ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จ้างลูกไปฟังธรรม..ในวันทิพย์  (อ่าน 3103 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
จ้างลูกไปฟังธรรม..ในวันทิพย์
« เมื่อ: ธันวาคม 10, 2013, 07:23:19 am »
0


จ้างลูกไปฟังธรรม..ในวันทิพย์

เงินก่อประโยชน์อนาถบิณฑิกเศรษฐี แม้ทำบุญทำทานมามากมายก็ยังไม่ถึงความสำเร็จอยู่อย่างหนึ่งคือ ลูกชายคนโตชื่อกาละ ไม่ยอมไปวัดเลย พ่อเข้าวัดเข้าวา ลูกชายไม่เข้าวัด

เรียนญาติธรรมครับ หลายเดือนมาแล้ว ผมได้ฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ได้ฟังแล้วเป็นเห็นว่ามีคุณค่า จึงพยายามจดบันทึกเอาไว้ และขออนุญาตนำมาโพสในเวปบอร์ดแห่งนี้ เพื่อแบ่งปันต่อน้อง ๆ และญาติธรรมทุก ๆ ท่าน หากเกิดความบกพร่องผิดพลาดอย่างไร ขออโหสิกรรมต่อครูบาอาจารย์และญาติธรรมด้วยครับ


 :25: :25: :25:

การใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อนาถบิณฑิกเศรษฐี แม้ทำบุญทำทานมามากมายก็ยังไม่ถึงความสำเร็จอยู่อย่างหนึ่งคือ ลูกชายคนโตชื่อกาละ ไม่ยอมไปวัดเลย พ่อเข้าวัดเข้าวา ลูกชายไม่เข้าวัด ลูกสาว ๓ คน สองคนเป็นพระโสดาบัน คนสุดท้องเป็นสกิทาคามี พ่อได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน ส่วนลูกชายคนโต วัดไม่เคยเข้า พระสงฆ์องค์เจ้าไม่เคารพเลื่อมใส วันหนึ่งได้ไปปรึกษาเนื้อความนี้กับพระศาสดา

“ภันเต ภควา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์สิ้นทรัพย์เป็นจำนวนมากในการสร้างสังฆาราม เกื้อกูลต่อผู้ปฏิบัติธรรม บำรุงพระศาสนา ถวายปัจจัยสี่แก่พระสงฆ์หมู่ใหญ่ (สังฆทาน) ข้าพระองค์มีความสุข ไม่อิ่มในการให้ทาน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถให้ข้าพระองค์วางใจลงได้ บุตรชายคนโต เขาไม่เคยเข้าวัด ไม่ฟังธรรม ข้าพระองค์ไม่รู้จะทำอย่างไร”

พระศาสดาทรงตรัสว่า “คหบดีทรัพย์นี้เป็นเพียงอุปกรณ์ที่จะเอื้ออำนวยต่อความดีก็ได้ ต่อความชั่วก็ได้ ท่านสามารถใช้ทรัพย์ของท่านให้มีประโยชน์ยิ่งกว่านี้ได้ไหม ทำให้ลูกชายของท่านนี้ ได้เป็นคนดีด้วยทรัพย์นี้ได้ไหม สกัดกั้นความชั่วของเขาด้วยทรัพย์นี้ เอื้ออำนวยต่อคุณงามความดีให้เกิดขึ้นแก่เขาด้วยทรัพย์ เกื้อกูลแก่เขาในการพัฒนาจิตวิญญาณ การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการชนะโลกทั้งสอง (โลกนี้และโลกหน้า)”





อนาถบิณฑิกเศรษฐี นึกได้ “ดีล่ะ เราจะใช้ทรัพย์ของเรา จ้างลูกของเราไปจำศีล” (ตอนนี้จะใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นี้จ้างไปฆ่าคนก็ได้ เป็นอุปกรณ์ที่จะทำความชั่วอย่างรวดเร็วและใหญ่หลวงก็ได้ ขณะเดียวกันเป็นอุปกรณ์ที่จะสร้างความดีให้ระบาดใหญ่หลวงอย่างดีก็ได้คือทรัพย์ แล้วแต่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในมือของสัตตบุรุษ หรืออยู่ในมือของคนพาล ทรัพย์นั้นก็แตกต่างกันออกไป)

เศรษฐีก็เลยเรียกลูกชาย “กาละลูกพ่อ แต่ละวันเวลา ลูก...ก็มาขอเงินกับพ่อ ได้เงินแล้วลูกก็ไปเที่ยวนางโสเภณี พ่อก็ให้เจ้าไป บางครั้งพ่อไม่ให้ หรือให้ไม่พอ เจ้าก็เป็นทุกข์ เอาเถิด..พ่อจะจ้าง ลูกเอย วันพรุ่งนี้เป็นวันทิพย์ (อินเดียเรียกวันทิพย์ ชาวพุทธเราเรียกวันพระ)

เหล่าทิพย์เหล่าเทพเหล่าเทวดาจะมาบนโลก มาดูว่าผู้ใดเชื่อฟังพ่อแม่ ลูกคนใดหนอ...เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ เอื้อเฟื้อแก่สมณะพราหมณ์ ท้าวจตุโลกบาลมาตรวจ ลูกเอยไปให้ท้าวจตุโลกบาลมาพบ พ่อจะจ้าง 100 กหาปณะ ไปจำศีลที่เชตวันมหาวิหาร สังฆารามที่สงบร่มรื่น ที่พ่อได้สร้างเอาไว้”

ลูกก็คิดขึ้นมาในใจ “ดีเหมือนกัน ไปจำศีลรับจ้าง มันจะยากเย็นอะไรไปนอนวัดเฉย ๆ “ตกลงนะพ่อนะ"

 :s_hi: :s_hi: :s_hi:

เช้าขึ้นมาก็หอบสาดหอบสื่อหอบหมอน ไปกับหมู่ผู้เฒ่า ไปถึงก็ไปหาร่มเงาแมกไม้ปูสาดปูสื่อ “นอน” นอนรอให้ตะวันขึ้นวันใหม่ จะได้ไปรับเงิน พระพุทธเจ้าแสดงธรรม พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรแสดงธรรม ไม่เคยสนใจทั้งนั้น ทรัพย์ในที่นี้จ้างลูกไปถึงวัดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับประโยชน์ ไปกินไปนอนเช้ามาก็กลับบ้าน

มาถึงบ้านก็แบมือ ขอเงินตั้งแต่หัวบันไดบ้าน “พ่อ พ่อ เงิน เงิน ”

พ่อก็บอกว่า “ลูกเอย...ไปอาบน้ำอาบท่า กินข้าวปลาอาหารให้สบายก่อน เมื่อวานไม่ได้กินข้าวเย็น แล้วจึงมาเอาหรอกเงิน พ่อเตรียมไว้ให้แล้ว”

นายกาละ “ไม่เอา ประเดียวพ่อจะเบี้ยว จะโกหก นำเงินมาก่อน”

ปกติ อนาถบิณฑิกเศรษฐี จะเลี้ยงพระหลังจากวันพระ ๑ วัน คือในวันพระเศรษฐีจะไม่เบียดเบียนคนยากคนจน ถ้าเศรษฐีคนใดนิมนต์พระขึ้นไปฉันที่บ้านหมดในวันพระ แล้วในวัดไม่มีพระ ในทางพุทธศาสนาถือว่าเบียดเบียนคนยากไร้ คนจน ถ้าเขาเหล่านั้นมาทำบุญบ้างในวันทิพย์ (วันพระ) วันที่ท้าวจตุโลกบาลมาตรวจโลก อยากจะเห็นคนดี คนรวยนิมนต์พระไปบ้านหมด





อนาถบิณฑิกเศรษฐี เข้าใจดี ฉะนั้น ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ จะยกเว้น วัน ๙ ค่ำ หรือ ๑ ค่ำ เศรษฐีถึงจะนิมนต์พระไปฉันที่บ้าน คิดว่าวันพรุ่งนี้ ๑ ค่ำ ลูกชายคงจะมากับพระสงฆ์หลังจากจำศีล แล้วคงมาปูผ้า ถวายน้ำ แต่เปล่าเลยพฤติกรรมของนายกาละไม่เปลี่ยนแปลง รีบเดินล่วงหน้ามาก่อน

มาถึงก็แบมือขอเงินมาแต่ไกล พ่อก็ให้ทำอย่างนี้มาหลายวันพระ พฤติกรรมของลูกก็เหมือนเก่า ได้เงินมาก็หายหัวไปเที่ยวนางโสเภณี พ่อก็เลยแปลกใจ “ลูกเราไม่เห็นดีขึ้นเลย” ถึงวันพระก็รีบไปวัด อย่ากระนั้นเลยใช้ทรัพย์ให้มีประโยชน์ สกัดกั้นความชั่ว เอื้ออำนวยต่อคุณงามความดี

ก็เลยบอกว่า “ลูกเอย...ลูกไปวัด นี้ก็หลายวันพระ หลายวันทิพย์แล้ว ไม่เห็นลูกพูดอะไรให้พ่อฟังบ้างเลย พระมาบ้าน ๑ ค่ำ ๙ ค่ำ ไม่เห็นลูกกราบลูกไหว้ ไม่เห็นลูกถวายน้ำ”

ลูกก็บอกว่า “ผมก็ไปจำศีล ไม่ได้ไปฟังอะไร จำอะไรไม่ได้ ไม่ได้ฟัง เพราะพ่อบอกว่า ไปนอนวัดไปจำศีลเฉย ๆ พ่อไม่ได้จ้างให้ลูกไปฟัง”


 :s_good: :s_good: :s_good:

พ่อก็เลยบอกว่า “อย่างนี้นะลูกนะ พ่อจะให้เพิ่มอีกเป็น ๑,๐๐๐ กหาปณะ ในวันพระที่จะมาถึงนี้ แต่ลูกจะต้องฟังธรรม แล้วจำ...มาเล่าให้พ่อฟังนะ”

ลูกก็รีบรับปาก และนั่งรอคอย เมื่อไรจะถึงวันพระ นึกในใจ “คนอย่างเรานี้คงไม่โง่เกินไปที่จะจำอะไรไม่ได้ รีบไปนั่ง จำ...ให้ได้ แล้วจะรีบไปนอน รุ่งขึ้นมาเล่าให้พ่อฟัง...แล้วก็รับเงิน ๑,๐๐๐ เท่านี้ก็จบ” (นี่เริ่มใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ขึ้นมาอีกขั้น) ถึงวันพระนายกาละก็ลาพ่อ เอาสาดเอาสื่อเอาหมอนไป ไปถึงก็จัดแจงที่อยู่ที่นอนให้เรียบร้อย

เสียงระฆังดังขึ้น พระเณร อุบาสก อุบาสิกา กลาดเกลื่อนไปนั่งรวมกัน เพื่อสดับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า นายกาละเข้าไปนั่งอยู่แถวหน้า กลัวจะจำไม่ได้ไว อยู่ไกลคนเยอะ ฟังไม่ถนัด จำได้แล้วจะรีบไปนอน ปรากฏว่าพระศาสดาแสดงธรรม แสดงไป....นายกาละก็ตั้งใจฟัง





ฟังอย่างไรก็ไม่จำ...จำแล้วก็ลืม พยายามจำอีกก็ลืมอีก จนเกิดอนุโลมมิกขันติ (หรืออนุโลมขันติ) อนุโลมมิกขันตินี้เป็นอานิสงส์อีกอันหนึ่งที่เราไม่เคยได้ยิน จากการฟังธรรมเรียกว่าอนุโลมมิกขันติ คือความอดทนที่คล้อยตาม กระดุกกระดิกขยับหรือเคลื่อนไหว..กลัวว่าจะจำไม่ได้ ปวดขาก็ทนเอา จิตใจจดจ่อจนลืมปวด พระพุทธเจ้าพยายามไม่ให้นายกาละจำได้

เรียกว่ากระทำอาการบันดาลอภิญญา เป็นคลื่นกระทบนายกาละ ไม่ให้จำอยู่เรื่อย พอจำแล้วก็ลืม...ตั้งฟัง จำอีก...ลืมอีก อยู่อย่างนั้น ปวดแข้งปวดขาแสนจะปวด ถ้าจะพลิก ประเดียวจะลืมจนเกิดอนุโลมมิขันติขึ้นมา สุดท้ายนายกาละนั่งฟังตั้งแต่หัวค่ำ จนถึงมัชฌิมยาม (เที่ยงคืน)

บางท่านก็กราบลาด้วยความเมื่อยล้า ค่อย ๆ ถอยออกไปหาที่หลับที่นอน นายกาละไม่กระดุกกระดิก ตั้งใจฟัง กลัวว่าจะไม่ได้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ เสร็จแล้ว จิตนั้นเป็นสมาธิ โสตาวธานา เอียงโสตลงฟัง ธัมมัสสวนา สดับธรรมนั้น หลังจากนั้นก็ธัมมธารณา ทรงไว้ จำไว้ พอจำไว้ก็ลืม จำอีกลืมอีก อยู่อย่างนั้น สุดท้าย อัตถุปปริกขา เอาใจเข้าไปเพ่งเนื้ออรรถเนื้อธรรมนั้น ในที่สุดจวนจะสว่าง นายกาละก็ได้บรรลุธรรมโสดาบัน ศรัทธามั่นคงในจิตใจ

ศีลควบคุมจิตใจไว้อย่างแน่นแฟ้น จาคะปล่อยวางอารมณ์ชั่วร้ายแต่เก่าก่อน ปัญญารู้เท่าทันเห็นเหตุเห็นผล นึกถึงบุญคุณของพ่อของแม่ น้ำตาไหลพราก..


 :welcome: :welcome: :welcome:

คิดในใจ “อือม....พ่อแม่เราปรารถนาให้เราเป็นคนดี ป่านนี้เราถึงรู้” หลังจากนั้นก็สว่างพอดี นายกาละรีบนิมนต์แล้วกราบลาพระศาสดา จะกลับไปจัดแจงอาสนะล่วงหน้าที่บ้าน

   พ่ออยู่บ้านจัดแจงเตรียมเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะไว้อย่างดี เมื่อวานบอกลูกว่า
   “พรุ่งนี้ฟังธรรมเสร็จแล้ว ให้มาพร้อมกับพระศาสดาด้วยนะ นิมนต์ท่านมา ตลอดทั้งพระสงฆ์ให้เดินตามท่านเหล่านั้นมา”

เช้าขึ้นมา พ่อก็มายืนรอ...กลัวว่าลูกมาถึงจะเอ่ยปากขอเงินต่อหน้าพระบรมศาสดาต่อหน้าพระสงฆ์ อายพระพุทธเจ้า ก็เลยเตรียมเงินไว้ ถึงตัวแล้วจะแอบยื่นให้

ลูกชายเดินดุ่ย ๆ นำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่เดินตามมาห่าง ๆ ลูกมองเห็นพ่อยืนรออยู่หน้าบ้านก็ตกใจ...อายประเดียวพ่อเอาเงินมายื่นให้ต่อหน้า อายพระศาสดา อายพระสงฆ์ ก็หยุดรอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงก่อน

ค่อยเดินตามหลังแฝงตัวมากับหมู่พระสงฆ์ พ่อก็อาย...กลัวลูกจะมาแบมือขอเงิน ลูกก็อาย...กลัวว่าพ่อจะยื่นเงินให้ อายว่า..เรานี้มันรับจ้าง บัดนี้จะไม่เอา ในที่สุดก็ไปพร้อมกับหมู่พระสงฆ์ พ่อจะมาทางนี้ ลูกก็เดินหลบไปทางโน้น รีบขึ้นบ้านปูอาสนะ ถวายน้ำ พ่อมาทางนี้ ลูกก็หลบไปอีกทาง พ่อก็ถือเงินจ้อง...จะยื่นให้ ลูกก็หลบ ในที่สุดก็ไม่ได้พบกัน พ่อก็แปลกใจไม่เคยพบเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ของลูกมาก่อน





สุดท้ายเข้าไปกราบพระศาสดาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ทรงสดับ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “คหบดี ท่านอย่าได้เป็นห่วง อย่าได้กังวลเลย ทรัพย์เพียง ๑,๐๐๐ กหาปณะของท่าน บัดนี้ไม่มีค่าใด ๆ ในจิตใจของลูกชายของท่าน

ลูกชายของท่านได้อริยะทรัพย์อันประเสริฐ ยิ่งกว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ยิ่งกว่าแว่นแคว้นแผ่นดิน เขาได้ทรัพย์อันประเสริฐยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นใด ๆ อันเป็นทิพย์ ยิ่งกว่าเอกราชใด ๆ ในแผ่นดิน ยิ่งกว่าอธิปไตยใด ๆ ในโลกหล้า ยิ่งกว่าขึ้นสู่สวรรค์ชั้นใด ๆ ลูกชายของท่าน

บัดนี้เขา ไม่มีความข้องแวะในสิ่งเหล่านี้แล้ว เขาได้หมดแล้ว เขาได้เข้าถึงธรรมเป็นโสดาบันบุคคลแล้ว พอได้ยินอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดีใจ ก้มลงกราบแทบเบื้องพระบาทของพระบรมศาสดา


ที่มา http://bangpun.goodnessguide.com/index.php/meditation/38-meditation/102-money.html
ขอบคุณภาพจาก
https://fbcdn-sphotos-f-a.akamaihd.net/
http://www.siamtownus.com/
http://www.manager.co.th/
http://asianpacificnews.com/
http://www.bloggang.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ