สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ เมษายน 13, 2012, 11:14:58 am



หัวข้อ: สงกรานต์ชลบุรี 'อุ้มสาวลงน้ำ-แห่พญายม' ๑๓-๑๙ เมษายน
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 13, 2012, 11:14:58 am
(http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2012/04/12/khaa9fkka7baiggfebb57.jpg)

สงกรานต์ชลบุรี อุ้มสาวลงน้ำ-แห่พญายม
มหัศจรรย์สงกรานต์ชลบุรีวันไหล งานกองข้าว อุ้มสาวลงน้ำ และแห่พญายม : ท่องแดนธรรม เรื่อง/ภาพ ไตรเทพ ไกรงู

      งานวันไหล นับได้ว่าเป็นงานสงกรานต์ที่ขึ้นชื่อของชาวชลบุรี ซึ่งก็จัดขึ้นใน 2 พื้นที่ คือ ที่บางแสน และพัทยา ทั้งนี้จะนิยมเริ่มเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันประมาณวันที่ ๑๘-๒๐ เมษายน
      โดยชาวบ้านจะช่วยกันขนทรายตามชายหาดที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดเข้าไปในวัด ก่อเป็นรูปกรวยเล็กๆ ๘๔,๐๐๐ กอง ซึ่งเท่ากับจำนวนของพระธรรมขันธ์เจดีย์

       โดยจะมีกิจกรรมเด่นในวันที่ ๑๖ เมษายนซึ่งจะมีการประกวดก่อพระทราย และเล่นน้ำสงกรานต์บรรยากาศชายทะเลบนหาดยาวกว่า ๓ กิโลเมตร ซึ่งกิจกรรมหลังสุดนี้ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมระดับแม่เหล็กที่ทำให้งานประเพณีวันไหลพัทยา-นาเกลือโด่งดังไปทั่วโลก
           
       นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ประเพณีสงกรานต์ชลบุรีในปีนี้ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองชลบุรี การทำบุญ-สรงน้ำพระ การออกร้านของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การจัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุและศิลปวัฒนธรรมไทย การจัดริ้วขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ การประกวดนางสงกรานต์ การแข่งขันกีฬาไทยและกีฬาพื้นเมือง ได้แก่ การแข่งขันศิลปะมวยไทย การแข่งขันเซปักตะกร้อ และตะกร้อลอดห่วง เป็นต้น

       ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น สร้างความสุขให้ประชาชน เพื่อจัดหารายได้ไปทำนุบำรุงและสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งเพื่อให้เหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี ได้มีรายได้นำไปช่วยเหลือสังคมในจังหวัดชลบุรี

       นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรีอีกด้วยโดยแต่ละอำเภอจัดงานประเพณีสงกรานต์กันอย่างยิ่งใหญ่ นานเกือบ ๓ สัปดาห์ 
       เริ่มที่อำเภอเมืองชลบุรี มีงานแบบไม่เปียก "งานประเพณีนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ" ประจำปี ๒๕๕๕ ครั้งที่ ๘๐ ตั้งแต่วันพุธที่ ๑๑ ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ เมษายน ณ บริเวณ หอพระพุทธสิหิงค์ฯ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี
 
       สำหรับงานสงกรานต์ที่ไม่เหมือนใคร คือ สงกรานต์ที่เกาะสีชัง
       ไฮไลท์ของงานสงกรานต์บนเกาะสีชังอยู่ที่ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ
       เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕
       เนื่องจากสงกรานต์ของชาวบ้านเกาะสีชังไม่นิยมสาดน้ำกัน
       เพราะมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ (จืด) จึงใช้วิธีการ "อุ้มสาวลงน้ำ" หรือ "จูงมือลงทะเล" แทน

        โดยจัดกิจกรรมบริเวณชายหาดทางตอนเหนือของเกาะขามใหญ่
        ชายหนุ่มจะเลือกสาวที่ชอบ แล้วขออนุญาตอุ้มลงไปเล่นน้ำ
        โดยระหว่างอุ้มก็จะอวยพรซึ่งกันและกัน
        ส่วนผู้สูงอายุก็จะถูกลูกหลานอุ้มลงเล่นน้ำเช่นกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้สนุกสนานกับครอบครัว
        และยังเป็นช่วงให้พรกับลูกหลานด้วย งานเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ ไปจนถึง ๑๙ เมษายน
 
        ส่วนงาน “สงกรานต์ศรีมหาราชา” และ “ประเพณีกองข้าว” ของชาว “ศรีราชา”
        จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ เมษายน สมัยก่อนนั้นจัดขึ้นในหลายอำเภอของจ.ชลบุรี เช่น อ.เมือง อ.บางละมุง อ.พนัสนิคม เป็นต้น
        แต่ปัจจุบันยังคงเหลือเฉพาะที่ อ.ศรีราชาแห่งเดียว ซึ่งได้รับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง 

        หากเอ่ยถึงตำนานการเกิดประเพณีกองข้าวนั้น เล่ากันมาว่า ในสมัยก่อน ชาวศรีราชาอยู่กันอย่างสงบสุข จนกระทั่วเกิดโรคระบาดขึ้นทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีความเชื่อกันว่า มีสาเหตุมาจากทางเมืองผีต้องการนำมนุษย์ไปเป็นทหาร ชาวบ้านจึงหาทางแก้ด้วยการนำอาหารไปบวงสรวงเซ่นไหว้


(http://www.matichon.co.th/online/2011/10/13188423281318842346l.jpg)

๑ เดียวในโลกแห่พญายมที่บางพระ
 
       นายคมสัน บอกว่า ประเพณีแห่พญายม-สงกรานต์บางพระ ของชาวบ้าน ต.บางพระ อ.ศรีราชา นับว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะมีการเล่นสงกรานต์แบบทั่วไปแล้ว ก็ยังได้เห็นการแห่พญายม ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาช้านาน  ซึ่งสืบทอดยาวนานนับเป็นปีที่ ๗๕  ซึ่งประเพณีดังกล่าวถือเป็นความภูมิใจของชาวบางพระ และเป็นประเพณีที่มามีเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดยปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ ๑๗-๑๘ เมษายน ที่ชายหาดบางพระ           
 
      ประเพณีสำคัญตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงค่ำวันพุธที่ ๑๘ เมษายน คือ ชาวตำบลบางพระ จะสร้างพญายมให้แลดูน่าเกรงขาม แล้วนำไปนั่งบนเสลี่ยง แห่นำด้วยขบวนกลองยาว จากหน้าตลาดเทศบาล ไปยังชายหาด โดยจะนำข้าวปลาอาหารมากองเซ่นสัมภเวสี และเจ้าที่เจ้าทาง

      หลังพิธีบวงสรวงเสร็จเรียบร้อย ประชาชนจะนำองค์พญายมหันหน้าออกสู่ทะเล แล้วปล่อยลงในทะเลเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับพญายม ชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข
 
      ตามตำนานเล่าขานมาเนิ่นนาน ซึ่งในอดีตตำบลบางพระมีลักษณะเป็นป่าเขา ความเจริญทางด้านสาธารณะสุขยากที่จะเข้าถึง ห่างไกลโรงพยาบาล ชาวบ้านจึงเลือกวิธีการรักษาแบบโบราณ โดยใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้าน และพึ่งความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ ด้วยการบนบานสานกล่าวให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ

      ดังนั้น จึงมีการปั้นองค์พญายมขึ้นมา ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ นำสิ่งที่ไม่ดีลอยลงทะเลไปพร้อมกับองค์พญายม หลังจากนั้นประชาชนก็อยู่ดีกินดีทั้งกายและใจ หากปีไหนไม่มีการทำพิธีแห่องค์พญายม ปีนั้นก็จะมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ชาวบางพระ จึงได้ถือปฏิบัติประเพณีแห่พญายมมาจนถึงทุกวันนี้



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20120413/127819/ (http://www.komchadluek.net/detail/20120413/127819/)สงกรานต์ชลบุรีอุ้มสาวลงน้ำแห่พญายม.html
http://www.matichon.co.th/ (http://www.matichon.co.th/)


http://www.youtube.com/watch?v=Xeoz48TL4aM# (http://www.youtube.com/watch?v=Xeoz48TL4aM#)
อัปโหลดโดย yodsakorn22 เมื่อ 3 ม.ค. 2012