ดัชนีโลกชี้ 'สวีเดน' ดีสุดสำหรับผู้สูงอายุ ไทยรั้งที่ 42
ดัชนีโลกชี้วัดประเทศดีสุด-แย่สุดสำหรับผู้สูงวัย พบ "สวีเดน" คุณภาพชีวิตดีสุด เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายรับรองสวัสดิการ ฯลฯ ขณะที่ไทยรั้งอันดับ 42 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง แต่ดีกว่าเกาหลีใต้ ...
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัย “เฮลพ์เอจ อินเตอร์เนชั่นแนล” เผยผลสรุปดัชนีชี้วัดประชากรสูงวัยของโลก (GAI) ประจำปี 2556 เมื่อ 2 ต.ค. อ้างอิงข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่รวบรวมสถิติด้านคุณภาพชีวิต รายได้ สวัสดิการ ค่าครองชีพ รวมถึงค่าเฉลี่ยอายุขัยประชากรที่ีมีอายุ 60 ปีขึ้นไปใน 91 ประเทศทั่วโลก
ปรากฏว่าสวีเดนเป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงวัย เพราะบังคับใช้กฎหมายรับรองสวัสดิการ เงินบำนาญ และนโยบายดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบมายาวนานที่สุด ทั้งยังเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตปลอดภัย อัตราการก่ออาชญากรรมต่ำ

ส่วนประเทศที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงวัยอันดับ 2-10 ของโลก ได้แก่ นอร์เวย์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ ไอซ์แลนด์ และญี่ปุ่น ขณะที่ไทยติดอันดับ 42 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่ดูแลผู้สูงวัยได้ดีในระดับปานกลาง แต่ถือว่าดีกว่าเกาหลีใต้ ซึ่งติดอันดับ 67 เพราะเพิ่งบังคับใช้ระบบบำนาญผู้สูงอายุได้ไม่นาน ทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ด้านเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย 10 ประเทศ รั้งท้ายดัชนีจีเอไอ ได้แก่ ฮอนดูรัส, มอนเตเนโกร, ดินแดนปาเลสไตน์ ทั้งเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา, ไนจีเรีย, มาลาวี, รวันดา, จอร์แดน, ปากีสถาน, แทนซาเนีย และอัฟกานิสถาน โดยบทสรุปจีเอไอระบุด้วยว่าอินเดียจะเป็นชาติที่มีผู้สูงวัยมากสุดในโลกแซง หน้าจีนในปี 2593.ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.thairath.co.th/content/oversea/373483