« เมื่อ: กันยายน 09, 2013, 09:33:50 am »
0
สวดคฤหัสถ์
คอลัมภ์ : คัมภีร์จากแผ่นดิน โดยบาราย
ในสมัยโบราณ หลังการสวดอภิธรรมศพ...ญาติพี่น้องคนตาย ก็ยังไม่ทิ้งศพกลับบ้าน แต่ยังอยู่เป็นเพื่อนศพจนถึงรุ่งเช้า และในค่ำคืนอันหดหู่เศร้าหมองนั้น ก็มักมีการละเล่น กึ่งธรรมะ กึ่งสนุกสนาน ที่เรียกกันว่า สวดคฤหัสถ์ นามานุกรมขนบประเพณีไทยหมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม 1 กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2549 พรรณนาไว้ว่า สวดคฤหัสถ์ เป็นการเล่นเลียนแบบการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ และเล่นกันดึกๆ
ผู้เล่นสวดคฤหัสถ์มีพระทั้งพระฆราวาส เรียกผู้เล่นว่า นักสวด นักสวดคณะหนึ่งเรียกว่าสำรับ สำรับหนึ่งมี 4 คน คนหัวแถวถูกเรียกว่า ตัวตุ๊ย เล่นเป็นตัวตลกผู้ชาย คนท้ายแถวเรียกว่า ตัวภาษา เล่นเป็นตัวผู้หญิง สองคนนี้แต่งตัวตามชาติภาษาของเรื่องที่จะเล่น ส่วนอีกสองคน นั่งอยู่ตรงกลางเรียกว่า แม่คู่ ช่วยกันร้องบทดำเนินเรื่อง
การเล่นสวดคฤหัสถ์ ใช้สถานที่ที่พระนั่งสวดอภิธรรมนั่นเอง อุปกรณ์การเล่นมีตู้พระธรรม 1 ใบ ตาลปัตร 4 ด้าม ตะเกียงลาน 1 ดวง เทียนและแจกัน ดอกไม้ 1 คู่ การจัดวางเหมือนอย่างเวลาสวดศพ การเล่นเริ่มต้น ขึ้นบทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยพร้อมกันทั้งสำรับ 3 จบ ต่อด้วยบทสวดพระอภิธรรมสังคณี จากนั้นแม่คู่ก็จะเจรจากับตัวตุ๊ยว่า คืนนี้ จะเล่นหรือออกลำนำเรื่องอะไร เรื่องเล่น ส่วนใหญ่ตัดตอนมาจาก เรื่องในวรรณคดีไทย เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ลักษณวงศ์ อิเหนา ฯลฯ
เมื่อตกลงกันได้ว่าเล่นเรื่องอะไร นักสวดทั้งสำรับก็จะขับลำนำเรื่องนั้น ขณะที่ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็จะแต่งหน้าตามบทที่จะออก โดยนั่งแต่งบนตั่งหรือบนเตียงที่ใช้ในการแสดง แต่งตัวเสร็จแล้ว แม่คู่จะเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ให้ตัวตุ๊ยและตัวภาษาเล่นตามลำนำต่อไป และหากจะเปลี่ยนลำนำใหม่ นักสวดทั้งสำรับจะร้องลำนำพร้อมกันอีกครั้ง เพื่อให้ตัวตุ๊ยและตัวภาษาได้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามบทใหม่
การเล่นสวดคฤหัสถ์ จะสนุกและทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงดึก มีการขับลำนำตลกโปกฮา บางครั้งออกไปในทางหยาบโลน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ชมง่วงนอน และเมื่อถึงเวลาเลิกเล่นสวดคฤหัสถ์ จะขาดเพลงปรมัตถ์ไม่ได้ เพลงปรมัตถ์ เป็นเพลงที่กล่าวถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เตือนให้คนที่ยังอยู่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และให้ประกอบแต่ความดี
ปัจจุบัน การเล่นสวดคฤหัสถ์ในงานศพเสื่อมความนิยมลง จนเกือบไม่มีใครเคยรู้จัก นักสวดคฤหัสถ์สำรับต่างๆ ที่นับวัน จะน้อยตัว ก็ลาโรงไปประกอบอาชีพอื่น น่าเสียดาย ขณะนี้ไม่มีการสืบทอดการละเล่นชนิดนี้กันแล้ว. ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/column/pol/kumpee/366956
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 09, 2013, 09:35:22 am โดย nathaponson »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ