ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ญาณสังวร' แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (2)  (อ่าน 1270 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
'ญาณสังวร' แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (2)
« เมื่อ: พฤศจิกายน 07, 2013, 09:40:14 am »
0

'ญาณสังวร' แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (2)
'ญาณสังวร'แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(2) : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ย้อนอดีตไปเมื่อ 57 ปีก่อน ในปีพุทธศักราช 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระผนวช เนื่องเพราะสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่ทรงนับถือและทรงถือว่ามีคุณูปการต่อพระองค์มากนั้นได้ประชวรลง ...แต่เดชะบุญสมเด็จพระสังฆราช หายประชวรมาได้อย่างน่าประหลาด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริว่า หากได้ทรงพระผนวช โดยที่มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระอุปัชฌาย์แล้วก็จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ในอันที่จะทรงแสดงพระราชคารวะและพระราชศรัทธาในองค์สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างดี

 :25: :25: :25:

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงพระผนวช เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระสังฆราช และด้วยความที่พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และมีพระราชดำริว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อันพสกนิกรชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ และพระองค์ทรงประจักษ์ในพระราชหฤทัยว่า

หลักธรรมคำสั่งสอนในพุทธศาสนานั้นประกอบด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสัจธรรม เป็นศาสนาที่ยึดมั่นในหลักศรัทธาเป็นข้อใหญ่ ประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดินในยุคนั้นจึงปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ที่ประมุขแห่งแผ่นดินทรงพระผนวช 15 วัน มีฉายาว่า 'ภูมิพโล' โดยเสด็จฯ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 


 :25: :25: :25:

ในการนั้น สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ได้มอบหมายให้พระโสภณคณาภรณ์ ปัจจุบันคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง)

อีก 20 ปีต่อมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งได้บันทึกไว้ในหนังสือ 'พระผู้สำรวมพร้อม' ตอนหนึ่งว่า

    "สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้ทรงมอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้ทรงมอบหมายให้สนองพระเดชพระคุณ จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงผนวชตามราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า 'หัวใหม่' ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า 'บวชด้วยศรัทธา' เพราะทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาประกอบด้วยพระปัญญาและได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ..."


 :96: :96: :96:

จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาลในการทรงพระผนวช เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเป็นที่เคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแต่บัดนั้น และได้รับหน้าที่ถวายพระธรรมเทศนาและถวายธรรมกถาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่างๆ ตลอดมา ทั้งในการพระราชพิธี และการส่วนพระองค์ แต่เมื่อมีผู้กล่าวถึงท่านว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากท่านทราบ ก็จะทักท้วงทันที พร้อมเสนอแนะว่า ไม่ควรที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น เพราะ "ใครๆ ไม่ควรจะอวดอ้างตนว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น"

 st12 st12 st12

ดังที่ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ชาวเนปาล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์อันงดงามระหว่างเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า

    "ตอนที่ในหลวงทรงพระผนวชในปี พ.ศ.2499 อาตมายังไม่เกิดด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ได้เห็นจากเอกสารก็คือ พระองค์ทรงเตรียมการสอนและการอภิบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างดี อาตมาเคยเห็นเอกสารเป็นแฟ้มๆ ที่จัดไว้อย่างเรียบร้อย แต่ละคาบที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถวายความรู้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนนั้น เป็นบทๆ อย่างละเอียด น่าเสียดายที่ปลวกกินแฟ้มเหล่านั้นจนหมด


 ans1 ans1 ans1

ในเอกสารบันทึกไว้อย่างละเอียดว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เน้นการถวายความรู้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกวัน ตลอด 15 วัน หลังจากทำศาสนกิจเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่เสด็จฯ ไปไหน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็จะไปสอนในตอนนั้น นอกจากนี้ สิ่งที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เล่าให้ฟังเท่าที่จำได้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก ทรงค้นคว้า ทรงสอบถาม มีพระราชปุจฉาตลอดเวลา พระจริยวัตรพระองค์งามมากๆ ฉลองพระบาท พระองค์ไม่สวมเลย ทั้งๆ ที่มีฉลองพระบาท ที่ในวังและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถวายไว้ พอในหลวงทรงลาพระผนวชแล้ว  พระองค์ก็นำมาถวายสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าหายไปไหน...

 :25: :25: :25:

หลังจากนั้น ตอนที่อาตมาได้ถวายงานเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แล้ว ภาพที่อาตมาเห็นก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาวัดบวรฯ บ่อย มาสนทนาธรรมกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นประจำ เสวนากันทีเป็นชั่วโมงๆ คนที่ติดตามมาในยุคที่อาตมาทันก็คือนั่งบิดไปบิดมา

อาตมาก็คิดว่า เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที คุยอะไรกันนักกันหนา คุยกันสองพระองค์เสียงก็เบามาก ไม่ได้ยินอะไรมากนัก คนติดตามคอยรับใช้ รวมทั้งอาตมาด้วยก็บิดแล้วบิดอีก ทั้งสองพระองค์ไม่เห็นบิดไปไหนเลย นั่งคุยกันอยู่ได้ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมะธัมโม ก็เพราะว่า พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ให้อาตมาไปค้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วทรงถวายตามไป ทรงคุยกันตลอดเวลาหลายเรื่อง


 st12 st12 st12

เรื่องหนึ่งที่อาจจะมีประโยชน์ แต่คนไม่ค่อยได้รู้กันมากมาย ก็คือ ช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาคอมมิวนิสต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังที่ต่างๆ ที่แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ไปไม่ได้ แต่ในหลวงก็เสด็จฯ ไป แล้วพระองค์กลับมาเฝ้าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ พระองค์มาขอให้จัดพระไปอยู่ในที่ต่างๆ ซึ่งพระองค์เตรียมอย่างไม่เป็นทางการไว้แล้ว คือย่านที่เรียกว่าสีแดง สีชมพู ตรงนั้น พระองค์ได้เตรียมสำนักสงฆ์เล็กๆ ไว้ แล้วให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จัดพระไป ไม่ต้องเป็นพระที่มีความรู้ แต่ให้เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้นเอง ให้ไปอยู่ในย่านนั้น ที่นั่นที่นี่ ในหัวใจของพื้นที่สีแดง พื้นที่สีชมพู

โดยที่ในหลวงทรงดูแลพระเหล่านั้นโดยไม่เป็นทางการ ซึ่งพระเหล่านั้นก็ไปปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติธรรมโดยตรง คือบิณฑบาต ทำให้ญาติโยมรู้จักกับพระ พระก็รู้จักกับญาติโยม มีอะไรก็ทำให้คุยกันขึ้นมา ไปๆ มาๆ สำนักสงฆ์เล็กๆ ก็กลายเป็นที่ประสานของผู้คนทั้งหมด ทำให้ความบาดหมาง ความแตกแยกมันลดไปไม่มีใครรู้เรื่อง เป็นความพยายามของสองพระองค์ในการแก้ปัญหาบ้านเมืองในสมัยนั้น"


 ans1 ans1 ans1

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ที่ใฝ่ในพระธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างยิ่ง ดังที่พระอนิลมานเล่าต่อมาอีกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนที่รถจะติดมากๆ อย่างในทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ของพระองค์จากสวนจิตรลดา มาบันทึกเทปธรรมะ ไม่ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะเทศน์ในพระอุโบสถวันพระ หลังวันพระ หรือเวลาที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สอนกรรมฐานให้แก่ประชาชน ในหลวงก็ส่งเจ้าหน้าที่มาบันทึกเทป แล้วพระองค์ก็นำไปฟังในวัง หรือในช่วงเข้าพรรษาตลอด

ผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ การเสด็จออกทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งนั้น นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติ และเป็นภารกิจสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหารที่ดำรงไว้ซึ่งพระสุปฏิปันโนแห่งพระพุทธศาสนา ดังที่พระอนิลมานกล่าวไว้ว่า

    "นี่คือความสามารถของทั้งสองพระองค์ ที่เกื้อกูลกันในเรื่องของพระศาสนาและการปกครองแผ่นดิน"


ขอบคุณภาพและบทความ
http://www.komchadluek.net/detail/20131107/172201.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ