ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัมมาทิฏฐิเป็นรุ่งอรุณแห่งกุศลธรรม ( เคยฟังในรายการRDN )  (อ่าน 5582 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

สงกรานต์

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 10
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
สัมมาทิฏฐิเป็นรุ่งอรุณแห่งกุศลธรรม

ภิกษุ ท. ! เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมา, นั่นเป็นสิ่งที่มาก่อน นั่นเป็นนิมิตล่วงหน้า กล่าวคือ รุ่งอรุณ. ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : นั่นเป็นสิ่งที่มาก่อน นั่นเป็นนิมิตล่วงหน้า แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย สิ่งนั้นก็คือ สัมมาทิฏฐิ.
ภิกษุ ท. !
สัมมาสังกัปปะ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาทิฏฐิ
สัมมาวาจา ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาสังกัปปะ
สัมมากัมมันตะ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาวาจา
สัมมาอาชีวะ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมากัมมันตะ
สัมมาวายามะ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาอาชีวะ
สัมมาสติ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาวายามะ
สัมมาสมาธิ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาสติ
สัมมาญาณะ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาสมาธิ
สัมมาวิมุตติ ย่อมมีอย่างเต็มที่ แก่ผู้มีสัมมาญาณะ.
- ทสก.อํ. ๒๔/๒๕๔/๑๒๑.


บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

การมีสัมมาทิฏฐิ

สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะนำไปสู่การตั้งเป้าหมายของชีวิต และการเลือกวิถีชีวิต คือ วิธีที่เรามองโลกและชีวิต ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่ความคิด คำพูด และการกระทำของเรา ยกตัวอย่างเช่น เด็ก 3 คน เห็นนกบินมาเกาะที่ต้นไม้
     คนแรกมองเห็นนกเป็นอาหาร ก็คิดว่า “ มันน่ายิง เอามาย่างกิน คงอร่อยดี”Ž
     คนที่สองมองเห็นเป็นของเล่น ก็คิดว่า ”นกสีสวยจริงๆ น่าจับมาเลี้ยง”Ž
     คนที่สามมองเห็นนกเป็นสัตว์ที่มีความทุกข์ ก็คิดว่า “มันมีกรรมอะไรหนอ ถึงต้องมาเกิดเป็นนก”Ž


แม้ภาพนกที่ทั้งสามคนมองเห็นจะเป็นภาพเดียวกัน แต่การแปล ความหมายภาพนั้นมาสู่ ความคิด คำพูด และการกระทำ กลับแตกต่างกันมากมาย ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมองสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ผ่านกรอบความคิดที่ต่างกันนั่นเอง ดังนั้นวิถีชีวิตของเรา จะดำเนินไปอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับจุดเริ่มต้น คือ กรอบความคิด หรือความรู้ความเข้าใจเรื่องโลกและชีวิตนั่นเอง

ดังที่เราได้ทราบแล้วว่าแผนที่ในการดำเนินชีวิต ก็คือ วิธีที่เรามองโลกและชีวิต ดังนั้น หากต้องการให้เส้นทางชีวิตนั้นพบกับความสุขและความสำเร็จที่แท้จริง ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึง ถึงประการแรกคือ การมองโลกและชีวิตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งศัพท์ทาง พระพุทธศาสนาเรียกว่า สัมมาทิฏฐิŽ


ความหมายของคำว่า “ สัมมาทิฏฐิ”Ž
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก หมายถึงการมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโลก และความเป็นไปของชีวิต ว่าเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว หนทางในการก้าวไปให้ถึงเป้าหมายของชีวิตก็เป็นเรื่องที่ไม่ยาก จนเกินไป อีกทั้งหนทางการสร้างบารมีก็จะสว่างสดใสเลยทีเดียว


ระดับของสัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
    1. สัมมาทิฏฐิเบื้องต้น หรือระดับโลกียะ เป็นความเข้าใจถูกในระดับที่เกื้อกูลให้ชีวิต ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า หรือในระหว่างที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด จนกว่าจะหมดกิเลส
    2. สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง หรือระดับโลกุตตระ เป็นความเข้าใจถูกในระดับ รู้แจ้งเห็นจริงของพระอริยเจ้าด้วยการเจริญสมาธิภาวนา จนสามารถกำจัดกิเลสได้ไปตามลำดับ

1. สัมมาทิฏฐิเบื้องต้น สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นเรื่องที่ชาวโลกทุกคน ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มี 10 ประการ คือ
     1. ทานที่ให้แล้วมีผล (หมายถึงการให้ในระดับแบ่งปันกัน)
     2. ยัญที่บูชาแล้วมีผล (หมายถึงการให้ในระดับสงเคราะห์กัน)
     3. การเซ่นสรวงมีผล (หมายถึงการบูชาบุคคลที่ควรบูชามีผลดีจริง)
     4. ผลคือวิบากของกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี (กฎแห่งกรรมมีจริง)
     5. โลกนี้มี (หมายถึงความเชื่อเรื่องผลกรรมข้ามชาติมีจริง)
     6. โลกหน้ามี (หมายถึงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด)
     7. มารดามี (หมายถึงมีบุญคุณ)
     8. บิดามี (หมายถึงมีบุญคุณ)
     9. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีจริง (สัตว์ที่ผุดขึ้นเกิดแล้วโตทันทีมีจริง)
   10. ในโลกนี้มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองมีอยู่ (พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสได้ด้วยตนเองมีจริง)


2. สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง มี 4 ประการ คือ
     1. ความรู้ในทุกข์
     2. ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)
     3. ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์)
     4. ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางดับทุกข์)


สัมมาทิฏฐิเบื้องสูงนี้เกิดขึ้นจากการมีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นเป็นพื้นฐานมาก่อน จากนั้น จะต้องผ่านการทำสมาธิจนเห็นผลแห่งการปฏิบัติมาในระดับหนึ่งจึงจะเกิดความเข้าใจแตกฉานได้ ซึ่งจะยังไม่ขยายความในที่นี้ แต่จะมุ่งไปที่สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก่อนเป็นอันดับแรก
     สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นทั้ง 10 ประการดังกล่าว ข้อที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อทุกชีวิต มากที่สุด คือ
     ข้อที่ 4 ได้แก่ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ที่ว่าใครทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ใครทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่วจากสิ่งที่ตนเองทำไว้


หากใครมีความเชื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว เขาจะมีกำลังใจสูงที่จะทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมีความมั่นใจในบุญและกล้าที่จะประกาศว่า ชีวิตนี้เกิดมาก็เพื่อสร้างบุญสร้างบารมีให้มากที่สุด ความชั่วจะไม่ทำ คนลักษณะนี้จะต้องมีความเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมเป็นตัวค้ำไว้ ถ้าไม่มีความเชื่อนี้เสียแล้ว แม้มีโอกาสที่จะทำความดีก็จะไม่ทุ่มเต็มที่ เพราะยังลังเลอยู่ว่าจะได้บุญจริงหรือไม่ แม้ทำก็แค่คิดทำเพียงป้องกันเอาไว้ก่อน ทำแบบไม่สม่ำเสมอ ผลที่ออกมาก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนั้น ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมยังจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในสัมมาทิฏฐิข้ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

ดังนั้น หากมีสัมมาทิฏฐิครบทั้ง 10 ประการนี้แล้ว ต้องถือว่ามีวิถีชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุด ถึงคราวจะมีโอกาสทำความชั่ว ก็สามารถยับยั้งใจเอาไว้ได้ ใครจะรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม ถ้ารู้ว่าเป็นความชั่วแล้วเป็นไม่ทำเด็ดขาด ตรงกันข้าม ถ้าเป็นเรื่องบุญแล้ว จะมีใครรู้เห็น จะมีใครสรรเสริญหรือไม่ก็ตาม ก็จะทุ่มเททำอย่างสุดกำลัง



ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิต่อวิถีชีวิต
สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทราบและศึกษาทำความเข้าใจเป็นประการแรก เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปอย่างถูกทาง ความคิด คำพูด และการกระทำ ก็จะปรากฏออกมาในทางที่ดีงาม
     คนเราอาจจะมีความเข้าใจถูกในด้านวิชาการทางโลกเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง
     แต่ความเข้าใจถูกเหล่านั้นยังไม่จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ
     ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับตัวเองหรือคนอื่นๆได้

ยกตัวอย่าง บางท่านอาจจะมีความเข้าใจถูกในเรื่องของดาราศาสตร์ ในเรื่องของเทคโนโลยี จนกระทั่งสามารถไปดวงจันทร์ ไปดวงดาวต่างๆ ได้ บางท่านอาจจะมีความเข้าใจถูกในเรื่องการแพทย์ ในเรื่องของการคำนวณ รวมทั้งการปกครองทั่วๆ ไป แต่ก็ยังไม่เรียกว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ ต่อเมื่อใดมีความเข้าใจในเรื่องโลก เรื่องชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อนั้นจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามถึงแม้เขาจะเรียนจบปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี เป็นมหาเศรษฐี นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ตราบใดที่เขายังเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องโลกและชีวิต

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนไว้ในที่หลายๆ แห่ง และเมื่อตรัสครั้งใด จะต้องยกสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นทุกครั้งไป มีตัวอย่างดังนี้
     "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุข(เกื้อกูล)แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร คือบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากอสัทธรรมแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ หิตสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย"Ž


นอกจากนี้ สัมมาทิฏฐิยังเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงกุศลธรรมความดีที่กำลังจะ เกิดขึ้นในภายภาคหน้าอีกด้วย คือ เมื่อบุคคลมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นในใจแล้ว ย่อมเป็นทางให้บุญกุศลทั้ง หลายได้เกิดแก่ขึ้นแก่บุคคลนั้น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังนี้
    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งดวงอาทิตย์ เมื่อจะอุทัย คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้น เหมือนกันแล”Ž




ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือวิถีชาวพุทธ ของมหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย
ที่มา : http://book.dou.us/doku.php?id=sb101:1
ขอบคุณภาพจาก : http://www.chiangmai-thailand.net/,http://www.dailynews.co.th/,http://1.bp.blogspot.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ