หัวข้อ: "เกมพระพุทธเจ้า" ธรรมสำหรับเด็กของ..."พระมหาปรีชา" เริ่มหัวข้อโดย: วิชชุดา ที่ มกราคม 14, 2012, 09:24:26 am "เกมพระพุทธเจ้า" ธรรมสำหรับเด็กของ..."พระมหาปรีชา"
เกมการสอนพุทธศาสนาสำหรับเด็กๆ เป็น "สื่อการสอนแบบพอเพียง" ของวัดเชิงเลน ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพระอาจารย์จรัญ โอภาโส เป็นเจ้าอาวาส ได้จัดตั้งหน่วยผลิตสื่อการสอนพระพุทธศาสนาจากวัสดุใกล้มือ สำหรับครูพระที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น หรือโรงเรียนมีอุปกรณ์ไม่พร้อม สื่อนี้ใช้ง่ายทำง่ายเล่นง่าย โดยมีพระมหาปรีชา เขมจารี (ปรีชา ถินขาว อายุ 43 ปี พรรษาที่ 22) เป็นหัวแรงสำคัญ พระมหาปรีชาบอกว่า หลังจากเรียนจบนักธรรมเอก และเปรียญธรรมประโยค 3 เมื่อ พ.ศ.2536 ก็ได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์จรัญ โอภาโส เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ให้ออกสอนเด็กๆ เลย ตอนแรกก็คิดอยู่เหมือนกันว่า จะเอาธรรมะอะไรไปสอนเด็ก เพราะขนาดเด็กโตและผู้ใหญ่ยังสอนยากเลย วันแรกที่ไปสอนก็เริ่มจากเล่านิทานโดยสอดแทรกธรรมะเข้าไป แต่เหมือนจับปูใส่กระด้ง เด็กรับรู้เพียงว่า มีพระมาสอนโดยเล่านิทานให้ฟังเท่านั้น สอนเด็กทุกชั้น แต่ส่วนใหญ่จะเน้นเด็กชั้นประถม สอนไปสอนมาก็เห็นเด็กเอาเกมเลื่อนภาพ เลื่อนหมายเลข รวมทั้งเรียงตัวอักษรมาเล่นกัน ซึ่งเป็นเกมง่ายๆ แต่เด็กให้ความสนใจมาก จึงเกิดแนวความคิดว่า ถ้าเอาพุทธประวัติไปใส่น่าจะสร้างความสนใจให้เด็กได้ จึงเอาภาพพุทธประวัติตอนสำคัญๆ ใส่ไป ปรากฏว่า เด็กให้ความสนใจมาก เพียงแค่เราบอกว่าเป็นภาพตอนไหน และมีความสำคัญอย่างไรเท่านั้น จากนั้นก็พัฒนาเป็นเกมลูกบิด โดยเอาภาพพุทธประวัติใส่แทนลง 6 ภาพ ทั้ง 6 ด้าน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นเกมต่างๆ อีกกว่า 40 เกม เช่น เกมอักษรไขว่ เกมตามล่าหาหลักธรรม เกมคอสเวร์ธรรมะ เกมจับคู่ธรรม เกมโอเอ็กซ์ เกมบิงโก เมื่อมีเกมจำนวนมาก สามารถที่จะรวมเป็นหมวดหมู่ว่า หากต้องการให้เด็กได้ธรรมะข้อใด ก็สามารถหาเกมให้เด็กได้ และในจำนวนนี้มีหลายเกมที่ได้รับความนิยม แต่ที่นิยมสุดๆ คือเกมบิงโก สามารถเล่นได้ตั้งแต่เด็กประถมถึงมัธยมปลาย ส่วนที่มาของปัจจัยในการทำเกมต่างๆ นั้น พระมหาปรีชาบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นทุนส่วนตัวที่ได้รับปัจจัยถวายมาจากญาติโยมที่นิมนต์ไปสวดไปฉัน จากญาติโยม โดยปัจจัยทั้งหมดนำมาลงที่เกม นอกจากนี้แล้ว อีกส่วนหนึ่งจะได้จากโรงเรียนที่นิมนต์ให้ไปช่วยสอนและสาธิตการผลิตสื่อ ธรรมะสำหรับเด็ก ทั้งนี้ทางโรงเรียนจะขอให้ช่วยผลิตสื่อธรรมะที่เป็นเกมให้ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,500 บาท สามารถผลิตเกมได้ประมาณ 10 ชิ้น ซึ่งเมื่อทำทั้งหมดจะมอบให้โรงเรียนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยอาจจะคิดว่าการสอนธรรมะให้เด็กๆ แล้วจะไปจำรวมทั้งนำไปใช้อะไรได้ ทั้งนี้ พระมหาปรีชาพูดไว้อย่างน่าคิดว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มปลูกฝังที่เด็ก โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมหากเราวางรากฐานการสอนที่ดี โดยเฉพาะวิชาพุทธศาสนา เมื่อเด็กเรียนในชั้นสูง โดยเฉพาะในช่วงชั้นมัธยม ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต หากทำให้เด็กเข้าใจหน้า เข้าใจหลักธรรม ก็สามารถทำให้เด็กก้าวพ้นชีวิตในช่วงดังกล่าวได้ อย่างกับเราเรียนจบปริญญาตรี โท และเอก คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่ครูในระดับที่เราเรียนเท่านั้น จะมีใครสักกี่คนที่นึกถึงครูคนแรกที่สอนให้อ่านกอไก่ขอไข่ได้" เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้ พระมหาปรีชาบอกว่า ได้ทำหน้าที่ของพระที่เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ได้ความสุข และได้เผยแผ่ธรรมะจริง โดยไม่ต้อคิดถึงเรื่องปัจจัยติดกัณฑ์เทศน์ หรือปัจจัยถวายพระจากญาติโยม เพราะสอนเด็กไม่มีเงินติดกัณฑ์เทศน์แน่นอน เมื่อไม่มีผลประโยชน์ในเรื่องปัจจัยเข้า ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีพระรูปอื่นๆ มาช่วยงาน มีแต่จ่ายกับจ่ายเท่านั้น ผิดกับการเทศน์สอนกับผู้ใหญ่เทศน์ดีไม่ดีผู้ใหญ่ก็มีเงินถวายติดกัณฑ์เทศน์ ถ้านิมนต์พระนักเทศน์ไปเทศน์ในโรงเรียนกับเทศน์ในที่ทำงาน หรือบริษัทห้างร้าน พระจะเลือกไปในที่ทำงาน หรือบริษัทห้างร้านก่อน การผลิตและจัดทำเกมของพระมหาปรีชาทุกวันนี้ ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น พุทธศาสนิกชนร่วมสาน ปณิธานแนวการเผยแผ่ธรรมะผ่านการเล่นเกมของพระมหาปรีชาได้ที่กองทุนเผยแพร่ ผลิตสื่อ วัดเชิงเลน ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โทร.08-9800-6361 คุณค่าแห่งเกม "เกมที่ผลิตออกมานั้น ในฐานะที่เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ก็อยากให้ธรรมะเข้าถึงเด็กๆ ให้เด็กมีความสนใจที่จะศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องให้เด็กรู้และเข้าใจในศีลห้า และก็ไม่ได้หวังไปไกลว่าเด็กจะเข้าถึงนิพพาน ที่สอนไปทั้งหมดนี้ อาตมาเพียงอยากให้เด็กรู้หน้าที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น รู้หน้าที่ของการเป็นเด็กนักเรียน คือต้องเรียน รู้หน้าที่ของลูก คือต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ เพราะการทำหน้าที่ของตนเชื่อว่าได้ปฏิบัติธรรมแล้ว และถ้าทำหน้าที่ดีขึ้นชีวิตก็จะดีขึ้น" นี่เป็นความตั้งใจของพระมหาปรีชา ทั้งนี้ พระมหาปรีชาได้สะท้อนความจริงของเด็กให้ฟังว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า เด็กไม่อยากเรียนหนังสือ โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับธรรมะยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เด็กมีความสนใจ ยิ่งเมื่อเอาการเล่นเกมกับการเรียน แน่นอนที่สุดว่า เด็กต้องเลือกการเล่นเกมก่อน เมื่อเด็กชอบเล่นเกมผู้ใหญ่ควรคิดว่าจะเอาความชอบการเล่นเกมนั้นมาสร้าง สรรค์อย่างไรให้เกิดประโยชน์ ทุกครั้งที่นำเกมออกไปให้เด็กเล่นในวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งในโอกาสต่างๆ แน่นอนที่สุดว่า มีเกมบางส่วนชำรุดเสียหาย เกมบางส่วนหายไป ใจหนึ่งก็รู้สึกเสียดาย แต่อีกใจหนึ่งกลับมองว่าเป็นเรื่องดี เกมที่หายไปไม่เคยเลยสักครั้งเดียวที่จะประกาศตามหาของ หรือตัวเด็กที่ขโมยไป ทั้งนี้จะคิดว่าเพราะเป็นเกมที่สนุกที่น่าสนใจ เด็กจึงอยากเล่นและอยากได้ เกมที่หายไปเมื่อไรเด็กหยิบมาเล่น หรือตกในมือของเด็กคนไหนธรรมะก็ไปถึงที่นั่น ทั้งนี้ พระมหาปรีชาได้ฝากข้อคิดถึงนักวิชาการ นักบริหารงานการศึกษาว่า ทุกวันนี้ใครๆ ก็เน้นที่จะผลิตสื่อผ่านคอมพิวเตอร์ สื่อมัลติมีเดีย ด้วยการสนับสนุนงบประมาณหลักแสนหลักล้านบาท พร้อมกับคำชมและรางวัลว่า เป็นผู้มีความคิดยอดเยี่ยม แต่ในสภาพความเป็นจริง ต้องยอมรับว่ามาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน โรงเรียนที่มีมาตรฐาน มีศักยภาพที่จะใช้สื่อมัลติมีเดียมีไม่ถึง 10% ที่เหลือต้องพึ่งสื่อที่ประดิษฐ์จากการทำมือ "มีเกมบางส่วนหายไป ใจหนึ่งก็รู้สึกเสียดาย แต่อีกใจหนึ่งกลับมองว่าเป็นเรื่องดี เกมที่หายไปเมื่อไรเด็กหยิบมาเล่น หรือตกในมือของเด็กคนไหนธรรมะก็ไปถึงที่นั่น" ไตรเทพ ไกรงู ผู้เขียน: ไตรเทพ ไกรงู ที่มา: คมชัดลึก (http://www.phrathai.net/sites/default/files/u469/pmpreecha_games1.jpg) (http://www.phrathai.net/sites/default/files/u469/pmpreecha_games2.jpg) (http://www.phrathai.net/sites/default/files/u469/pmpreecha_games3.jpg) (http://www.phrathai.net/sites/default/files/u469/pmpreecha_games4.jpg) (http://www.phrathai.net/sites/default/files/u469/pmpreecha_games5.jpg) (http://www.phrathai.net/sites/default/files/u469/pmpreecha_games6.jpg) หัวข้อ: Re: "เกมพระพุทธเจ้า" ธรรมสำหรับเด็กของ..."พระมหาปรีชา" เริ่มหัวข้อโดย: pussadee ที่ มกราคม 15, 2012, 12:23:48 am อนุโมทนา กับ พระคุณเจ้า ที่ยังเผื่อแผ่ ธรรมะ ให้กับเด็ก ๆ ด้วยคะ
สาธุ สาธุ สาธุ :25: :25: :25: |