ไทยชั้นเซียน...ตามแห่ "วิ่งไล่กระแส" เกินตัว..อาจถึงป่วย!!
จากวันนี้ไปไม่ถึงครึ่งเดือนดีก็จะเข้าสู่เทศกาล “สงกรานต์” อีกแล้ว ซึ่งในไทยก็มีการสืบสานเทศกาลปีใหม่ไทยโบราณนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในรายละเอียดการทำตามประเพณีปฏิบัติแต่โบราณนั้นก็เลือน ๆ ไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ก็เป็นธรรมดาโลก เพียงแต่...ก็มีอะไรที่แย่ ๆ หลายอย่างที่ไม่น่าจะทำกัน
ทำตามประเพณี...คนไทยสนใจน้อยลงเรื่อย ๆ
แต่ทำตามกระแส...สนใจกันมากและรวดเร็ว!!
ทั้งนี้ ว่ากันถึงการ ’ทำตามกระแส“ ไม่ว่าจะเป็นด้านการซื้อการใช้สิ่งของหรือบริการ ด้านบันเทิงเริงรมย์ หรือด้านอื่น ๆ แม้แต่กับเด็ก ๆ ต้องยอมรับเลยว่า ’คนไทยไม่แพ้ชาติไหน ๆ ในโลก“ ซึ่งก็เคยมีนักจิตวิทยาชี้ไว้ว่า...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ที่มีลักษณะเฉพาะของคนไทยเรา
เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ปรากฏในกลุ่มคนไทย
ส่วนทำตามแล้วจะดีหรือไม่ดี...นั่นก็อีกเรื่อง!!
หากจะขยายความ “เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ปรากฏในกลุ่มคนไทย” กับเรื่องการ “นิยมทำตามกระแส” หรือใครจะเรียกว่า ’เห่อตามแห่“ ก็สุดแท้แต่ ทาง ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา เคยสะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้ว่า...ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์พิเศษนี้ อาจจะเรียก “ทฤษฎี 3A” ซึ่งประกอบด้วย...
A ตัวที่หนึ่ง คือ “อะดอพท์ (Adopt)” หรือการที่สามารถจะ “รับได้ทุกอย่าง” ซึ่งหมายความว่า คนไทยสามารถที่จะรับรู้ สามารถจะรับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในวิถีชีวิตและในสังคม ได้ทุกสิ่ง ได้ทุกอย่าง ได้ทุกเรื่อง
A ตัวที่สอง คือ “อะแดพท์ (Adapt)” หรือการที่สามารถจะ “ปรับให้เข้ากัน” ซึ่งหมายความว่า ลักษณะนิสัยของคนไทยนั้น นอกจากจะมีการยอมรับหรือรับเอาสิ่งใหม่ ๆ ต่าง ๆ เข้ามาในวิถีชีวิตได้ง่ายแล้ว ก็ยังสามารถที่จะมีการนำสิ่งที่รับรู้หรือสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามานั้น มาทำการปรับปรุง ดัดแปลง ให้เข้ากับชีวิตมากขึ้น
A ตัวที่สาม คือ “แอซซิมิเลท (Assimilate)” ที่แปลว่า ซึมซาบ “ลอกเลียน” ทำให้เหมือน ซึ่งหมายถึงการกลืนหาย นอกจากจะรับเข้ามา และนำมาปรับแล้ว ลักษณะนิสัยของคนไทยอีกลักษณะหนึ่งคือ นำสิ่งใหม่ ๆ ที่รับเข้ามานั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตปกติ หรือทำจนเป็นเรื่องธรรมดา หรืออาจกลายเป็นวัฒนธรรมไปเลย
“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติสามารถมองเห็นในลักษณะนิสัยเฉพาะของคนไทย คือ คนไทยปรับตัวเก่ง คนไทยมีความยืดหยุ่นมาก และคนไทยรับอะไรได้ง่ายเกินไป”...ทางนักจิตวิทยาระบุไว้
ตรง ’รับง่ายเกินไป“ นี่น่าคิดหรือไม่.? 
ดร.วัลลภ ยังเคยชี้ทิ้งท้ายถึงเรื่องการ “นิยมทำตามกระแส” ของคนไทย ผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้ด้วยว่า...ในอีกมิติหนึ่ง ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนไทย ก็อาจจะเกิดจากปัจจัยในเรื่องภูมิศาสตร์-ภูมิภาคด้วย คือ
เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์
จึงมักจะรับและมองสิ่งต่าง ๆ ในด้านบวก
ซึ่งบางครั้งก็เป็นการรับง่ายเกินไป รับรวดเร็วเกินไป
เป็นลักษณะของการรับเข้ามาแบบ “ผิวเผิน-ฉาบฉวย”
และก็มัก...’ขาดการศึกษาค้นคว้าถึงที่มาที่ไป!!“
ทั้งนี้ กับการ “นิยมทำตามกระแส” ของคนไทยนั้น ก็มีทั้งส่วนที่ทำตามกระแสที่เกิดขึ้นในไทยโดยคนไทยเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการทำตามชาติอื่น-ทำตามคนชาติอื่นมากกว่า ซึ่งยิ่งยุคนี้เป็นยุคโลกออนไลน์ซ้อนทับอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง อะไรต่อมิอะไรจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรือแม้แต่ในเชิงบันเทิง ก็หลั่งไหลมาให้คนไทยได้ทำตามกันมากมาย บางครั้งบางคนพยายามจะทำตามอย่างหนึ่งยังไม่ทันจะได้ ก็มีอย่างใหม่ให้พยายามทำตามอีกแล้ว ซึ่งกับการนิยมทำตามกระแสนี้ ถ้ามีความพร้อม เหมาะที่จะทำ ก็คงไม่กระไร
แต่...’ไม่เหมาะ ไม่พร้อม แล้วทำ อาจมีปัญหา“
ยกตัวอย่าง...ทำตามโดยการซื้อการมีสิ่งของ ถ้านิยมทำตามโดยไม่พร้อม ปัญหาอย่างเบาะ ๆ คือ เสียเงินมาก หรืออาจต้อง “เป็นหนี้” แล้วก็จะ “เป็นทุกข์” ไม่ได้มีความสุขจริง ๆ กับการได้สิ่งของนั้น ๆ มา และดีไม่ดีอาจจะนำสู่ปัญหารุนแรงถึงขั้น “เป็นโรคซึมเศร้า” ไม่ว่าจะได้สิ่งของนั้น ๆ มาแล้ว หรือยังไม่ได้ก็ตาม
“ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่กำลังหลงไปกับกระแสนิยม กระแสวัตถุนิยม เข้าใจผิดว่าการมีข้าวของเทียบเท่าหรือมากกว่าคนอื่นคือความสุข จึงใช้ชีวิตอยู่ในวังวนของการแข่งขันตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน เกิดความเครียด ความกดดัน และความวิตกกังวลสะสม ซึ่งอาจจะพัฒนาสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้ทั้งทางจิตใจและทางกาย”...นี่เป็นการระบุของ นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ที่ก็น่าคิด
เมืองไทยมีเรื่องดีที่ทำตามแล้วมีความสุข...เยอะไป
แต่...คนไทยยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อยไม่สนใจทำ
กลับนิยมทำตามในสิ่งที่อาจทำให้ทุกข์...ซะงั้น!!!!!.ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.dailynews.co.th/article/223/193828วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2556 เวลา 00:00 น.
http://www.tutaattapon.thmy.com/