สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 19, 2012, 09:10:45 am



หัวข้อ: พลังของ 'สมาธิภาวนา' และการเยียวยา
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 19, 2012, 09:10:45 am

(http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2012/10/03/bjiacjbja9jgjachhae8k.jpg)


พลังของ 'สมาธิภาวนา' และการเยียวยา
พลังของ'สมาธิภาวนา'และการเยียวยา : มองนอกดูใน โดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

     ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีของ ท่านโตโมจิ อิโต ภริยาผู้ก่อตั้งพุทธบริษัทชินเนียวเอ็น จึงมีการงานเฉลิมฉลองด้วยการจัดการประชุมศาสนาโลก เรื่อง "พลังของสมาธิภาวนาและการเยียวยา" (The Power of the Rite and the Prayer) ณ วัดโอเกน เมืองทาชิกาว่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๖-๑๗ กันยายนที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของการทำสมาธิภาวนาของแต่ละศาสนาและขนมธรรมเนียมประเพณี

     เป็นการร่วมจัดระหว่างพุทธบริษัทชินเนียวเอ็นกับ GPIW (Global Peace Initiative of Women) ผู้นำจากหลากนิกายหลายศาสนา เช่น คริสเตียน ฮินดู ซูฟี พุทธศาสนา ชนเผ่าในแอฟริกา จำนวนเกือบร้อยท่าน ที่ได้รับเชิญให้เข้าประชุม และเข้าร่วมพิธีประทีปอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ "ไซโช โฮมะ" (The Religious Fire Rite of Saisho Homa)
 
     ท่านมิโนรุ ชิตะระ ประธานฝ่ายต่างประเทศ ผู้แทนจากพุทธบริษัทชินเนียวเอ็นกล่าวในพิธีเปิดการประชุม มีสาระตอนหนึ่งว่า “...พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า ผู้คนบนโลกนี้มีทั้งโลภ โกรธ หลง โลกนี้กำลังรุ่มร้อน แต่ในขณะเดียวกันพวกเราที่นับถือพุทธศาสนา ได้ใช้การภาวนาหรือสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ สยบความวุ่นวายต่างๆ แล้วเราจะมุ่งไปในทิศทางไหน เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติให้มีความสุข ภารกิจของเราอยู่ตรงไหน นี่คือจุดประสงค์หนึ่งที่จัดประชุมในครั้งนี้

     เราจะคุยกันเรื่องศาสนาและจิตวิญญาณอย่างไรเพื่อมุ่งไปสู่การปฏิบัติ อะไรคือความรับผิดชอบของพวกเรา ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ ขอให้ทุกท่านนั่งภาวนา นั่งสมาธิผ่านประสบการณ์ของตนเองให้เกิดความระลึกรู้แจ้ง หรือตื่นรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น อีกประการหนึ่ง คือ เพื่อให้จิตใจของแต่ละท่านสงบและอ่อนโยนลง เราต้องเผยแผ่เกี่ยวกับการนั่งสมาธิภาวนาออกไปให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น และด้วยความร่วมมือของทุกท่าน จะทำให้ความตระหนักในพุทธศาสนาแพร่หลายออกไป...”
 
     ดีน่า มีเรียม ผู้ดำเนินการประชุม GPIW ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า
     “...ดิฉันปรารถนาให้ทุกท่านมารวมตัวกันเพื่อมุ่งไปสู่การแบ่งปันทางด้านจิตวิญญาณ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อโลก เพื่อมนุษยชาติมากขึ้น เราต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ท่าน ซึ่งนี่เป็นความพยายามในการทำงานทางจิตวิญญาณ ดิฉันเองพยายามที่จะสร้างองค์กรขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเหมือนกับสะพานที่เชื่อมต่อไปทั่วโลก ดิฉันพยายามสำรวจและพยายามขยายเรื่องจิตใจ เรื่องจิตวิญญาณไปยังที่ต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดดิฉันจึงอยู่ที่นี่ในตอนนี้...”
 
     ทางด้านท่านประธานชินโซ อิโต กล่าวตอนหนึ่งว่า
     “จุดประสงค์หลักของพิธีประทีปศักดิ์สิทธิ์มีสองข้อคือ หนึ่ง...เพื่อทำให้ธาตุของสิ่งที่ตรงข้ามกันเป็นหนึ่งเดียวกันโดยปราศจากการสูญเสียคุณภาพด้านบวกของแต่ละธาตุ อีกข้อหนึ่งคือ...เพื่อทำให้คนได้รู้ถึงศักยภาพของความดีภายในตนที่ถูกปกปิดไว้ บ่อยครั้งในพุทธศาสาสิ่งนี้ถูกแทนด้วยคำว่า ‘ปัญญา’ และ ‘ความเมตตากรุณา’ และเราภาวนาให้ทุกท่านได้รับพรนี้อย่างทั่วถึงกัน...
 
     โลกของเราเต็มไปด้วยความเครียดและปัญหา ซึ่งเป็นผลจากความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ มลภาวะเป็นพิษ และความขัดแย้ง ถึงแม้ว่าเราจะพยายามแก้ปัญหาผ่านการเมือง ยารักษาโรค การศึกษา และวิทยาศาสตร์ แต่ปัญหาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลกก็ยังมีอยู่อย่างท่วมท้น ดังนั้นจิตวิญญาณจะต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ในระดับลึก คือเรื่องของจิตใจและหัวใจ...

     พระปรินิพพานสูตรได้กล่าวไว้ว่า ‘รังสีแห่งพระอาทิตย์สามารถทำให้ดอกไม้บานได้'  ข้าพเจ้าขอให้ท่านหลับตา ท่านเห็นดอกไม้ในใจท่านที่ถูกอาบด้วยรังสีแห่งความหวังเบ่งบานไหม พิธีประทีปศักดิ์สิทธิ์นี้เหมือนรังสีแห่งพระอาทิตย์ที่จะช่วยให้ดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละดอกในใจของเราบานไปในทิศทางใหม่และงดงาม...ขอให้เราแบ่งปันดอกไม้แห่งความเบิกบานนี้ให้คนอย่างกว้างขวาง และขอให้ช่วยกันทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น...”

     สำหรับประเทศไทย พระครูภาวนาวิจิตร และคณะสงฆ์จากวัดปากน้ำ แลกเปลี่ยนด้วยการนำเสนอ "วิชชาธรรมกาย" และข้าพเจ้าแลกเปลี่ยนด้วยการนำเสนอเรื่อง "อานาปานสติภาวนาในชีวิตประจำวัน"

            ธรรมสวัสดี



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
www.komchadluek.net/detail/20121004/141506/พลังของสมาธิภาวนาและการเยียวยา.html#.UIC0xaDvolh (http://www.komchadluek.net/detail/20121004/141506/พลังของสมาธิภาวนาและการเยียวยา.html#.UIC0xaDvolh)