หัวข้อ: 140 ปี...ตำนาน 'วัดเล่งเน่ยยี่' เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 12, 2012, 09:33:00 am (http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2012/05/11/c5fh6j6beadhhgfeacf9d.jpg) 140 ปี...ตำนาน 'วัดเล่งเน่ยยี่' "ไม่ต้องการให้วัดอยู่ติดกับโรงแรม", "วัดมังกรกมลาวาสไม่ต้องการโรงแรม ไม่ต้องการห้างสรรพสินค้า" ส่วนหนึ่งของข้อความพร้อมรูปวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ และรูปสิ่งก่อสร้างถูกกากบาททับด้วยสีแดง ซึ่งแสดงออกถึงการต่อต้านอย่างชัดเจน ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์เล่งเน่ยยี่ดอทคอม (http://www.lengnoeiyi.com/ (http://www.lengnoeiyi.com/)) พร้อมข้อความเชิญชวนให้ร่วมแสดงความคิดเห็น!! หลังจากเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณวัดเล่งเน่งยี่ออกมารวมตัวคัดค้านการก่อสร้างอาคารสำนักงานและซูเปอร์คอมเพล็กซ์ครบวงจร ทางคณะกรรมการวัดและพุทธศาสนิกชนไม่เห็นด้วย เนื่องจากโรงแรมเป็นสถานเริงรมย์ เมื่อมาสร้างติดกับวัดทำให้ดูไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายด้วย สำหรับ "วัดเล่งเน่ยยี่" มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 140 ปี ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดมังกรกมลาวาส" ตั้งอยู่เลขที่ 432 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้เลือกที่ตั้งวัดเนื้อที่ 4 ไร่ 18 ตารางวา โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีน ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2414 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 8 ปี จึงแล้วเสร็จ ให้ชื่อว่า “เล่งเน่ยยี่” ซึ่งคำว่า "เล่ง" แปลว่า มังกร, "เน่ย" แปลว่า ดอกบัว และ "ยี่" แปลว่า อาราม วัด (http://guru.sanook.com/picfront/pedia/40439__10012008115720.jpg) ต่อมาปี พ.ศ.2507 มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยใช้โมเสกติดผนังทั้งหมดและพื้นขัดหินอ่อนหลัง จากนั้นได้สร้างตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรมสูง 9 ชั้น เพื่ออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคณะสงฆ์จีนเป็นล้นพ้น อีกทั้งเพื่อเป็นกิตติยานุสรณ์เฉลิมพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี 4 เดือน จึงแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2520 คณะสงฆ์จีนนิกายและคณะกรรมการจัดงานได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม "หอพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม วัดมังกรกมลาวาส" เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2521 ทั้งยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย "ภปร" ประดิษฐานที่พระกริ่งไวโรจนพุทธ ส่วนสถาปัตยกรรมของวัดมังกรกมลาวาสนั้น มีการวางผังตามแบบสถาปัตยกรรมจีนพื้นถิ่นทางตอนใต้ของจีน โดยมีลักษณะแบบสกุลช่างแต้จิ๋วเป็นหลักการวางผัง ถือตามแบบวัดพุทธศาสนานิกายมหายาน ตัวอาคารจะวางผังล้อมลาน เรียกว่า ซี่เตี่ยมกิม เป็นแบบเฉพาะของอาคารพื้นถิ่นแต้จิ๋ว การจัดวางวิหารถือตามแบบวัดหลวง โดยมีวิหารจตุโลกบาล เป็นวิหารแรก อุโบสถอยู่กลางด้านหลัง อุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์ (http://www.lengnoeiyi.com/images/stories/Untitled-12.jpg) ส่วนวิหารอื่นๆ อยู่ประกอบสมดุลซ้ายขวา กลุ่มอาคารทั้งหมดประกอบด้วยอิฐและไม้เป็นโครงสร้างสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาอุโบสถและวิหารจตุโลกบาลแสดงโครงสร้าง ขื่อ คาน ตามแบบสกุลช่างแต้จิ๋วอย่างสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบเป็นลวดลายสิริมงคลตามความเชื่อแบบจีน มีการวาดลวดลายและแกะสลักลวดลาย ปิดทองอย่างสวยงาม จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดจีนเก่าแก่แห่งนี้ มีเจ้าอาวาสในอดีตจนถึงปัจจุบัน 9 รูป โดยปี พ.ศ.2422 เจ้าอาวาสรูปที่ 1 พระอาจารย์สกเห็ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกในประเทศไทย และเป็นปฐมบูรพจารย์ของวัดมังกรกมลาวาส, เจ้าอาวาสรูปที่ 2 พระอาจารย์กวยหงอ, เจ้าอาวาสรูปที่ 3 พระอาจารย์โล่วเข่ง, เจ้าอาวาสรูปที่ 4 พระอาจารย์ฮวบจง, เจ้าอาวาสรูปที่ 5 พระอาจารย์ย่งปิง, เจ้าอาวาสรูปที่ 6 พระอาจารย์เซี่ยงหงี, เจ้าอาวาสรูปที่ 7 พระอาจารย์โพธิ์แจ้ง, เจ้าอาวาสรูปที่ 8 พระอาจารย์เย็นเจี่ยว และเจ้าอาวาสรูปที่ 9 พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว) ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.komchadluek.net/detail/20120511/130082/140 (http://www.komchadluek.net/detail/20120511/130082/140)ปี...ตำนานวัดเล่งเน่ยยี่.html http://guru.sanook.com/,http://www.lengnoeiyi.com/ (http://guru.sanook.com/,http://www.lengnoeiyi.com/) หัวข้อ: Re: 140 ปี...ตำนาน 'วัดเล่งเน่ยยี่' เริ่มหัวข้อโดย: เสกสรรค์ ที่ พฤษภาคม 12, 2012, 11:00:58 am ขอบคุณมากครับ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ครับ
:c017: |