ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "โยม..คิดจะนั่งภาวนาก็ผิดแล้ว"  (อ่าน 3625 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"โยม..คิดจะนั่งภาวนาก็ผิดแล้ว"
« เมื่อ: มกราคม 16, 2014, 11:17:34 am »
0

บันเทิงธรรม ตอน.พระอภิญญา
(โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

เมื่อกล่าวถึงญาณทัศนะของหลวงปู่สิม พุทธาจาโรแล้ว. ทำให้ผู้เขียนอดระลึกถึงพระอภิญญาองค์อื่นๆ ไม่ได้. การที่ผู้เขียนวนเวียนอยู่ตามสำนักครูบาอาจารย์สายพระป่านั้น. ทำให้ได้พบเห็นและรู้จักพระอภิญญาหลายองค์. จึงตระหนักชัดไม่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อย เกี่ยวกับเรื่องอภิญญาในพระไตรปิฎก. ทราบซึ้งแก่ใจว่า การจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับอภิญญาในพระไตรปิฎก. ไม่ใช่เป็นอุบายดึงให้คนเคารพศรัทธาในพระศาสนา. แต่เป็นการกล่าวความจริงล้วนๆ.

เพราะพระพุทธศาสนานั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็น่าเคารพศรัทธาเต็มเปี่ยมในจิตใจอยู่แล้ว. ไม่ต้องนำเรื่องอภิญญาหรือปาฏิหารย์มาเป็นอุบายล่อให้คนศรัทธา. และมีแต่ของจอมปลอมหลอกลวงเท่านั้น จึงต้องอาศัยอุบายล่อลวงให้คนนับถือ. แต่เรื่องราวของพระอภิญญามีมาก. ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมเท่านั้น. เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านที่น่าจะได้รับฟังสาระประโยชน์บ้าง. ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องสนุกๆ เท่านั้น.




หลวงปู่เทสก์ส่งเสริมให้เข้าสมาบัติ

มีช่วงหนึ่งประมาณสิบปีกว่ามาแล้ว. ผู้เขียนหัดเข้าสมาบัติอันหนึ่งซึ่งค้นพบโดยไม่ได้ตั้งใจ. คือในคราวแรกผู้เขียนกำหนดสติรู้อยู่ที่ผู้รู้. สักพักหนึ่งก็เห็นว่า น่าจะออกไปพิจารณาสิ่งภายนอกบ้าง. จึงกำหนดสติรู้ออกไปที่ความว่างซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้า. เมื่อกระแสของจิตเคลื่อนออกไปสู่ความว่าง แต่ยังไม่เกาะเข้ากับความว่าง. ผู้เขียนก็ถอยกระแสจิตย้อนเข้ามาที่จิตผู้รู้อีก.

ขณะที่กระแสจิตจะจับเข้ากับจิตผู้รู้ ผู้เขียนก็ส่งกระแสนั้น ย้อนไปที่ความว่างอีก. ย้อนไปมาเช่นนี้ 2 - 3 ครั้ง จิตก็หยุดอยู่ในระหว่างจิตผู้รู้กับอารมณ์. ไม่ยึดเกาะทั้งจิตและอารมณ์. ไปรู้อยู่บนความไม่มีอะไรเลย. แล้วดำเนินผ่านอรูปฌานละเอียดมาก พลิกเข้าสู่สภาวะอันหนึ่ง ซึ่งเหลือแต่ธรรมชาติล้วนๆ. ไม่มีความคิด ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา. เป็นสภาพที่ว่างจากตัวตนและเวลา. เมื่อจิตถอนออก ก็ย้อนกลับเข้าด้วยวิธีเดิมอีก. ฝึกซ้อมหาความชำนาญในกีฬาทางจิตอยู่. เพราะโดยภูมิธรรมด้านปัญญาจริงๆ แล้ว ไม่สามารถทรงตัวอยู่ในสมาบัตินี้ได้อย่างเต็มภูมิ.

    หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เขียนก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ที่วัดหินหมากเป้ง. กราบเรียนท่านถึงสิ่งที่กำลังเล่นอยู่.
    ท่านไม่ห้าม กลับกล่าวว่า "ฝึกไว้ให้ชำนาญเถอะ. เวลานี้ไม่ค่อยมีใครเข้าสมาบัติอันนี้เท่าไรแล้ว".
    ผู้เขียนก็กราบเรียนท่านว่า "ผมกลัวจะติดเหมือนกัน".
    ท่านตอบว่า "ไม่ต้องกลัว ถ้าติด อาตมาจะแก้ให้เอง".
    ผู้เขียนทราบเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ที่ต้องการให้สืบทอดเรื่องสมาธิต่างๆ.
    จึงปฏิบัติเรื่อยมา เพราะทราบว่า อารมณ์ของสมาบัติชนิดนี้เอานิพพานเป็นอารมณ์.




นิพพานอะไรมีเข้ามีออก

ต่อมาอีกประมาณ 1 เดือน ผู้เขียนไปสัมมนาที่เชียงใหม่. ตกค่ำมีงานเลี้ยง ซึ่งผู้เขียนจะหนีงานเลี้ยงทุกครั้งที่ทำได้เพราะรู้สึกว่าเสียเวลามาก. พอหลบออกจากงานได้ก็ตรงไปวัดสันติธรรม. เพื่อกราบท่านอาจารย์ทองอินทร์ กุสลจิตโต. พอลงจากรถสามล้อเครื่องที่หน้าประตูวัดก็เป็นเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ. ที่หน้าประตูวัดมืดสนิท ผู้เขียนคุ้นเคยสถานที่ ก็เดินเข้าไปอย่างไม่ลังเล.

    พอพ้นประตูวัดก็พบพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมายืนอยู่ในความมืด.
    จึงไหว้ท่านแล้วเรียนถามว่า ท่านอาจารย์ทองอินทร์อยู่หรือเปล่าครับ.
    ท่านก็ตอบว่า อยู่ แต่ตอนนี้ท่านอาจารย์บุญจันทร์มาพักเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่นี่. โยมไปหาท่านหน่อยสิ.
    ผู้เขียนก็เรียนท่านว่า ผู้เขียนไม่รู้จักท่านอาจารย์บุญจันทร์ เกรงจะเป็นการรบกวนเพราะค่ำมากแล้ว.

    จากนั้นผู้เขียนก็เข้าไปที่กุฏิท่านอาจารย์ทองอินทร์. สนทนาธรรมกับท่านประมาณชั่วโมงเศษ.
    พอออกจากกุฏิก็ต้องแปลกใจที่พบว่าพระหนุ่มยังรออยู่.
    ทั้งที่อากาศนอกกุฏินั้น กำลังหนาวเย็นและมืดมาก.
    ท่านกล่าวอีกว่า ไปพบท่านอาจารย์บุญจันทร์สักหน่อยเถิด.
    ผู้เขียนลังเล ท่านก็ขยั้นขะยอ. ผู้เขียนจึงเดินตามท่านไปที่กุฏิท่านอาจารย์บุญจันทร์.


    :96: :96: :96:

   ขึ้นบันไดไปชั้นบน ท่ามกลางความมืดก็เห็นเงาตะคุ่มๆ ของท่านอาจารย์บุญจันทร์.
   ท่านนอนคลุมผ้าอยู่บนตั่งไม้หน้ากุฏิ. ขณะนั้นอากาศหนาวมาก องค์ท่านก็สั่นมีอาการอาพาธ.   
   พระหนุ่มที่ขึ้นบันไดมาก่อนได้หลบเข้าห้องไป.
   ผู้เขียนก็ก้มกราบท่านอาจารย์ด้วยความเคารพนอบน้อม.
   ท่านถามเสียงดังว่า ไง ปฏิบัติยังไง. ก็กราบเรียนถึงการฝึกเข้าสมาบัติ.
   พอกล่าวจบก็ถูกท่านดุเอาทันทีว่า. "นิพพานอะไรมีเข้ามีออก ไง จะปฏิบัติยังไงอีก".

   ผู้เขียนคิดว่าท่านไม่เข้าใจ ก็กราบเรียนซ้ำอีก.
   ท่านก็ดุอีกว่า "นิพพานอะไรอย่างนั้น มีเข้ามีออกอยู่อย่างนั้น เข้าใจไหม"
   ผู้เขียนนั้นจิตสว่างวาบออกมาเลย เพราะหมดความยึดถือสมาบัติ.
   รู้ว่าถึงฝึกไปก็ไม่ช่วยให้เข้านิพพานได้จริง. และนับแต่นั้น ผู้เขียนก็ไม่อาจเข้าสมาบัตินั้นได้อีก.

   พอจิตของผู้เขียนสว่างวาบขึ้น ท่านอาจารย์ก็แกล้งทดสอบผู้เขียนอีก.
   โดยการหัวเราะออกมาดังๆ. ผู้เขียนกำลังเบิกบานใจก็หัวเราะตามท่าน. จู่ๆ ท่านกลับหยุดหัวเราะฉับพลัน.
   ผู้เขียนก็หยุดตามท่านทันที จิตเป็นปกติราบเรียบลง. ท่านว่า เออ ใช้ได้ ไปได้แล้ว.
   ผู้เขียนก็กราบลาท่านลงมาจากกุฏิ. ออกเดินจะไปหน้าวัด พระหนุ่มท่านก็รีบตามลงมา.
   ระหว่างรอรถสามล้อเครื่องอยู่นั้น ก็คุยกันไปเรื่อยๆ. พระหนุ่มท่านก็บอกว่า ท่านอาจารย์สั่งไว้ให้มารอโยมตั้งแต่ตอนเย็น. ยังไงๆ ก็ให้พาไปหาท่านให้ได้.




"โยม..คิดจะนั่งภาวนาก็ผิดแล้ว"

    พระอภิญญาอีกองค์หนึ่งที่ผู้เขียนได้ประโยชน์จากท่าน และประทับใจมาก.
    คือ หลวงพ่อ หรุ่น สุธีโร. ผู้เขียนพบท่านที่วัดบวรสังฆาราม หน้าเรือนจำจังหวัดสุรินทร์   
    ตอนนั้นเป็นเวลาสายๆ หลังจากพระฉันอาหาร และฆราวาสรับประทานอาหารเสร็จแล้ว.
    ต่างก็ออกจากศาลาแยกย้ายกันไปทำกิจของตน.
    ผู้เขียนแปรงฟันหลังอาหารเสร็จแล้ว ก็เดินไปรอบๆ วัด. พบเก้าอี้หินใต้ร่มไม้ข้างสระน้ำใหญ่ที่เพิ่งขุดใหม่ ก็คิดว่าน่าจะนั่งภาวนาที่นี่.
    ทันใดก็ได้ยินเสียงหลวงพ่อหรุ่นตะโกนข้ามสระน้ำมาว่า.
    "โยม..คิดจะนั่งภาวนาก็ผิดแล้ว".
    หันไปมองเห็นท่านกำลังจะแปรงฟัน. มือหนึ่งถือขันน้ำ มือหนึ่งถือแปรงสีฟัน.

    เดิมมานั้นผู้เขียนเห็นแต่อารมณ์ที่เกิดดับ ไม่เคยเห็นตัณหาละเอียดคือความอยากภาวนา.
    นับแต่เมื่อท่านตะโกนบอกคราวนั้น. ผู้เขียนก็เห็นตัณหาในจิตอย่างชัดเจน.
    กระทั่งจิตอยากจะนั่งภาวนา ก็ยังเป็นตัณหาที่ต้องรู้และละเสีย.
    การภาวนาจึงจะสะอาดหมดจด เพราะไม่ได้ปฏิบัติไปตามความอยาก.
    แต่ปฏิบัติเพราะสมควรจะปฏิบัติเท่านั้น.




หลวงปู่ดูลย์บอกให้ปฏิบัติเสียให้จบในชาตินี้

    อีกคราวหนึ่งในปลายปี 2525 หรือต้นปี 2526 ผู้เขียนไปกราบหลวงปู่ดูลย์.
    หลังจากรายงานผลการปฏิบัติและฟังธรรมแล้ว หลวงปู่ไปสรงน้ำ.
    ผู้เขียนก็เดินเล่นไปมาในบริเวณสนามหน้ากุฏิของท่าน.
    บางทีก็แวะฟังน้องชายคุยกับพระอุปัฏฐากของหลวงปู่.
    แล้วจู่ๆ ผู้เขียนก็สัมผัสถึงกระแสบางอย่างที่ละเอียดอ่อน เยือกเย็น เป็นสุขอย่างยิ่ง.
    หันไปมองที่ประตูกุฏิ ก็เห็นว่าหลวงปู่สรงน้ำเสร็จแล้ว. สวมอังสะออกมานั่งที่เก้าอี้โยกหน้ากุฏิ.
    ท่านกำลังมองดูผู้เขียน. ผู้เขียนก็ทราบว่า ท่านดูจิตใจของผู้เขียนอยู่ จึงเข้าไปกราบท่านอีกคราวหนึ่ง.

    นับแต่นั้นมา ผู้เขียนก็สามารถรู้สภาวะจิตของผู้อื่นได้เหมือนสภาวะจิตของตนเอง.
    น้องชายก็เลิกคุยกับพระอุปัฏฐาก ตามมานั่งหน้าหลวงปู่ด้วย.
    เมื่อกราบท่านแล้วผู้เขียนก็นั่งสงบอยู่หน้าท่าน.
    ท่านก็กล่าวว่า "ให้ปฏิบัติเสียให้จบในชาตินี้นะ".
    ผู้เขียนก็ถามท่านว่า "ผมจะทำให้จบในชาตินี้ได้หรือครับ".
    หลวงปู่ตอบเสียงเฉียบขาดว่า "จบ.. จบแน่นอน".

    คำกล่าวของท่านนี้ เป็นกำลังใจในยามเมื่อสิ้นท่านไปแล้ว. และสิ้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งพาใกล้ชิดของผู้เขียน.




หลวงปู่เทสก์สอนเดินจงกรม

   อีกคราวหนึ่งผู้เขียนไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง.
   ท่านเมตตาให้พักที่กุฏิเก่าของท่าน. ซึ่งมองทางหน้าต่างจะเห็นภาพในกุฏิใหม่ของท่านชัดเจน เพราะห่างกันไม่มากนัก. 
   ประมาณ ตี 2 เศษๆ ผู้เขียนเห็นท่านเดินจงกรมท่ามกลางแสงสลัวๆ.
   ก็เกิดความสงสัยว่า ท่านเดินจงกรมโดยวางมืออย่างใด.
   ทันทีที่คิด ท่านก็เดินแกว่งแขนให้ดูทันที.
   ผู้เขียนก็คิดได้ว่า ท่านสอนให้เราเจริญสติสัมปชัญญะในทุกอิริยาบถ. รู้ความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ธรรมดานั่นเอง.

ผู้เขียนเคยพบเห็นพระอภิญญาอีกหลายองค์ บางองค์ทำอะไรได้แปลกๆ น่าอัศจรรย์. แต่ที่นึกได้และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของผู้เขียน. และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ก็มีตามที่เล่ามานี้.


ที่มา http://www.tidjai.net/forums/index.php?topic=1802.10
ขอบคุณภาพจาก
http://f.ptcdn.info/
http://lampatao.files.wordpress.com/
http://news.dmc.tv/
http://www.vipassanacm.com/
http://www.matichon.co.th/
http://www.obec.go.th/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 16, 2014, 11:38:14 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ