สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 25, 2012, 05:06:44 pm



หัวข้อ: อยากได้ทั้ง "อิทธิฤทธิ์ และ เทวฤทธิ์" ต้องทำอย่างไร.?
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 25, 2012, 05:06:44 pm


(http://www.bloggang.com/data/morningstar/picture/1192130504.jpg)


ปาฏิหาริย์-เทวดา

    ในคัมภีร์พุทธธรรม เล่มใหญ่และหนา  ท่านอาจารย์พระมหาประยุทธ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ใช้เนื้อที่วิสัชนา เรื่องเหนือสามัญวิสัย ปาฏิหาริย์-เทวดา ไว้ในหน้าที่ 453 ถึง 497

ท่านเริ่มว่า พระพุทธศาสนาไม่สนใจคำถามว่า อิทธิปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่ เทวดามีจริงหรือไม่

พุทธศาสนาไม่วุ่นวาย ไม่ยอมเสียเวลาพิสูจน์ความมีจริง เป็นจริงของสิ่งเหล่านี้เลย สิ่งที่สนใจ ก็คือมนุษย์ควรมีท่าที และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร

ในสมัยพุทธกาล เคยมีบุตรคฤหบดี ทูลขอให้พระพุทธองค์ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์

   “นี่แน่ะ เกวัฏฏ์ ” ตรัสตอบ
   “เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทำอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมเหนือมนุษย์ แค่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์ทั้งหลาย”

   ตรัสแสดงเหตุผล...ในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้งสาม ทรงรังเกียจ ไม่โปรด ไม่โปร่งใจ ต่ออิทธิปาฏิหาริย์ (แสดงฤทธิ์) และอาเทศนาปาฏิหาริย์ (ทายใจ) เพราะทรงเห็นโทษว่า

   คนที่เชื่อก็เห็นจริงตามไป ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็หาช่องขัดแย้ง ทำให้เกิดมัวทุ่มเถียงทะเลาะกัน

ทรงชี้แจงความหมายและคุณค่าของอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (สอนธรรม) ว่า เอามาใช้ปฏิบัติเป็นประโยชน์ประจักษ์ได้ภายในตนเอง จนบรรลุถึงอาสวักขัย อันเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา

ความเชื่อถือเทพเจ้า มีมาก่อนหน้าพระพุทธเจ้าอุบัติ พระพุทธองค์ไม่ทรงหักหาญ ส่งแนะให้มีความสัมพันธ์กับเทพเจ้า โดยวิธีอยู่ร่วมกัน ด้วยเมตตาเกื้อกูลกัน ด้วยไมตรี ผ่อนลงไปอย่างมากที่สุด จนถึงการยอมรับการทำเทวตาพลี



(http://www.web-pra.com/upload/amulet-page/1781-a604.jpg)


เทวตาพลี คือ ของถวายแก่เทวดา หรือแผ่ส่วนบุญอุทิศแก่เทวดา เป็นหนึ่งในพลี 5 ที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นชอบให้คฤหัสถ์กระทำ...อีก 4 อย่าง คือ
    ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
    อติถิพลี ต้อนรับแขก
    บุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ และ
    ราชพลี การบำรุงราชการ เช่นการเสียภาษี

    พระภิกษุผู้สัมพันธ์กับประชาชนในฐานะผู้นำทางจิตใจ เมื่อจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ พึงเตรียมใจระมัดระวัง ถือเหมือนดังเข้าผจญภัยโดยไม่ประมาท

    สำหรับผู้เก่งกาจทางอนุสาสนี อาจอาศัยความเชี่ยวชาญ นำชาวบ้านก้าวไปสู่พัฒนาการขั้นสูงๆได้ แต่ควรระวัง เพราะถ้าทำให้คนเลิกเชื่อถือในสิ่งที่เขาเคยเชื่อถือได้ แต่ไม่อาจชี้แนะให้มองเห็นทางถูกต้องที่จะเดินต่อไป ทำให้เกิดอาการศรัทธาหด ปัญญาไม่มี ตกอยู่ในภาวะเคว้งคว้าง

      ส่วนภิกษุที่ไม่ถนัดในเชิงสอน และจะเข้าไปใช้สิ่งที่เขายึดอยู่เป็นจุดเริ่มต้น มีข้อที่ต้องตระหนักไว้ในใจหลายอย่าง

      สำหรับอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นอันตัดไปได้ เพราะมีพุทธบัญญัติห้ามไว้ ไม่ให้พระสงฆ์แสดงแก่ชาวบ้าน คงเหลืออยู่แต่มงคล หรือสิ่งที่จะเกิดมงคล

      เบื้องแรกต้องกำหนดแน่วแน่เป็นเครื่องป้องกันตัวไว้ก่อนว่า จะต้องไม่ให้สิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีวิต แสวงลาภ ซึ่งเป็นมิจฉาชีพ เป็นความบกพร่องเสียหายในด้านศีล
      ความสัมพันธ์ และวิธีปฏิบัติ เท่าที่พอจะเป็นไปได้ จึงมีดังนี้

      เมื่อเกี่ยวข้องกับอิทธิปาฏิหาริย์ ตลอดถึงสิ่งมงคล โดยพยายามทำสิ่งเหล่านี้ในความหมายใหม่ ที่สามารถจะทำได้ด้วยตนเอง ยอมให้เกี่ยวข้องกับมงคลตามแบบชาวบ้าน ในแง่ที่เป็นเครื่องเสริมกำลังใจ และเสริมความเพียร

      ท่านอาจารย์พระมหาประยุทธ์ สรุปบทปาฏิหาริย์-เทวดาไว้ว่า
      มนุษย์เป็นยอดสัตว์ที่ฝึกได้ ทั้งกายจิตและปัญญาให้วิเศษ 
      การมัวเพลินหวังผล จากฤทธานุภาพและเทวานุภาพบันดาล คือ
      การตกอยู่ในความประมาท ละเลยปล่อยให้ศักยภาพของตนสูญเสียไปเปล่า

      ส่วนผู้ไม่ประมาทไม่รีรอ เร่งฝนตนไม่หยุดยั้ง จะได้ทั้งอิทธิฤทธิ์และเทวฤทธิ์
      และจะบรรลุสิ่งเลิศล้ำ ที่ทั้งฤทธานุภาพและเทวานุภาพไม่อาจอำนวยให้ได้.


      กิเลน ประลองเชิง


   
ขอบคุณบทความ ชักธงรบ โดย กิเลน ประลองเชิง
http://www.thairath.co.th/column/pol/chuckthong/285935 (http://www.thairath.co.th/column/pol/chuckthong/285935)
ขอบคุณภาพจาก http://www.web-pra.com/,http://www.bloggang.com/ (http://www.web-pra.com/,http://www.bloggang.com/)