ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มงคลพระแก้วมรกต : ตอนที่ 2  (อ่าน 1353 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29295
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
มงคลพระแก้วมรกต : ตอนที่ 2
« เมื่อ: มกราคม 09, 2014, 09:23:41 pm »
0


มงคลพระแก้วมรกต : ตอนที่ 2

สวัสดีครับ พบกันอีกเป็นครั้งที่ 2 ของปีใหม่แล้วนะครับ ครั้งก่อนผมได้เรียงร้อยเล่าเรื่องราวความเป็นมา และประวัติอันน่าสนใจของพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเรา เป็นปูชนียวัตถุอันเป็นมิ่งมงคลยิ่งของคนไทยทั้งปวง มาในครั้งนี้ผมจะขอเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตเพิ่มต่อขึ้นอีกครับ ท่านที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว ลองย้อนกลับไปอ่านไทยรัฐออนไลน์ คอลัมน์ "คนดังนั่งเขียน" ดูนะครับ จะได้มีพื้นฐานสนุกสนานและเข้าใจตรงกัน...

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามฟากจากฝั่งธนบุรี มาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.2326 นั้น ได้โปรดฯ ให้ช่างฝีมือของหลวงสร้างบุษบกขึ้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรให้สมพระเกียรติ องค์บุษบกที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นเป็นไม้แกะสลัก และหุ้มแผลงด้วยแผ่นทองคำตีแผ่ มีการสลักดุนลวดลาย เต็มพื้นที่และฝังเพชรซีกประกอบ จากนั้นจึงนำเข้าหุ้มทับไม้แกนบุษบกทั้งองค์


 :welcome: :welcome: :welcome:

ปัจจุบันนี้เป็นที่ยกย่องกันทั่วไปว่า เป็นบุษบกที่มีทรวดทรงงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ นักวิชาการถือเป็นงานช่างฝีมือครั้งรัชกาลที่1 แต่เป็นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย ในครั้งนั้นบุษบกทรงพระแก้วมรกตนี้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีอย่างเตี้ยในพระอุโบสถ เช่นเดียวกับพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพระราชวังบวรสถานมงคล คือในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นั่นเอง

ครั้นต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อได้จัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ สลักลวดลายวิจิตรงดงาม ที่เคยใช้ประดิษฐานรองรับพระบรมโกศของรัชกาลที่ 2 มาถวายเป็นพุทธบูชา เสริมหนุนองค์บุษบกที่ทรงพระแก้วมรกตให้สูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน



     
     ภาพและข้อมูลจาก http://emuseum.treasury.go.th/
     เครื่องทรงพระแก้วมรกตฤดูร้อน   
     ๑. พระมงกุฎทองคำลงยาประดับอัญมณี
     ๒. พระกรรเจียก (ซ้าย, ขวา)
     ๓. ฉลองพระศอทับพระอังสา
     ๔. พระสังวาลล้อมเพชร
     ๕. ตาบหลัง
     ๖. พระสังวาลสายคู่
     ๗. พระสังวาลดอกจิก
     ๘. ตาบข้าง และพระสังวาล (ซ้าย, ขวา)
     ๙. กระหนกปักพระอังสา (ซ้าย, ขวา)
   ๑๐. ทับทรวง
   ๑๑. รัดพระองค์
   ๑๒. เชิงสนับเพลา (ซ้าย, ขวา)
   ๑๓. กรองเชิงครึ่งซีก (ซ้าย, ขวา)
   ๑๔. ทองข้อพระกร (ซ้าย, ขวา)
   ๑๕. พระพาหุรัด (ซ้าย, ขวา)
   ๑๖. พระธำมรงค์ (เล็ก)
   ๑๗. พระธำมรงค์ (ใหญ่)


นอกจากนั้นแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 นอกจากจะได้ทรงสร้างบุษกขึ้นถวายแด่องค์พระแก้วมรกตแล้ว ยังได้ทรงมีพระราชศรัทธา สร้างเครื่องทรงถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาอีกด้วย คือ เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน รวม 2 สำรับ

   - โดยเครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นประกอบด้วยมงกุฎทองคำลงยาประดับเพชร พาหุรัด ทองกร พระสังวาล ล้วนแต่เป็นทองคำลงยา ประดับด้วยเพชรซีกและอัญมณีต่างๆ มากมาย


   - ส่วนเครื่องทรงสำหรับฤดูฝนนั้น เป็นทองคำลงยาเช่นกัน แต่สลักดุนแผ่นทองคำให้มีลักษณะเป็นกาบหุ้มแนบเรียบคดโค้งติดลงไปกับองค์พระพุทธรูปเลย มองแล้วเหมือนทรงครองจีวรอย่างห่มดอง และจำหลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์เต็มพื้นที่ พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม ตั้งแต่ไรพระศกถึงจอมเมาฬี เม็ดพระศกลงยาสีน้ำเงินแก่ พระรัศมีทำเวียนทักษิณาวัตรหรือเวียนขวา ประดับมณีและลงยาให้เข้ากับเม็ดพระศก



   
    ภาพและข้อมูลจาก http://emuseum.treasury.go.th/
    เครื่องทรงพระแก้วมรกตฤดูฝน
    ๑. พระศก และพระรัศมีทองคำประดับอัญมณี
    ๒. สังฆาฏิ (ผ้าทาบ) ทองคำประดับอัญมณี
    ๓. ผ้าห่มดองทองคำประดับอัญมณี


ครั้งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็ได้มีพระราชศรัทธาทรงสร้าง เครื่องทรงสำหรับฤดูหนาว ถวายเพิ่มขึ้นอีกชุดหนึ่ง เป็นเครื่องทรงที่ทำด้วยทองคำลงยา มีลักษณะเป็นคล้ายผืนผ้าคลุมไหล่ คือมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว แต่ใช้วิธีการการตีแผ่แผ่นทอง สลักดุนลาย แล้วม้วนให้เป็นหลอดๆ นำไปลงยาสีเขียวแดง แล้วจึงนำมาร้อยเป็นตาข่าย สานสลับกันไปมาด้วยลวดทองเกลียว ทำให้อ่อนไหวได้ตลอดทั้งชิ้นเหมือนกับผืนผ้า และใช้ถวายห่มคลุมลงทั้งสองพาหาขององค์พระพุทธรูป ทับลงไปเหนือเครื่องทรงฤดูฝนอีกชั้นหนึ่ง โดยนัยที่จะให้อบอุ่น

เครื่องทรงขององค์พระแก้วมรกตทั้ง 3 ฤดูนี้ ถือเป็นพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงให้ต้องตรงกับฤดูกาลทั้ง 3 ฤดู และมีการใช้สอยต่อเนื่องกันมากว่า 200 ปี จึงเกิดความชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก

 :25: :25: :25:

ในปีพ.ศ.2525 อันเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทางสำนักพระราชวังได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดู ในส่วนที่ชำรุดให้สามารถใช้งานได้ การซ่อมแซมในครั้งนั้นมีอุปสรรคมากมาย

ตัวผมเองก็มีโอกาสได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย และได้เห็นถึงความชำรุดทรุดโทรมอย่างมากด้วย ยิ่งถ้าได้สัมผัสและดูใกล้ชิดก็ยิ่งตกใจ ไม่เชื่อว่ายังจะใช้อีกต่อไปได้ แต่เมื่อนำขึ้นทรงกับองค์พระแก้วมรกตแล้ว และดูแต่ไกล ก็จะมองไม่เห็นถึงความชำรุดทั้งปวงเลย อุปสรรคในครั้งนั้นคือ เครื่องทรงทั้งหมดทุกชุดเป็นฝีมือช่างทองหลวงโบราณ มีฝีมือสูงมาก จัดอยู่ในสกุลช่างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาต่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทำให้ไม่สามารถหาช่างฝีมือตามแบบโบราณดั้งเดิม มาซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิมได้ การซ่อมแซมในครั้งนั้นจึงเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการชำรุดให้พอใช้สอยต่อไปได้เท่านั้น



     
     ภาพและข้อมูลจาก http://emuseum.treasury.go.th/
     เครื่องทรงพระแก้วมรกตฤดูหนาว
     ๑. พระศก และพระรัศมีทองคำประดับอัญมณี
     ๒. ผ้าห่มทองคำประดับอัญมณี พร้อมดุมทองคำประดับเพชรและสายสร้อยทองคำ


ตลอดระยะเวลาหลังจากปี พ.ศ.2525 เป็นต้นมา กรมธนารักษ์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำออกจัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ไทย ภายในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างที่รอการผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาล ทำให้ผู้ที่มีความสนใจ สามารถเข้าชมได้อย่างใกล้ชิด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ

ต่อมาในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และได้มีพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ในปีพ.ศ.2539 ทางกรมธนารักษ์จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเครื่องทรงพระแก้วมรกตขึ้นใหม่ถวายทั้ง 3 ฤดู โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษา โดยเครื่องทรงฤดูหนาว ดำเนินการจัดสร้างแล้วเสร็จเป็นอันดับแรก และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เครื่องทรงฤดูร้อน ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2540 และเครื่องทรงฤดูฝน ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ตามลำดับ


 st12 st12 st12

ส่วนเครื่องทรงชุดเดิมได้ย้ายไปจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครบถ้วนทั้ง 3 ชุด ส่วนเครื่องทรงที่สร้างขึ้นใหม่ใหม่นั้น นำไปจัดแสดงไว้ที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ไทย ในพระบรมมหาราชวัง



   - โดยเครื่องทรงฤดูหนาวหนักประมาณ 6 กิโลกรัมเศษ หรือประมาณ 406 บาทเศษ ใช้เพชรและอัญมณีรวม 15,868 เม็ด นับว่ามากโขเลยทีเดียวนะครับ
   - ส่วนเครื่องทรงฤดูร้อนใช้ทองคำไป 7 กิโลกรัมเศษ หรือประมาณ 470 บาท ใช้เพชรและอัญมณีน้อยกว่าชุดฤดูหนาว คือใช้ไปแค่ 6,297 เม็ด
   - และชุดสุดท้ายคือชุดฤดูฝน ใช้ทองคำไปราวๆ เกือบ 8 กิโลกรัม หรือราว 520 บาทเศษๆ ส่วนเพชรและอัญมณีใช้ไป 15,388 เม็ดเลยทีเดียวครับ

   เครื่องทรงชุดใหม่ดังกล่าวนี้ ทางสำนักพระราชวังได้จัดให้เป็นชุดที่ใช้ในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตในปัจจุบันครับ

ในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ หากท่านใดปรารถนาความเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัวแล้ว ผมขอแนะนำให้ไปกราบนมัสการพระแก้วมรกต ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วครับ เพราะอย่างที่เคยกราบเรียนเล่าไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วว่า พระแก้วมรกตนั้น ท่านทรงเป็นเสมือนพระประธานแห่งองค์พระพุทธรูปทั้งหลายทั้งปวงในประเทศไทยเลยทีเดียว นอกจากนั้นภายในพระอุโบสถเองก็ยังมีปูชนียวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญเป็นอย่างยิ่งอีกมากมายหลายสิ่ง เอาไว้วันหน้าฟ้าใหม่สดใสสะอาด ผมจะนำเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับภายในพระอุโบสถแห่งนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครับ


เผ่าทอง ทองเจือ


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.thairath.co.th/content/edu/394414
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

kobyamkala

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 2236
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: มงคลพระแก้วมรกต : ตอนที่ 2
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 11, 2014, 09:44:06 am »
0
 thk56 thk56 thk56
บันทึกการเข้า
แล้วลองแอบมาแย้มกะลา
เพื่อดูโลก เห็นแล้วตกใจโลกนี้กว้างใหญ่จริง ๆ