หัวข้อ: จัด "แห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองคอน" มาฆบูชา สืบสานมรดกวัฒนธรรม 1-7 มี.ค. เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 03, 2012, 12:35:29 pm (http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2012/03/tou02030355p1.jpg&width=360&height=360) จัด"แห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองคอน"มาฆบูชา สืบสานมรดกวัฒนธรรม-หนุนท่องเที่ยวเชิงพุทธ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผวจ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายพิชัย บุญยเกียรติ นายก อบจ.นครศรีธรรมราช นายสุจินต์ พิมเสน รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และนายปรเมศวร์ อมาตยกุล ผอ.ภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมแถลงเปิดงาน "มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติ ที่เมืองนคร 2555" จัดขึ้นในวันที่ 1-7 มี.ค. ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) และสวนศรีธรรมาโศกราช ผวจ.นครศรีธรรมราชกล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราช เป็นดินแดนที่หลากหลาย และเป็นแผ่นดินที่ศักดิ์สิทธิ์ มีพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของศาสนิกชน ทั้งยังมีประเพณีซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษถือปฏิบัติสืบทอดมาเกือบ 800 ปี คือ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันนำผ้าแถบสีขาว เขียนภาพพระพุทธเจ้าหรือพุทธประวัติ เรียกว่า "ผ้าพระบฏ" และผ้ายาวสีเหลืองและสีแดงขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันเพ็ญเดือน 3 เป็นประจำทุกปี มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย นับเป็นกิจกรรมมหากุศลที่ชาวพุทธพึงได้กระทำสักครั้งหนึ่งในชีวิต นายวิโรจน์กล่าวว่า ในงานมีกิจกรรมสำคัญตลอดทั้งสัปดาห์ โดยเฉพาะการจัดงาน 2555 สัมพุทธชยันตี 2,600 ปี พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรม การสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ การเทศน์มหาชาติทรงเครื่อง การแสดงพระธรรมเทศนา พิธีพุทธาภิเษก เบิกเนตรพระโพธิสัตว์กวนอิม พิธีเขียนผ้าพระบฏ 90 เมตร พิธีกวนข้าวมธุปายาส พิธีพุทธาภิเษกผ้าพระบฏพระราชทาน ผ้าพระบฏนานาชาติ ผ้าพระบฏจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พิธีมอบข้าวมธุปายาสยาคู พิธีเปิดและปล่อยขบวนแห่ผ้าพระบฏ พิธีถวายผ้าพระบฏเป็นพุทธบูชา พิธีเวียนเทียน ชมการแสดงที่น่าสนใจ แสง เสียง วัฒนธรรมสี่ภาค การแสดงหุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์ นอกจากนี้ ยังจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกในโซนตลาดนัดชุมชน และตลาดนัดโบราณ ด้านนายปรเมศวร์กล่าวว่า ททท.คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 80,000 คน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวเชิงพุทธ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเกิดการพัฒนาอย่างสมดุล ระหว่างการท่องเที่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีที่เก่าแก่ สู่การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และวิถีไทยในกลุ่มเยาวชนและพุทธศาสนิกชนสืบไป ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMGIzVXdNakF6TURNMU5RPT0=§ionid=TURNeE9RPT0=&day=TWpBeE1pMHdNeTB3TXc9PQ== (http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMGIzVXdNakF6TURNMU5RPT0=§ionid=TURNeE9RPT0=&day=TWpBeE1pMHdNeTB3TXc9PQ==) |