ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ม่วนหลาย สะบายดี เที่ยว “อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์”  (อ่าน 1220 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29352
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ม่วนหลาย สะบายดี เที่ยว “อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์”


“พระธาตุหลวงเวียงจันทน์” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองและศูนย์รวมจิตใจของชาวลาว

       สำนวนไทยที่ว่า “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว” ดูเหมือนจะเข้ากันดีกับการออกทริปเที่ยวครั้งนี้ของ “ตะลอนเที่ยว” เสียจริงเชียว เพราะว่าการออกเดินทางท่องเที่ยวในครั้งนี้ เราตีตั๋วเครื่องบินครั้งเดียว แต่ได้เที่ยวถึง 2 ประเทศ
       
       ในทริปนี้เราเดินทางมากับสายการบินนกแอร์ บินมาลงยัง จ.อุดรธานี แล้วค่อยเดินทางไปเที่ยวต่อยังเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว โดยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่จ.หนองคาย เรียกว่าเป็นการเดินทางที่แสนจะสะดวกสบาย ได้เที่ยวแบบคุ้มค่า สัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าสนใจและวัฒนธรรมอันหลากหลายของทั้ง 2 ประเทศ



“พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี” สร้างจากหินอ่อนสีขาว

       ทันทีที่ “ตะลอนเที่ยว” เดินทางมาถึง จ.อุดรธานี เราไม่รอช้าขอเดินทางออกนอกเมืองกันก่อน เพื่อตรงไปเที่ยวยังจุดหมายแรกที่ “วัดป่าภูก้อน” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่านายูงและป่าน้ำโสม อ.นายูง ที่นี่เป็นวัดที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก บรรยากาศภายในวัดแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ มีภูเขา ต้นไม้น้อยใหญ่ ดูร่มรื่นและสงบงามมาก
       
       เมื่อได้มาที่วัดป่าภูก้อน เราได้ขึ้นมาบนเขาเพื่อมากราบสักการะและขอพรกับ “พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี” เป็นพระพุทธปางปรินิพพานที่สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวจากประเทศอิตาลี มีความงดงามวิจิตรอลังการทางพุทธศิลป์เป็นอย่างมาก องค์พระมีความยาว 20 ม. สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่ในหลวงทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554



“พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์” ที่วัดป่าภูก้อน

       ภายในวัดป่าภูก้อนยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้มาชมอีก คือ “พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์” เป็นองค์เจดีย์สีทองเหลืองอร่ามตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขา เราต้องออกแรงเดินขึ้นไปตามบันได เพื่อไปชมองค์เจดีย์กันอย่างใกล้ชิด ด้านหน้าขององค์เจดีย์มีพระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพาให้ได้ไหว้ขอพร และที่ชั้นบนยอดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนชั้นสองมีรูปหล่อของบูรพาจารย์ในสายกรรมฐานให้ได้กราบบูชากัน


“ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี” จัดแสดงเรื่องราวความเป็นจีนให้ได้ชม

      ได้ไหว้พระขอพรจนอิ่มบุญและอิ่มใจกันแล้ว เราเดินทางกลับมาที่ตัวเมืองอุดรฯ กัน เพื่อมาเที่ยวที่ “ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี” ที่นี่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นจุดศูนย์รวมอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีบรรพชนและหลักปรัชญา ของพี่-น้องชาวไทยเชื้อสายจีนใน จ.อุดรธานี
       
       เมื่อเราได้เข้ามาชมก็สัมผัสได้กับความเป็นจีนตั้งแต่ด้านนอกที่จัดเป็นสวนจีนอันสวยงามตระการตา สวนสวยตกแต่งด้วยไม้มงคลของจีนมากมาย อาทิ ต้นเครามังกร ต้นหลิว ต้นไผ่ดำ ประทัดจีน ฯลฯ และรายล้อมด้วยสระบัว และบ่อปลาคาร์ปจักรพรรดิ ซึ่งรอบสระบัวยังมีประติมากรรมนูนสูงบอกเล่าเรื่องราวตำนานสุดยอด 24 กตัญญูของแผ่นดินจีน พร้อมคำบรรยาย (ภาษาไทย-จีน) ให้ได้อ่านศึกษากันด้วย



สวนสไตล์จีนตกแต่งอย่างสวยงามที่ “ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี”

      มีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอการจัดแสดงไว้อย่างน่าสนใจ ภายในจัดแสดงเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนใน จ.อุดรธานีไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของธุรกิจการค้า การศึกษา เรื่องราวขององค์เจ้าปู่-ย่า ที่เป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวอุดรฯ การจำลองประเพณีการไหว้เจ้าของชาวจีน ประวัติมหาปราชญ์ขงจื้อและคำสอนต่างๆ ของท่านให้ได้เรียนรู้กันด้วย และยังมีอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ห้องฉายภาพยนตร์ 3 มิติ ห้องประชุม ห้องออเคสตรา อาคารศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมและโรงทาน


ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใส

      “ตะลอนเที่ยว” ใช้เวลาเดินชมและเรียนรู้สิ่งต่างๆ อันน่าสนใจที่ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีนนี้อยู่พักใหญ่ ก็ได้เวลาที่จะต้องเดินทางไปยัง จ.หนองคาย กันแล้ว เพื่อจะได้ข้ามแดนไปเที่ยวเวียงจันทน์กันต่อ แต่ไหนๆ เมื่อมาถึงหนองคายแล้วก็ไม่พลาดจะที่จะขอแวะ “วัดโพธิ์ชัย” เพื่อมาสักการะและขอพร “หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถที่มีภาพจิตกรรมฝาผนังอันงดงาม


วัดโพธิ์ชัย มีหลวงพ่อพระใส พระสุก พระเสริม ให้ได้กราบขอพร

       หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว และด้านในโบสถ์ยังมีรูปหล่อของหลวงพ่อพระใส พระสุก พระเสริม ซึ่งเป็นพระพี่น้องกันให้ได้กราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง
       
       เอาล่ะ หลังจากได้ไหว้พระขอพรกันจนอิ่มเอมใจแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะเดินทางข้ามแดนไปยัง สปป.ลาว กันเสียที โดยเราใช้เส้นทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก เชื่อมจาก จ.หนองคาย ไปยังท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
       
       หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็มาถึงยัง “เวียงจันทน์” สปป.ลาว ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 1,200 ปี ถูกสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้างแทนเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 2103 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช และเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางการปกครองของลาวมาจนถึงทุกวันนี้



”พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช” ตั้งอยู่ด้านหน้าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์

        ที่ “เวียงจันทน์” มีสถานที่ท่องเที่ยว วัดวาอาราม และโบราณสถานต่างๆ ชวนให้เที่ยวชมหลายที่ เรามุ่งหน้ามาเที่ยวที่แรก คือ “พระธาตุหลวงเวียงจันทน์” เพื่อมากราบพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองที่เป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลาว แต่เดิมพระธาตุองค์นี้เป็นพระธาตุองค์เล็กๆ ชื่อว่า องค์พระธาตุศรีธรรมาโศก เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือในยุคอาณาจักรศรีโคตรบอง กระทั่งในปี พ.ศ. 2109 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างพระธาตุหลวงใหม่ครอบองค์พระธาตุเดิม และให้ชื่อว่า "พระธาตุเจดีย์โลกจุฬามณี" แต่ชาวลาวนิยมเรียกว่า “พระธาตุหลวง”
       
       องค์พระธาตุมีสีทองเหลืองอร่ามตั้งโดดเด่นเป็นสง่า เมื่อได้เข้าไปชมใกล้ๆ สัมผัสได้ถึงความงดงามขององค์พระธาตุที่สร้างขึ้นตามรูปทรงตามคติจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง องค์พระธาตุรูปทรงดอกบัวตูมมีความสูง 45 ม. มีเจดีย์บริวารล้อมรอบ 30 องค์ และภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหัวเหน่า
       
      พอได้กราบไหว้พระธาตุและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองแล้ว เราก็เดินออกมาทางด้านหน้าเพื่อมาสักการะ ”พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช” ผู้ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ลาว



หอพระแก้ว เมื่ออดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

       หลังจากได้สักการะพระธาตุหลวงแล้ว เรามาเที่ยวกันต่อที่ “หอพระแก้ว” ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาวมาก่อน และเมื่ออดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาประทับที่ประเทศไทย แม้ปัจจุบันนี้ที่หอพระแก้วจะไม่มีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้มาเที่ยวชมมากมาย


พระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งอยู่รอบระเบียงหอพระแก้ว

      หอพระแก้วทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณล้ำค่ามากมายให้ได้ชมกัน ไม่ว่าจะเป็นนาค 7 เศียร พระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลาจารึก กลองสำริด และโบราณวัตถุอื่นๆ อีกมากมาย และที่ระเบียงรอบหอพระแก้วยังมีพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ตั้งเรียงรายอยู่รอบระเบียงที่ล้วนแล้วแต่มีความงดงาม


ความสวยงามของพระวิหาร วัดสีสะเกด

       ออกจากหอพระแก้ว เราเดินมาฝั่งตรงข้ามมายัง “วัดสีสะเกด” หรือ “วัดสะตะสะหัสสาราม” (วัดแสน) เป็นวัดที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างขึ้น และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทั้งองค์เล็กและองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้รอบพระระเบียงและในพระอุโบสถไว้นับแสนองค์ จนเป็นที่มาของชื่อวัดแสน ซึ่งวัดสีสะเกดเป็นวัดสำคัญของเวียงจันทน์ เพราะแม้จะผ่านศึกสงครามมาหลายยุคหลายสมัย แต่วัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดเดียวที่รอดพ้นจากการถูกทำลายมาได้


พระพุทธรูปจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ที่ระเบียงคดวัดสีสะเกด

      ภายในวัดสีสะเกดมีพระวิหารที่ยังคงความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมให้ได้ชม และด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง มีภาพจิตกรรมบนฝาผนังเขียนเรื่องทศชาติชาดกให้ได้ชม บนผาฝนังยังมีช่องเล็กๆ ที่บรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กๆ นับพันองค์ไว้ และที่ด้านนอกพระวิหาร มีระเบียงคดล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จำนวนมาก และที่ฝาผนังก็เจาะเป็นช่องเล็กๆ บรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไว้มากมายเช่นกัน


ประตูชัย หนึ่งในสัญลักษณ์ของเวียงจันทน์

       เราได้เที่ยวชมโบราณวัตถุตามวัดวาอารามเก่าแก่มาก็หลายที่แล้ว แต่ถ้ามาถึงเวียงจันทน์แล้วก็ต้องไม่พลาดที่จะมาเที่ยวอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเวียงจันทน์ นั่นคือ “ประตูชัย” เป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่ ตั้งเด่นเป็นสง่าเห็นได้แต่ไกล สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ และประตูชัยมีอีกชื่อเรียกว่า “รันเวย์แนวตั้ง” เพราะการก่อสร้างประตูชัยได้ใช้ปูนซีเมนต์ที่อเมริกาซื้อมาเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ใน นครเวียงจันทน์ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันสร้างเพราะอเมริกาแพ้เวียดนามเสียก่อนจึงนำปูนเหล่านั้นมาสร้างประตูชัยแทน


ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะแบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้งของประตูชัย

       ประตูชัยมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ก็ยังมีลักษณะสถาปัตยกรรมรายละเอียดอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของศิลปะแบบล้านช้างให้เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นยอดปราสาทบนประตู ลวดลายปูนปั้นเทพนม ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะแบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้ง แล้วยังมีบันไดวนให้เดินขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์เวียงจันทน์ในมุมสูง ส่วนรอบๆ ประตูชัยก็เป็นลานกว้าง มีน้ำพุ และเป็นที่พักผ่อนหย่อยใจของชาวลาวและนักท่องเที่ยว


นักท่องเที่ยวนิยมมาเดินชอปซื้อสินค้าพื้นเมืองที่ตลาดเช้า

       “ตะลอนเที่ยว” ปิดท้ายการทัวร์เวียงจันทน์ ด้วยการไปชอปปิ้งซื้อของฝากคนที่บ้านสักหน่อย โดยมาที่ “ตลาดเช้า” เมื่อก่อนขายของแค่ตอนเช้า แต่ปัจจุบันเปิดขายตั้งแต่เช้ายันเย็น ตลาดเช้ามีทั้งอาคารหลังเก่าที่ด้านในตลาดส่วนใหญ่จะขายสินค้าประเภทผ้าทอต่างๆ เสื้อผ้า สินค้าหัตถกรรมมากมาย ของที่ระลึกต่างๆ ส่วนอีกอาคารเป็นเหมือนห้างที่ภายในติดแอร์มีหลายชั้น มีสินค้าจำพวกของก็อปปี้จำหน่ายมากมาย และยังมีร้านขายทองคำมากมายหลายร้าน ซึ่งชาวลาวนิยมมาซื้อทองคำที่นี่กันเป็นอย่างมาก


ทองคำ เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีให้เลือกซื้อหาได้ที่ตลาดเช้า

      ถ้าหากใครอยากจะมาเที่ยวอย่างอิ่มเอมใจกับการมาเยือนเมืองอุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ แบบ “ตะลอนเที่ยว” บ้าง ขอบอกว่าไม่ยากเลย แค่ตีตั๋วเครื่องบินมากับนกแอร์ก็มาเที่ยวได้สบายๆ ม่วนหลายๆ เด้อ
             
       สายการบินนกแอร์ให้บริการบินสู่ จ.อุดรธานี วันละ 6 เที่ยวบิน และนกแอร์ให้บริการบินเชื่อมระหว่างอุดรธานีและเชียงใหม่อีกวันละ 3 เที่ยวบิน พร้อมกันนี้นกแอร์ยังให้บริการที่เรียกว่า Fly n’ Ride ที่ผู้โดยสารที่เดินทางจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่บินมาลงอุดรธานีแล้วนั่งรถที่รอรับที่สนามบินต่อไปยังเวียงจันทน์โดยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nokair.com  หรือโทร. 1318


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000096828
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ