หัวข้อ: อึ้ง! โจ๋ไทยจำวัน 'วาเลนไทน์' ได้มากกว่า 'มาฆบูชา' เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 06, 2012, 06:42:58 pm (http://www.thairath.co.th/media/content/2012/03/06/243488/hr1667/630.jpg) อึ้ง! โจ๋ไทยจำวัน 'วาเลนไทน์' ได้มากกว่า 'มาฆบูชา' ดุสิตโพลเผยเยาวชนไทยจดจำวันวาเลนไทน์ ได้มากกว่าวันมาฆบูชา เพราะตรงกับวันที่ 14 ก.พ.ของทุกปี แต่ยังดีรู้ประวัติความเป็นมาและทำกิจกรรมของวันมาฆบูชามากกว่า ทั้งเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร และฟังเทศน์... เมื่อวันที่ 6 มี.ค. มีรายงานว่า สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 1,384 คน ในหัวข้อเยาวชนไทยกับวันมาฆบูชา ระหว่างวันที่ 2-6 มี.ค. 2555 พบว่า ภาพรวมเยาวชนชายหญิงร้อยละ 49.20 จดจำวันวาเลนไทน์ได้มาก กว่าวันมาฆบูชา เพราะตรงกับวันที่ 14 ก.พ.ของทุกปี เป็นวันแห่งความรักที่วัยรุ่นให้ความสำคัญและสนใจเป็นพิเศษ เป็นวันที่สามารถแสดงความรักให้กับคนที่เรารักได้รับรู้ ฯลฯ นอกจากนี้ ขณะที่ร้อยละ 44.79 รู้เรื่องประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชามากกว่าวันวาเลนไทน์ เพราะเป็นวันสำคัญของชาวพุทธ มีสอนในชั้นเรียนเกือบทุกระดับชั้นการศึกษา ต้องท่องจำเพื่อนำไปสอบ เมื่อถามว่า ระหว่างวันมาฆบูชากับวันวาเลนไทน์เยาวชนทำกิจกรรมในวันไหนมากกว่ากัน พบว่า ร้อยละ 41.10 เห็นว่า ทำกิจกรรมวันมาฆบูชามากกว่า เพราะที่โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้าร่วมทุกปี เป็นประเพณีของชาวพุทธที่ต้องปฏิบัติ เช่น เวียนเทียน ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ไปทำบุญกับครอบครัวทุกปี ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 31.60 เห็นว่า ทำกิจกรรมวันวาเลนไทน์มากกว่า เพราะที่โรงเรียนมีนิทรรศการให้เด็กๆ ได้ช่วยกันจัดบอร์ด หรือตกแต่งห้องเรียนให้สวยงาม, ห้างร้านต่างๆ มีการจัดกิจกรรมที่สนุกสนานให้เด็กๆ ได้เข้าร่วม เป็นกระแสนิยมในกลุ่มวัยรุ่น มีการมอบดอกไม้ ซื้อของขวัญให้ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เยาวชนร้อยละ 47.09 ให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชามากกว่าวันวาเลนไทน์ เพราะเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน มีความสุขกับการทำบุญ รู้สึกสบายใจ ฯลฯ โดยการที่จะทำให้เยาวชนเห็นความสำคัญของมาฆบูชามากกว่าวันวาเลนไทน์นั้น ร้อยละ 30.73 เห็นว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญ และส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา/เมื่อมีวันสำคัญทางศาสนาเมื่อใด ควรจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทุกครั้ง ร้อยละ 28.65 เห็นว่า ควรมีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้กับเด็กนักเรียนได้เรียน ในทุกระดับชั้นและจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาในโรงเรียน และร้อยละ 27.65 เห็นว่าควรเริ่มจากการปลูกฝังภายในครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก เช่น พาเด็กเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา ฯลฯ. ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.thairath.co.th/content/edu/243488 (http://www.thairath.co.th/content/edu/243488) |