ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใกล้ 'มาฆบูชาฤกษ์ดี' 'ลดความทุกข์' แล้วความสุขก็จะเพิ่ม  (อ่าน 2218 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ใกล้ 'มาฆบูชาฤกษ์ดี' 'ลดความทุกข์' แล้วความสุขก็จะเพิ่ม

แม้ว่าจะมิใช่เทศกาลรื่นเริง แม้ว่าอาจจะไม่ฟีเวอร์เหมือนเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน หรือวาเลนไทน์ แต่กระแสเทศกาล ’มาฆบูชา“ ก็เริ่มมีออกมาแล้วตั้งแต่ระยะนี้ ก่อนที่จะถึงวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

วันมาฆบูชาปี 2556 นี้ ตรงกับวันที่ 25 ก.พ.
ทั้งนี้ มาฆบูชา หรือมาฆปุรณมีบูชา หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ซึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ในวันเพ็ญมาฆปุรณมี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกัน 1,250 รูปโดยมิได้นัดหมาย ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาหรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง และทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 ซึ่งรวม 4 เหตุการณ์สำคัญ ก็มีการเรียกวันนี้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ด้วย


อย่างไรก็ดี พุทธศาสนิกชนไทยในปัจจุบันจะคุ้นกับคำว่า “วันมาฆบูชา” ขณะที่วันมาฆบูชาในสมัยพุทธกาลเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เกิดวันจาตุรงคสันนิบาตนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดง ’โอวาทปาฏิโมกข์“ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ ท่ามกลางการประชุมพร้อมกันของพระอรหันต์ 1,250 รูป

พระพุทธเจ้าทรงกล่าวพระพุทธพจน์คาถาถึง “พระนิพพาน” ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ทรงกล่าวพระพุทธพจน์คาถาถึง “หลักปฏิบัติของพระสงฆ์” ประกอบด้วย ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร มีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร รู้จักที่นั่งนอนอันสงัด และทรงกล่าวพระพุทธพจน์คาถาถึงวิธีการอันเป็น “หัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา” โดยย่อคือ... ไม่ทำความชั่วทั้งปวง บำเพ็ญแต่ความดี และทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง   


“มาฆบูชา” ชาวพุทธต่างรู้ว่าควรทำบุญทำกุศล และเมื่อทำบุญทำกุศลก็มัก “ขอให้มีความสุข”


ประเด็นก็คือ ’ความสุข“ ที่อยากได้ หากไม่สอดคล้องกับหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกับการ ’เป็นอิสระจากกิเลส“ นั่นก็อาจจะเพิ่ม ’ความทุกข์“


ใกล้วาระ “มาฆบูชา” อีกครั้ง วันเวลาดำเนินมาถึงช่วง “เทศกาลบุญ” อีกครา ซึ่งหากชาวพุทธจะใช้โอกาสนี้ “สร้างความสุขที่แท้จริง” ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี และกับเรื่องนี้ พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านก็ได้แนะนำชาวพุทธไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านทางหนังสือหลายเล่ม โดยสังเขปคือ...

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์บอกว่ามีแต่ความทุกข์ ส่วนสุขคืออะไรเล่า สุขก็คือทุกข์ที่ลดลงไป ความจริงความสุขนั้นก็คือทุกข์ลดลงนั่นเอง พระพุทธเจ้าตรัสในสิ่งที่เป็นสัจจะ เป็นธรรมะให้เรารู้ความจริงว่า โลกนี้มีความทุกข์ ส่วนที่เราเรียกว่าสุขนั้นไม่ใช่สัจจะ ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นการพูดตามภาษาชาวบ้าน

’ชีวิตของเราท่านทั้งหลาย จะเรียบร้อยมีความสุข เพราะเราทำให้มันเกิดสุข สุขจะไม่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร ไม่รู้ว่าความทุกข์คืออะไร แล้วไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ในสิ่งที่จะให้เกิดความสุขความสงบทางจิตใจ ไม่เอาศีลธรรมมาเป็นเครื่องประกอบชีวิต ชีวิตก็จะตกต่ำ...“ 

    พระพุทธเจ้ามองโลกในแง่ความจริง มีพุทธสุภาษิตบทหนึ่งว่า
    “เธอทั้งหลายจงมองทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นจริง”
    ภาษาบาลีว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” หมายความว่า “มองสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง”



เมื่อใดเรามองอะไรในสภาพที่เป็นจริง เราก็เห็นความจริง และเมื่อเราเห็นความจริง เราก็จะไม่ยึดถือ ไม่หลงผิดต่อไป อันนี้เป็นหลักสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ใช้ได้ทุกแง่ ไม่ว่าในแง่การเมือง หรือในแง่เศรษฐกิจ หรืออะไรก็ตาม ถ้าเรามองในแง่ของความจริงในสิ่งนั้น ๆ แล้ว จะไม่ทำให้เราวุ่นวายในทางจิตใจ จะทำให้เราเข้าใจตามสภาพที่เป็นอยู่จริง ๆ

“การที่คนเราวุ่นวาย ก็เพราะเราไม่ได้มองอะไร ๆ ตามที่เป็นจริง เรามองเห็นสิ่งที่เป็นมายา เห็นสิ่งที่เขาคลุมเขาแต่งไว้ แต่ไม่มองลงไปให้เห็นเนื้อแท้ของสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร เมื่อเรามองไม่เห็นเนื้อแท้ เราก็ไม่เห็นสิ่งที่เป็นมายาหลอกลวง ก็วุ่นวายไปด้วยประการต่าง ๆ” ...หลวงพ่อปัญญา ระบุไว้


นอกจากนี้ ท่านยังแนะนำผ่านหนังสือธรรมะไว้อีกว่า... ความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอะไร ๆ ก็ตาม เป็นความทุกข์... ขณะใดใจเราเกิดความคิดยึดมั่นถือมั่นอะไร ก็เป็นทุกข์... ยึดมั่นว่ารูปเป็นของฉัน เวทนาเป็นของฉัน สัญญาเป็นของฉัน วิญญาณเป็นของฉัน เราก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่มีความทุกข์...

’ความทุกข์เกิดเพราะความอยาก อยากมากทุกข์มาก อยากน้อยทุกข์น้อย ถ้าไม่อยากเลยก็สบายใจ ไม่มีความทุกข์อะไร อยู่โดยไม่อยากนี่จะอยู่ได้ไหม อยู่ได้ แต่ว่าคนเราไม่ฝึก ไม่ฝึกอยู่เพื่อไม่อยาก ฝึกอยู่แต่เรื่องอยากกันทั้งนั้น จึงวุ่นวายกันนักหนา“ ...นี่เป็นอีกส่วนเกี่ยวกับเรื่อง “ความทุกข์”

      “ลดความทุกข์” เท่ากับ “เพิ่มความสุข”
       ’มาฆบูชา“ ที่ใกล้จะมาถึงนี่ก็ ’ฤกษ์ดี“
       ทำดีเพื่อลดทุกข์...แล้วสุขจะเพิ่มเอง.



ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.dailynews.co.th/article/223/185759
http://www.dhammajak.net/,http://baankusangg.files.wordpress.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ