ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ปอยส่างลอง’ บุญใหญ่ของชาวไตแม่ฮ่องสอน  (อ่าน 1160 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


‘ปอยส่างลอง’ บุญใหญ่ของชาวไตแม่ฮ่องสอน

งานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชเณรตามธรรมเนียมของชาวไทยใหญ่ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร

ขบวนแห่ที่เต็มไปด้วยสีสัน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่เด็กชายวัยไล่เลี่ยนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนากหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่าง ๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่น ๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการเขียนคิ้ว ทาปากสีแดงและสวมถุงเท้าสีขาว ซึ่งความจริงภาพลักษณ์ที่ว่าน่าจะเป็นการแต่งให้กับเด็กหญิงมากกว่า แต่นี่คือประเพณีที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนของคนไต หรือชาวไทยใหญ่ แห่งแม่ฮ่องสอน โดยเรียกเด็กชายที่จะเข้าพิธีบวชว่า “ส่างลอง”

งานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชเณรตามธรรมเนียมของชาวไทยใหญ่ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปีเพราะตรงกับช่วงปิดเทอมฤดูร้อน โดยชาวบ้านจะตกลงกันกำหนดวันนัดหมายให้ลูกหลานได้บวชเรียนพร้อม ๆ กัน มีการประดับประดาผู้ที่จะบวชด้วยเครื่องประดับมีค่าอย่างสวยงาม และประกอบพิธีบวชตามวัดที่เจ้าภาพศรัทธา




แต่เดิมปอยส่างลองเป็นประเพณีที่จัดเฉพาะในหมู่ญาติมิตรของเจ้าภาพ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้เกิดมีแนวความคิดใหม่โดยจัดเป็นบรรพชาหมู่ร่วมกันมากถึง 200 รูป เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทำให้ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนนิยมจัดบรรพชาหมู่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน ปอยส่างลองจึงได้กลายเป็นประเพณีที่จูงใจให้มีผู้สนใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ปอยส่างลอง คำว่า “ปอย” คืองานบุญ งานฉลอง งานพิธี คำว่า “ส่าง” หมายถึง “เจ้าส่าง” คือสามเณร ที่ภาคกลางเรียกขานกัน ส่วนคำว่า “ลอง” หรือ “อลอง” หมายถึงหน่อพุทธางกูร สภาวะที่กำลังก้าวเข้าสู่ชีวิตสามเณร เด็กชาวไทยใหญ่หรือคนไต (ไตโหลง) อายุราว 10-14 ปี จะแต่งหน้า ทาปาก เขียนคิ้วด้วยสีสันจัดจ้านเหมือนสีลูกแก้ว จนทำให้เป็นที่มาของชื่อเรียกบวชลูกแก้ว เปรียบเสมือนเทวดาน้อย ๆ ให้ดูสวยงาม มีสง่าราศีต่างจากเด็กทั่วไป

การแต่งกายที่ดูคล้ายกับกษัตริย์พม่าโบราณนั้น น่าจะมาจากตำนานความเชื่อของปอยส่างลองที่ว่า เป็นการเลียนแบบตามประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์เมื่อครั้งก่อนจะออกผนวช เนื่องจากเป็นเจ้าชายจึงมีการแต่งกายในรูปกษัตริย์ และเมื่อครั้งเตรียมออกผนวช ได้มีนายฉันนะ เป็นผู้ติดตามอารักขา ฉะนั้นการจัดงานปอยส่างลองของชาวไทยใหญ่จึงมีการแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับเด็กคล้ายดังเจ้าชาย และมีลูกน้อง หรือที่เรียกว่า ตะแป หรือ พ่อส้าน แม่ส้าน คอยให้การปรนนิบัติตลอดงาน ซึ่งหน้าที่ของตะแป (พ่อส้าน แม่ส้าน) คือ คอยแต่งหน้า แต่งตัว และยอมให้ขี่คอ เมื่อมีการนำส่างไปแห่ หรือ เวลาที่ส่างลองต้องการไปไหนมาไหน




“ปอยส่างลองเป็นประเพณีที่ชาวไทยใหญ่ในเขตแม่ฮ่องสอนจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้เฒ่าผู้แก่ของแม่ฮ่องสอนจะบอกว่าส่างลองที่นี่จะต่างจากที่อื่นคือจะไม่มีการเอาแป้งทะนะคาของพม่ามาแต่งลวดลายบนใบหน้า โดยวันจัดงานที่เหลื่อมกันในแต่ละอำเภอ ซึ่งจะมีการหมุนเวียนวัดที่จะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี หากปีไหนวัดใดเป็นเจ้าภาพ ขบวนแห่ก็จะเริ่มต้นจากวัดนั้น แต่ที่ อ.แม่สะเรียง จะแตกต่างออกไปเพราะวัดศรีบุญเรืองจะเป็นเจ้าภาพทุกปี โดยบวชให้กับเด็กชาวเขาและเด็กที่ประสบปัญหาจากครอบครัว เพราะท่านเจ้าอาวาสต้องการให้เด็กเหล่านั้นได้บวชเรียน เพื่อสร้างคนดีคืนกลับสู่สังคม ในปีนี้ ทาง ททท.จึงได้จัดทริปพิเศษชวนผู้มีจิตศรัทธามาร่วมทำบุญและเป็นเจ้าภาพในงานบวชลูกแก้วที่แม่สะเรียง” คุณวิศณุ อรุณบำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน เชิญชวน

อีกตำนานหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือไทยใหญ่ที่เขียนโดยเจ้าหน่อคำ นักอักษรศาสตร์ชื่อดังของชาวไทยใหญ่ ว่า เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ในกรุงราชคฤห์ มีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้าพิมพิศาล ซึ่งเป็นผู้สร้างพระวิหารถวายพระพุทธเจ้าและปวารณาตนเป็นทายกของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต พระเจ้าพิมพิศาลมีโอรสพระองค์หนึ่ง นามว่า อาชาตศัตรู วันหนึ่งเจ้าชายได้เสด็จไปยังลานพระวิหารที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ และบังเอิญได้พบกับพระเทวทัต เมื่อนั้นพระเทวทัตได้อัญเชิญอาชาตศัตรูเสด็จขึ้นไปบนกุฏิและได้กล่าวยกย่องว่าเป็นผู้มีบุคลิกดี เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง พร้อมกับยุแหย่ว่าพระเจ้าพิมพิศาลนั้นทรงชราภาพมากแล้ว ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์อีกต่อไป เพราะจะไม่สามารถนำทัพไปสู้รบกับใครได้ อาจสูญเสียแผ่นดินให้กับเมืองอื่น จึงแนะนำให้เจ้าชายอาชาตศัตรูปลงพระชนม์



ทีแรกเจ้าชายอาชาตศัตรูไม่เชื่อแต่พระเจ้าเทวทัตไม่ลดละความพยายามยังคงยุยงจนเจ้าชายอาชาตศัตรูหลงเชื่อจนได้ และจับพระบิดาไปขังไม่ให้เสวยอาหาร 7 วัน แต่เพราะพระมารดาแอบเอาอาหารไปให้เสวย พระเจ้าพิมพิศาลจึงไม่สิ้นพระชนม์และยังทรงเดินเหินได้ตามปกติ เจ้าชายอาชาตศัตรูจึงได้สั่งให้ทหารเฉือนเนื้อฝ่าเท้าของพระบิดาออกแล้วให้เอาน้ำเกลือทา เพื่อไม่ให้เดินไปมาได้

ระหว่างกำลังขังทรมานพระบิดาอยู่นั้น เจ้าชายอาชาตศัตรูได้นำพาพระโอรสไปเยี่ยมพระมารดา และระหว่างนั้นได้ตรัสกับพระมารดาว่า เขามีความรักใคร่ในพระโอรสของเขามาก และได้ตรัสถามพระมารดาว่า เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระบิดาจะทรงรักตนเหมือนที่ตนรักพระโอรสหรือไม่ เมื่อพระมารดาได้ยินเช่นนั้น จึงตรัสว่า “เจ้ารักลูกเจ้ามากนั้นคงไม่จริงหรอก เพราะของเล่นต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีค่าที่ลูกเจ้าเล่นอยู่ทุกวัน เป็นของเล่นที่พ่อเจ้าซื้อให้เจ้าทั้งสิ้น เจ้าไม่ได้ซื้อหามาให้ลูกเจ้าแม้แต่ชิ้นเดียวเลย”

เจ้าชายอาชาตศัตรู เมื่อได้ฟังดังนั้นจึงแน่นิ่ง และทรงสำนึกผิดที่ได้กระทำต่อพระบิดา จึงรีบเสด็จไปยังที่คุมขังพระบิดา ทว่าพระบิดาได้สิ้นพระชนม์เสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าชายอาชาตศัตรู เกิดความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นจึงรีบเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมกับทูลเล่าเรื่องทั้งหมด เมื่อพระพุทธเจ้าได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า “เพราะคบคนพาลจึงได้ทำบาปมหันต์เช่นนี้ เพื่อผ่อนบาปที่หนักให้เป็นเบา ให้นำพระโอรสมาถวายเป็นทานในพระพุทธศาสนา โดยที่ให้เขาสมัครใจ”



เมื่อทราบดังนั้น เจ้าชายอาชาตศัตรู ได้ชักชวนพระสหายพร้อมด้วยอำมาตย์ให้นำบุตรหลานเข้าร่วมรับการบวช ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 คน ก่อนบวชได้มีการจัดงานใหญ่ 7 วัน 7 คืน พร้อมกับมีการแต่งองค์ทรงเครื่องบุตรหลานด้วยเครื่องประดับสวยงาม พร้อมกับมีการนำบุตรหลานอาบน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถูกแช่ด้วยเพชร พลอย ทองคำ เงิน เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นได้แห่ไปตามถนนรอบกรุงราชคฤห์ด้วยการขี่ช้าง ขี่ม้า หลังครบ 7 วัน จึงนำไปเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรต่อหน้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย จากเหตุนี้ ชาวไทยใหญ่จึงได้ยึดถือนำมาปฏิบัติจัดเป็นงานประเพณีปอยส่างลองจนถึงปัจจุบัน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอนขอเชิญนักท่องเที่ยวทั่วประเทศมาร่วมชื่นชมความสวยงามของวัฒนธรรมชาวไทยใหญ่และขบวนแห่ส่างลองอันยิ่งใหญ่ตระการตาในงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2557 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีกำหนดการจัดงานในพื้นที่หลัก ดังนี้ วันที่ 3-6 เมษายน 2557 (ขบวนแห่วันที่ 5 เมษายน 2557) ณ วัดศรีบุญเรือง อ.แม่สะเรียง, วันที่ 1-3 เมษายน 2557 ณ วัดป่าขาม อ.ปาย  และวันที่ 6-9 เมษายน 2557 (ขบวนแห่วันที่ 8 เมษายน 2557) ณ วัดดอนเจดีย์ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยทางเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาส่งบุตรหลานหรือร่วมเป็นเจ้าภาพให้กับผู้ที่ประสงค์จะบวชแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สอบถามที่วัดดอนเจดีย์ โทร. 0-5361-1323 หรือประธานชุมชนดอนเจดีย์ โทร. 08-9432-9071สอบถาม ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร.0-5361-2982-3

ดูรายละเอียดที่ www.travelmaehongson.org, www.facebook.com/tatmaehongson, www.facebook.com/maehong



สามวันของส่างลอง

วันแรก เรียกว่า วันรับส่างลอง ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลอง พระสงฆ์ให้ศีลให้พรอบรมสั่งสอน จากนั้น “ตะแปส่างลอง” หรือผู้ให้ขี่คอ นำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกั้นบังแดดให้ส่างลอง

วันที่ 2 เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ เป็นวันแห่เครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดปางล้อไปตามถนนสายต่าง ๆ ในช่วงเช้ามีผู้มีจิตศรัทธาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะแป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “ตะแปส่างลอง” มีกลดทองหรือ “ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นมีการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไตที่วัดต่าง ๆ

วันที่ 3  เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่ เป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงอาหารไต แก่ผู้ที่มาร่วมงาน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี


ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.dailynews.co.th/Content/Article/219718/‘ปอยส่างลอง’บุญใหญ่ของชาวไตแม่ฮ่องสอน
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ