« เมื่อ: มิถุนายน 17, 2013, 12:27:55 pm »
0
เบญจกัลยาณี
เบญจ มาจากคำว่า ปญฺจ ในภาษาบาลี แปลว่า ห้า และ กัลยาณี แปลว่า หญิงงาม หรือ นางงาม ความหมายของคำว่า เบญจกัลยาณี ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นความหมายทั่วไป คือ หญิงมีลักษณะงาม ๕ ประการ ได้แก่
๑. ผมงาม
๒. เนื้องาม คือ เหงือกและริมฝีปากแดงงาม
๓. ฟันงาม
๔. ผิวงาม และ
๕. วัยงาม คือ ดูงามทุกวัย
แต่ในพจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒ นิยามความหมายของ เบญจกัลยาณี ต่างไปจากความหมายทั่วไปไว้
อีกความหมายหนึ่งว่า เบญจกัลยาณี หมายถึง หญิงที่มีคุณลักษณะเป็นแม่นมที่ดี มีน้ำนมเหมาะแก่การเลี้ยงทารก ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ หญิงที่มีกลิ่นตัวหอมคล้ายกลิ่นดอกกล้วยไม้ โดยทั่วไปหญิงกลุ่มนี้จะมีไหล่ผาย สะเอวรัด หลังราบ ตัวดำและเล็ก แก้มใส มือเท้าเรียว เต้านมเหมือนดอกบัวแรกแย้ม ผิวเนื้อแดง เสียงเหมือนเสียงสังข์ น้ำนมรสหวานมัน
กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ หญิงที่มีกลิ่นตัวเหมือนดอกบัว เสียงเหมือนเสียงแตร ไหล่ผาย ตะโพกรัด แก้มพอง นิ้วมือนิ้วเท้าเรียบ เต้านมเหมือนดอกบัวบาน ผิวเนื้อเหลือง น้ำนมข้น มีรสหวาน
กลุ่มที่ ๓ ได้แก่ หญิงที่ไม่มีกลิ่นตัว เอวกลม ขนตางอน จมูกสูง เต้านมกลม หัวนมงอน น้ำนมรสหวานมันเล็กน้อย
กลุ่มที่ ๔ ได้แก่ หญิงที่มีกลิ่นตัวหอมเผ็ด เสียงเหมือนเสียงจักจั่น ปากเหมือนปากเอื้อน ตาเหมือนตาทราย ผมแข็งชัน ไหล่ผาย ตะโพกผาย หน้าผากสวย ท้องเหมือนกาบกล้วย นมเป็นพวงใหญ่ น้ำนมขาว รสมันเข้มเล็กน้อย
คำว่า เบญจกัลยาณี ในตำราการแพทย์แผนไทย พบว่าเขียนเป็น เบญจกัลยานี เบญจะกัลยาณี เบญจกัลป์ยานี หรือเบญจะกัลยานี ก็มี และ เบญจกัลยาณี ในความหมายนี้ บางทีเรียกว่า หญิงเบญจกัลยาณี หรือแม่นมเบญจกัลยาณี.
แสงจันทร์ แสนสุภาขอบคุณบทความและภาพจาก
http://www.dailynews.co.th/article/44/185613http://www.watvisit.com/ ,
http://i284.photobucket.com/