มาตาปิตุอุปฎฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ : การเลี้ยงดูมารดาบิดา เป็นมงคลสูงสุด
(มาตาปิตุอุปฎฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ อ่านว่า มาตาปิตุ-อุปัดถานัง เอตัมมังคะละมุดตะมัง)
คุณของบิดามารดา คือ พระอรหันต์ของบุตร มารดาบิดา เป็นบุคคลที่รู้จักกันทั่วโลก คนเราเกิดมาเห็นโลกอันกว้างใหญ่นี้ได้ เพราะมารดาบิดาเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ให้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายแก่ลูก ซ้ำมารดาบิดายังบำเพ็ญตนเป็นยอดนักบุญ สำหรับชีวิตของลูกอีกด้วย เป็นผู้เสียสละความสุขของตนเองทุกๆ อย่าง เฝ้าทะนุถนอมเอาใจใส่ลูกทุกเวลา ทำทุกอย่าง เพื่อความผาสุขของลูก ลูกต้องการปรารถนาสิ่งใด อันเป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย ก็พยายามจัดหาให้ทุกอย่าง เป็นผู้ใกล้ชิดลูกยิ่งกว่าใครๆทุกคน จึงรู้จักมารดาบิดาดี
ส่วนลูกส่วนมาก หารู้จักและซึ้งถึงพระคุณของผู้เป็นมารดาบิดาไม่ คงรู้จักแต่เพียงว่าชายผู้ให้กำเนิดแก่คนเรียกว่า บิดา หญิงผู้ให้กำเนิดแก่ตนเรียกว่า มารดา เท่านั้น แท้จริงแล้ว ท่านผู้ให้กำเนิดทั้งสองนั้น เป็นผู้มีพระคุณมากมาย สุดที่ลูกผู้กตัญญูรู้คุณ จะทดแทนพระคุณให้สิ้นสุดได้
เพราะเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนาถของโลกทรงซึ้งถึงพระคุณของผู้เป็นมารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร
ว่าเป็นพระพรหม เป็นบุรพเทวดา เป็นบุรพาจารย์ เป็นอาหุเนยยบุคคล ของบุตรดังนี้
มารดาบิดาเป็นผู้ที่มั่นคงในพรหมวิหารธรรม โดยไม่ยอมทิ้ง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในลูกของตนย่อมมีเมตตารักใคร่ในลูกปรารถนาจะเห็นลูกของตนปราศจากโรคภัยเบียดเบียนมีความสุข ร่าเริง แจ่มใส
มีกรุณา สงสาร เมื่อลูกของตนต้องประสบความทุกข์ คิดแต่จะช่วยให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน มีความสุขความเจริญ
เมื่อเห็นว่าลูกของตนมีความสุข สามารถเลี้ยงและปกครองตนเองและครอบครัวให้มีความสุขได้ก็พลอยมีมุทิตายินดีด้วย ไม่อิจฉาริษยาในความสุขของลูก เมื่อเห็นลูกต้องประสบทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่ซ้ำเติม วางจิตมัธยัสถ์เป็นกลางเสมอ มารดาบิดา จึงเป็นดุจท้าวมหาพรหมที่ไม่เคยละภาวนา ๔ ในหมู่สัตว์ จึงได้รับนามบัญญัติว่าเป็น “พระพรหมของลูก”
มารดาบิดา เป็นผู้พิทักษ์รักษาลูกก่อนเทวดาทั้งปวง นับตั้งแต่ลูกในครรภ์ เมื่อลูกเกิดมาแล้ว ก็เอาใจใส่ดูแล แม้บางคราวลูกทุบตีตน เพราะไม่รู้เดียงสาแทนที่มารดาบิดาจะเกลียดและโกรธกลับยกโทษให้และยังเพิ่มความรักใคร่ในลูกของตนเสียอีกไม่คำนึงถึงความผิดใดๆ ของลูกทั้งสิ้นบางครั้งลูกทำผิด มารดาบิดาก็ดุว่ากล่าวหรือลงโทษแต่ด้วยใจริงแล้ว ไม่ปรารถนาจะให้ลูกของตนเดือดร้อน ทำไปด้วยความรักความหวังดีปรารถนาให้ลูกของตนมีความสุขความเจริญ มารดาบิดาจึงชื่อว่า เป็นเทวดา คือ ผู้ประเสริฐสุดสำหรับลูก
ท่านไม่พยายามที่จะทำความชั่วให้ปรากฏแก่ลูกเกรงลูก จะถือเอาแนวปฏิบัติสร้างตนในทางที่ผิดเมื่อลูกรู้จักคุณแล้ว ทำปฏิการะตอบแทนจึงเป็นบุญเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เพราะเหตุที่ท่านทั้งสองบำเพ็ญตน เป็นเหมือนพระวิสุทธิเทพผู้ประเสริฐ ซึ่งท่านไม่ปรารภถึงความผิดใดๆ ที่พวกคนพาลก่อขึ้นมุ่งแต่ให้พวกเขามีความสุขความเจริญฝ่ายเดียว คุณความดของมารดาบิดาข้อนี้เองท่านจึงได้นามว่า “บุรพเทวดาของลูก”
มารดาบิดา เป็นทั้งครูอาจารย์ก่อนกว่าครูอาจารย์อื่นๆ เป็นผู้แนะนำอบรมสั่งสอนให้ลูกรู้จักกิน นอน พูด ทำ รู้จักดีชั่ว ควรไม่ควร เป็นทั้งผู้สอนและผู้ฝึกหัดให้ทุกอย่าง ท่านจึงสงเคราะห์มารดาบิดาว่าเป็นบุรพทิศในทิศ ๖ คุณความดีข้อนี้เอง ท่านจึงได้นามว่า “บุรพาจารย์ของลูก”
มารดาบิดา เป็นผู้มีพระคุณหลายประการดังกล่าวมาแล้ว เป็นทั้งผู้ให้กำเนิด เป็นทั้งผู้เลี้ยงดูให้อุปการะและสั่งสอนจนเป็นผู้สมควรอย่างยิ่งที่ลูกผู้กตัญญูรู้คุณ จะพึงนำสักการะมีอาหารและผ้าผ่อนท่อนสไบ เป็นต้น มาบูชาเป็นการตอบแทนพระคุณท่าน เพราะเมื่อสักการะบูชาท่านแล้ว ย่อมได้ผลานิสงส์มาก เหมือนได้สักการะบูชาแด่พระอรหันต์ขีณาสพ ท่านจึงได้นามว่าเป็น “อาหุเนยยบุคคลของลูก"

มารดาบิดา เป็นทั้งผู้สร้าง และผู้อุปถัมภ์ เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูกแล้ว ก็ต้องรับภาระเป็นผู้อนุเคราะห์เลี้ยงดูอีก ไม่ทอดทิ้งพยายามที่จะเสกสรรปั้นแต่งลูกของตนให้เป็นคนดี เพราะเหตุนี้เอง พระมหามุนีศาสดาจารย์ จึงตรัสแก่คฤหบดีบุตรชื่อ สิคาลกะว่า
ดูกร คฤหบดีบุตรมารดาบิดาพึงอนุเคราะห์บุตรของตนโดยสถาน ๕ คือ
๑. ป้องกันบุตรธิดามิให้ทำความชั่ว
๒. ส่งเสริมให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย
เพราะมารดาบิดา มีพระคุณอันใหญ่หลวงดังกล่าวมานี้ ผู้เป็นลูกจึงต้องคำนึงระลึกถึงเสมอ และหาทางตอบแทนพระคุณ แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสนองพระคุณของพระชนนี เพื่อชดใช้ค่าข้าวป้อนและค่าน้ำนม
โดยเสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์พิภพ แล้วทรงแสดงพระอภิธรรมโปรด จึงเป็นเนตติแบบอย่างอันดี

สำหรับพุทธบริษัทผู้เคารพนับถือในพระองค์ จึงพึงปฏิบัติตาม ถ้าหวังจะบำเพ็ญตนเป็นลูกที่ดี จึงเป็นการสมควรแล้ว ที่จะหาทางสนองพระคุณท่านตามฐานะและโอกาส ด้วยการเลี้ยงดูท่านให้ได้รับความสุข เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านผู้ดำรงอยู่ในฐานะบุพการี ผู้ทำอุปการให้แก่ตนก่อน ข้อนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่คฤหบดีบุตร ชื่อ สิคาลกะ ว่า
ดูกร คฤหบดีบุตร เมื่อมารดาบิดาได้อนุเคราะห์บุตรธิดาโดยสถาน ๕ แล้ว บุตรธิดาพึงปฏิการะตอบแทนโดยสถาน ๕ เช่นเดียวกัน คือ
๑. ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน ไม่ดูดาย
๓. ดำรงวงศ์สกุล ไม่ให้เสื่อม
๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรได้รับมรดก
๕. เมื่อท่านล่วงลับไป ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน
ทั้ง ๕ สถานนี้ สถานต้นเป็นข้อที่ผู้เป็นลูกควรทำ เพราะเราเจริญเติบโตได้ก็อาศัยที่ท่านมีเมตตาจิตให้การเลี้ยงดู เมื่อท่านแก่เฒ่าลงจึงเป็นหน้าที่ที่ลูกจะพึงเลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน เป็นการชดใช้หรือทดแทนพระคุณท่านที่ทำไว้ก่อน
มีภาษิตบทหนึ่งสำหรับเตือนใจผู้เป็นลูกให้ทดแทนพระคุณท่านด้วยการเลี้ยงดูว่า
อันทิศเบื้องหน้า บิดามารดาพึ่งอาศัย อย่าได้ดูถูก หมั่นปลูกอาลัย หมั่นเลี้ยงท่านไป ตราบม้วยชีวา การเลี้ยงท่านนั้น ท่านแสดงไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การเลี้ยงภายนอก ได้แก่ การอุปฐากอย่างต่ำ
๒. การเลี้ยงภายใน ได้แก่ การอุปฐากอย่างสูง
การเลี้ยงภายนอกนั้น ได้แก่ การจัดหาข้าวปลาอาหารและผ้าผ่อนท่อนสไบให้แก่ท่าน เป็นการเลี้ยงและให้ความสุขทางกายแก่ท่าน อันนับว่าเป็นอามิสบูชา เป็นส่วนการอุปฐากอย่างต่ำ
ส่วนการเลี้ยงดูภายในนั้น ได้แก่ การเลี้ยงดูน้ำใจท่าน โดยเป็นผู้เชื่อฟังตั้งอยู่ในคำสั่งสอนไม่ขัดข้อง ทั้งเป็นผู้หาโอกาส ทำให้ท่านเป็นผู้มีจิตใจ เป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม หาทางนำท่านผู้ไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธา ผู้ไม่มีศีลให้มีศีล ผู้ไม่มีจาคะการบริจาค ให้มีจาคะการบริจาค ผู้ไม่มีปัญญาให้มีปัญญา ดังพระสารีบุตรเถระเจ้าแนะนำมารดาผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ นับว่าเป็นปฏิบัติบูชา เป็นส่วนแห่งการอุปฐากอย่างสูงจากบทความเรื่อง "คุณมารดาบิดา" โดย.พระราชสุทธิญาณมงคล
http://www.kmitl.ac.th/~knosomch/human/human/K00044.htmlภาพจาก
http://www.mahamodo.com/