ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิวาห์ล้านบัว...ที่หนองหาน  (อ่าน 1403 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
วิวาห์ล้านบัว...ที่หนองหาน
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 18, 2013, 10:54:36 am »
0


วิวาห์ล้านบัว...ที่หนองหาน

ขณะที่เครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชียเที่ยวบิน FD3352 เส้นทางดอนเมือง-อุดรธานี อีกหนึ่งเที่ยวบินที่อบอวลไปด้วยความรัก เมื่อคุณโอ๋ ธนิดา ตั้งวณิชเจริญ นักเทคนิคการเเพทย์ อายุ 35 ปี ทำเซอร์ไพร้ส์ปรากฏกายเต็มที่ในชุดเเต่งงานสีขาว ของเเฟนหนุ่มรุ่นพี่ คุณก้อง ชวชล เศรษฐอุดม อายุ 37 ปี เเต่งงานต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์

ภาพทุ่งนาสีน้ำตาลอันแห้งแล้งนับพันนับหมื่นไร่ที่เห็น ก็แทบจะแปรเปลี่ยนเป็นทุ่งดอกบัวสีชมพูนับล้านในหนองหาน กุมภวาปี ที่ถูกเรียกติดปากว่าทะเลบัวแดงในวันนี้ไปทั้งหมด และทั้งคู่ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน “วิวาห์ล้านบัว” ปีที่ 2 ที่การท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย (ททท.) เเละเเอร์เอเชียร่วมกันจัดขึ้น

    ชื่อของทะเลบัวแดง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
    หลังจาก ททท.สำนักงานอุดรธานีเข้ามาร่วมให้การสนับสนุนในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่
    และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์
    แต่ความจริงแล้ว ทะเลบัวแดง หนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี
    เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวอุดรธานีมาหลายชั่วอายุคน ด้วยขนาดที่กว้างใหญ่กว่า 22,500 ไร่
    จึงเผื่อแผ่ไปถึงจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานตอนบนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย โดยเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปาว หนึ่งในลำน้ำสาขาที่สำคัญของลำน้ำชี และมีลำห้วยหลายสายที่ไหลมาบรรจบกัน



หนองหานจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือกุมภวาปี กู่แก้ว และประจักษ์ศิลปาคมไหลผ่านพื้นที่ 8 ตำบล 97 หมู่บ้าน ประกอบด้วยนกน้ำนานาชนิดและพันธุ์ปลาอันหลากหลาย ไม่มีใครรู้ว่าทำไมที่นี่จึงชื่อว่า หนองหาน แบบเดียวกับหนองหานของสกลนคร เพียงแต่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานการก่อเกิดที่เล่าขานสืบต่อกันมา

ณ นครชะธีตา มีธิดานามว่า “ไอ่คำ” มีสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ทำให้ “ท้าวผาแดง” แห่งเมืองผาโพง ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ความงามจึงลอบไปพบ ด้วยผลกรรมที่ผูกพันกันมาแต่ชาติปางก่อน ทำให้ทั้งสองมีใจปฏิพัทธ์ต่อกัน จนกระทั่งถึงเดือน 6 พระยาขอมเจ้าเมือง ได้ประกาศบอกให้เจ้าชายหัวเมืองต่าง ๆ จัดทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกัน ผู้ใดชนะจะได้อภิเษกกับนางไอ่คำ
    ข่าวนี้ทำให้ทุกเมืองต่างก็ส่งบั้งไฟมาเข้าแข่งขัน แม้กระทั่ง “ท้าวพังคีพญานาค” ก็เข้าร่วมด้วย
    เมื่อถึงวันแข่งขันจุดบั้งไฟ ปรากฏว่า บั้งไฟท้าวผาแดงและท้าวพังคีจุดไม่ขึ้นพ่นควันดำอยู่ถึง 3 วัน 3 คืน
    จึงระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ ทำให้ความหวังของท้าวผาแดง และท้าวพังคีหมดสิ้นลง
    ท้าวพังคีกลับสู่เมืองบาดาลด้วยความช้ำใจ ขณะที่ท้าวผาแดงไม่ยอมกลับบ้านเมือง


ด้านท้าวพังคีทนความคิดถึงไม่ไหวจึงปลอมเป็นกระรอกเผือกไต่ไปอยู่ข้างปราสาทนางไอ่คำ นางคิดอยากได้มาเลี้ยงจึงให้นายพรานจับมาถวาย แต่นายพรานได้ใช้ลูกดอกยิงกระรอกเผือกจนตาย
     ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานว่า “ขอให้เนื้อของข้าได้แปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมด”
     จากนั้นร่างของกระรอกเผือกก็ใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่นมาดูกันและแล่เนื้อแบ่งกันไปกินทั่วเมือง
     เว้นแต่แม่ม่ายที่ชาวเมืองรังเกียจไม่แบ่งเนื้อให้
     พญานาคแห่งเมืองบาดาลทราบข่าวท้าวพังคีถูกมนุษย์ฆ่าตายก็โกรธแค้นยิ่งนัก จึงนำทัพพญานาคนับหมื่นนับแสนตัวผุดขึ้นมาถล่มเมืองชะธีตาจมลงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3-4 แห่งซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือก




ฝ่ายท้าวผาแดงก็รีบควบม้าหนีออกจากเมืองพร้อมกับนางไอ่คำ แต่แม้จะเร่งเท่าใดก็หนีไม่พ้นทัพพญานาค ในที่สุดทั้งคู่ก็ถูกกลืนหายไปใต้ผืนดินเช่นเดียวกันคนอื่น ๆ รุ่งเช้าภาพของเมืองชะธีตาที่เคยรุ่งเรืองได้อันตรธานหายไปสิ้น กลายเป็นผืนน้ำกว้างยาวสุดสายตาที่เรียกว่าหนองหานอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนบัวแดงที่เห็นมากมายเต็มผืนน้ำอย่างทุกวันนี้นั้น เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากมีโครงการโขงชีมูลมาพัฒนาแหล่งน้ำราว 7-8 ปีก่อน และไม่ได้มีมากมายเหมือนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน หลังจากบัวเริ่มแตกหน่อและขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของน้ำฝนในช่วง 2-3 ปีก่อน จึงทำให้บัวออกดอกบานสะพรั่งอย่างพร้อมเพรียงกันอย่างที่เห็น แต่ในปีนี้ที่ภัยแล้งย่างกรายมาเยือนบัวที่เคยบานพร้อมกันกลับทยอยออกดอกเป็นหย่อม ๆ และไม่หนาแน่นจนเป็นทะเลบัวแดงสมชื่อเหมือนเคย

แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับชายหญิงที่ต้องการให้สายใยของบัวที่เปรียบเสมือนสายใยสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวที่ตัดเท่าไรก็ไม่เคยขาด ร่วมเป็นพยานแห่งความรักในครั้งนี้ จึงมีคู่บ่าวสาวหลากช่วงอายุไม่ว่าจะเป็นคู่รัก คู่ฮันนีมูน คู่สามีภรรยา และคู่สมรสชาวต่างชาติ มาร่วมงาน ซึ่งรวมถึงหนูน้อยฝาแฝดชายหญิงที่มาร่วมทำพิธีแต่งงานเพื่อเอาเคล็ด โดยมี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางช่อผกา จิตตเกษม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานี และนางอัจฉพรรณ บุญเจริญ ผอ.ททท.สำนักงานอุดรธานี ร่วมเป็นสักขีพยาน ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
      เพื่อทำพิธี “ผูกพัน…สัญญารักมั่น” และมอบเกียรติบัตรแก่คู่รัก
      ก่อนที่บ่าวสาวทั้ง 18 คู่ จะร่วมกิจกรรมนั่งสามล้อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองอุดรธานี
      อาทิ พระพุทธโพธิ์ทอง ศาลหลักเมือง ท้าวเวสสุวัณ หลวงพ่อนาค ศาลปู่ย่า และสักการะกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ก่อนจะจบลงด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญคู่รัก และร่วมรับประทานอาหารแบบพาแลง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุดรธานี



แม้จะเพิ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แต่เชื่อว่างานวิวาห์ล้านบัว จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำหรับคู่รักในช่วงวาเลนไทน์ที่ได้รับความสนใจไม่น้อยหน้าไปกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยจัดมาเช่นกัน

     ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมความสวยงามของทะเลบัวแดงสามารถชมได้
      ตั้งแต่เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในช่วงเช้าไม่เกิน 11.00 น.
      โดยสามารถขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือบ้านเดียม ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี
      สอบถามเส้นทางท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ที่ทำการปกครองอำเภอกุมภวาปี โทร. 0-4233-4446
      สำนักงาน อบต.แชแล โทร. 0-4225-1933 และ ททท.สำนักงานอุดรธานี โทร. 0-4232-5406-7.


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.dailynews.co.th/article/725/185112
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ