เยือนแดนพุทธภูมิ ตามรอยบาทพุทธองค์ ดำรงพุทธศาสนา
ในช่วงปลายเดือนก.พ.–มี.ค. ที่ผ่านมา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัด โครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล โดยงบประมาณกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา รวม 4 รุ่น แต่ละรุ่นมีพระสงฆ์และฆราวาสร่วมเดินทางมากกว่าร้อยชีวิต
โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนได้ไปศึกษาประวัติความเป็นมาของดินแดนพุทธภูมิที่เป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ และนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
ว่ากันว่าการไปสังเวชนียสถานทั้ง 4 ที่ประเทศอินเดีย-เนปาล ได้แก่ ลุมพินีวัน–สถานที่ประสูติ พุทธคยา-สถานที่ตรัสรู้ พาราณสี-สถานที่แสดงปฐมเทศนา และนครกุสินารา-สถานที่ปรินิพพาน ให้ครบทั้ง 4 สถานที่นั้น ไม่ใช่ใครก็ไปกันได้ง่าย ๆ
คนมีเงินเป็นร้อยล้านจะไปไม่ได้ถ้าไม่มีศรัทธา ถึงมีเงินมีศรัทธาก็ไปไม่ได้ถ้าร่างกายไม่พร้อม
หรือมีทั้งเงินแล้วศรัทธาก็มีและร่างกายก็พร้อมก็ยังไปไม่ได้อีกถ้าสนามบินปิด
และที่สำคัญแม้ทุกอย่างที่กล่าวมาพร้อมแล้ว แต่ถ้าไม่มีผู้นำหรือวิทยากรที่ดีแล้วถึงได้ไปก็เหมือนกับไม่ได้ไปอยู่ดี
อันนี้คือสัจธรรมของการไปแดนพุทธภูมิ มิฉะนั้นจะเป็นการไปแบบแค่ได้ไป ได้ชื่อว่าเราก็เคยไปมาแล้วเท่านั้น
“อินเดียคือแดนดินถิ่นพระเจ้า อินเดียมีหลายเผ่าหลายภาษา อินเดียมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่าคงคา อินเดียคือแดนภูผาหิมาลัย อินเดียคือที่สุดของที่สุด อินเดียคือเมืองพุทธอันยิ่งใหญ่ อินเดียมีสาวสวยกว่าเมืองใด อินเดียไม่แล้งน้ำใจจึงมีขอทาน อินเดียคือสุสานตำนานแห่งโลกา อินเดียเมืองใช้หัว เมืองผัวเฝ้าห้าง เมืองเดินทางต้องทำใจ เมืองวัวเป็นใหญ่นักเลงโต เมืองสุดโอ่วรรณะ เมืองพระปรางค์ เมืองแก้ผ้า เมืองศาสนากำเนิด เมืองเลิศสุด ๆ เมืองเห็นสัจธรรม และเมืองนำจิตสู่นิพพาน”
การได้ร่วมคณะเดินทางไปสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ในรุ่นที่ 2 ของโครงการเมื่อต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พระอาจารย์ ดร.มหาบุญมี อธิปุญโญ (วรรณวิเศษ) พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย วัดไทยพุทธคยา ที่ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตลอดการเดินทาง ทำให้ได้รับรู้ถึงความเป็นอินเดียมากกว่าที่เคยรับรู้ทั้งจากคำบอกเล่าหรือจากตัวหนังสือที่เคยอ่าน ทำให้ได้มีโอกาสกราบพระ สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น อย่างที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน
ทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งและเข้าใจในพระพุทธศาสนา ในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น
ทำให้เกิดความปีติยินดี (สังเกตเห็นว่าพระคุณเจ้าหลายรูปและหลาย ๆ คนน้ำตาเอ่อไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะวันที่เข้าไปกราบและห่มผ้าพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพาน ภายในพุทธวิหารปรินิพพาน)
ทำให้หลายคนพร้อมที่จะเดินตามรอยพระบาทพระพุทธองค์ที่ไม่ใช่แค่เพียงการเดินทางมากราบไหว้เท่านั้น
ถามว่าทำไมต้องอินเดีย พระอาจารย์มหาบุญมี อธิบายสั้น ๆ แต่เข้าใจได้ง่ายว่าเพราะอินเดียเป็นแหล่งเกิดพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดที่นี่ ตรัสรู้ที่นี่ แสดงธรรมที่นี่ และปรินิพพานที่นี่ การทำบุญทำที่ไหนก็ได้บุญ แต่การไหว้พระถ้าได้มาไหว้ที่อินเดียจะมีความสุข มีความปีติยินดี เหมือนกับเราได้ไปหาพ่อหาแม่ การได้มาบูชาสักการะคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และสถานที่ที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ในพุทธประวัติ เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
ซึ่งพระคุณเจ้าที่ได้มาเห็นของจริงจะสามารถนำความรู้ไปบอกต่อหรือสั่งสอนพุทธบริษัทในเมืองไทยได้
จะทำให้เมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่มีความมั่นคง ทำให้พุทธศาสนาแข็งแกร่งได้
ทางด้านพระคุณเจ้าที่ร่วมคณะเดินทาง พระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ที่กำแพงเพชรให้ความเห็นว่า การมีโครงการให้พระสงฆ์เดินทางไปยังแดนพุทธภูมิอินเดีย-เนปาล ถือเป็นการปลูกจิตศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ เพราะต้องยอมรับว่ามีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่เข้ามาบวชแบบหลวม ๆ จับพลัดจับผลูได้มาบวชโดยบังเอิญ หรือ ต้องการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แล้วท่านก็บวชเรื่อยมาซึ่งก็ได้ศึกษามีความรู้สั่งสมมาบ้าง
แต่การที่ท่านได้มีโอกาสเดินทางมาเห็นและสัมผัสสถานที่จริงจะช่วยให้ความรู้ที่สั่งสมไว้เพิ่มพูนขึ้น
เป็นก้าวกระโดดศรัทธา จากศรัทธาที่มีบ้างไม่มีบ้างหรือศรัทธาที่คลอนจะกลายเป็นแน่นแฟ้นได้
เป็นกำไรมหาศาลในเรื่องการพัฒนาศาสนบุคคล ซึ่งที่จังหวัดกำแพงเพชรทำมา 3 ปีแล้ว
“3 ปีที่ได้นำพระไปอินเดียกลับมาหลายรูปถึงกับบอกว่าจะบวชถวายอก เป็นภาษาของพระหมายความว่าบวชจนตาย เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวมองว่าโครงการลักษณะนี้เป็นกำไรมหาศาล เพราะได้พระที่กลับไปแล้วคึกคัก ส่วนใหญ่ท่านตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้กลับมาเผยแผ่หรือถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์และชาวบ้าน เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา”รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชรย้ำ

8 วันของการเดินทางเพื่อไปยังสถานที่สำคัญที่สุดทั้ง 4 จนครบ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในพุทธประวัตินั้น ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายจริง ๆ
เพราะเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันจะอยู่บนรถหมดไปกับการเดินทาง ทำให้ได้ทำวัตรเย็นบนรถเกือบทุกวัน
ได้รู้จักว่าแขกขี้-คุยเป็นอย่างไร เพราะในระหว่างที่เขาปฏิบัติภารกิจส่วนตัวกลางทุ่งเขาก็ยังคุยกันได้
ได้มีโอกาสใช้ห้องน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ได้ฝึกความอดทนอดกลั้น ได้มีโอกาสบำเพ็ญทานบารมี เพราะในทุกที่ที่เราไปจะได้พบกับบรรดาขอทานที่มาจะเรียกเรา ๆ ท่าน ๆ ว่ามหาราชา มหารานี (การแจกทานต้องทำอย่างมีศิลปะจะยืนแจกไปเรื่อยเปื่อยไม่ได้เพราะมีเท่าไหร่ก็ไม่พอแถมจะโดนรุมจนไปไหนไม่ได้อีกต่างหาก)
ได้เห็นวัวที่เขานับถือเป็นเทพเจ้าเดินให้เกลื่อนเมืองโดยไม่มีใครทำอะไร
และได้อีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจหรือไม่น่าจดจำก็ตาม เมื่อได้ไปถึง ณ จุดหมายเราจะได้รับรู้ถึงความรู้สึกอิ่มเอิบใจได้จริง ๆ
หากใครพร้อมแล้ว และโอกาสเอื้ออำนวย ลองไปดูสักครั้งแล้วจะรู้ว่าความสุขใจเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ถ้าเป็นไปได้โครงการลักษณะนี้น่าจะมีต่อไป เพราะถือว่าเป็นสะพานบุญอย่างดีที่จะช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาในบ้านเราได้อีกทางหนึ่ง.
อรนุช วานิชทวีวัฒน์ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.dailynews.co.th/education/192024วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2556 เวลา 00:00 น.