวลาแต่ละขณะที่ผ่านไปให้เป็นประโยชน์ที่สุด จะต้องเร่งรัดทำความเพียร จะผิดเพี้ยนไม่ได้ จะทอดทิ้งปล่อยปละละเลยไม่ได้

อันนี้หลักพระพุทธศาสนาย้ำในเรื่องที่ว่าจะต้องทำความเพียรพยายามตลอดเวลา ถ้าเราปฏิบัติตามหลักสิกขาและมีความไม่ประมาทอยู่เสมอแล้ว เราก็จะเป็นบุคคลที่มีความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ มีการแก้ไขปรับปรุงตัวพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ซึ่งเป็นลักษณะชีวิตของชาวพุทธ

ชาวพุทธทราบดีอยู่แล้วว่า ในพระพุทธศาสนานี้ไม่มีการบังคับ ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่เกิดจากการบังคับ ไม่มีการบังคับให้เชื่อหรือให้นับถือ ไม่มีเทพเจ้ามาห้ามมาสั่ง เมื่อไม่มีใครมาบังคับเราให้ทำหรือไม่ให้ทำ ไม่มีใครมาลงโทษหรือให้รางวัล

การที่จะทำอะไรให้ถูกต้องดีงามหรือการที่จะปฏิบัติตามจึงอยู่ที่ตัวเราเอง จะต้องมีจิตสำนึกในการศึกษา คือ การที่ระลึกตระหนักอยู่เสมอว่า เราจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนให้มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป ด้วยความรับผิดชอบต่อธรรมคือกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ถ้าขาดจิตสำนึกในสิกขานี้เสียแล้วก็หมดพลังก้าว ชาวพุทธก็ย่อมร่วงหล่นหลุดออกไปจากธรรมสู่เทพและไสยโดยง่าย คือตกไปจากพระพุทธศาสนานั่นเอง

ทีนี้ก็หันมาดูว่า ตามสภาพปัจจุบันเราได้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริง เราก็จะเรียกร้องการกระทำของตัวเอง เราจะไม่ถ่ายโอนภาระไปให้กับสิ่งภายนอก ไม่มัวรอให้สิ่งภายนอกมาสร้างผลที่ต้องการให้ด้วยการอ้อนวอนพระพุทธเจ้าได้ดึงเรามาแล้ว จากเทพมาสู่ธรรม มาสู่หลักธรรม มาสู่หลักสิกขา และความไม่ประมาท อันนี้เป็นหลักการที่ 1 ที่เสนอให้ใช้สำรวจ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.posttoday.com/ (http://www.posttoday.com/)ธรรมะ-จิตใจ/129793/3เครื่องวัด-ความเป็นพุทธ
http://intrapv.treasury.go.th/,http://www.kalyanamitra.org/,http://www.buddha.tht.in/ (http://intrapv.treasury.go.th/,http://www.kalyanamitra.org/,http://www.buddha.tht.in/)


หัวข้อ: Re: 3 เครื่องวัด ความเป็นพุทธ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 03, 2012, 12:52:20 pm

(http://www.gotoknow.org/file/chtangnara/DSC07258.JPG)

มีฤทธิ์มีเดช เป็นได้แค่ผู้วิเศษ หมดกิเลส จึงเป็นพระอรหันต์

หลักการที่ 2 คืออะไร

ในยุคพุทธกาลนั้น คนเขาเชื่อว่าพระอรหันต์คือผู้วิเศษ ผู้วิเศษคือผู้มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ ..

จะเห็นได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ เสด็จออกประกาศพระศาสนา จะเข้าไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองราชคฤห์ ก็ทรงพิจารณาว่าจะต้องไปโปรดชฎิล 3 พี่น้องก่อน...เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นว่า พระองค์มีฤทธิ์ มีอิทธิปาฏิหาริย์เหนือกว่าชฎิลเหล่านั้น ชฎิลจึงยอมรับแล้วก็ยอมฟังธรรม

...พระองค์ได้ตรัสหลักการในเรื่องนี้ว่า ปาฏิหาริย์มี 3 อย่าง คือ

1.อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์ได้
2.อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการดักใจ การทายใจ รู้ความคิดของผู้อื่นได้
3.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสอนที่ให้เกิดปัญญา รู้เห็นความจริง

แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า เรารังเกียจอิทธิ‌ปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ เรา‌สรรเสริญแต่อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น

นี้คือหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะ‌ฉะนั้นพระพุทธเจ้าแม้จะทรงมีอิทธิปาฏิหาริย์ ‌ก็จะทรงใช้ฤทธิ์เฉพาะเมื่อทรงปราบฤทธิ์เท่า‌นั้น เรียกง่ายๆ ว่าใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ เมื่อใช้ฤทธิ์‌ปราบฤทธิ์เสร็จแล้ว พระองค์ก็ไม่ใช้ฤทธิ์อีกเลย ‌คือทรงใช้ฤทธิ์เพื่อให้เขายอมฟังธรรม เมื่อเขา‌ยอมแล้ว ต่อจากนั้นพระองค์ก็จะทรงแสดงแต่‌ธรรมต่อๆ ไป เช่น ทรงใช้ฤทธิ์ปราบชฎิล 3 พี่น้อง พอปราบเสร็จแล้วเขายอมฟังพระองค์ก็‌เลิกใช้ฤทธิ์ ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงธรรมสอนให้‌ชฎิลเกิดปัญญารู้ความจริงจนบรรลุธรรมสูงสุด‌ด้วยตนเอง

ขอให้สังเกตว่า พระพุทธเจ้าทั้งที่ทรงมีอิทธิ‌ปาฏิหาริย์มาก เก่งกว่าผู้วิเศษทั้งหลาย ทรง‌ปราบชฎิลและเทพพรหมยักษ์ที่ฤทธิ์กล้าได้‌หมด แต่พระองค์ไม่เคยยอมให้ชาวพุทธคน‌ไหนไปหวังพึ่งฤทธิ์ของพระองค์ ไม่ทรงดลบันดาลสิ่งปรารถนาให้แก่สาวกคนใด ทำไมจึง‌เป็นอย่างนั้น จะต้องมีเหตุผลในเรื่องนี้

เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงรังเกียจอิทธิ‌ปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์

พระพุทธเจ้าสอนคนให้พึ่งตนได้ ให้เขา‌พัฒนาตนเองจนเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นต่อ‌พระองค์ คนที่ชอบอิทธิปาฏิหาริย์จะต้องมาขึ้น‌กับผู้แสดงฤทธิ์เรื่อยไป ไม่รู้จักพึ่งตนเอง ไม่‌พัฒนา ไม่เป็นอิสระ แต่ถ้าใช้อนุสาสนี‌ปาฏิหาริย์ก็ทำให้เขาเกิดปัญญา รู้เห็นความ‌จริงด้วยตนเอง และทำสิ่งนั้นๆ ได้ด้วยตัวเขา‌เอง แล้วเขาก็เป็นอิสระ เขาพึ่งตนเองได้...ไม่ใช่‌ไปหวังพึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ของคนอื่น

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าต้องการให้คนมี‌ปัญญาเห็นความจริง อิทธิปาฏิหาริย์ไม่เป็น‌เครื่องหมายที่จะวัดความเป็นพระอรหันต์ คน‌ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์จะเรียกได้แค่ว่าเป็นผู้วิเศษ ‌ความเป็นผู้วิเศษไม่ทำให้เกิดปัญญารู้ธรรม ไม่‌ทำให้หมดกิเลสหรือหมดความทุกข์ได้...


(http://praima.net/y1pM0vaPivbz7fz5JWIjbcr0vV-yo6HNFeSBtwFHVAqjBqIOz_xgQ-W4LxBqJjjtsKoPmq-NHnUW5U.jpg)

หลักการที่ 3 คือ หลักคติพระโพธิสัตว์

คติพระโพธ์สัตว์เกิดขึ้นโดยถือว่า พระพุทธ‌เจ้านั้นจะสำเร็จโพธิญาณตรัสรู้ได้ก็เพราะทรง‌บำเพ็ญเพียร ทำความดีอย่างยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า ‌บารมี ซึ่งยากที่ใครจะทำอย่างพระองค์ได้

บารมี คือ คุณธรรมความดีที่บำเพ็ญอย่าง‌ยิ่งยวด ยิ่งยวดหมายความว่าเหนือสามัญวิสัย‌ของคนธรรมดา หมายความว่า จะบำเพ็ญคุณ‌ความดีข้อไหนก็ทำอย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้า‌ทรงเพียรพยายามบำเพ็ญบารมีมาด้วยความ‌ยากลำบาก เราจึงมีเรื่องของพระโพธิสัตว์ว่า ‌

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น ทรงเป็นพระ‌โพธิสัตว์มาก่อน โดยทรงบำเพ็ญเพียรทำความ‌ดีด้วยความเสียสละอย่างยิ่ง ถ้าตกลงว่าจะทำ‌ความดีข้อไหนแล้ว ก็จะทำด้วยความเข้มแข็ง‌เต็มที่ ไม่มีการย่อท้อ ไม่มีการถดถอยเลย แม้‌จะต้องสละชีวิตก็ตามที และการทำความดี‌อย่างเสียสละเต็มที่นี้ รวมทั้งการเสียสละช่วย‌เหลือผู้อื่นจนถึงที่สุด แม้จะต้องสละชีวิตของ‌ตนก็ยอมได้

พระโพธิสัตว์เป็นคติสำหรับสนับสนุนการ‌ระลึกถึงพุทธคุณ การระลึกถึงพระพุทธคุณนั้น‌เป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงความเป็น‌มนุษย์ และศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเรา‌ว่า เราก็เป็นมนุษย์อย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธ‌เจ้าเป็นมนุษย์

แต่พระองค์มีความเพียรพยา‌ยามพัฒนาพระองค์เองจนกระทั่งตรัสรู้เป็น‌พระพุทธเจ้า เราก็จะต้องพัฒนาตนเอง ต้องฝึกฝนตนเองอย่างนั้นด้วย นี้เป็นการเตือนให้เราทั้งมีความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ที่‌พัฒนาได้ ทั้งสำนึกในหน้าที่ของตนที่จะต้อง‌พัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นไป และทั้งทำให้เกิดกำลังใจ‌ในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วย พร้อมกัน‌นั้นก็จะได้นำเอาวิธีปฏิบัติพัฒนาของพระองค์‌ที่ได้ทรงสอนไว้มาใช้ประโยชน์...

หลักการทั้ง 3 นี้ น่าจะเป็นเครื่องสำรวจความเชื่อถือและข้อปฏิบัติของชาวพุทธใน‌ปัจจุบัน ว่ายังคงอยู่ในพระพุทธศาสนาหรือไม่



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.posttoday.com/ (http://www.posttoday.com/)ธรรมะ-จิตใจ/129793/3เครื่องวัด-ความเป็นพุทธ
http://www.gotoknow.org/} (http://www.gotoknow.org/})http://praima.net/