สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 15, 2012, 08:31:12 pm



หัวข้อ: “กินผัก” อย่างไร..ให้ปลอดภัยจาก “ยาฆ่าแมลง”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 15, 2012, 08:31:12 pm

(http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/154965.jpg)

“กินผัก” อย่างไร..ให้ปลอดภัยจาก “ยาฆ่าแมลง”

เลือกอย่างไรให้ได้ผักสดปลอดสารพิษ กินปลอดภัย ไม่ไหวจ่ายผักออแกนิค ลองรู้ 8 วิธีล้างเคมีตกค้าง

สวัสดีวันศุกร์ในฤดูฝนกันนะคะ สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปแอ่วบนดอยชื่อ “ม่อนแจ่ม” จ.เชียงใหม่ ที่นี่มีคนบอกว่า หน้าฝนบนดอยที่ม่อนแจ่มมีทะเลหมอกสวย นอกจากวิวสวยแล้ว ยังมีโครงการหลวงหนองหอย โครงการในพระราชดำริของในหลวง เพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชาวเขาปลูกผักผลไม้ขาย ภายใต้แบรนด์ “ดอยคำ” ให้เลือกรับประทานกัน

วิวแปลงผักที่นี่สวยสบายตามากค่ะ ดอยทั้งดอยถูกเนรมิตเป็นแปลงปลูกผัก มองไปจะมีสีเขียวอ่อนไปจนเขียวเข้มของผักถูกสลับไล่ระดับกันไปมา เห็นแล้วอดไม่ได้ที่ต้องหาเมนูสลัดผักสดๆชามใหญ่ๆกับน้ำสลัดฟักทองมาทาน

เมื่อพูดถึงเรื่องผัก พลันนึกถึงประสบการณ์ที่เคยตรวจฟาร์มตรวจโรงงานผักผลไม้ให้หลายแห่งที่ส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้ได้ทราบว่า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, อเมริกา ออสเตรเลียหรือแม้แต่ประเทศเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น เขามีกฏหมายควบคุมปริมาณสารกำจัดศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลงตกค้างสำหรับผักผลไม้ทั้งสดและแปรรูปที่จะนำเข้าไปยังประเทศดังกล่าว แต่ส่วนที่ปลูกเพื่อขายภายในประเทศเราเองกลับไม่มีอะไรควบคุมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเลย



(http://www.pregnancy.in.th/wp-content/uploads/2012/04/MediaFile_5303-g.jpg)


อย่างที่ทราบกันว่า การปลูกผักในปัจจุบันมีการใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชมากมายเหลือเกิน ยกเว้นพวกผักออแกนิคที่ใช้ต้นทุนสูงมากในการเพาะปลูก ทำให้มีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างในผักและมีโอกาสสะสมจนเกิดผลเสียต่างๆ กับร่างกาย

เคยมีการสุ่มตรวจพืชผักที่ขายในตลาดบ้านเราพบว่า พืชผักที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด ล้วนแต่เป็นของสามัญประจำมื้อ จำพวกพริกขี้หนู ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ-มะเขือเปราะ ผักชี กะหล่ำปลีและแตงกวา

สาระคอลัมน์ “กินดี” กับเดลินิวส์ออนไลน์วันนี้ จึงอยากนำเสนอวิธีกินผักให้ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงค่ะ

เริ่มจากผักออแกนิคหรือผักที่มีสัญลักษณ์ Q Mark สีเขียวๆ อยู่บนถุงน่ะค่ะ เคยเห็นกันไหมคะ จัดเป็นผักที่ค่อนข้างปลอดภัยตามมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร ผักชนิดนี้ต้องปลูกตามระบบที่เรียกกันว่า แก่บ (GAP : Good Agricultural Practice) โดยควบคุมการใช้สารเคมีตามรายการที่อนุญาตให้ใช้เท่านั้น อีกทั้งกำหนดให้เก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่ปลอดภัย แต่ข้อจำกัด คือ ราคาสูงกว่าผักทั่วไปมากกว่าเท่าตัว แถมยังหาซื้อยาก เพราะมักมีขายเฉพาะในห้างสรรพสินค้า



(http://masterorg.wu.ac.th/filepic_bkk-data/fruit_veget.jpg)


ดังนั้นหากยังจำเป็นต้องซื้อผักจากตลาดสดทั่วไป วิธีที่ช่วยได้มาก คือ การล้างก่อนการบริโภค ย้ำว่าสำคัญมากจริงๆ นะคะ ซึ่งวิธีการล้างผักให้สะอาด ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงตกค้าง มีคำแนะนำดังนี้คะ

1.ล้างด้วยน้ำยาล้างผัก จะช่วยลดสารพิษได้ประมาณ ร้อยละ 25

2.ล้างผัก ผลไม้ แล้วแช่ในด่างทับทิมสีชมพูอ่อนๆ นาน15 นาที ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 40

3.ล้างผัก ผลไม้ โดยเปิดก๊อกน้ำไหลผ่านตลอดเวลา พร้อมทั้งถูผักผลไม้ 3-5 นาที ลดสารพิษได้ ร้อยละ 60

4.ล้างผัก ผลไม้ แล้วแช่ในน้ำส้มสายชู (ผสมน้ำส้มสายชู 250 ซีซี : น้ำ 2 ลิตร ) แช่ไว้นาน 5 นาที จะลดสารพิษได้เกือบหมด

5.ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกที ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 29-38

6.ใช้โซเดียมไปคาร์บอเนต (ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที ลดปริมาณ สารพิษได้ร้อยละ 90-95

7.ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผัก ผลไม้ออกทิ้ง เด็ดผักเป็นใบ ๆ แล้วแช่น้ำสะอาดนาน 10-15 นาที ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 27-72

8.ต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 48-50



(http://www.positioningmag.com/vaf/pictures/145/14567n_101904_nuskinL.jpg)


ถึงตอนนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วในกรณีของแม่บ้านถุงพลาสติกไม่ได้ทำอาหารเองล่ะ จะทานอย่างไรให้ปลอดภัย ตอบว่า ผู้เขียนมีเทคนิคส่วนตัวซึ่งใช้ได้กับการทานอาหารทุกกรณีที่ต้องการลดการสะสมของสารเคมีในอาหาร นั่นคือการเลือกทานอาหารให้หลากหลายเข้าไว้ค่ะ อย่าทานผัก หรืออาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่เราชอบบ่อยๆ เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ใช่ทานคะน้าทุกมื้อ หรือกะหล่ำปลีผัดหมูทุกวัน

อีกวิธีคือทานพืชผักสวนครัวที่เราปลูกเองได้ง่ายๆ อย่างตำลึง แบบนี้สบายใจได้แน่ว่าไม่มีสารตกค้าง

รู้วิธีกินผักให้ปลอดภัยกันแล้ว อย่าลืมนำไปใช้กันนะคะ อย่าลืมที่เคยย้ำกันนะคะว่า You are what you eat ทานอะไรก็เป็นแบบนั้น ไม่อยากมีโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากยาฆ่าแมลงสะสม ก็ต้องรู้จักทำเหตุเพื่อลดความเสี่ยงอย่างที่บอกมานะคะ.

"PrincessFangy"
twitter.com/PrincessFangy



ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.dailynews.co.th/article/822/154965 (http://www.dailynews.co.th/article/822/154965)
http://www.pregnancy.in.th/,http://masterorg.wu.ac.th/,http://www.positioningmag.com/ (http://www.pregnancy.in.th/,http://masterorg.wu.ac.th/,http://www.positioningmag.com/)